miss-dior-catherine-dior
LIFESTYLE

'Miss Dior' หนังสือชีวประวัติที่พาไปดูชีวิตของวีรสตรีผู้รักชาติและมีอิทธิพลอย่างเงียบๆ

แม้เมื่อครั้งหนึ่งที่ยังมีชีวิต Chatherine Dior คอยหนีแสง แต่วันนี้ดวงไฟก็ยังสาดส่องมาที่เธอ

     หากอ่านเรื่องของเธอบนหน้าหนังสือจะรู้สึกว่ากาเตอรีน ดิออร์เป็นวีรสตรีผู้กล้าที่ไม่น่าจะได้รับบทนี้เลย กาเตอรีนลืมตาดูโลกเมื่อปี 1917 ในตระกูลดิออร์ที่มั่งคั่งและเนื่องจากเธอเป็นน้องสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 5 คน จึงดูเหมือนชะตากำหนดให้เกิดมาเป็นไม้ประดับเฉยๆ แต่พอสมบัติของตระกูลมีอันต้องหายวับเพราะเอาไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์แล้วเกิดล้มไม่เป็นท่า ชีวิตคุณหนูอยู่ว่างๆ ก็ลอยห่างออกไป ต่อมาในปี 1935 กาเตอรีนซึ่งโตเป็นสาวรุ่นย้ายจาก Villa Les Rhumbs คฤหาสน์หลังงามของครอบครัวที่ Granvilleไปอยู่บ้านไร่โทรมๆ ที่พรอว็องส์ หลังจากนั้นไม่นานเธอหนีไปอยู่กับ Christian Dior พี่ชายที่ปารีส และได้งานเป็นพนักงานขายแอ็กเซสเซอรี่ให้ห้องเสื้อแห่งหนึ่ง ส่วนคริสเตียนนั้นเร่ขายแบบเสื้อที่เขาสเกตช์เอง

miss-dior-catherine-dior

Catherine Dior น้องสาวเจ้าของหัวใจทระนงของผู้ก่อตั้งห้องเสื้อ

     เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้น 2 พี่น้องมุ่งหน้ากลับถิ่นเดิมทางภาคใต้ของฝรั่งเศส ปักหลักทำสวนปลูกผักไปขายที่เมืองคานส์ซึ่งอยู่ไม่ไกล หลังจากคริสเตียนย้อนกลับไปเมืองหลวงของประเทศเพื่อตามหา “กลิ่นอายผ้าชีฟอง” อีกครั้งกาเตอรีนก็ได้พบและตกหลุมรัก Hervé des Charbonneries ที่เมืองคานส์นี้เอง แอร์เวนั้นแต่งงานแล้ว มีลูก 3 คน และเป็นสมาชิกขบวนการต่อต้านนาซีในฝรั่งเศส

miss-dior-catherine-dior

Justine Picardie อดีตบรรณาธิการนิตยสารผู้หลงใหลการสืบค้นประวัติศาสตร์ในโลกแฟชั่น

     Justine Picardie เล่าไว้ในหนังสือชีวประวัติเล่มล่าสุดที่เธอเขียนคือ 'Miss Dior: A Story of Courage and Couture' (สำนักพิมพ์ Farrar, Straus and Giroux) ว่าชีวิตของกาเตอรีนยังต้องพบกับความผกผันอีก ปี 1941 เธอเข้าร่วมขบวนการต่อต้านนาซีและได้นามรหัส Caro หากใครได้อ่านนิยายของ Christine Wells เรื่อง Sisters of the Resistance (สำนักพิมพ์ William Morrow) ที่เพิ่งออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ จะเห็นว่าผู้ประพันธ์จินตนาการถึงขบวนการใต้ดินอันเปี่ยมด้วยชีวิตชีวาไว้ในเรื่อง ซึ่งก็คือคนในแวดวงของกาเตอรีนในปารีสช่วงนั้นนั่นเอง



WATCH




miss-dior-catherine-dior

ภายในเล่ม Miss Dior: A Story of Courage and Couture ไปด้วยภาพประกอบหาชมยาก

     ปี 1944 กาโรถูกจับ และถูกตำรวจลับของนาซีที่เรียกว่า Gestapo ทรมานซ้ำแล้วซ้ำอีก (แต่ก็ไม่เคยทรยศสหายร่วมอุดมการณ์) ต่อมาเธอถูกส่งเข้าเรือนจำของฝรั่งเศสที่ถูกพวกเยอรมันยึดครอง คริสเตียนว้าวุ่นหนัก ไปขอความช่วยเหลือจาก Raoul Nordling นักการทูตชาวสวีเดนราอูลพยายามขอให้ปล่อยตัวกาเตอรีนออกมาให้เขาดูแล แต่ว่าไม่สำเร็จ เดือนสิงหาคมปีนั้นกาเตอรีนถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกันสำหรับผู้หญิง และต่อมาก็ถูกส่งต่อไปค่ายที่โหดกว่า มาถึงปี 1945 กองกำลังสัมพันธมิตรเคลื่อนใกล้เข้ามา ผู้ที่ถูกคุมตัวอยู่ในค่ายถูกต้อนให้อพยพด้วยการเดินเท้าเป็นขบวน ใครไปต่อไม่ไหวก็ปล่อยให้ตาย แต่กาเตอรีนหนีมาได้ หลังเหตุการณ์ผ่านไปเธอแทบไม่เคยปริปากเล่าว่าตัวเองเจออะไรมาบ้าง นอกจากครั้งที่ไปให้การต่อศาลในคดีที่จำเลยเคยทรมานเธอช่วงสงคราม

miss-dior-catherine-dior

ชุดกระโปรงพันบุปผา อีกหนึ่งผลงานระดับสัญลักษณ์ของแบรนด์

     คริสเตียนเปิดตัวผลงานพลิกประวัติศาสตร์คอลเล็กชั่น New Look ในวันหนาวเหน็บของเดือนกุมภาพันธ์ 1947 ซึ่งเป็นช่วงหน้าหนาว ห้องที่ใช้จัดงานอบอวลไปด้วยกลิ่นน้ำหอม Miss Dior ที่คริสเตียนจินตนาการว่า “กลิ่นเหมือนความรัก” แต่มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าชื่อน้ำหอมกลิ่นนี้มีที่มาจากตอนที่คริสเตียนกำลังประชุมกับ Mizza Bricard ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนร่วมงานและมิวส์ของเขา แล้วกาเตอรีนเดินเข้ามา “อา นี่ไง!” มิสซ่าอุทาน “มิสดิออร์!” ในเวลาต่อมาชื่อนี้ถูกนำไปตั้งให้ชุดราตรีเกาะอก Mille fleurs (แปลตรงตัวว่า “พันบุปผา”) ที่ออกโชว์โฉมครั้งแรกในปี 1949 อันเป็นช่วงที่มิสดิออร์ตัวจริงไปสร้างชีวิตใหม่ห่างไกลจากโลกแฟชั่น ณ บ้านไร่ในพรอว็องส์ และเป็นแม่ค้าดอกไม้ที่ตลาดดอกไม้เก่าแก่ในปารีส โดยมีแอร์เวอยู่เคียงข้าง

miss-dior-catherine-dior

1 / 2

Christian Dior แวดล้อมด้วยหญิงงามมากมาย แต่ใครเล่าจะรู้ว่าน้องสาวของเขาคือแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ตลอดเส้นทางอาชีพของเขา

 



miss-dior-catherine-dior

2 / 2

คฤหาสน์บ้านเกิดของเมอซีเยอ Christian Dior ในกร็องวีย์



     เมื่อปี 1954 เคยมีนักข่าวอเมริกันเรียกตลาดแห่งนี้ว่า “สวนต้องมนตร์ใต้โดมกระจกมหึมาแห่ง Les Halles” จะเห็นว่านักข่าวรายนี้มองตลาดดอกไม้เป็นฟองอากาศสีสดใสในแสงตะวัน แต่ 2 พี่น้องดิออร์รู้ดีว่าความจริงไม่บรรเจิดอย่างนั้น และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเสกชีวิตขึ้นจากผืนดิน หรือแม้แต่ผืนผ้าก็ตาม นิวลุคมีความโรแมนติกละมุนละไมก็จริง แต่เป็นรูปร่างขึ้นมาได้ก็เพราะมีโครงแข็งดุจงานสถาปัตยกรรมอยู่ข้างใน เมื่อคริสเตียนถึงแก่กรรมในปี 1957 กาเตอรีนมีชื่อเป็น “ผู้สืบทอดทางศีลธรรม” มีหน้าที่พิทักษ์มรดกทางศิลปะของพี่ชาย ซึ่งเธอก็ทำหน้าที่ด้วยความละเอียดลอออย่างยิ่ง รักษาของภายในบ้านไว้แบบไม่มีอะไรตกหล่น แม้กระทั่งสำรับไพ่ของคริสเตียน

1 / 2

ชุดกระโปรงลายไม้ดอกจากคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2020 ซึ่ง Maria Grazia Chiuri อุทิศให้กับ Catherine Dior



2 / 2

กระเป๋ารุ่น Caro หยิบยืมชื่อเล่นของน้องสาวดีไซเนอร์มาตั้ง



     แม้เมื่อครั้งที่ยังมีชีวิต กาเตอรีนจะคอยหนีแสง แต่วันนี้ดวงไฟสาดส่องมาที่เธอ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเพราะหนังสือใหม่ 2 เล่มที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น แต่ยังเป็นผลมาจากคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ 2020 ของดิออร์ที่ออกแบบโดย Maria Grazia Chiuri ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของแบรนด์ โดยมีดอกไม้เป็นแรงบันดาลใจ และอุทิศคอลเล็กชั่นให้กับกาเตอรีน ส่วนอีกเหตุผลคือกระเป๋ารุ่นปี 2021 ที่มีชื่อว่า Caro นั่นเอง หนังสือที่จัสทีน พิคาร์ดีเขียนนั้นมาถูกจังหวะในแง่ที่เป็นหนังสือเชิดชูวีรสตรีที่ไร้คนสรรเสริญ และออกวางจำหน่ายในห้วงที่อิทธิพลของผู้หญิงกลับมาเป็นที่ชื่นชมอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม น้องสาวที่หาคำจำกัดความได้ยากของคริสเตียน ดิออร์ก็อาจจะคงความเป็นคนที่ไม่มีใครหยั่งถึงไว้ได้ต่อไป เพราะเธอไม่เคยเขียนบันทึกความทรงจำเหมือนพี่ชาย และพอใจจะให้การกระทำเป็นตัวสื่อความหมายมากกว่า ครั้งหนึ่งเคยมีทหารผ่านศึกอายุน้อยถามกาเตอรีนเรื่องประสบการณ์สมัยสงคราม และเธอก็บอกคาถาประจำใจสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “จงรักชีวิต”

แปลและเรียบเรียง : วิริยา สังขนิยม

WATCH

คีย์เวิร์ด: #MissDior