LIFESTYLE

ดนตรีเร็กเก เคป๊อป และร็อกแอนด์โรล Soft Power ที่ทำให้แต่ละประเทศถูกจดจำอย่างชัดเจน

ศาสตร์แห่งดนตรีไม่เพียงมอบความบันเทิงให้เสพกันอย่างแพร่หลาย แต่ยังสอดแทรกกลิ่นอายทางวัฒนธรรมเข้าสู่สังคมทั่วโลก

     ในขณะที่โลกเดินหน้าสู่โลกสมัยใหม่ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่แปรสภาพเป็น Soft Power ให้กับประเทศต่างๆ ได้เสริมสร้างวัฒนธรรมและกระตุกความสนใจให้คนหลงใหลในมนต์เสน่ห์อันแตกต่าง ดนตรีถือเป็นเครื่องมือที่สรรสร้าง Soft Power สุดคลาสสิก เพราะตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษ หรืออาจจะนานนับศตวรรษที่ดนตรีเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตมนุษย์อย่างมากและกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนทั่วโลกเชื่อมสัมพันธ์กัน โดยมีมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นนี้เป็นแกนหลักสำคัญ วันนี้โว้กจะพามาย้อนชมว่าสุดยอด Soft Power ที่ตั้งมาตรฐานการเสพวัฒนธรรมและค่านิยมของแต่ละสังคมมาโดยตลอด

 

คลิกอ่านเรื่องราวการขึ้นคอนเสิร์ตของมิลลิบนเวที Coachella อันสะท้อนถึง Soft Power ที่ประเทศไทยอาจกำลังตามหา vogue.co.th/lifestyle/article/milli-at-coachella-2022-with-mango-sticky-rice

เร็กเก, reggae

ความสนุกสนานของงานเร็กเกที่มักมีธงสีสัญลักษณ์ราสตาฟารีปรากฏขึ้นเสมอ / ภาพ: Peeter Viisimaa

     ย้อนกลับไปในช่วงยุค ‘60s ช่วงนั้นยังไม่มีรูปแบบความบันเทิงที่หลากหลายมากนัก สิ่งที่ทำให้คนทั่วโลกได้สนุกสนานเพลิดเพลินที่สุดก็คงเป็นดนตรีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แน่นอนว่าระหว่างนั้นโลกมีการพัฒนาด้านดนตรีมาอย่างสม่ำเสมอ และเทรนด์การฟังดนตรีก็เริ่มแตกกระจายเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น แต่ดนตรีประเภทหนึ่งก้าวกระโดดเข้ามาในสารบบการเสพความบันเทิงของผู้คนและเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศจาไมกากลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก นั่นก็คือ “เร็กเก” ความโดดเด่นของดนตรีประเภทนี้สร้างแนวทางดนตรีแบบใหม่ อีกทั้งยังเป็นเหมือนสัญลักษณ์สำคัญที่ใช้หล่อหลอมสังคมทั้งในและนอกประเทศจาไมกาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เร็กเก, reggae

วิถีราสตาฟารีที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นวัฒนธรรมการใช้ชีวิตและแฟชั่น / ภาพ: Medium

     ต้นกำเนิดจาก “สกา” และ “ร็อกสเตดี” แท้จริงแล้วจาไมกามีรากฐานแนวดนตรีที่น่าจดจำอยู่แล้ว แนวเพลงสกาถือเป็นแบบฉบับของการสร้างดนตรียุคใหม่หลายแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเร็กเก ซึ่งถ้าย้อนลงรากลึกไปอีกดนตรีแนวเร็กเกมีความเกี่ยวข้องกับ “ราสตาฟารี” ศาสตร์ความเชื่อและแนวทางการขับเคลื่อนสังคมจากยุค ‘30s ซึ่งมีหัวใจหลักคือการสร้างแนวคิดเรื่องสันติ เน้นย้ำเรื่องการใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือการเปลี่ยนแปลงสังคม ดังนั้นความโดดเด่นทางด้านดนตรีจึงกลายเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาสังคม รวมถึงสร้างเอกลักษณ์อันโดดเด่นในสังคมจาไมกา



WATCH




เร็กเก, reggae, Bob Marley

Bob Marley ตำนานแห่งวงการเพลงเร็กเก / ภาพ: Britannica

     หลังจากสร้างรากฐานอันแข็งแกร่งด้วยการต่อยอดแนวดนตรีสู่วิถีเร็กเกเต็มตัว วัฒนธรรมดังกล่าวจึงถูกนำมาพัฒนาเป็นความโดดเด่นของประเทศ วงดนตรีเร็กเกจึงพัฒนาจากแค่ผู้เสิร์ฟความสุขสู่ผู้ถ่ายทอดวัฒนธรรม ซึ่งในช่วงปลายยุค ‘60s ถึงต้นยุค ‘70s ดนตรีเร็กเกเติบโตอย่างรวดเร็วและแผ่ขยายอิทธิพลเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาที่ผู้คนเริ่มเสพดนตรีแนวนี้เป็นดนตรีทางเลือก ชื่อของ Bob Marley เป็นดั่งสัญลักษณ์อันโด่งดังของดนตรีประเภทนี้ เขาเคยเซ็นสัญญากับค่ายเพลงดังในประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เนื่องจากกระแสของเร็กเกกำลังมา และเขาก็ค่อยๆ ถ่ายทอดความสวยงามของดนตรีประเภทนี้ให้คนได้ฟัง เขาไม่ได้เที่ยวประกาศและชูความโดดเด่นของเร็กเก แต่บ็อบและวงดนตรีเร็กเกอื่นๆ นำเสนอความโดดเด่นของดนตรี สอดแทรกกลิ่นอายวัฒนธรรมจาไมกา พร้อมทั้งทำทุกอย่างให้มีความเป็นสากลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดรับวิถีการเสพดนตรีของคนต่างชาติ หรือการเปิดสังคมให้คนอื่นสามารถเข้าถึงวิถีจาไมกาได้มากขึ้น

เร็กเก, reggae

บรรยากาศงานคอนเสิร์ตเร็กเกในประเทศสหรัฐอเมริกา / ภาพ: Festicket

     “ดนตรีสร้างการเปลี่ยนแปลง” แนวคิดแบบราสตาฟารียังคงผลิดอกออกผลเสมอมา ดนตรีเร็กเกอาจสร้างภาพจำเรื่องความสันติ และวัฒนธรรมการสูบกัญชาพาล่องลอยไปหาความสงบ แนวเพลงเองยังสร้างความสนุกสนานให้กับคนทั่วโลก ดังนั้นหากใครนึกถึงดนตรีสนุกๆ มาพร้อมสีสันและวิถีการดำเนินชีวิตรักสันติก็ต้องนึกถึงสไตล์เร็กเกที่มาจากจาไมกา ดนตรีเร็กเกจึงเปรียบดั่ง Soft Power ที่ผลักดันให้จาไมกาก้าวขึ้นมามีชื่อโดดเด่นบนเวทีโลก แม้จะไม่ใช่ประเทศที่มีพลังอำนาจแบบ Hard Power เท่าไหร่นักก็ตาม นอกจากนี้วัฒนธรรมดนตรีประเภทนี้ยังกลายเป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และเรียกร้องสิทธิมนุษยชนในหลายประเทศแถบทวีปอเมริกาใต้ ต่อมามันจึงกลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเรียกร้องสิทธิ์ นอกจากนี้ยังเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความสนุกควบคู่ความสงบสุข ทั้งหมดนี้เป็นวิถีของชาวจาไมกาที่ทุกคนรู้จักซึมซับมาตลอดหลายสิบปี

Hank Williams, Rock and Roll, Rock n Roll, ร็อกแอนด์โรลล์

Hank Williams ศิลปินในช่วงต้นของยุคร็อกแอนด์โรลล์ / ภาพ: Rolling Stone

     ก่อนหน้าเร็กเกแนวเพลงอะไรคือแนวเพลงหลักที่ครองโลก...คำตอบคือ “ร็อกแอนด์โรลล์” นี่คือสัญญะของความโคตรอเมริกัน สไตล์การเล่นดนตรีที่โด่งดังจากปลายยุค ‘40s ถึงยุค ‘50s ยังคงนำเสนอภาพจำให้คนนึกถึงอดีตอันหอมหวานจากดินแดนศิวิไลซ์เสมอมา ช่วงนั้นมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสังคม “คนผิวสี” และ “คนขาว” (นิยามศัพท์ตามยุคสมัยเพื่อความถูกต้องตามประวัติศาสตร์การบันทึก) อยู่ร่วมกันและหลอมรวมวัฒนธรรม เหล่าอดีตผู้ถูกกดขี่เข้ามาในเมืองใหญ่และพกพาดนตรีแจ๊ส-สวิงติดตัวมา พบกับนักดนตรีท้องถิ่น การผสมผสานแนวดนตรีจึงเกิดขึ้นอย่างน่าสนใจ

Little Richard, Rock and Roll, Rock n Roll, ร็อกแอนด์โรลล์

Little Richard อีกหนึ่งตำนานจากยุคร็อกแอนด์โรลล์ / ภาพ: MusicRadar

     เริ่มแรกแนวดนตรีแจ๊สเป็นเหมือนแนวทางดนตรียอดนิยม แต่หลังจากยุคสมัยผลัดเปลี่ยนเข้าสู่ดนตรีกึ่งเทคโนโลยี กีตาร์ไฟฟ้า เครื่องขยายเสียง และไมโครโฟนรูปแบบใหม่ถือกำเนิดขึ้น และกลายเป็นแนวดนตรีทางเลือกของคนยุคใหม่ ณ ขณะนั้น นักดนตรีร็อกแอนด์โรลล์ยุคแรก ไม่ว่าจะเป็น Jimmy Preston, Hank Williams, Arthur Crudup และอื่นๆ อีกมากมายก็พัฒนาดนตรีร็อกแอนด์โรลล์ยุคเริ่มแรกได้อย่างน่าสนใจ ถัดมายังมีชื่อของ Chuck Berry, Bo Diddley, Little Richard และ Jerry Lee Lewis ซึ่งแต่ละชื่อล้วนเป็นตำนานของวงการดนตรีทั้งสิ้น

Elvis Presley, Rock and Roll, Rock n Roll, ร็อกแอนด์โรลล์

Elvis Presley ตำนานศิลปินร็อกแอนด์โรลล์ที่สร้างอิทธิพลมหาศาลให้กับโลกดนตรี / ภาพ: ThoughtCo

     ในช่วงกลางยุค ‘50s ดนตรีร็อกแอนด์โรลล์เข้าสู่ยุค “Rockability” มี Elvis Presley, Carl Perkins และ Johnny Cash ถือธงนำหน้า ช่วงนี้เป็นช่วงที่มีการผนวกเอาแนวดนตรีคันทรี่มาร่วมผสมผสานด้วย ดนตรียุคนี้จึงมีความ “อเมริกัน” จ๋า และดนตรีช่วงยุคดังกล่าวเป็นที่นิยมและได้รับการสนับสนุนอย่างมาก ซึ่งดนตรีร็อกแอนด์โรลล์ไม่ได้สร้างเพียงความสุขผ่านการฟังเท่านั้น แต่ยังเสริมสร้างวัฒนธรรมที่ทำให้คนอเมริกันภูมิใจ อีกทั้งยังสามารถเผยแพร่ความโดดเด่นจุดนี้สู่เวทีโลกได้อย่างแข็งแกร่ง

Rock and Roll, Rock n Roll, ร็อกแอนด์โรลล์

วัฒนธรรมการเต้นอย่างสนุกสนานในช่วงยุคร็อกแอนด์โรลล์ / ภาพ: Vintage Swing Dance

     ร็อกแอนด์โรลล์คือตัวแทนแห่งความกลมเกลียวอันเป็นวิถีแห่งอเมริกัน ซึ่งกลายเป็นฉากหน้าสำคัญที่ทำหน้าที่เป็นดั่ง Soft Power ให้คนซึมซับวัฒนธรรมอเมริกันอย่างเปิดกว้าง ดนตรีร็อกแอนด์โรลล์ถูกมองว่าเป็นกาวเชื่อมสัมพันธ์และขจัดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ มีการพัฒนาด้านภาษา ไลฟ์สไตล์ และแฟชั่นตามแนวดนตรี และสิ่งที่สะท้อนความกลมเกลียวเหล่านี้ส่งผ่านออกไปในรูปแบบดนตรีและทำให้ผู้คนทั่วโลกรู้จักและจดจำความเป็นอเมริกันด้วย Soft Power ที่เรียกว่าร็อกแอนด์โรลล์ นับจนถึงทุกวันนี้ภาพลักษณ์อันหนักแน่นดังกล่าวยังคงอยู่และพัฒนาไปเรื่อยๆ แต่ถ้าถามถึงรากฐานของความหลากหลายที่คนทั้งโลกรู้จักดินแดนเสรีแห่งนี้ ร็อกแอนด์โรลล์เป็นหนึ่งคำตอบที่สำคัญอย่างยิ่ง

Rock and Roll, Rock n Roll, ร็อกแอนด์โรลล์

วงร็อกแอนด์โรลล์สัญชาติสเปนจากยุค '50s ที่ได้รับอิทธิพลด้านวัฒนธรรมจากสหรัฐอเมริกา / ภาพ: Scarlett Entertainment

     ในยุคช่วงเวลาหนึ่งคนทั่วโลกอยากเป็นอเมริกา พวกเขาไม่ได้โฆษณาชวนเชื่อผ่านดนตรี แต่ส่งดนตรีและนัยยะของมันออกสู่ตลาดโลก ร็อกแอนด์โรลล์เปรียบดั่งความล้ำหน้าทันสมัยที่มีรากฐานอันมั่นคงจากการผสมผสานวัฒนธรรม วัฒนธรรมและแฟชั่นที่ผูกติดกับร็อกแอนด์โรลล์ถูกส่งต่อไปทั่วโลกในยุคสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาอาจส่งทหารไปรบตามหน้าที่แบบฉบับ Hard Power แต่ทหารเหล่านั้นก็เผยแพร่วัฒนธรรมจนกลายเป็น Soft Power ที่สำคัญ ดนตรีร็อกแอนด์โรลล์จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวัยรุ่นและผู้โหยหาความทันสมัยตามอุดมคติแบบอเมริกันชน Soft Power ถึงขั้นสร้างรากฐานให้กับดนตรีจากเมืองดัง ยกตัวอย่างเช่นเมืองลิเวอร์พูลที่เมื่อก่อนเป็นเพียงเมืองอุตสาหกรรม ไม่ได้มีวัฒนธรรมที่โดดเด่นนัก แต่เมื่อกระแสร็อกแอนด์โรลล์คืบคลานเข้าไป Gerry and the Pacemakers จนถึง The Beatles จึงถือกำเนิดขึ้น และทั้งหมดก็มีรากฐานมาจาก Soft Power อันทรงพลังของดนตรีร็อกแอนด์โรลล์ อันหมายถึงความเป็นอเมริกันที่มีแนวทางการพัฒนาวัฒนธรรมแบบอเมริกันแท้ๆ

K-pop, kpop, เคป๊อป, เคป็อป, เคป๊อบ, เคป็อบ

ด้วยรากฐานที่ปูมาอย่างมั่นคงทำให้ตอนนี้อุตสาหกรรมเคป๊อปมีแฟนคลับทั่วโลกร่วมร้อยล้านคน / ภาพ: The Korea Times

     หากพูดถึง Soft Power กับดนตรีคงจะไม่พูดถึงวงการเคป๊อปไปไม่ได้ หลังจากดนตรีเร็กเกและร็อกแอนด์โรลล์สร้างมิติแห่ง Soft Power อันยิ่งใหญ่เมื่อหลายทศวรรษก่อน ก้าวข้ามมาถึงปัจจุบันวงการดนตรีเกาหลีเองก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน จุดเริ่มต้นถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วง “Korean Wave” ที่เกาหลีใต้ส่งออกวัฒนธรรมทุกรูปแบบ และเริ่มพัฒนาจุดเด่นด้านต่างๆ เพื่อตอบโจทย์การเสพความบันเทิง นั่นร่วมถึงดนตรีด้วย ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปลายยุค ‘90s เกาหลีมุ่งเป้าสร้างวัฒนธรรมอันโดดเด่น ไม่ใช่เพียงเพราะอยากนำเสนอตัวตนบนเวทีโลก แต่ยังสร้าง Soft Power ที่เป็นดั่งเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ รวมถึงการสร้างรายได้จำนวนมหาศาลอีกด้วย

K-pop, kpop, เคป๊อป, เคป็อป, เคป๊อบ, เคป็อบ, bts

เมืองลาสเวกัสถูกเปลี่ยนเป็นสีม่วงจากอิทธิพลความชื่นชอบของแฟนคลับวง BTS / ภาพ: Emily Jo

     เราทุกคนคงรู้จักวงเคป๊อปยุคเก่าทั้ง Super Junior, Wonder Girls หรือจะเป็น 2NE1 และในยุคปัจจุบันชื่อ BTS, Blackpink, GOT7 และอีกหลายต่อหลายวงก็โด่งดังระดับโลก ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่วงเหล่านี้ได้รับการผลักดันให้เติบโตโดยมีทิศทางที่มุ่งเป้าเรื่องการสร้างแรงกระเพื่อมในเชิงวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งศิลปินไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศว่ามาจากเกาหลี แต่รูปแบบการนำเสนอผลงานด้วยเอกลักษณ์ทางดนตรี การแสดง รวมถึงภาษาที่ใช้ก็สามารถเป็นเครื่องยืนยันว่านี่คือ “เกาหลี” และทำให้คนทั่วโลกสนใจกับความโดดเด่นตรงนี้แบบไม่ยัดเยียด

K-pop, kpop, เคป๊อป, เคป็อป, เคป๊อบ, เคป็อบ, Blackpink

BLACKPINK วงเกิร์ลกรุ๊ปมาแรงที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั้งโลก / ภาพ: SDG Advocates

     เพลงป๊อป ฮิปฮอป หรือดนตรีเต้น อุตสาหกรรมดนตรีเกาหลีไม่ได้จำแนกแจกแจงประเภทแบบนั้น แต่พวกเขาผสมผสานองค์ประกอบที่เข้ากันได้มาอยู่ด้วยกันอย่างลงตัว แต่ละวงสมาชิกแต่ละคนก็มีจุดเด่นที่เหมาะสำหรับการสร้างความหลากหลาย ดังนั้นผลงานของศิลปินเกาหลีจึงแตกต่างไม่เหมือนใคร และด้วยการผลักดัน รวมถึงวิธีการออกแบบทิศทางการพัฒนาทำให้เหล่าศิลปินทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าสามารถก้าวขึ้นสู่เวทีระดับโลก ยิ่งในปัจจุบันเมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี ไม่ใช่แค่ดนตรี ทุกสายตาทั่วโลกจะหันมาจับจ้องทุกหมากการเดิน นี่คือ Soft Power ที่วัฒนธรรมเกาหลีได้รับการจดจำ รับรู้ และค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปอยู่ทั่วทุกหัวระแหง

K-pop, kpop, เคป๊อป, เคป็อป, เคป๊อบ, เคป็อบ

กลุ่มผู้ชมจำนวนมากที่มาชมงาน London Korean Festival 2015 / ภาพ: KCCUK

     Soft Power ของเกาหลีทรงพลังเพียงใด การแทรกซึมสู่คนรุ่นใหม่คือกุญแจสำคัญอย่างยิ่ง วัฒนธรรมเคป๊อปเข้าไปอยู่ในทุกพื้นที่จนบางครั้งเราอาจเห็นปัญหาความขัดแย้งคลี่คลายหรือทวีความรุนแรงมากขึ้น การค่อยๆ หล่อหลอมความชื่นชอบและคุ้นเคย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคเครือข่ายไร้พรมแดน ยิ่งผลักดันให้ผู้คนสามารถเสพความบันเทิงได้อย่างอิสระมากขึ้น ไม่ได้ถูกกำหนดอยู่แค่หน้าจอโทรทัศน์หรือสัญญาณความบันเทิงจากประเทศตนเท่านั้น พลังดังกล่าวถึงขั้นสร้างความขัดแย้งได้เช่นในจีนคนรุ่นใหม่ชื่นชอบศิลปินเกาหลีจนเกิดเป็นพลังต่อต้านการจำกัดสิทธิ์ในการเสพความบันเทิงของภาครัฐ นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดที่บ่งบอกว่า Soft Power จากอุตสาหกรรมเคป๊อปมันทรงอิทธิพลมากเพียงใด ในขณะเดียวกันพวกเขา (ศิลปินเคป๊อป) ก็สามารถก้าวขึ้นสู่เวทีระดับโลก มีการทัวร์คอนเสิร์ตมากมาย และสร้างบรรทัดฐานความทันสมัย ไม่ใช่แค่กับคนเอเชียด้วยกัน แต่อาจยิ่งใหญ่ถึงขนาดยุคสมัยร็อกแอนด์โรลล์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งรวมถึงแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ และภาษา ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า Soft Power จากวงการดนตรีมันยิ่งใหญ่และอยู่คู่กับโลกเรามาโดยตลอด

 

ข้อมูล:

brandthink.me

oneloverepublic.wordpress.com

babystepmagazine.com

bangkokbiznews.com

thediplomat.com

WATCH

คีย์เวิร์ด: #SoftPower