FASHION
ย้อนเจาะลึกประวัติศาสตร์ของนอเทรอดาม มหาวิหารที่เกือบถูกทำลายนับครั้งไม่ถ้วนย้อนรอยเหตุการณ์และแง่มุมทางประวัติศาสตร์ของมหาวิหารนอเทรอดามในแบบฉบับของโว้ก |
เนื้อหาสำคัญ
- เรื่องราวประวัติศาสตร์ของมหาวิหารที่จะถูกจดจำและรื้อดูหลังเหตุการณ์น่าเศร้า
- ความบังเอิญและเกร็ดความรู้ที่ถูกซ่อนไว้ตลอดระยะเวลากว่า 850 ปี!
- ป๊อปคัลเจอร์และศิลปะหลากหลายแขนงซึ่งมีอิทธิพลสอดคล้องกับมหาวิหารนอเทรอดามแห่งนี้
__________________________________________________________________
มหาวิหารนอเทรอดาม (Notre-Dame Cathedral) สัญลักษณ์สำคัญกลางกรุงปารีสคือสถานที่ที่คอยรองรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกจำนวนมหาศาล ภายใต้ความสวยงามและโด่งดังของที่นี่มันถูกซ่อนไว้ด้วยความเลอค่าทางศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์หลายแขนงไปจนถึงเหตุการณ์สำคัญในหลากหลายแง่มุมจนทำให้มหาวิหารแห่งนี้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เรื่องราวยาวนานกว่า 850 ปีผ่านเหตุการณ์ดี-ร้ายมานับไม่ถ้วน การบูรณะเองหรือแม้แต่การสร้างเพิ่มเติมเราเห็นกับสถาปัตยกรรมอายุเท่านี้มาอย่างชินตา ในวันนี้การบูรณะครั้งใหญ่ต้องเกิดขึ้นอีกครั้งเพราะไฟเพลิงถาโถมสู่ยอดวิหารจนสร้างความเสียหายทั้งเรื่องของทรัพย์สินและสภาพจิตใจของคนทั่วโลก วันนี้เราจะพาย้อนชมเรื่องราวน่าสนใจของมหาวิหารแห่งนี้กันว่าความทรงจำในแบบของโว้กกับสุดยอดแลนมาร์กของโลกแห่งนี้เป็นอย่างไร
รูปปั้นตำนานของมหาวิหารแต่ไม่ได้อยู่ที่มหาวิหาร
รูปปั้น Maurice de Sully ณ โบสถ์แห่งหนึ่งในซุลลี่-ซูร์-ลัวร์
หลายคนอาจจะสงสัยว่าเรานำภาพรูปปั้นมาให้ชมทำไมในเมื่อมหาวิหารแห่งนี้ไม่ได้มีชื่อเสียงด้านงานประติมากรรมเหมือนกับสถานที่สำคัญอื่น ๆ ในภาคพื้นยุโรป แต่ที่นี่รูปปั้นของบิชอป Maurice de Sully ผู้ริเริ่มสร้างมหาวิหารแห่งนี้ในปี 1160 และใช้เวลา 100 กว่าปีถึงจะเสร็จสมบูรณ์ และหลังจากนั้นคือเรื่องราวที่ประวัติศาสตร์โลกที่ต้องจารึก แต่น่าแปลกที่งานประติมากรรมของบิชอปไม่ได้ตั้งอยู่ที่มหาวิหารนอเทรอดามแต่กลับตั้งอยู่ที่ ซุลลี-ซูร์-ลัวร์ บ้านเกิดของเขา
ระฆังกังวาลที่เคยถูกขโมยไปทำเป็นลูกกระสุนปืนใหญ่
พิธีรับระฆังชุดใหม่ของมหาวิหารนอเทรอดามในปี 2013 / ภาพ: BBC
ระฆังเป็นอีกหนึ่งความอลังการงานสร้างของนอเทรอดาม เพราะจำนวนถึง 10 ใบและมีระฆังหนักที่สุดที่หนักถึง 13,271 กิโลกรัมถือเป็นสุดยอดระฆังก้องกังวาลส่งเสียงดังเป็นเอกลักษณ์ของมหาวิหารแห่งนี้อีกอย่างหนึ่ง และระฆังทั้งหมดประกอบชุดเพื่อจัดเรียงคีย์ดั่งเครื่องดนตรีอันไพเราะ แต่หารู้ไม่ว่านี่ไม่ใช่ระฆังชุดเดิม เพราะในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสเหล่าระฆังเดิมทั้งหมดขโมยและหลอมทำเป็นกระสุนปืนใหญ่ มาถึงตอนนี้ระฆังใหญ่ที่สุดนามว่า “Emmanuel” ถูกสั่นเป็นเสียงสะท้อนถึงเหตุการณ์ระดับชาติมาแล้วนับไม่ถ้วนไม่ว่าจะเป็นการเสด็จเยี่ยมเยียนของพระสันตะปาปาหรือจะเป็นสงครามโลกถึง 2 ครั้ง และมีเกร็ดเพิ่มเติมว่าระฆังทุกใบถูกตั้งชื่อตามนักบุญทั้งหมด
ยอดแหลมหรือสไปร์ที่เราคุ้นตามาหลังสุดในบรรดาโครงสร้างอาคารทั้งหมด
WATCH
ภาพมหาวิหารนอเทรอดามในปี 1859 ตามอ้างอิงยังไม่มีสไปร์ยอดใหม่ / ภาพ: Bibliothèque nationale de France
อย่างที่ทุกคนทราบว่ามหาวิหารแห่งนี้มีอายุมากกว่า 800 ปีแต่ไม่ใช่ทุกส่วนของอาคารที่จะมีอายุยืนยาวเท่ากัน เพราะยอดแหลมอันเป็นเอกลักษณ์ของนอเทรอดามนั้นเพิ่งมีอายุประมาณ 100 กว่าปีเท่านั้น (อ้างอิงจากการถอดรื้อไปช่วงปี 1786 และถูกรับสั่งให้สร้างขึ้นใหม่หลังปี 1859) โดยโครงสร้างส่วนนี้เป็นไม้ทั้งหมดจนทำให้ไฟสามารถลุกลามได้อย่างรวดเร็วแตกต่างจากโครงสร้างส่วนอื่นที่เป็นหินจึงคงยึดมั่นที่ตรงหน้าเป็นเอกลักษณ์ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากกว่า 800 ปี
รูปปั้น Saint-John เพิ่งถูกย้ายมาไม่กี่วันก่อนถูกไฟเผา
การเคลื่อนย้ายประติมากรรม Saint-John ในวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา / ภาพ: Philippe Wojazer (Reuters)
สัญลักษณ์สำคัญอย่างงานประติมากรรม Saint-John ต่างโครงร่างสไปร์ของมหาวิหารแห่งนี้เพิ่งถูกย้ายออกจากอาคารในช่วงปรับปรุงเมื่อวันที่ 11 เมษายนนี้เอง ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ งานศิลปะตัวแทนแห่งความเชื่อทางศาสนาปลอดภัยและรักษาสภาพไว้อย่างสมบูรณ์โดยไม่ได้เสี่ยงภัยจากผลกระทบของไฟเพลิงที่เผาไหม้ศูนย์รวมจิตใจของชาวฝรั่งเศสแห่งนี้
Rose Window คือสิ่งที่อยู่คู่มหาวิหารมาตั้งแต่ต้น
Rose Window ฝั่งตะวันตกสร้างตั้งแต่ประมาณปี 1225 ซึ่งรอดพ้นจากไฟไหม้มาได้ / ภาพ: @tantriclens
งานศิลปะวาดลวดลายกระจกคือสิ่งที่คนทั้งโลกคอยลุ้นว่าจะรอดจากไฟหายนะครั้งนี้หรือไม่ ผลสรุปคือรอดและมันรอดมามากกว่า 850 ปี! ใช่คุณอ่านไม่ผิดแต่อย่างใดงานศิลปะกระจกอันงดงามนี้คือหน้าต่างแสดงความเลอค่าของนอเทรอดามอีกอย่างหนึ่ง เพราะมันอยู่ตั้งแต่ต้นปี 1225 เป็นต้นมาความงดงามที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงและไม่สามารถทำซ้ำได้ นี่ล่ะคือชิ้นงานที่ตอกย้ำว่าทำไมสถานที่แห่งนี้คือความสำคัญทางประวัติศาสตร์หลากหลายแขนง
พิธีขึ้นครองราชย์จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 จัดขึ้นที่นอเทรอดาม
พิธีราชาภิเษกของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 วันที่ 2 ธันวาคม 1804 วาดโดย Jacques-Louis David / ภาพ: Courtesy of Louvre
ชื่อเสียงของชายผู้รบเป็นเลิศ ปกครองยอดเยี่ยมอย่างนโปเลียนคงผ่านหูทุกคู่ผ่านวิชาประวัติศาสตร์ พิธีราชาภิเษกขึ้นครองราชย์นั้นมีแง่มุมที่ยิ่งใหญ่และแตกต่างไม่ธรรมดา เพราะกษัตริย์แห่งฝรั่งเศสพระองค์นี้ประทับอยู่ที่นอเทรอดามมิได้เดินทางไปประกอบพิธีกับพระสันตะปาปาที่กรุงโรมแบบที่หลายราชวงศ์หรือแม้แต่พระราชาองค์ก่อนหน้าของฝรั่งเศสเคยปฏิบัติ และประวัติศาสตร์ก็จารึกโดยภาพวาดของ Jacques-Louis David บันทึกไว้ว่าวันที่ 2 ธันวาคม 1804 เกิดเหตุการณ์พิธีราชาภิเษกของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 และจักพรรดินีโซเฟีย ถือเป็นแง่มุมของประวัติศาสตร์ที่โลกต้องจดจำ
มหาวิหารแห่งนี้เกือบถูกทำลายเพราะความเป็นศาสนสถานมาแล้วหลายครั้ง
การเฉลิมฉลองงานของลัทธิคลั่งเหตุผลช่วงหลังปฏิวัติฝรั่งเศส / ภาพ: PressReader
ต้องบอกก่อนว่ามหาวิหารนอเทรอดามเดิมสร้างขึ้นเพื่อบูชาและการเข้าใกล้พระเจ้าให้มากที่สุด แต่ถ้าเปรียบสิ่งนี้เป็นไม้เท้าของนักเวทย์ ดาบของอัศวินก็จะเข้ามาฟันนักเวทย์หลายครั้ง เพราะเมื่อตัวแทนของศาสนาแปลว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นผ่านแง่มุมนี้ก็ต้องถูกพ่วงไปด้วย นิกายโปรเตสแตนต์บุกเข้ามาทำลายประติมากรรมด้วยเหตุผลการบูชารูปเคารพซึ่งขัดกับหลักนิกายของตนเองในปี 1548 แต่ก็รอดพ้นวิกฤติครั้งนั้นมาได้ แต่ใครจะเชื่อว่าอีกเกือบ 250 ปีต่อมาเหตุการณ์ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งเพราะสมัยนั้นคนฝรั่งเศสอยู่ในลัทธิคลั่งเหตุผลสุดโต่งโดยการล้มศาสนจักรและแน่นอนตัวแทนศาสนาที่ใหญ่ที่สุดคือนอเทรอดามต้องเผชิญกับการตัดเศียรรูปสลัก ทำลายรูปปั้น และเป็นที่เก็บเสบียงรวมถึงเฉลิมฉลองของความคลั่งเหตุผล นับเป็นเหตุการสำคัญของกระแสต้านศาสนาที่สุดโต่งตอกกลับการควบคุมและหาประโยชน์โดยศาสนาในยุคนั้น ทั้งหมดเริ่มเกิดในช่วงปี 1793 และเกือบ 40 ปีต่อมาในปี 1831 ขบวนการคอมมูนแห่งปารีสปลุกระดมให้เผาทำลายอาสนวิหารทิ้งเนื่องจากการกดขี่ของศาสนาแต่สุดท้ายที่แห่งนี้ก็รอดมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ต้องยิ่งใหญ่แค่ไหนจึงสามารถจัดงานแต่งงานที่นี่ได้?
Henry IV และ Margaret of Valois / ภาพ: Paris Play
คำถามคาใจสำหรับใครหลายคนที่อยากจัดงานแต่งงานในสถานที่สำคัญและสวยงามเช่นนี้ ต้องบอกว่าที่นี่เคยจัดงานแต่งงานมาแล้วไม่ใช่แค่ 1 แต่ถึง 3 ครั้งโดยแต่ละครั้งเป็นการแต่งงานของเชื้อพระวงศ์ของฝรั่งเศสทั้งสิ้นโดยเป็นงานของกษัตริย์เจมส์ที่ 5 แห่งสกอตแลนด์กับลูกสาวของพระเจ้าฟรานซิสที่ 1 แห่งฝรั่งเศสในวันที่ 1 มกราคม 1537 และงานของแมรี่ ราชินีแห่งสก็อตส์เข้าพิธีเสกสมรสกับโดแฟงฟรานซิสในวันที่ 24 เมษายน 1558 จนมาถึงหนล่าสุดคือพิธีเสกสมรสระหว่างพระเจ้าอองรีที่ 4 แห่งฝรั่งเศสกับพระนางมากาเรตแห่งราชวงศ์วาลัวส์ โดยจัดที่บริเวณลานโล่งหน้ามหาวิหารนอเทรอดาม ณ วันที่ 18 สิงหาคม 1572 นับเป็นเวลา เกือบ 450 ปีแล้วนับตั้งแต่งานแต่งงานครั้งล่าสุดถูกจัดอย่างเป็นทางการขึ้นด้านในของที่นี่
อาคารคู่สูงเพียงใดก็ไม่รอดมือ Philippe Petit
Philippe Petit ขณะกำลังสร้างโชว์อย่างหวาดเสียว ณ มหาวิหารแห่งนี้ / ภาพ: Vintage News Daily
เมื่อพูดถึงชายชื่อว่า Philippe Petit เราอาจจะไม่คุ้นหูนัก แต่พอพูดชื่อภาพยนตร์ว่า The Walk อาจจะทำให้หลายคนร้องอ๋อขึ้นมาบ้าง หนุ่มฝรั่งเศสผู้ท้าขีดความกล้าด้วยการแสดงกายกรรมเดินบนเชือกโดยไร้การป้องกันใด ๆ แม้แต่ตึกหอคอยคู่อย่างเวิลด์เทรดเซนเตอร์ก็ไม่รอดน้ำมือชายคนนี้ แต่กับมหาวิหารสัญลักษณ์ประจำบ้านเกิดของเขาก็ไม่พลาดเช่นกัน ในวัย 22 ปีเขาเลือกจัดการแสดงเดินผาดโผนที่มหาวิหารนอเทรอดาม ณ วันที่ 26 มิถุนายน 1971 สร้างชื่อเสียงอันโด่งดังและ 3 ปีหลังจากนั้นการไปอเมริกาคือตำนานเล่าขานจนถูกสร้างเป็นภาพยนตร์
แฟชั่นเซตพร้อมฉากหลังของมหาวิหารนอเทรอดามอันเลอค่า
นางแบบขณะกำลังโพสต์ท่าหน้ามหาวิหารนอเทรอดาม / ภาพ: CreditFrances McLaughlin-Gill (Condé Nast)
ช่วงปี 1961-1963 ถือเป็นช่วงที่แฟชั่นเริ่มกลับมาฟื้นตัวเต็มที่อีกครั้งหลังจากผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 มาอย่างหนักหน่วง รูปแบบของ “New Look” โดย Dior กลายเป็นที่พูดถึงและส่งอิทธิพลเรื่อยมา จนมาในช่วงปีดังกล่าวมันถูกเปรียบเปรยว่า “แฟชั่นกับนอเทรอดามคือสิ่งที่คล้ายคลึงกัน” เหตุผลเรื่องของความสวยงาม ประณีต ใส่ใจ ความสร้างสรรค์ ความเป็นมรดกและอื่น ๆ อีกมากมาย จนทำให้ภาพถ่ายแฟชั่นที่ประกอบไปพร้อมกับฉากหลังแสนงดงามของมหาวิหารคือสิ่งที่คนในวงการแฟชั่นจะไม่มีทางลืมนึกถึงสถาปัตยกรรมอันเลอค่าแห่งนี้
มหาวิหารแห่งนี้เกือบราบเป็นหน้ากองขณะนาซีเยอรมันบุกแต่รอดเพราะนายพลขัดคำสั่งฮิตเลอร์จริงหรือ?
ภาพถ่ายสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะกองทัพเยอรมันยึดปารีสได้สำเร็จ / ภาพ: rakfocus
คำถามนี้อาจจะตอบได้ไม่แน่ชัดนักในเมื่อต้องย้อนเวลาไปกว่า 75 ปีเพื่อรำลึกถึงวันที่นายพล Dietrich von Choltitz นำทัพเยอรมันควบคุมปารีส โดยหลังสงครามเขาบันทึกถึงมหาวิหารนอเทรอดามว่ามันรอดเพราะตัวเขาขัดคำสั่งของฮิตเลอร์ที่ให้ทำลายปารีสให้ราบเป็นหน้ากอง “นี่เป็นครั้งแรกที่ผมขัดคำสั่งเขา (ฮิตเลอร์) เพราะว่าผมรู้ว่าเขาบ้าไปแล้ว” โดยลูกชายของเขาย้ำอีกว่า “แค่เขาไม่ทำลายนอเทรอดามคนฝรั่งเศสน่าจะต้องรู้สึกขอบคุณพ่อของเขาแล้ว แต่พ่อก็น่าจะสามารถทำได้มากกว่านั้น” แต่ก็มีคนคัดค้านว่าสรุปแล้วมันจริงหรือที่สร้างเรื่องราวนี้ขึ้นหรือเป็นแค่ข้ออ้างให้ตัวเองดูดีเมื่อเขาไม่มีทรัพยากรทั้งทหาร อาวุธหรือกำลังสนับสนุนอะไรแล้วในการทำเช่นนั้น ความจริง 2 มุมในเรื่องเดียวกันตอนนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเขาทำ (รักษา) หรือเขาอยากทำ (ลาย) แต่ทำไม่ได้กันแน่...
คนหลังค่อมแห่งนอเทรอดามคือภาพยนตร์และภาพยนตร์อนิเมชั่นที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับมหาวิหารแห่งนี้
เจ้าตัวละครบทบาทหลังค่อมผู้ดูแลมหาวิหาร / ภาพ: Britannica
The Hunchback of Notre-Dame หรือคนหลังค่อมแห่งนอเทรอดามคือภาพยนตร์ที่ใช้มหาวิหารนอเทรอดามเป็นแกนหลักของเรื่อง เรียกได้ว่าเป็นเรื่องหลักเลยก็ว่าได้ที่พากระแสป๊อปคัลเจอร์มาสู่สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ในปี 1939 และหลังจากนั้นในปี 1996 ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นอีกครั้งในรูปแบบแอนิเมชัน ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกและเรื่องเดียวจนถึงตอนนี้ที่ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นแกนหลักและสถานที่ของเรื่องทั้งในแบบฉบับคนแสดงและตัวการ์ตูนอนิเมชั่น ภาพยนตร์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมในชื่อเดียวกันที่ถูกเขียนขึ้นตั้งแต่ปี 1831 โดย Victor Hugo
ภาพถ่ายก่อนไฟไหม้ที่เป็นไวรัลถูกแชร์ไปทั่วโลก
ภาพไวรัลที่คนทั่วโลกช่วยแชร์และตามหาเพื่อส่งภาพให้พ่อ-ลูกคู่นี้ / ภาพ: @brookeawindsor
นับว่าเป็นเรื่องสะเทือนใจที่สถานที่สำคัญของฝรั่งเศสแห่งนี้ถูกเพลิงเผามอดไหม้เสียหายอย่างหนักในหลายส่วน แต่ในความเลวร้ายก็มีความน่ารักของมนุษย์ที่อยากจะแชร์ความทรงจำอันสดใสครั้งสุดท้ายกับมหาวิหารแห่งนี้กับคนแปลกหน้า โมเมนต์พ่อและลูกสาวแสนน่ารักหยอกล้อเล่นกันหน้ามหาวิหารนอเทรอดามก่อนที่มันจะกลายเป็นไฟเพลิงหายนะเพียง 1 ชั่วโมง ผู้ใช้ทวิตเตอร์แอคเคาต์ @brookeawindsor ได้ถ่ายภาพนี้เก็บไว้ก่อนที่จะออกตามหาพ่อลูกคู่นี้ผ่านทางโลกออนไลน์ ถือเป็นปรากฏการณ์เล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ครั้งท้าย ๆ ก่อนที่มันจะเกิดหายนะที่ไม่มีใครอยากให้เกิดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
ภาพยนตร์กับบทพูดที่กลายเป็นคำทำนายที่ตรงเผง
คำทำนายเมื่อ 15 ปีที่แล้วที่ไม่มีใครอยากให้เป็นจริงจากภาพยนตร์เรื่อง Before Sunset (2004) / ภาพ: @TwoCultureDucks
ทุกคนบนโลกออนไลน์พูดถึงบทพูดในภาพยนตร์เรื่อง Before Sunset (2004) ระหว่าง Jesse และ Céline เกี่ยวกับมหาวิหารนอเทรอดามเรื่องของความสวยงามอันหยดย้อนจนไม่ถูกทำนายซึ่งเป็นตำนานเล่าขานกันมานักต่อนักตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และปิดท้ายด้วยประโยคสะเทือนใจคนทั้งโลกว่า “แต่คุณ (Jesse) ต้องคิดนะว่าสักวันหนึ่งนอเทรอดามก็ต้องหายไป” เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้คนลองนึกย้อนมองและชื่นชมมหาวิหารแห่งนี้ก่อนที่มันจะต้องปิดปรับปรุงแบบไม่มีกำหนดจากเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้ อย่างน้อยมันก็ยังไม่หายไปทั้งหมดหากมองโลกในแง่ดีมันคือการสร้างความตระหนักว่าสุดท้ายเราต้องย้อนมองความสวยงามของมันและให้ความสำคัญอยู่อย่างสม่ำเสม “เพราะวันหนึ่งอาจจะไม่มีอีกแล้ว” คำนี้ใช้ได้กับทุกอย่างไม่ใช่แค่กับเรื่องราวอันน่าเศร้าใจที่เกิดขึ้นกับศาสนสถานอันเป็นที่รักของคนฝรั่งเศส แต่คือกับผู้รักงานศิลปะและมนุษย์ทุกคนบนโลก...
ข้อมูล: The New York Times, BuzzFeed, Washington Post, NEWS 18, The Telegraph, THE LOCAL FR, THE WRAP, OprahMag & wikipedia
WATCH