Leslie Cheung
LIFESTYLE

การจากไปในวันโกหกของ Leslie Cheung ที่ทำให้สังคมตระหนักถึงโรคซึมเศร้าและความเท่าเทียมทางเพศ

แม้เขาจะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่ชื่อของเขายังคงชัดเจนในความทรงจำ และทำให้ใครหลายๆ คนได้ตระหนักถึงโรคซึมเศร้าและสิทธิความเท่าเทียมทางเพศว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรถูกมองข้าม

       วันที่ 1 เมษายนของทุกปีคือวันที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันดีในชื่อ ‘April Fool's Day’ หรือ ‘วันโกหก’ และก็เป็นปกติตามธรรมเนียมที่จะเห็นการกุเรื่องโกหกขึ้นมาหยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน ในปี 2003 เองก็เช่นเดียวกัน เรื่องโกหกมากมายถูกสร้างสรรค์ขึ้น ทว่ามีอยู่เรื่องหนึ่งที่ในตอนแรกผู้คนก็คิดว่าน่าจะเป็นแค่เรื่องโกหกธรรมดาทั่วไป แต่สุดท้ายมันกลับกลายเป็นเรื่องจริงอันแสนเศร้าที่ทุกคนอยากหลับตาลงให้เป็นเพียงแค่ความฝัน และหวังให้มันเป็นเพียงเรื่องโกหก ซึ่งวันที่ 1 เมษายน ปี 2003 เป็นวันที่ Leslie Cheung นักแสดงฮ่องกงผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยการกระโดดลงจากตึกโรงแรม Mandarin Hotel 

       จากวันนั้นถึงวันนี้แม้เวลาจะล่วงมาเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว แต่การเสียชีวิตของเลสลี่ จางยังคงถูกกล่าวถึงอย่างไม่จางหาย ราวกับว่าผู้คนอยากให้สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องจริง นอกจากนั้นเหตุการณ์นี้ยังนำไปสู่การตั้งคำถามให้สังคมได้ตระหนักถึงโรคซึมเศร้าและสิทธิความเท่าเทียมทางเพศดั่งที่บทความนี้ที่จะหยิบยกมาเล่า

Leslie Cheung

ภาพ: SCMP

 

       ย้อนกลับไปในปี 1989 หลังจากที่ชื่อเสียงอันโด่งดังเริ่มกัดกินชีวิตของเลสลี่เข้าไปทุกทีจนส่งผลให้อาการของโรคซึมเศร้าแย่ลง เขาจึงตัดสินใจบินลัดฟ้าจากฮ่องกงไปพักกายและใจที่ประเทศแคนาดา แต่วิถีชีวิตอันเรียบง่ายและเงียบสงบที่เลสลี่คิดว่าน่าจะเป็นจุดหมายปลายทางให้เขาลงหลักปักฐานกลับไม่ได้ตอบสนองความสุขในใจได้ ดังนั้นในบ่ายวันหนึ่งเมื่อโทรศัพท์ดังขึ้น ปลายสายคือ หว่อง กาไว ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังระดับโลก ที่โทรมาชวนให้เขากลับฮ่องกงไปเล่นภาพยนตร์เรื่อง Days of Being Wild เลสลี่จึงตอบตกลงโดยไม่ลังเล

       การกลับสู่เกาะฮ่องกงในครั้งนี้ เลสลี่ได้มีโอกาสแสดงภาพยนตร์ชั้นเยี่ยมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Days of Being Wild, Happy Together, และ Farewell My Concubine ซึ่งไปไกลถึงขั้นคว้ารางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ และเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ได้รับการยกย่องว่าช่วยยกระดับวงการภาพยนตร์เอเชียให้โลกยอมรับมากขึ้นอีกขั้น อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญคือการได้แสดงในภาพยนตร์เรื่อง Happy Together ซึ่งว่าด้วยเรื่องราวของคู่รักชาย-ชาย และการที่เลสลี่แสดงออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม เข้าถึงบทบาทอย่างไร้ที่ติ ยิ่งทำให้ประเด็นเรื่องเพศ ที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตมาอย่างยาวนานว่าเขาเป็นเกย์ได้ถูกหยิบยกมาขุดคุ้ยใหม่อีกครั้ง 

Leslie Cheung

เลสลี่ จาง และ เหลียง เฉาเหว่ย ในภาพยนตร์เรื่อง Happy Together ของผู้กำกับหว่องกาไว / ภาพ: IMDb 

 

       ถึงแม้ว่าเลสลี่อาจจะไม่เคยออกมายอมรับอย่างเป็นทางการแม้แต่ครั้งเดียวว่าเขาเป็นเกย์ แต่จากบทสัมภาษณ์ต่างๆ ที่เขาเคยพูดไว้ในระยะเวลาหลายปีก็ชัดเจนในตัวของมันเองอยู่แล้ว แต่ไม่ว่าอย่างไรเขาก็ชื่นชอบในสิ่งที่ตัวเองเป็น เพียงแต่มันเจ็บปวดเหลือเกินจากการที่โดนผู้คนมากมายรุมโจมตีเขาในเรื่องนี้ เลสลี่จึงได้เขียนเพลงๆ หนึ่งชื่อว่า 'I' ขึ้นมาในช่วงปลายทศวรรษที่ 90 โดยเนื้อเพลงท่อนหนึ่งราวกับเป็นการระบายความรู้สึกในจิตใจของเขา

“I am what I am 

A firework of a different color 

Among the wide sky and broad ocean

I must be the strongest foam”

เช่นเดียวกับในบทสัมภาษณ์ของเขาในปี 2001 ที่กล่าวไว้ว่า “จิตใจของผมคือไบเซ็กส์ชวล มันง่ายที่ผมจะรักผู้หญิง และเช่นเดียวกันมันง่ายที่จะรักผู้ชาย”



WATCH




Leslie Cheung

ภาพ: SCMP

 

       นอกจากนั้นในคอนเสิร์ตของเขาไม่ว่าจะในปี 1997 หรือในปี 2000 เลสลี่ก็ได้แต่งกายด้วยชุดที่ไม่มีใครคาดคิด ไม่ว่าจะเป็นสูทสีดำกับรองเท้าส้นสูงสีแดง, เสื้อกล้ามกับกางเกงหนังรัดรูป และก่อนที่การแสดงจะจบลง เลสลี่ก็ได้กล่าวประโยคสั้นๆ ออกมาว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตนอกเหนือจากความรักคือการชื่นชมตัวเอง ผมจะไม่ซ่อนตัวตนของตัวเอง และจะใช้ชีวิตท่ามกลางแสงไฟอันเจิดจ้า” สิ่งเหล่านี้คือการแสดงออกของเลสลี่ว่าเขาไม่สนใจที่คนอื่นจะคิดกับเขาอย่างไร เขาแค่อยากเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งมันได้สร้างแรงกระเพื่อมในหมู่ชาว LGBTQ+ ของเกาะฮ่องกงในเวลานั้นเป็นอย่างมาก ราวกับเขาคือคนที่จุดประกายให้พวกเขามีที่ยืนในสังคม

       ถึงแม้การแสดงออกของเลสลี่ จางจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคน แต่ตัวเขาเองกลับยิ่งโดนสังคมโจมตีหนักขึ้นเรื่อยๆ และเขาก็ไม่ใช่คนเข้มแข็งขนาดนั้น เขาป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว และสิ่งนี้ก็ทำให้อาการของเขาแย่ลงไปอีกซึ่งนำไปสู่การหมกมุ่นในเรื่องความตายที่เป็นสัญญาณอันตรายชัดเจน

 

บรรยากาศพิธีศพของ เลสลี่ จาง ที่เต็มไปด้วยการไว้อาลัยแสนโศกเศร้า / ภาพ: SCMP

 

       จนกระทั่งถึงวัน April Fool’s Day ปี ในวันดังกล่าว เลสลี่ จางใช้ชีวิตอยู่บนห้องส่วนตัวของเขาบนชั้น 24 ของโรงแรม Mandarin Hotel ฮ่องกง โดยในช่วงบ่ายเขาได้เรียก อัลเฟรด ม็อก เพื่อนสนิทคนหนึ่งมาหาที่ห้อง พวกเขารับประทานอาหารกัน และม็อกก็ได้สังเกตเห็นถึงท่าทีที่ดูประหม่ากว่าปกติของเลสลี่ แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้น เมื่อรับประทานอาหารเสร็จ พวกเขาก็แยกกันโดยเลสลี่อาสาไปส่งม็อกที่สำนักงาน จากนั้นเมื่อเลสลี่กลับมาถึงห้องพัก เขาก็ได้โทรสั่งน้ำส้ม พร้อมกับขอกระดาษและปากกาจากเด็กเสิร์ฟ เพื่อมาเขียนจดหมายกล่าวคำลาถึงทุกคนที่เขารัก 

 

“ขอบคุณเพื่อนๆ ทุกคน ขอบคุณศาสตราจารย์ เฟลิกซ์ ลี มัก (จิตแพทย์ที่รักษาเลสลี่) ปีนี้มันยากมากสำหรับผม ผมไม่สามารถที่จะยืนหยัดได้อีกต่อไป ขอบคุณถังถัง (คนรัก) ขอบคุณครอบครัวและพี่สาว (อาเฟย) ในชีวิตผมไม่เคยทำอะไรแย่ ๆ เลย แต่ทำไมผมถึงต้องมาเจออะไรแบบนี้”  

       

       หลังจากเขียนเสร็จ ก็ไม่มีอะไรเหนี่ยวรั้งให้เขามีชีวิตอยู่อีกต่อไป เลสลี่ จางตัดสินใจกระทำอัตวิบากกรรมในช่วงเย็นที่พระอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้า ถึงแม้เขาจากไปแล้ว แต่ชื่อของเขายังคงชัดเจนในความทรงจำของแฟนๆ ทุกคน โดยในวันโกหกของทุกปีจะมีแฟนๆ จากทั่วทุกมุมโลกมารวมตัวกันเพื่อไว้อาลัย ณ Mandarin Hotel ถึงแม้ว่ากาลเวลาจะล่วงผ่านไปกว่าทศวรรษแล้วก็ตาม

       การตายของเลสลี่ จางนำไปสู่การตระหนักถึงโรคซึมเศร้าที่ในยุค 2000s แทบจะยังไม่มีใครให้ความสำคัญ นอกจากนั้นยังเป็นการกรุยทางให้ประเด็นเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงในฮ่องกง ถึงแม้ทุกอย่างจะไม่สำเร็จในระยะเวลาอันสั้น แต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่มีความหวังและสวยงามให้กับใครหลายๆ คนได้

ข้อมูล : SCMP
เรียบเรียง : Ramita Naungtongnim

WATCH

TAGS : LeslieCheung