LIFESTYLE
จากเซลส์ขายรถเกี่ยวข้าว สู่เจ้าของแบรนด์ดัง “อีฟ-ณัฐธิดา” พร้อมลงพื้นที่ช่วยชาวบ้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้องแวะเข้าไปเสพความแก๋ว (เก๋ แอนด์ แจ๋ว) ของเธอ...อีฟคือสาวหน้าคมที่ห่มโอตกูตูร์ชนเบียร์กับ “แม่ๆ” กลางตลาดวารินชำราบ เธอรับบทบาทผู้บรรยายในมหาวิทยาลัยและผู้สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ในร้านกาแฟโดยไม่รับค่าตอบแทน |
อินสตาแกรม @evepalasak นั้นควรถูกจัดให้เป็นสิ่งเสพติดที่ส่งผลดีต่อจิตใจเพราะความก๋ากั่นสดใสของสาวหน้าคมที่ห่มโอตกูตูร์ชนเบียร์กับ “แม่ๆ” กลางตลาดวารินชำราบ เมนูอาหารสารพัดที่แค่เห็นภาพ กลิ่นก็แทบจะโชยออกมา หรือท่าโพสเปิ๊ดสะก๊าดบนท้ายรถสองแถวนั้น ทำให้เราต้องแวะเข้าไปเสพความแก๋ว (เก๋ แอนด์ แจ๋ว) ผ่านภาพถ่ายของเธออยู่เสมอ แต่เห็นแซ่บซ่าขนาดนี้ ตัวจริงของ อีฟ-ณัฐธิดา พละศักดิ์ คือคุณครูที่รักการสอนและการสร้างสรรค์อนาคตให้แก่ลูกศิษย์ทุกช่วงวัย เธอรับบทบาทผู้บรรยายในมหาวิทยาลัยและผู้สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ในร้านกาแฟโดยไม่รับค่าตอบแทน ผู้เชี่ยวชาญที่ลงพื้นที่ช่วยชาวบ้านพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างงานและเพิ่มมูลค่า เจ้าของแบรนด์ Found Isan และร้านอาหาร Zao ที่เธอบอกว่ามาค้นพบของดีเอาเมื่อสาย มาได้ขายของแซ่บเอาเมื่อคนทำเริ่มเข้าวัยชรา แต่เราเชื่อว่ายังไม่สายเกินไปหรอก ให้ประชาชนชาววารินชำราบเป็นพยานได้
“อีฟเรียนจบแฟชั่นดีไซน์จากเบอร์มิงแฮม ตอนเรียนปริญญาตรีก็เรียนสาขาเดียวกันที่ มศว. ค่ะ หลังเรียนจบก็เป็นอาจารย์อยู่พักใหญ่ แต่คุณแม่อยากให้กลับมาอยู่บ้าน ด้วยเหตุผลว่าอีฟเป็นลูกคนเดียวที่แม่ไม่เคยได้กินข้าวด้วยเลย เลยเลือกมาอยู่อุบลฯ เพราะมันใกล้ทั้งบ้านและสนามบิน เนื่องจากช่วงแรกกลับมาแบบไม่สมัครใจ เพื่อนที่อุบลฯก็ไม่มี ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรกับชีวิต เราก็เลยทำแต่งาน ตอนนั้นเป็นเซลส์ขายรถเกี่ยวข้าว แล้วเราขายเก่ง รายได้ก็เลยค่อนข้างดี อีฟทำงานเต็มที่ ได้เงินเท่าไรให้ที่บ้าน เวลาที่เหลือให้ที่บ้านหมด แต่พอถึงเย็นวันศุกร์จะเป็นเวลาของเราเต็มที่นะ บินกลับกรุงเทพฯไปปาร์ตี้กับเพื่อน สนุกสนานจนถึงตี 4 วันจันทร์ ตี 5 บินไฟลต์เช้าสุดกลับมาทำงานที่อุบลฯ เป็นอย่างนี้อยู่หลายปีจนถึงจุดที่เราตั้งคำถามกับตัวเองซ้ำๆ ว่าเราเกิดมาทำไม บุญคุณของครอบครัวชดใช้เมื่อไรถึงจะหมด แล้วชีวิตของเราที่หาเงินช็อปปิ้ง ปาร์ตี้ไปเรื่อยๆ มันใช่หรือเปล่า อีฟรู้สึกว่ามันโล่งข้างใน มันไม่มีแก่นน่ะค่ะ แต่ข้างหน้าก็หัวเราะสนุกสนานเหมือนที่เห็นในไอจีเหมือนเดิม”
อีฟหันมามองเมืองที่เธออาศัยอยู่อย่างจริงจัง ค้นพบว่าภาคอีสานมีทั้งแรงงานมีฝีมือและวัตถุดิบที่ดีมากมาย แต่ยังขาดดีไซเนอร์ เธอจึงร่วมมือกับโครงการพัฒนาชุมชนเพื่อช่วยเหลือหมู่บ้านต่างๆ ในการพัฒนาของดีประจำท้องถิ่น
“อีฟได้ไปเจอแม่ๆ ที่ฝีมือดี ทำงานเก่ง ที่ซ่อนตัวอยู่ตามอำเภอต่างๆ จึงไปช่วยเขาคิดว่าทอผ้ามาสวยแล้วต้องทำอย่างไรต่อเพื่อให้มันขายได้ดีขึ้น หรือแปลงเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ แต่ละปีเราจะมีลูกศิษย์หลายร้อยคน คนไหนมีแววเราก็ดึงมาเข้าทีม Found Isan ทำงานสไตล์คอลแลบอเรชั่นกัน เช่น เขาเก่งผ้าขิด อีฟก็เอาดีไซน์ของเราเข้าไปผสม จากแต่ก่อนที่อีฟก็ไม่รู้ว่าเรามาอยู่ตรงนี้ทำไม นอกจากเพื่อตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ พอทำงานกับชุมชนไปเรื่อยๆ อีฟพบว่าหน้าที่หลักของเราที่มาอยู่ตรงนี้คือการทำของถูกให้มีราคา ตั้งแต่เสื้อผ้า ข้าวของ รวมไปถึงอาหารอีสานด้วย ทำไมอาหารอีสานถึงราคาถูก ดูเป็นอาหารของคนจน ทั้งที่อาหารอีสานโดยพื้นฐานมันคือเชฟเทเบิลเลยนะคะ และอีฟเพิ่งรู้ว่าแม่นมของตัวเองเป็นกูรูขั้นเทพของอาหารอีสาน ทุกสูตรคืออร่อยจนเพื่อนที่มาหาทุกคนไม่มีใครยอมออกไปกินข้าวข้างนอก อีฟก็เลยสร้างร้าน Zao เพื่อสืบทอดอาหารของแม่นม ตอนนี้ทั้ง Zao และ Found Isan ก็เกื้อหนุนกันเป็นทั้งร้านอาหารและโชว์รูมขายของ การทำให้สิ่งเหล่านี้มีคุณค่าและมูลค่าที่เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่ทำให้อีฟยังใจเต้นอยู่ ให้เรารู้ว่าเราหายใจไปเพื่ออะไร ชีวิตมีเป้าหมายขึ้นมา และมันส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้ แต่กว่าจะรู้ก็หลังจากเผาเงินและเวลาทิ้งไปเยอะเลยค่ะ (หัวเราะ)”
WATCH
1 / 4
2 / 4
3 / 4
4 / 4
สำหรับคนที่อาจจะมีเงื่อนไขในชีวิตคล้ายกับอีฟ คือจำเป็นต้องอยู่ที่ใดที่หนึ่งโดยไม่สมัครใจเพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือใครคนหนึ่ง อีฟมีคำแนะนำให้ว่า “แม่พูดว่าแม่ส่งอีฟไปเรียนมาสูงมาก อีฟจะเอาความรู้ที่ตัวเองมีกลับมาทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่กว่าอีฟจะคิดออกใช้เวลาไปนานมาก ดังนั้นไม่อยากให้คนอื่นเสียเวลาเหมือนอีฟ เปิดตากว้างๆ แล้วมองไปรอบๆหาสิ่งที่เรามีอยู่และทำให้มันขายได้สิ รอบตัวเรามีของที่ดี ขายได้ พัฒนาได้ทั้งนั้นแหละค่ะ แต่เราต้องมองให้เห็นและใจกว้างพอที่จะหาให้เจอเท่านั้น”
ข้อมูล : Vogue Thailand
WATCH