LIFESTYLE

Master of None ซีรี่ส์เรื่องชีวิตธรรมดาของคนธรรมดา ยาเยียวยาหัวใจชั้นดีในวันที่ชีวิตไม่เป็นใจ

นี่คือซีรีส์ “เพชรในตม” ของ Netflix ที่ในบ้านเรายังไม่มีคนพูดถึงมากนัก และสำหรับช่วงเวลาที่ชีวิตกำลังมืดมิด มันคือยาชั้นดีในการเยียวยาหัวใจ

เรื่องราวชีวิตธรรมดาในมหานครนิวยอร์กของ เดฟ (นำแสดงโดย Aziz Ansari)  นักแสดงตลกร่างเล็ก

 

*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรี่ส์ Master of None

 

เชื่อว่าในตอนนี้ทุกคนคงมีความรู้สึกที่ไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็แย่ไปหมด ไร้ซึ่งความหวัง ยิ่งต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน เสพข่าวสารทุกวันแต่ก็ไม่มีทีท่าว่าอะไรจะดีขึ้นในเร็วๆ นี้ ไฟในการใช้ชีวิตก็ยิ่งดับมอดลงเรื่อยๆ การเปิด Netflix หาอะไรดูเพื่อดึงตัวเองออกจากโลกแห่งความจริง ลืมความเครียดทุกอย่างไว้ชั่วคราว อาจเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ต่างอะไรจากตอนอกหักและดื่มเหล้าให้เมา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่ามันคือวิธีที่ง่ายที่สุด และบางครั้งสิ่งที่เราเลือกดูก็อาจจะมอบข้อคิด เติมไฟ เยียวยาหัวใจได้อย่างคาดไม่ถึง หนึ่งในนั้นคือซีรี่ส์เรื่อง Master of None ที่เราเห็นผ่านตามาว่าได้รับรางวัลจากหลายเวที จึงตัดสินใจเปิดดูอย่างไม่คาดหวัง เพราะซีรี่ส์มากรางวัลส่วนใหญ่จะ “น่าเบื่อ” ซึ่งจากโปสเตอร์และตัวอย่าง Master of None ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นเช่นนั้น

 

ทว่าเราคิดผิดถนัด…นี่คือ “Hidden Gem” ของ Netflix ที่ในบ้านเรายังไม่มีคนพูดถึงมากนัก และสำหรับช่วงเวลาที่ชีวิตกำลังมืดมิด มันคือยาชั้นดีในการเยียวยาหัวใจ

ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่นำเสนอออกมาด้วยอารมณ์ขันแฝงการจิกกัด

 

คนเล็กในเมืองใหญ่

ไม่ใช่เรื่องยากที่ Master of None จะดึงผู้ชมให้รู้สึกมีส่วนร่วมกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้ชมที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่เช่นกรุงเทพ เพราะซีรี่ส์เรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวของ เดฟ (นำแสดงโดย Aziz Ansari)  หนุ่มร่างเล็กวัย 30 ปี เชื้อสายอินเดีย ที่เกิด เติบโต และใช้ชีวิตอยู่ในมหานครนิวยอร์ก เดฟ หาเลี้ยงชีพโดยการเป็นนักแสดง แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าเขามีชื่อเสียงโด่งดัง ร่ำรวยเงินทอง เพราะผลงานของเขาส่วนใหญ่คือบทสมทบเล็กๆ ในภาพยนตร์ ไม่ก็งานโฆษณาที่กว่าจะได้มาแต่ละชิ้นต้องผ่านการออดิชั่นอย่างยากลำบาก

 

เดฟ มีกลุ่มเพื่อนสนิทที่มีสมาชิกอีก 3 คน ซึ่งแต่ละคนก็ไม่ใช่คนที่สังคม Stereotype ว่าสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็น อาร์โนล (นำแสดงโดย Eric Wareheim) หนุ่มร่างใหญ่สูงเกือบ 2 เมตรที่มาพร้อมกับนิสัยเนิร์ดแบบเด็กๆ, เดนีส (นำแสดงโดย Lena Waithe) เลสเบี้ยนผิวดำ, และ ไบรอัน (นำแสดงโดย Kelvin Yu) นำแสดงโดย ที่ถึงแม้จะเป็นหนุ่มฮอตในหมู่สาวๆ แต่เขาก็เป็นชาวไต้หวันที่พร้อมจะโดนเหยียดเชื้อชาติได้ทุกเมื่อ การที่ผู้ชมได้เห็นทั้ง 4 รวมกลุ่ม พูดคุย และเผชิญปัญหาต่างๆ ด้วยกันก็คงอดไม่ได้ที่มันจะสะท้อนให้ย้อนนึกถึงตัวเองกับกลุ่มเพื่อน เพราะในชีวิตจริงพวกเราส่วนใหญ่ก็คงไม่ใช่คนที่สมบูรณ์แบบ โดนสังคมรอบข้างวิพากษ์วิจารณ์อยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่สิ่งที่เราเป็นมันคือความปัจเจกที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับใครด้วยซ้ำ รู้ตัวอีกทีตัวตนของพวกเราก็เหว้าแหว่งไม่ต่างอะไรจากชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ อย่างไรก็ตามหากจิ๊กซอว์หลายชิ้นมาอยู่รวมกันก็สามารถปะติดต่อจนกลายเป็นภาพใหญ่ที่สมบูรณ์แบบในตัวเองได้

ปัญหาความรักที่ทุกคนน่าจะเคยมีประสบการณ์ร่วม

 

ระยะห่างกับครอบครัว

“เดฟ ซ่อมไอแพดให้พ่อหน่อย”

“บอกวิธีไปตั้งหลายครั้งแล้ว ทำไมพ่อยังจำไม่ได้อีก วันหลังละกันครับพ่อ ตอนนี้ผมกำลังยุ่ง”

ส่วนหนึ่งในบทสนทนาระหว่าง เดฟ กับ คุณพ่อของเขาที่อยู่ในวัยหลังเกษียณ ถึงแม้บทสนทนานี้จะเกิดขึ้นในซีรี่ส์ แต่เชื่อว่าทุกคนที่มีคุณพ่อคุณแม่ในวัยเดียวกับ เดฟ น่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี จากในตอนเด็กๆ ที่เคยเล่นสนุกกับพ่อแม่ แต่เมื่อโตขึ้นช่องว่างในความสัมพันธ์กลับค่อยๆ เกิดขึ้นทีละนิด รู้ตัวอีกทีพ่อแม่กลับกลายเป็นคนแก่ขี้บ่น จุกจิก จู้จี้ น่ารำคาญ และตามโลกไม่ทันในสายตาเราไปแล้ว ไม่ว่าเขาจะพูดอะไรมาเราก็จะสร้างกำแพงมาปิดกั้นโดยอัตโนมัติ ตั้งธงไว้ในใจก่อนเลยว่าเขาไม่มีทางเข้าใจเรา ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ลองตั้งใจฟังให้ดีเลยด้วยซ้ำ ไม่ใช่แค่ เดฟ และ ผู้ชมเท่านั้น แม้กระทั่ง ไบรอัน ตัวละครหนุ่มเจ้าสำราญของกลุ่มเพื่อนก็ประสบปัญหาเดียวกัน พ่อของ ไบรอัน เป็นคนพูดน้อย

 

“วันหนึ่งเขาพูดไม่น่าเกิน 3 ประโยค” ไบรอัน ระบายเรื่องนี้ให้เดฟฟัง ด้วยเหตุนี้ ไบรอันจึงห่างเหินกับพ่อของเขามากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มรู้สึกว่าเป็นแค่คนที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน ไม่ใช่ครอบครัว ทั้งเดฟและไบรอันหนักอกหนักใจกับเรื่องนี้ จึงปรึกษากันก่อนที่จะเกิดไอเดียว่าจะนัดครอบครัวของแต่ละฝ่ายว่ารับประทานอาหารเย็นร่วมกันเพื่อปรับความเข้าใจ กระชับความสัมพันธ์ มื้อเย็นครั้งนั้นเป็นไปได้ดีกว่าที่คาด พ่อของเดฟและไบรอันพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน เข้ากันได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นฝ่ายลูกชายยังได้รับรู้เรื่องราวความลำบากของรุ่นพ่ออีกด้วย พ่อของเดฟและไบรอันคือชาวเอเชียที่อพยพมาสร้างถิ่นฐานในสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่าชีวิตช่วงแรกเต็มไปด้วยความยากลำบาก “ตอนหนุ่มๆ พ่อทำอะไรที่สนุกๆ บ้าง มันต้องมีบ้างสิ” เดฟถาม “เรื่องสนุกเป็นเรื่องของรุ่นลูก รุ่นพ่อมีแค่การตั้งใจทำงานหนักและเข้านอนแค่นั้น” คำตอบของพ่อ

 

การได้รับรู้ความลำบากในอดีตของครอบครัว ที่ทำให้ชีวิตตัวเองในตอนนี้สุขสบายทำให้ เดฟ และ ไบรอัน ลดอคติที่มีต่อพ่อแม่ของพวกเขาลง เปิดใจรับฟังมากขึ้น ถึงแม้สุดท้ายจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะช่องว่างระหว่างวัยก็ยังคงอยู่ ไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันคือสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่อย่างน้อยเสียงตะโกนให้ช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ ของพ่อก็ไม่ใช่เสียงที่น่ารำคาญอีกต่อไป



WATCH




ความรักดั่งรถไฟเหาะ

เดฟ อายุเลยหลักไมล์เลข 3 มาแล้ว ดังนั้นการออกเดตเพื่อตามหาผู้หญิงในฝันคือหนึ่งในภารกิจสำคัญของชีวิตเขา และถึงแม้ว่าเขาจะขึ้นชื่อว่ามีอาชีพเป็นนักแสดง แต่ก็เป็นแค่ตัวสมทบเล็กๆ อีกทั้งผู้ชายชาวอินเดียร่างเล็กอย่างเขาก็ดูเหมือนจะไม่ใช่สเปคสาวนิวยอร์กเท่าไรนัก ดังนั้นภารกิจนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย กราฟความรักของ เดฟ ไม่ต่างอะไรจากรถไฟเหาะ อย่างเช่นเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่ เดฟ ได้ตั๋วคอนเสิร์ตวงดนตรีดังมา 2 ใบ และเขาตัดสินใจว่ายังไงก็ต้องใช้ตั๋วนี้เป็นข้ออ้างในการชวนสาวออกเดตให้ได้  “ตั๋วที่นายมีมันเด็ดขนาดนี้ ฉันว่าชวน อลิส ไปเลย!” อาร์โนล แสดงความเห็น

 

อลิส ที่ว่าคือพนักงานเสิร์ฟของบาร์ที่กลุ่ม 4 สหายนั่งกันเป็นประจำ และแน่นอนว่า อลิส คือสาวฮอต เธอสวยและดูมีผู้ชายรายล้อมมากมาย จนเดฟไม่กล้าแม้แต่จะคิดฝัน ทว่าด้วยพลังของตั๋วและคำยุยงของเพื่อน สุดท้ายเดฟก็รวบรวมความกล้าเดินเข้าไปชวนอลิสออกเดตจนได้ “ได้สิ ยังไงฉันขอดูตารางงานอีกทีนะ แต่มันน่าสนใจมากๆ เลย” อลิส ตอบรับ ก่อนที่ทั้งคู่จะแลกเบอร์โทรศัพท์กัน แน่นอนว่าเดฟดีใจราวลิงโลด ในที่สุดเขาก็จะได้ออกเดตกับสาวในฝันแล้ว ทว่าผ่านไปวันแล้ววันเล่า คอนเสิร์ตก็ใกล้เข้ามาทุกเมื่อ แต่อลิสก็ไม่ยอมยืนยันคำตอบเสียที สุดท้ายเดฟก็ทนไม่ไหว เป็นฝ่ายทักท้วงด้วยตัวเอง

 

“ขอโทษทีนะ ช่วงนี้ตารางงานฉันแน่นมากเลย ไม่น่าจะไปได้แล้วล่ะ” คำตอบของ อลิส ทำให้ เดฟ หัวเสียมากๆ เขาทั้งเศร้า ผิดหวัง และรู้สึกตัวเองเป็นคนโง่ ดังนั้นเขาจึงแก้ปัญหาด้วยการชวนสาวทุกคนที่เขามีคอนแทคแบบหว่านแห ใครตอบรับก่อนเขาก็จะไปกับคนนั้น มีสาวคนหนึ่งตอบรับคำชวนเดฟทุกอย่างเหมือนจะลงเอยแบบนี้ ทว่าเพียง 2 ชั่วโมงก่อนคอนเสิร์ตจะเริ่ม อลิส กลับส่งข้อความมาบอกว่า “ตอนนี้ตารางงานฉันว่างแล้ว ถ้าฉันจะไปตามคำชวนของคุณตอนนี้พอจะเป็นไปได้ไหม” เดฟ หนักใจกับสถานการณ์ตอนนี้อย่างมาก แน่นอนว่าเขาอยากไปกับ อลิส ที่สุด แต่จะให้ยกเลิกนัดกับผู้หญิงอีกคน เขาก็จะดูเป็นคนเลวสุดๆ  

“นายลองนึกถึงที่ผ่านมาสิ ว่าผู้หญิงเคยทำอะไรเลวร้ายกับนายไว้บ้าง”

“ใช่! เดี๋ยวคนก็ทำเลวใส่กันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว” เป็นอีกครั้งที่ อาร์โนล ยุยงให้ เดฟ ตัดสินใจได้สำเร็จ

 

เดฟตัดสินใจไปคอนเสิร์ตกับอลิส ทุกอย่างเหมือนจะเริ่มต้นได้ดี ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปเดฟก็รู้ตัวแล้วว่าอลิสคือผู้หญิงในฝัน แต่เป็นฝันร้ายชัดๆ เพราะเธอคือจอมโวยวาย เหวี่ยงวีนทุกคนไปทั่ว สร้างปัญหาไม่รู้จบ สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการที่ อลิส ขโมยเสื้อแจ็คเก็ตคนอื่น จนโดนพนักงงานรักษาความปลอดภัยไล่ออกจากงาน เดฟที่รู้สึกเซ็งกับสิ่งที่เกิดขึ้นสุดๆ ตัดสินใจมาดื่มย้อมใจคนเดียวที่บาร์ ทว่าหลังจากเครื่องดื่มพร่องไปครึ่งแก้ว ก็มีเสียงดังขึ้นจากด้านหลัง “นั่น เดฟ ใช่ไหม” ต้นเสียงคือเรเชล หญิงสาวที่เดฟเคยมีความสัมพันธ์แบบ One Night Stand ด้วย ก่อนที่ทั้งคู่จะแยกย้ายและไม่ได้ติดต่อกันอีกเลย เดฟเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในวันนี้ให้เรเชลฟัง ก่อนที่ทั้งคู่จะพูดคุยกันอย่างถูกคอ ติดลมปาร์ตี้กันต่อจนดึกดื่น เดฟเริ่มรู้สึกตัวว่าจริงๆ แล้วผู้หญิงในฝันของเขาอาจไม่ใช่อลิส แต่เป็นเรเชลที่เขาเคยมองข้ามไปต่างหาก

 

ระหว่างที่เดฟเดินไปส่งเรเชลกลับที่พัก ด้วยบรรยากาศที่พาไป ทำให้เขาตัดสินใจค่อยๆ โน้มตัวลงไปจูบ แต่ก็โดนเรเชล ห้ามไว้เสียก่อน “แฟนเก่าฉันบินมาจากซีแอตเทิล และฉันเพิ่งตอบตกลงกลับไปคบกับเขา”  ประโยคนี้ของ เรเชล กลายเป็นหมัดฮุคหมัดที่ 2 ของวัน ทำเอาเดฟไปต่อไม่ถูก เหมือนโดนรถไฟเหาะแห่งความรู้สึกเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา “งั้นอย่างน้อยขอกอดหน่อยได้ไหม” ทั้งคู่กอดกัน ก่อนที่เรเชลจะเดินจากไป ทิ้งเดฟให้ยืนอยู่เดียวดายท่ามกลางความมืดที่ตัดสลับกับแสงไฟสีส้มจากเสาไฟถนน

งานที่ทั้งรักทั้งชัง

บางวันเราก็รู้สึกรักงานที่ตัวเองทำ รู้สึกว่ามันสนุกดี หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้แย่ แต่บางวันก็รู้สึกยากเหลือเกินที่จะกล้ำกลืนทำมันให้สำเร็จ เชื่อว่าทุกคนคงเคยประสบกับความรู้สึกนี้…เดฟเองก็เช่นกัน เดฟรักในอาชีพการเป็นนักแสดงของเขา เขายึดมั่นมันมาตลอด แต่ในบางครั้งเขาก็รู้สึกว่ามันสุดจะทนแล้วเหมือนเกิน เดฟเบื่อหน่ายกับการที่เขาโดน Stereotype ของสังคมตัดสิน ทำให้บทบาทที่เขาได้รับส่วนใหญ่หนีไม่พ้นการต้องพูดสำเนียงอินเดียต่อหน้ากล้องตลอดเวลา กลายเป็นกำแพงที่ปิดกั้นไม่ให้ความสามารถด้านการแสดงของเขาเปล่งประกายอย่างที่ควรจะเป็น จนกระทั่งวันหนึ่งเขารู้สึกทนไม่ไหว พยายามอารยะขัดขืน บอกกับโปรดิวเซอร์ว่าเขาอยากรับบทอื่นบ้าง และเขามั่นใจว่าจะทำมันได้ดี

 

การตัดสินใจเช่นนี้ของเดฟทำให้เขาพลาดงานที่ควรจะได้ไปหลายครั้ง ส่งผลโดยตรงต่อการเงินที่เริ่มร่อยหรอ แต่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก เดฟก็ยังคงได้รับกำลังใจจากลุ่มเพื่อน ที่ต่างปลอบว่าเดฟทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว สังคมต่างหากที่ไม่เข้าใจเขา สุดท้ายการตัดสินใจครั้งนี้ของ เดฟ ก็ไม่ใช่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงทัศนคติของวงการภาพยนตร์ เขาก็ยังคงจำใจรับบทที่พูดด้วยสำเนียงอินเดียบ้างในบางครั้ง แต่อย่างน้อยมันก็จุดประกายความคิดของโปรดิวเซอร์บางคนให้เปลี่ยนแปลงไปได้บ้าง

รสชาติชีวิตธรรมดา

เหตุการณ์บางส่วนที่เกิดขึ้นในซีรี่ส์เรื่อง Master of None ที่เรายกมาไม่ใช่การนำมาเล่าอย่างไร้เหตุผล หรือให้เปลืองพื้นที่บทความไปโดยไร้จุดหมาย แต่เราอยากให้เห็นว่าชีวิตของ เดฟ คือภาพสะท้อนชีวิตจริงของพวกเราส่วนใหญ่ ที่รสชาติของมันธรรมดา ไม่หวือหวา ตรงกันข้ามกับคำว่าสมบูรณ์แบบ ลองนึกย้อนกลับไปถึงชีวิตตัวเอง ซึ่งที่ผ่านมาก็คงมีทั้งสุข เศร้า เหงา ซึ้ง หลากรสชาติปะปนกันไป ซึ่งตัวเราในอดีตก็คงมีหลายครั้งที่ตัดพ้อว่าทำไมชีวิตตัวเองมันแย่แบบนี้ ทำไมถึงไม่มีความสุขอย่างที่หวังไว้บ้าง เราเองก็เช่นกัน จนกระทั่งมาตกอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ทั้งหดหู่ หมดหวัง หมดไฟในการใช้ชีวิต และไม่มีความสุขเอาเสียเลย หลังจากดู Master of None จบ สิ่งที่เราทำคือการย้อนกลับไปดูรูปถ่ายเก่าๆ รวมถึงสตอรี่ที่บันทึกไว้ใน Instagram อยู่ๆ หัวใจก็รู้สึกอบอุ่น มีความสุขขึ้นมา สิ่งเหล่านี้คือบันทึกประวัติศาสตร์ทางความรู้สึก เราจำห้วงอารมณ์ของตัวเองในแต่ละรูปได้เป็นอย่างดี ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ได้มีแต่ความสุข บางรูปเราก็บันทึกไว้ด้วยความเซ็ง ความเศร้า ความเหงา ทว่าหากเทียบกับสถานการณ์ในตอนนี้ก็ยังดีกว่าเป็นไหนๆ ถึงตอนนี้เรารู้ตัวแล้วว่าที่ผ่านมาเรามองข้ามความธรรมดาของชีวิตมาโดยตลอด มัวแต่คาดหวังว่าชีวิตมันต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ จนหลงลืมในการเสพความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน การได้ดู Master of None ทำให้เราเห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านั้น เรามั่นใจว่าหากสถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลายลง ชีวิตกลับสู่โหมดปกติ เราจะใช้ชีวิตแต่ละวันอย่างละเมียดละไมขึ้น ซึมซับความสุขได้มากขึ้นอย่างแน่นอน

 

ตามชื่อเรื่อง Master of None ที่ต่อให้คุณจะเป็นคนแสนธรรมดา ไม่พิเศษอะไร แต่มันก็ยังคงมีพื้นที่ให้คุณมีความสุขได้เสมอ อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าเรากำลังนำเสนอแนวคิดแบบ “สุขนิยม” ที่เมินเฉยต่อปัญหาเชิงโครงสร้างแต่เราคิดว่าการพยายามสร้างมุมมองให้ตัวเองมีความสุข คือหนึ่งในพลังงานเชื้อเพลิงให้เรามีเรี่ยวแรงส่งเสียงต่อสู้กับความบิดเบี้ยวของสังคมที่เกิดขึ้นในตอนนี้ได้ มันไม่ได้ขัดแย้งกัน แต่เราคิดว่ามันคือสิ่งที่คอยเกื้อหนุนสนับสนุนกันมากกว่า

WATCH