LIFESTYLE

บุกตะลุย MOGOK เมืองแห่งอัญมณีในพม่าที่คนขายพลอยมูลค่าหลักแสนกันตามตลาดนัด

     พอพูดถึงคำว่า “จิวเวลรี” สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงคงจะเป็นมูลค่าราคามหาศาล ตามมาด้วยสถานที่ซื้อขายอันหรูหรา มีห้องรับรอง มีมุมเลือกมุมดูพร้อมบริการสุดพิเศษจากพนักงาน และอีกหลายองค์ประกอบสร้างให้เกิดความพรีเมียมขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นภาพจำที่คนในสังคมสร้างขึ้นและผลิตซ้ำอยู่เสมอ ร้านเพชรพลอยจำนวนมากก็มักอยู่ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำหรือแฟชั่นฮอลล์ต่างๆ เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจนักหากบางคนคิดว่าสิ่งเหล่านี้ค่อนข้างไกลตัว ไม่ได้หมายถึงเรื่องราคาเท่านั้น แต่หมายถึงความสบายใจเมื่อเดินเข้าร้านไปหาของถูกใจสักชิ้น แต่มีที่แห่งหนึ่งที่เราสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนของล้ำค่าเช่นนี้ในรูปแบบง่ายๆ สบายๆ จนแทบไม่มีใครคาดคิด

บรรยากาศความสวยงามจากจุดชมวิวเมืองโมโก๊ะ

     เมืองโมโก๊ะ หรือ โมก็อก (Mogok) คือเมืองสุดพิเศษที่น้อยคนจะมีโอกาสได้สัมผัสบรรยากาศของเมืองนี้โดยตรง แต่ทางโว้กมีโอกาสร่วมเดินทางไปกับ Gems Pavillion แบรนด์จิวเวลรีชั้นนำของเมืองไทยที่พร้อมพาเราไปสัมผัสประสบการณ์ที่ยากจะหาสัมผัสได้ที่ไหน เมืองในหุบเขานี้ตั้งอยู่ในประเทศเมียนมาร์ การเดินแสนลำบาก เส้นทางคดเคี้ยว ลัดเลาะเขาไปมากว่าจะเจอเมืองท่ามกลางหุบเขา พอได้ยินเช่นนี้คนมักจะนึกถึงอากาศเย็นสุดขั้วและทัศนียภาพหลักล้าน แต่โมโก๊ะไม่ใช่เมืองประเภทเสพสมวิวทิวทัศน์ขนาดนั้น เพราะแท้จริงแล้วนี่คือแหล่งอัญมณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ดีไม่ดีคือของโลกเลยก็ว่าได้ เหตุผลดังกล่าวจึงเป็นต้นตอของเรื่องที่เราจะนำเสนอกันในวันนี้ เพราะความพิเศษเกิดขึ้นจากสิ่งของพิเศษที่อยู่ในวิถีอันแสนธรรมดาของคนโมโก๊ะนั่นเอง

เหมืองแบบปฐมภูมิ (Primary Source) ในเมืองโมโก๊ะ 

     วิถีชีวิตธรรมดาของชาวโมโก๊ะแตกต่างกับวิถีชีวิตชาวบ้านในหุบเขาที่เราคุ้นเคย ส่วนมากเราจะติดภาพการทำเกษตรกรรมหรือหัตถกรรมท้องถิ่น แต่ที่นี่ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับอัญมณีทั้งสิ้นโดยเฉพาะทับทิม ถ้ามีคำเปรียบเปยว่า “จับอะไรก็เป็นทอง” สำหรับผู้ที่เก่งกาจในการหาเงิน ที่นี่คงเปรียบแทนว่า “เหยียบตรงไหนก็เป็นอัญมณี” คงไม่ผิดนักเพราะทุกส่วนพื้นที่นอกเหนือจากที่อยู่อาศัยล้วนแปรสภาพเป็นเหมืองหมด มีทั้งยังคงดำเนินการอยู่และยุติการขุดเจาะไป มีทั้งแบบเหมืองร่อนแร่ในน้ำแบบทุติยภูมิ (Secondary Source) ที่เราเคยเห็น กับการระเบิดภูเขาและขุดเจาะหรือศัพท์เฉพาะเรียกว่าการทำเหมืองแบบปฐมภูมิ (Primary Source) เหมืองทั้ง 2 แบบให้ผลผลิตอัญมณีจำนวนมากออกสู่ตลาดและนั่นทำให้สิ่งของมูลค่าหลักหมื่น แสน จนถึงเกือบล้านเป็นเรื่องธรรมดาในหมู่บ้านที่ดูเรียบง่ายแห่งนี้



WATCH




ทัศนียภาพอันสวยงามในเส้นทางก่อนเข้าเมืองโมโก๊ะ

     หลายคนคงเริ่มสงสัยว่าถ้าของมูลค่ามหาศาลแต่กลับเรียบง่ายเช่นนี้ชาวต่างชาติและนายทุนต่างๆ ไม่มาครอบงำธุรกิจท้องถิ่นนี้อย่างรวดเร็วเหรอ คำตอบคือเคยแล้วในสมัยอังกฤษเข้ามายึดครอง แต่ในปัจจุบันการเข้าไปในเมืองโมโก๊ะต้องขออนุญาตเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวต่างชาติต้องทำหนังสือร้องขอเป็นกิจจะลักษณะยื่นผ่านสถาบันที่เกี่ยวข้องกับด้านอัญมณีของเมียนมาร์โดยตรง ซึ่งพอถึงเวลาเดินทางจริงก่อนเข้าเขตเมืองจึงมีการตรวจที่ค่อนข้างเข้มงวดราวกับว่าเข้าอีกประเทศหนึ่ง แม้เราจะเดินทางมาจากมัณฑะเลย์ซึ่งเป็นอีกเมืองในประเทศเมียนมาร์ก็ตาม...

ตลาดร่มฟ้าที่ถ้าไม่บอกว่าเป็นสถานที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนอัญมณีคงแทบไม่มีใครเชื่อ

     เล่าถึงเรื่องเมืองกันมาพอสมควร ตอนนี้จะเริ่มเจาะถึงเรื่องการซื้อขายของที่นี่บ้าง เราจะพาทุกคนไปที่ ตลาดร่มสีฟ้า (Blue Umbrella Market) ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนหินสีมูลค่าสูงที่เรียบง่ายที่สุด คอนเซปต์ง่ายๆ ของที่นี่เป็นเหมือนตลาดกลางให้คนมาแลกเปลี่ยนสินค้ากัน จุดเด่นคือร่มสีฟ้ายาวสุดลูกหูลูกตา ใต้ร่มจะพบเจอกับคนในแต่ละซุ้มที่มาเฝ้าดูและปล่อยของกัน บรรยากาศคล้ายๆ ตลาดนัดในบ้านเราแต่ไม่มีแผงขายถาวร เป็นเหมือนสภากาแฟให้คนมาพบปะพูดคุย แต่บทสนทนาคือไม่ใช่การถามสารทุกข์สุกดิบหรือการเมือง แต่คือการเจรจาธุรกิจราวกับอยู่ในสถานที่เทรดเพชรเลยทีเดียว...

ผู้คนชาวโมโก๊ะต่างรอการตรวจสอบซื้อขายอัญมณีมูลค่าของกันและกัน

     “100,000 บาท” มูลค่าแปลงเป็นเงินไทยสำหรับอัญมณีเพียงเม็ดเดียวที่บางคนนำมาเทรดกัน วิธีการก็ง่ายแสนง่ายเพียงแค่คุณนั่งเฉยก็ได้หรือจะเดินไปตามซุ้มร่มต่างๆ แล้วก็หยิบของขึ้นมาพร้อมเสนอราคา มีตั้งแต่ราคาเบาๆ หลักหมื่นต้นๆ ไปจนถึงหลักแสน ที่นี่ไม่มีถาดรอง ไม่มีการใส่สูทผูกไทใส่ถุงมือ อัญมณีบางชิ้นถูกห่อหุ้มมาด้วยกระดาษ A4 เลยด้วยซ้ำ สิ่งที่เราต้องทำหากต้องการของชิ้นนั้นๆ ก็คือตกลงราคาพร้อมเตรียมเงินสดไว้ให้พร้อม เท่านี้คุณก็จะได้อัญมณีเม็ดงามตามราคาที่ตกลงกัน ไม่มีราคากลาง ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของทั้ง 2 ฝ่าย “ตาดีได้ตาร้ายเสีย” คติประจำใจของที่นี่ที่ผู้เขียนนิยามให้...

เพอริโดเม็ดนี้ราคาเปิดจากผู้ขาย 1 แสนบาท

     ถ้าใครเตรียมวางแผนมาที่ตลาดร่มฟ้าแห่งนี้ต้องระมัดระวังพอสมควรเรื่องการถ่ายภาพและเข้าไปดูแต่ละซุ้ม สิ่งที่ควรทำคือดูอยู่ห่างๆ ทักทายพวกเขาอย่างเป็นมิตร แสดงทีท่าว่าเรามาเยี่ยมชม แล้วจึงขอถ่ายภาพได้ เพราะที่นี่ไม่ใช่ร้านซื้อขาย ทุกคนรักษาสิทธิส่วนบุคคล เพชรนิลจินดามูลค่าสูงบางครั้งก็ไม่อยากให้ใครเห็นนอกจากคนซื้อขายตรงหน้าเท่านั้น เพราะฉะนั้นเราจึงควรค่อยๆ ศึกษาวัฒนธรรมย่อยตรงนั้นให้เข้าใจเสียก่อนจึงค่อยเริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมของพวกเขา ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าการทำธุรกิจแบบเรียบง่ายเช่นนี้ก็น่าตื่นเต้นสำหรับนักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ไม่เบาเลยทีเดียวเพราะไม่ว่าจะเป็น ไพลิน เพอริโด สปิเนล แซฟไฟร์ ล้วนหาได้จากที่นี่

Raw Stone บริเวณร้านขายของหน้าวัดบนเชิงเขาในเมืองโมโก๊ะ 

     แต่เดี๋ยวก่อนเมืองแห่งเหมืองไม่ได้มีตลาดซื้อขายแค่ที่เดียวอย่างแน่นอน เชื่อไหมว่าหินสีเกรดต่ำลงมาหน่อยก็จะไม่ถูกเทรดขายแบบในตลาดร่มฟ้า แต่จะถูกจัดวางขายในจุดต่างๆ ที่สามารถขายได้รอบเมืองอย่างเช่น วัด เป็นต้น หน้าวัดหลายวัดมีการขายหินสีมากมายทั้งมีการเจียระไนแต่งรูปร่างมาแล้วและเป็นแบบ “Raw Stone” ซึ่งอย่างหลังจะไม่สามารถขนออกนอกพื้นที่ประเทศเมียนมาร์ได้

ตัวอย่างของในตลาดนัดอัญมณีในเมืองโมโก๊ะ

     ถ้ามองจากจุดชมวิวแห่งหนึ่งในเมืองโมโก๊ะเราเห็นจะบ่อน้ำขนาดใหญ่ซึ่งเป็นหลักฐานของการขุดเมืองและน้ำไหลเทท่วมลงมา ข้างๆ มีตลาดขนาดเล็กอยู่แห่งหนึ่ง มีร้านค้าตั้งเรียงรายเหมือนกับร้านขายเครื่องประดับในตลาดนัดจตุจักรบ้านเรา แต่ทุกร้านขายอัญมณีทั้งสิ้น มีตั้งแต่ก่อนเจียระไน หลังเจียระไน เกรดกลางที่ถูกจัดวางเป็นเครื่องประดับให้เสร็จ หรือจะเป็นแบบขึ้นตัวเรือนแหวนไว้เรียบร้อย และจิวเวลรีอีกหลากหลายประเภท แต่ราคาก็ไม่ได้ลดหย่อนไปกว่าปกติเท่าไหร่นัก เพียงแต่ว่าการค้าขายสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาในสังคมโมโก๊ะ สังคมแห่งจิวเวลรี

เด็กหนุ่มรุ่นใหม่ในเมืองโมโก๊ะกำลังฝึกฝนการเจียระไนแบบฉบับดั้งเดิม

     “สังคมอัญมณี” เรียกเช่นนี้ก็ไม่ผิดนัก เพราะแต่ละบ้านแต่ละครอบครัวผูกพันกับอัญมณีมาก ล่ามแปลภาษาในทริปของผู้เขียนบอกว่า “ทุกคนที่นี่ดู(อัญมณี) เป็นหมด” ลูกเด็กเล็กแดงถูกฝึกตั้งแต่วัยเยาว์ นักเจียระไนแบบดั้งเดิมก็ไม่หายไปไหนเพราะยังมีเด็กหนุ่มสาวสานต่ออยู่ตลอด พวกเขาไม่ได้ใช้เครื่องมือทันสมัย ทุกอย่างเป็นแบบเก่าแก่โบราณ ถือเป็นอีกหนึ่งมนต์เสน่ห์ที่เมืองโมโก๊ะมอบให้กับผู้มาเยี่ยมเยียน

ไพลินเกรดสูงกำลังถูกแสงไฟสาดส่องเพื่อดูน้ำ

     แล้ว ”โคตรอัญมณี” ไปอยู่ที่ไหนกันหากเหล่าหินสีคุณภาพทั่วไปถูกขายตามตลาด ผ่านการเจียระไนจากเด็กหนุ่มเช่นนี้ คำตอบคือเหล่าพลอยคุณภาพสูงจะถูกเก็บรวบรวมโดยเจ้าค้ารายใหญ่และนำไปประมูลบนเรือนประมูลบนยอดเขาที่ทุกคนรู้จักกันดี แต่ทว่าเมืองนี้เหมืองส่วนใหญ่ยุติกิจการไปเยอะแล้ว เหลือเพียงการค้นหากันเองของชาวบ้าน และการผลิตที่เหนือจากการควบคุมของรัฐบาล ทำให้การประมูลของบนยอดเขาก็ยุติตามไปเช่นกัน แต่ที่แห่งนี้ก็ยังมีการสะสมและเก็บสินค้าชิ้นสำคัญไว้ขายได้เรื่อยๆ อย่างแทบไม่มีวันหมด

การทำเหมืองแร่แบบทุติยภูมิ (Secondary Source) อีกหนึ่งความพื้นบ้านแบบเมืองโมโก๊ะ

     แสงยามพลบค่ำของแต่ละวันที่โมโก๊ะพาลให้เรานึกถึงวันอันสวยงามผ่านการมองอัญมณีแบบเรียบง่าย ไม่จำเป็นต้องเลิศหรูอลังการเสมอไป ของมีมูลค่าในตัวเองไม่มีการเพิ่มคุณค่าผ่านสิ่งแวดล้อมรอบพลอยเม็ดงาม ถึงแม้เราไม่ได้กล่าวถึงทับทิบมากนักในบทความ แต่ทับทิมคือความล้ำค่าของที่นี่ แต่เราคงต้องลดความเรียบง่ายหากอยากพบทับทิมพม่า ทุกสิ่งถือเป็นวัฒนธรรมของเมืองแห่งนี้ ไม่ว่าสิ่งของจะถูกประเมินค่าไว้ในระดับใดแต่เมื่อมันเข้าไปแทรกในวิถีชีวิตอันเป็นปกติของชาวบ้านแล้วนั้น พวกเขาก็ไม่เห็นจำเป็นต้องตื่นเต้น พวกเขาจับกันทุกวัน ส่องกันทุกวัน ออกมาซื้อขายกันแทบทุกวัน บางครั้งคุณค่าของสิ่งของไม่ใช่แค่เรื่องเงินกับภาพลักษณ์ แต่หมายถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมของแต่ละแห่งมากกว่า เมื่อเราเที่ยวและเสพมุมมองวัฒนธรรม นั่นล่ะคือคุณค่าที่ล้ำลึกกว่าจิวเวลรีชิ้นงามในมือพวกเขาเสียอีก เพราะความแพงในวิถีความธรรมดาคือเสน่ห์ของที่นี่ “โมโก๊ะ”

ปิดท้ายวันที่โมโก๊ะด้วยแสงยามโพล้เพล้ให้อารมณ์ความหนาวเย็นและพร้อมรำลึกถึงรูปแบบวัฒนธรรมอันน่าสนใจแล้วจะได้หลับไปพร้อมประสบการณ์แบบที่ยากจะพบเจอได้ทั่วไป

WATCH