LIFESTYLE

รู้จักกับความงามของบาดแผลแห่งชีวิตผ่าน 'Kintsugi' ศาสตร์การซ่อมเครื่องปั้นดินเผาสุดคลาสสิก

เรียกได้ว่าคินสึงิคืออีกหนึ่งศาสตร์ที่ทำให้เราได้เห็นและเข้าใจปรัชญาของชีวิตได้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ช่วยให้เราสามารถยอมรับบาดแผลในอดีต เพื่อนำมาเรียนรู้และก้าวต่อไปในอนาคตด้วยจิตใจที่มั่นคงอย่างแท้จริง

     บาดแผลและความบอบช้ำทางจิตใจที่เกิดขึ้นอาจเป็นสิ่งที่ใครหลายคนต่างเลือกที่จะฝังกลบมันไว้และไม่ขุดคุ้ยมันออกเพื่อทำให้ตัวเองพบกับความรู้สึกเชิงลบเป็นแน่ แต่ในครั้งนี้โว้กจะพาแฟนๆ ไปทำความรู้จักกับ “Kintsugi” ศาสตร์แห่งการซ่อมเครื่องปั้นดินเผา ที่ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าบางครั้งบาดแผลแห่งชีวิตก็เป็นสิ่งที่สวยงามได้ไม่แพ้กัน

 

ภาพจาก pantechnicon.com

     “Kintsugi” หรือ “คินสึงิ” หนึ่งศาสตร์ที่มีจุดกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานมากถึง 400 ปี โดยเราคงต้องเล่ายอนไปตั้งแต่ในยุคสมัยเอโดะ ที่แนวคิดแบบ Wabi-Sabi หรือแนวคิดที่มุ่งเน้นให้มองเห็นซึ่งความงามของความเรียบง่าย ความไม่สมบูรณ์แบบ และการยอมรับธรรมชาติ โดยคินสึงิมีวิวัฒนาการเรื่อยมาตั้งแต่ก่อนคริสต์ศักราชในยุคโจมง ซึ่งมีการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในการซ่อมแซมเหล่าเครื่องใช้ดินเผาด้วยยางรัก แต่ยังไม่พบวิถีหรือรูปแบบที่เด่นชัด จนกระทั่งข้าวเข้าสู่ยุคคามาคุระ หรือในปี 1185 - 1333 ที่การซ่อมเครื่องปั้นดินเผาถูกพัฒนาให้กลายเป็นงานฝีมือ ซึ่งเน้นไปที่การซ่อมแซมเพื่อให้กลับมาให้ได้ มากกว่าการซ่อมเพื่อความสวยงาม ตามมาด้วยในปี 1336 - 1573 หรือในยุคสมัยโอะมุระที่คินสึงิเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น จากงานซ่อมด้วยมือถูกต่อยอดให้กลายเป็นงานศิลปะที่มีเอกลักษณ์ และยังมีการนำเอาทอง เงิน หรือแพลินัม มาพัฒนาให้มีความสวยงามมากยิ่งขึ้น

 

ภาพจาก pantechnicon.com

     ความนิยมของคินสึงิพุ่งทะยานสู่จุดสุงสุดในยุคเอโดะ ซึ่งเป็นช่วงสมัยที่ศิลปะ ประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ มีความเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับเหล่าชิ้นงานคินสึงิที่เป็นที่นิยมของชนชั้นสูงและเหล่าซามูไร เพราะเป็นสิ่งที่สื่อความหมายถึงความงาม ความกล้าหาญ และความซื่อสัตย์ ก่อนที่ในยุคต่อมาอย่างยุคเมจิ งานศิลปะแบบคินสึงิกลับเสื่อมถอยลงเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยอิทธิพลของงานศิลปะจากฟากตะวันตกแผ่ขยายเข้ามาถึงญี่ปุ่น จนทำให้คิดสึงิถูกมองว่าเป็นผลงานที่ล้าหลังและขัดต่อค่านิยมในยุคนั้น

 



WATCH




ภาพจาก kintsugilabo.com

     จุดสำคัญที่ทำให้งานฝีมือแบบคินสึงิกลับมาเป็นที่นิยมสูงขึ้นในปัจจุบันนั้น เราคงต้องพูดถึงแง่มุมต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับชีวิตในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของชิ้นงานศิลปะที่สื่อให้เห็นความสวยงามของรอยแตกร้าวที่บอกเล่าผ่านเรื่องราวต่างๆ  ประสบการณ์ และความทรงจำ ตลอดจนยังเป็นภาพสะท้อนอันเป็นรูปธรรมของปรัชญาญี่ปุ่น ที่ทำให้เราสามารถยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบ เรียนรู้จากอุปสรรค เติบโตจากประสบการณ์ และก้าวต่อไปในอนาคต อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจให้แก่เหล่าผู้เผชิญปัญหาและสัญลักษณ์ให้ที่สื่อให้เห็นว่าชีวิตของเรานั้นควรมีความยืดหยุ่น มีความอดทน มีการเติบโตเพื่อเริ่มต้นใหม่ และการเยียวยาบาดแผลในชีวิต

 

ภาพจาก mymodernmet.com

     ถึงแม้ในช่วงหนึ่งคินสึงิจะเสื่อมถอยลงไปแต่ปัจจุบันกระแสของศาสตร์แห่งการซ่อมแซมเครื่องปั้นดินเผานี้ก็กำลังมีอิทธิพลเพิ่มสูงขึ้น มีการนำกลับมาเป็นกิจกรรมที่เปิดให้เราได้เข้าไปลองทำผ่านเวิร์กช็อปต่างๆ คอร์สสอนทำ ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ นอกจากนี้คินสึงิยังถูกนำไปประยุกต์เข้ากับงานอีกหลายแขนง เช่น งานศิลปะ การออกแบบ แวดวงธุรกิจ รวมถึงจิตวิทยาและการบำบัดอีกด้วย เรียกได้ว่าคินสึงิคืออีกหนึ่งศาสตร์ที่ทำให้เราได้เห็นและเข้าใจปรัชญาของชีวิตได้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ช่วยให้เราสามารถยอมรับบาดแผลในอดีต เพื่อนำมาเรียนรู้และก้าวต่อไปในอนาคตด้วยจิตใจที่มั่นคงอย่างแท้จริง

    

เรื่อง : Worramate Khamngeon
เรียบเรียง : Ramita Naungtongnim

WATCH

TAGS : Kitsugi