LIFESTYLE

เปิด 5 ภาพยนตร์ภาคต่อที่ไม่ควรรีเมกซ้ำเป็นรอบที่สอง!

นี่คือลิสต์ภาพยนตร์ระดับตำนานที่เป็นหนังในดวงใจของใครหลายคน

แม้จะมีภาพยนตร์หลายเรื่องที่โด่งดังขึ้นเพราะเป็นฉบับรีเมกและทำออกมาได้ดีเยี่ยมยิ่งกว่าต้นฉบับ หากก็มีอีกหลายเรื่องเช่นเดียวกันที่ไม่ควรนำมารีเมกซ้ำเป็นรอบที่ 2 ด้วยเหตุผลหลักอย่างเหล่านักแสดงผู้เข้าถึงบทบาทจนหลายครั้งแฟนๆ ไม่อาจสลัดภาพคาแรกเตอร์ออกไปจากตัวนักแสดงได้ หรือจะเป็นสถานที่ถ่ายทำสุดอลังการสวยงามสมกับตัวภาพยนตร์ และที่สำคัญคือดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่ช่วยขับให้เนื้อเรื่องนั้นมีสีสันที่หลากหลายมากขึ้น จะมีเรื่องไหนบ้างโว้กลิสต์รายชื่อมาให้ได้ชมกัน

ภาพยนตร์ Harry Potter / Indie Mac

Harry Potter

เป็นภาพยนตร์แฟรนไชส์ในดวงใจของใครหลายคนต้องยกให้กับ Harry Potter เรื่องราวของเด็กผู้ถูกเลือกในโลกแห่งเวทย์มนตร์ภาพยนต์ที่สร้างขึ้นจากบทประพันธ์ของ J.K. Rowling ถือไม่ควรหยิบมารีเมกอย่างเด็ดขาด นั่นก็เพราะเรื่องราวทั้งหมดถูกถ่ายทอดได้อย่างครบถ้วนแล้ว แม้จะมีรายละเอียดเล็กน้อยในหนังสือที่พลาดไปเมื่อมาทำเป็นหนัง หากผู้กำกับและทีมงานก็สามารถจับภาพโลกเวทย์มนตร์และโรงเรียน Hogwarts ได้อย่างสมบูรณ์แบบทั้งบรรยากาศ สถานที่ การแต่งตัว ไปจนถึงดนตรีประกอบและที่สำคัญคือเหล่านักแสดง

สำหรับตัวละครแล้วต้องบอกว่าคนแคสติ้งนักแสดงทำได้อย่างยอดเยี่ยม เนื่องจากตีโจทย์การบ้านแตกแบบสุดๆ ด้วยตัวละครเหล่านี้ต้องเติบโตและมีพัฒนาการไปพร้อมกับผู้ชม นั่นหมายถึงความเหมาะสมของผู้เล่นที่จะสวมบทบาทได้อย่างแนบเนียนในระยะยาว และแน่นอนว่าก็ไม่ทำให้แฟนๆ ผิดหวัง เพราะเหล่านักแสดงในเรื่องชักจูงให้เราได้เห็นถึงมิตรภาพที่เกิดขึ้นจริงจนยากจะถอนตัว จนถึงตอนนี้ใครๆ ต่างติดภาพคาแรกเตอร์ไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย ลองนึกภาพว่า Hermione Granger ไม่ได้แสดงโดย Emma Watson แต่เป็นคนอื่นดูก็คงจะนึกไม่ออกใช่ไหม ขนาดเจ้าตัวเองยังพูดเลยว่าเธอกับเฮอร์ไมโอนีมีส่วนที่คล้ายกันมาก แล้วไหนจะ Professor Snape ที่คนแสดงไม่ได้มีเสียงโทนต่ำแบบ Alan Rickman แล้ว แบบนี้โลกพ่อมดแม่มดคงขาดรสชาติและน่าจะแปลกพิลึก

ตอนหนึ่งของภาพยนตร์ The Lord of The Ring ภาค Fellowship of the Ring / Cinema Blend

The Lord of The Ring

ชิ้นงานมหากาพย์แห่งยุคผลงานการกำกับของ Peter Jackson อย่าง The Lord of The Ring ทั้ง 3 ภาคนั้นถือเป็นต้นแบบของภาพยนตร์แนวแฟนตาซีและการผจญภัยที่ไม่ว่าคุณจะใช่แฟนหรือไม่ก็ต้องยกนิ้วโป้งให้ทั้งนั้น ด้วยตัวผู้กำกับอย่างปีเตอร์เองมีความตั้งใจและตั้งมั่นไว้ว่าจะใช้ CG ให้ได้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อความสมจริงของภาพยนตร์และเพื่อถ่ายทอดความยิ่งใหญ่ของฉากธรรมชาติอันสวยงามที่จะบอกเล่าการเดินทางของคณะพันธมิตรแห่งแหวน กับภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่หอบด้วยความหวังที่จะชนะอันน้อยนิดติดตามไปด้วย การถ่ายทำจึงกินระยะเวลานานหลายปีในการสร้าง เพราะกองถ่ายใช้สถานที่มากกว่า 150 สถานที่ โดยถ่ายทำส่วนมากที่ประเทศนิวซีแลนด์ และอังกฤษ 

ในขณะเดียวกันตัวละครก็ใช้คนแสดงทั้งหมด แม้จะเป็นเหล่าผู้ร้ายอย่าง Uruk-hai และพวก Orcs ก็ใช้สเปเชียลเอฟเฟกต์แต่งหน้าเข้ามาช่วยเพื่อความสมจริงมากที่สุด หากก็มีบางช่วงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างในแต่ละฉากของเหล่าฮอบบิทตัวน้อยที่ต้องใช้สแตนอินเข้ามาช่วยและตัดต่อนักแสดงลงไปแทน ด้วยความทุ่มเทและทุ่มทุนทั้งหมดที่ปีเตอร์ แจ็กสัน เนรมิตภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้น ถือเป็นการให้เกียรติแก่บทประพันธ์ของ JRR Tolkein ได้อย่างเท่าเทียมที่สุด ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นอีกหนึ่งชุดที่ไม่ควรจะหยิบมารีเมกอย่างยิ่ง



WATCH




ตอนหนึ่งของภาพยนตร์ Back to the Future / Detroit Metro Times

Back to The Future

แม้ตัวละคร Marty McFly ที่รับบทโดย Michael J. Fox จะตัวเล็กไปหน่อยในภาพยนตร์ไซไฟภาคต่ออย่าง Back to The Future หากว่าเขาตีบทแตกจนผู้กำกับต้องเลือกเขาเป็นคนแรก แต่ด้วยไมเคิลในตอนนั้นติดถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องอื่นอยู่เขาจึงปฏิเสธไป จนตัวหนังถ่ายทำไปแล้วถึง 4 อาทิตย์โดยได้ Eric Stoltz มารับแสดงหากผู้กำกับกลับยังไม่รู้สึกถึงตัวละครเท่าที่ควร บวกกับพฤติกรรมของอีรีคทำให้ต้องถอดชื่อเขาออก แล้วเริ่มต้นถ่ายทำใหม่โดยได้ไมเคิลกลับมารับบทอย่างที่ตั้งใจไว้แต่แรก และแน่นอนว่าเขาถ่ายทอดบุคลิกของมาร์ตี้ เด็กหนุ่มวัยมัธยมปลายผู้ชื่นชอบเล่นสเก็ตบอร์ดและฝันอยากจะเป็นร็อกสตาร์ได้อย่างแนบเนียน รวมไปถึงเคมีการเข้าขาระหว่างส่งบทกับตัวละครด็อกเตอร์ Brown ที่รับบทโดย Christopher Lloyd ก็ทำได้อย่างไม่มีขาดตกบกพร่อง

อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ใครๆ ชื่นชอบและไม่อยากให้รีเมกภาพยนตร์ภาคต่อเรื่องนี้เป็นพิเศษ ก็เพราะว่าเทคโนโลยีที่ดูขาดๆ เกินๆ ในเรื่องถือว่าสมจริง เนื่องจากไทม์แมชชีนและข้าวของวิทยาศาสาตร์ทั้งหมดเกิดจากการประดิษฐ์ด้วยมือของด็อกเตอร์บราวน์ ที่ใครๆ ต่างก็พูดว่าเขาดูเป็นนักวิทยาศาสตร์สติฟั่นเฟืองนั่นเอง ความยอดเยี่ยมยังไม่หมดเพียงเท่านี้เพราะภาพยนตร์แฟรนไชส์เรื่องนี้ยังได้รับรางวัลออสการ์สาขาตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม รวมถึงรางวัลแซทเทิร์น และรางวัลบาฟต้าที่เป็นเครื่องการันตีอีกด้วยว่าความสำเร็จนี้ไม่ควรที่จะนำมารีเมกต่อนั่นเอง 

ตอนหนึ่งของภาพยนตร์ Star Wars / Detroit Metro Times

Star Wars

Luke Skywalker ยอมเดินเพื่อให้ Anakin Skywalker ได้วิ่งอย่างเต็มที่ อาจฟังดูงงๆ เพราะตัวละครอย่างลุคที่รับบทโดย Mark Hamill นั้นเป็นลูกชายของแอนนาคินที่รับบทโดย Hayden Christensen ก็จริง หากว่าผู้กำกับ George Lucas เลือกหยิบไตรภาคเดิมอย่างภาค 4-6 ขึ้นมาทำก่อน ด้วยเทคโนโลยีและ CG ในยุคนั้นยังไปไม่ถึงช่วงสงครามโคลนส์ในช่วงไตรภาคต้น (ภาค1-3) และทำให้ต้นทุนในการถ่ายทำค่อนข้างสูงเนื่องจากต้องสร้างฉากและยกกองออกไปถ่ายที่จริงกันค่อนข้างเยอะ คนที่ดูแบบไล่เรียงตามเนื้อเรื่องตั้งแต่ภาคแรกจึงอาจงงได้ว่าทำไมพอมาภาคหลังแล้ว CG ถึงค่อนข้างล้าสมัยและดูขัดตาไปบ้าง หากกลิ่นอายความคลาสสิกของเหล่าอัศวินเจไดและส่งครามแห่งจักรวาลกลับฉุดให้คุณต้องภวังค์ได้อย่างไม่ต้องสงสัย พร้อมตามหา Lightsabor มาถือราวกับตัวเองเป็นลูกศิษย์ตัวน้อยหรือที่เรียกว่า padawan ที่สำคัญช่วงไตรภาคเดิมก็ยังประสบความสำเร็จทั้งในเชิงรายได้และคำวิจารณ์เชิงบวกอีกด้วยซ้ำ 

เมื่อการถ่ายทำดำเนินมาถึงช่วงไตรภาคต้นและไตรภาคต่อ CG ที่พัฒนามาไกลพอสมควรผสมผสานกับวิชวลเอฟเฟกต์จึงช่วยเติมเต็มให้ฉากการสู้รบระหว่างจักรวาลเป็นไปอย่างสมจริงมากขึ้น ในขณะที่ตัวละครเองก็เข้าถึงบทบาทได้อย่างพอดีราวกับจับวาง แม้ว่าเส้นเรื่องจะไม่ได้แตกแถวไปจากเดิมเท่าไหร่เพราะยังคงวนเวียนอยู่ในการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ และการฝึกฝน “พลัง” ที่จะผูกมัดกาแลกซีทั้งกาแลกซีเข้าไว้ด้วยกันก็ตาม

ตอนหนึ่งของภาพยนตร์ Indiana Jones ภาค Indiana Jones and the Last Crusade / Screen Rant

Indiana Jones

ไม่มีใครอีกแล้วที่จะเล่นเป็น Indiana Jones ได้ดีไปกว่าหรือเทียบเท่ากับที่ Harrison Ford เล่น เขาคนนี้ถ่ายทอดความเป็นนักล่าสมบัติผู้มีอาชีพเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยภาควิชาโบราณคดีได้อย่างแยบยล โดยมีหมวกทรงเฟดอร่าและแส้เป็นอาวุธคู่ใจที่ไปกับเขาทุกที่ในเรื่อง ยามอยู่ในรั้วมหาลัยฯ อินเดียน่าวางมาดเป็นอาจารย์ผู้มีความรู้และดูภูมิฐาน หากเข้าป่าผจญภัยเมื่อไหร่ภาพลักษณ์ของเขาจะกลายเป็นชายฉกรรจ์มอมแมมที่พกกึ๋นและสัญชาตญาณเอาตัวรอดมาแทน ด้วยความที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เน้นถ่ายสถานที่จริงหรือทำฉากขึ้น ดังนั้น CG จึงไม่ได้ใช้เยอะเท่าที่ควร แต่ก็กลายเป็นภาพยนตร์ที่มีเสน่ห์ตรงที่ความไม่สมบูรณ์แบบและการเข้าถึงได้จริง ยิ่งฉากต่อสู้ก็ทำได้เหมือนชีวิตจริงมากๆ เพราะอินเดียน่าไม่ใช่นักสู้แต่เป็นอาจารย์สอนหนังสือ ดังนั้นวิชาบู๊จะไม่ได้มีลวดลายสวยงามเป็นจังหวะแบบภาพยนตร์แอ็กชั่นเรื่องอื่น การสู้ของเขาจึงเป็นแนววิ่งเอาตัวรอด โยนข้าวของใส่ กระโดดบีบคอ ชกเป้าและจิ้มตา มากกว่าปล่อยหมัดมวยและยิงปืนแม่น จุดนี้เองจึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สร้างสีสันและเสน่ห์ให้กับเรื่องได้เป็นอย่างดี 

การส่งไม้ต่อหรือหยิบตัวละครมารีเมกก็ดูจะเป็นไปได้ยาก ทางค่ายยังมีการเสริมฉากลมพัดปลิวหมวกใบเก่งมาตกอยู่ที่เท้าของ Mutt Williams รับบทโดย Shia LaBeouf ลูกชายของโจนส์ในภาคที่ 4 ซึ่งบอกเหมือนเป็นนัยๆ ว่าจะส่งต่อแฟรนไชส์นี้มาสู่เขาหรือเปล่า หากแล้วคำตอบก็มาถึง เมื่อโจนส์ตัวจริงก้าวเข้ามาหยิบหมวกคืนกลับไปพร้อมส่งยิ้มให้ เป็นการบอกกลายๆ ว่าไม่มีใครจะเป็นอินเดียน่า โจนส์ ได้แบบที่เขาเป็นอีกแล้ว

ข้อมูล : Screen Rant, Movie Net, People

WATCH