LIFESTYLE
ทำความรู้จัก Keigo Higashino นักเขียนผู้ทำลายขนบดั้งเดิมและสร้างสีสันใหม่ให้โลกนิยายสืบสวนเรื่องราวชีวิตของ Keigo Higashino จากวิศวกรไฟฟ้า...สู่เจ้าพ่อรหัสคดีแดนญี่ปุ่น ผลงานของเขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการนิยายสืบสวนแดนอาทิตย์อุทัย |
ภาพ: TheTimes.co.uk
ไม่ว่าจะเป็นชุดนักสืบ Hercule Poirot ผลงานจากปลายปากกาของ “ราชินีนิยายสืบสวน” Agatha Christie, ชุดนักสืบ Sherlock Holmes ของ Arthur Conan Doyle หรือแม้กระทั่งจากฝั่งเอเชียอย่าง Kindaichi ยอดนักสืบ ที่ประพันธ์โดย Seishi Yokomizo เหล่านี้คือนวนิยายสืบสวนระดับตำนานของโลก ที่ได้ส่งต่ออิทธิพลมากมายแก่นวนิยายสืบสวนในยุคหลังจนกลายเป็นแบบแผนในการเล่าเรื่องราว
อย่างไรก็ตาม ณ ประเทศญี่ปุ่นหลายทศวรรษให้หลัง นักเขียนหนุ่มนาม Keigo Higashinoได้สร้างสรรค์นิยายสืบสวนอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูง แตกต่างจากขนบที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ผลงานของเขาได้รับการจับตามองเป็นอย่างมากในฐานะนิยายสืบสวนยุคใหม่ และในบทความเราจะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับเขากัน
คำอธิบายรูป: Sherlock Holmes ตำนานตัวละครนักสืบจากโลกนวนิยาย
ขนบ “Who Dunnit” แบบดั้งเดิม
The Murders in the Rue Morgue ผลงานของนักประพันธ์ระดับตำนาน Edgar Allan Poe ที่เริ่มตีพิมพ์ในปี 1841 คือหนังสือเล่มแรกของโลกที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นนวนิยายแนวรหัสคดี ทว่ายุคทองของนวนิยายแนวนี้จริงๆ เกิดขึ้นหลังจากนั้นอีกประมาณครึ่งศตวรรษ เมื่อ Arthur Conan Doyle นักเขียนชาวอังกฤษทำให้โลกรู้จักกับนักสืบจอมสุขุม เข้าสังคมไม่เก่ง แต่ไหวพริบในการไขคดีเป็นเลิศอย่าง เชอร์ล็อค โฮมส์ จากนั้นไม่นาน Agatha Christie กับตัวละครนักสืบ “เซลล์สมองสีเทา” Hercule Poirot ของเธอยิ่งทำให้รหัสคดีแพร่หลาย ได้รับความนิยมไปทั่วโลก จนถึงทุกวันนี้ยอดขายรวมหนังสือทุกเล่มของ Agatha Christie มากกว่า 2 พันล้านเล่มไปแล้ว เป็นรองเพียงแค่คัมภีร์ไบเบิลเท่านั้น เรียกได้ว่า Arthur Conan Doyle และ Agatha Christie คือ 2 เสาหลักที่ทำให้นวนิยายรหัสคดีมีที่ยืนบนชั้นวางหนังสือในร้านอย่างเต็มภาคภูมิ ก่อนที่หลังจากนั้น Dorothy L. Sayers, Jamal Mahjoub และอีกมากมายจะช่วยกันรับไม้ต่อได้เป็นอย่างดี
ด้วยความที่รหัสคดีเป็นหนึ่งในประเภทนิยายที่ได้รับความนิยมอย่างสูง จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เมื่อกาลเวลาผ่านไปจะมีรูปแบบบางอย่างที่นักเขียนส่วนใหญ่ใช้เพื่อสร้างสรรค์เรื่องราว รูปแบบดังกล่าวถูกเรียกว่า “Who Dunnit” นิยายรหัสคดีส่วนใหญ่จะมีโครงสร้างเรื่องราวที่คล้ายคลึงกัน โดยนักเขียนแต่ละคนจะสร้างสรรค์ตัวละครนักสืบของตัวเองขึ้นมา ก่อนที่จะใช้พวกเขาเป็นแกนหลักในการดำเนินเรื่องราว ตัวละครนักสืบจะเข้าไปพัวพันกับบางสถานที่ หรือบางสถานการณ์ ก่อนที่หลังจากนั้นเขาจะได้ทำความรู้จักกับเหล่าตัวละครอื่นๆ ซึ่งมักถูกเล่าผ่านบทสนทนาที่ดูเผินๆ เหมือนจะธรรมดา ไม่มีใจความสำคัญอะไร แต่แฟนนิยายรหัสคดีทุกคนทราบกันดีว่านี่คือช่วงที่ต้องตั้งใจอ่านเก็บรายละเอียดทุกซอกทุกมุม เพราะในช่วงนี้แหละที่ผู้เขียนจะทิ้งเบาะแสต่างๆ ไว้ให้เก็บรวบรวมปะติดปะต่อ และใช้มันเป็นหมัดฮุคน็อคคนอ่านในช่วงเฉลยท้ายเรื่อง
หลังจากที่นักสืบทำความรู้จักกับตัวละครแวดล้อมครบทุกตัวแล้ว อยู่ๆ ก็จะมีคดีฆาตกรรมหรืออาชญากรรมบางอย่างเกิดขึ้น ตัวละครทุกตัวตกเป็นผู้ต้องสงสัย และก็เป็นหน้าที่ของนักสืบสมองเพชรที่จะหาคำตอบให้กระจ่าง เขาจะค่อยๆ ย้อนระลึกความทรงจำว่าผู้ต้องสงสัยแต่ละคนมีพยานหลักฐานที่อยู่อย่างไร ในแต่ละช่วงเวลาพวกเขาทำอะไร ปะติดปะต่อเรื่องราว ตัดความเป็นไปได้ออกไปทีละอย่าง ร่วมไขคดีไปพร้อมกับผู้อ่าน “ถ้าตัดความเป็นไปไม่ได้ออกไป สิ่งที่เหลืออยู่แม้จะไม่น่าเชื่อเพียงใดก็ตาม แต่มันก็คือความจริง” Arthur Conan Doyle กล่าวเอาไว้ และสิ่งนี้ก็ได้กลายเป็น “แม่บท” ให้เหล่านักเขียนรหัสคดียุคหลังเดินตาม
คำอธิบายรูป: Hercule Poirot ตัวละครนักสืบ เจ้าของฉายาเซลล์สมองสีเทา
เมื่อเข้าสู่ช่วงท้ายซึ่งเป็นช่วงเฉลยตัวคนร้ายคลี่คลายปมของเรื่อง นักสืบมักจะเรียกผู้ต้องสงสัยทุกคนมารวมกัน ก่อนจะค่อยๆ เล่าเหตุการณ์เป็นฉากๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ปิดท้ายด้วยการบอกชื่อคนร้ายที่ทำให้ทุกคนในเรื่องอึ้ง รวมถึงผู้อ่านที่อยู่หลังกำแพงที่ 4 ด้วย เพราะคนร้ายมักจะเป็นคนที่น่าสงสัยน้อยที่สุด หรือในบางเรื่องคู่หูที่คอยช่วยเหลือนักสืบสืบคดีก็หักมุมกลายมาเป็นคนร้ายเสียด้วยซ้ำ นี่คือขนบแบบ Who Dunnit ที่เหล่านักเขียนนิยายรหัสคดีส่วนใหญ่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานนับศตวรรษ แต่ก็เช่นเดียวกับขนบอื่นๆ ในโลกนี้ที่มีการพัฒนาไปตามกาลเวลา ดังนั้นเราจึงได้เห็นนิยายรหัสคดีในยุคใหม่ที่คดีมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนขึ้น ยากขึ้น โดยเฉพาะคดีฆาตกรรมในห้องปิดตายทั้งหลายที่บางเรื่องจำเป็นต้องมีภาพประกอบในการอธิบายด้วยซ้ำ เพื่อให้ผู้อ่านยังสามารถนึกภาพตามได้อยู่
ถึงแม้ความซับซ้อนของคดีจะมากขึ้น แต่โครงสร้างขนบ Who Dunnit ก็ยังคงอยู่ กระทั่งภาพยนตร์เรื่อง Knives Out ในปี 2019 ผลงานการกำกับ Ryan Johnson ที่เห็นได้ชัดว่าพยายามทำให้ Who Dunnit มีความสดใหม่ขึ้น แตกต่างจากที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายขนบแบบดั้งเดิม บุคคลที่ผู้เขียนหยิบยกมากล่าวถึงในบทความนี้อย่าง Keigo Higashino ก็เช่นเดียวกัน ผลงานบางเรื่องของเขาก็ยังคงมีความเคารพ Who Dunnit แบบดั้งเดิม เพราะถึงแม้จะผ่านกาลเวลามานานเพียงไร แต่มันก็ไม่เคยล้าสมัย และมีฐานผู้อ่านที่เหนียวแน่น ในขณะที่ผลงานบางเรื่องของเขาก็ฉีกขนบดังกล่าวไปโดยสิ้นเชิง
Keigo Higashino จากวิศวกรไฟฟ้าสู่เจ้าพ่อรหัสคดีแดนญี่ปุ่น
Keigo Higashino เกิดและเติบโตในจังหวัดโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ในปี 1958 ท่ามกลางชุมชนในชนชั้นแรงงาน ทว่าครอบครัวของ Keigo เป็นชนชั้นกลาง ทำให้เขายังพอมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ดีอยู่บ้าง หลังจากจบการศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนประถมโคจิ มัธยมต้นที่โรงเรียนมัธยมต้นฮิกาชิอิคุโนะ Keigo ก็เข้าสู่ชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนมัธยมฮันนัน ซึ่ง ณ ที่แห่งนี้ Keigo ได้ทำความรู้จักกับนิยายสืบสวนสอบสวนเป็นครั้งแรก
WATCH
คำอธิบายรูป: Arthur Conan Doyle ผู้สร้างสรรค์ Sherlock Holmes
ไม่ว่าจะเป็นงานคลาสสิกจากฝั่งตะวันตกอย่าง Sherlock Holmes, Hercule Poirot หรืองานของนักเขียนญี่ปุ่นรุ่นเก๋าอย่างEdogawa Ranpo ก็ล้วนแต่เป็นวัตถุดิบสำคัญที่ Keigo เก็บเกี่ยวเข้าสู่ลิ้นชักสมอง และยิ่งเก็บเข้าไปมากเท่าไร เขาก็ยิ่งอยากระบายมันออกมาเป็นผลงานเขียนของตัวเองบ้าง ดังนั้นงานเขียนชิ้นแรกในชีวิตของ Keigo จึงเป็นนิยายสืบสวนที่เขาเขียนใส่สมุดเรียนให้เพื่อนร่วมชั้นที่โรงเรียนมัธยมฮันนันอ่าน Keigo เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยโอซาก้า ในคณะวิศวกรรมไฟฟ้า ถึงแม้สิ่งที่เขาเรียนจะแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง แต่ความชอบที่มีต่อนิยายลึกลับสืบสวนไม่เคยหายไป
หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี Keigo ก็ได้เข้าทำงานในตำแหน่งวิศวกรบริษัท Nippon Denso Co. และแต่งงานในปี 1981 ทว่าในทุกเย็นหลังเลิกงาน รวมถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ Keigo ก็ยังใช้เวลาหมดไปกับการเขียนนิยายสืบสวน จนกระทั่งในปี 1983 นิยายของเขาก็เสร็จสมบูรณ์ Keigo ส่งผลงานชิ้นดังกล่าวเข้าชิงรางวัล Edogawa Rampo Prize ซึ่งถือเป็นเวทีประกวดนิยายสืบสวนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น แต่เขาก็ต้องผิดหวัง เพราะผลงานที่ใช้เวลาหลายปีเขียนขึ้นมาอย่างตั้งใจกลับตกรอบแรก Keigo ไม่ยอมแพ้ เพราะในปี 1984 เขาก็ส่งผลงานเข้าสู่สังเวียน Edogawa Rampo Prize อีกครั้ง และถึงแม้ครั้งนี้จะไปไกลถึงรอบสุดท้าย แต่ก็ยังไม่ดีพอที่จะเป็นผู้ชนะ
อีกครั้งในปี 1985 ในที่สุด Keigo ก็ไปถึงฝั่งฝันกับผลงานเรื่อง After School ที่สามารถคว้ารางวัล Edogawa Rampo Prize มาครองได้สำเร็จ ส่งผลให้ชื่อของ Keigo เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการนิยายสืบสวนแดนอาทิตย์อุทัย ดังนั้นในปี 1986 Keigo จึงตัดสินใจทุบหม้อข้าวตัวเอง ลาออกจากบริษัท Nippon Denso Co. ทิ้งหน้าที่การงานอันมั่นคง เงินเดือนสูง มุ่งตรงเข้าสู่ถนนสายนักเขียนเต็มตัว หลังจากนั้น Keigo ก็ผลิตผลงานเขียนออกมาให้นักอ่านได้เสพกันอย่างต่อเนื่อง บางเรื่องก็ขึ้นหิ้งเป็นระดับมาสเตอร์พีซเช่น Secret ที่ได้รับรางวัล Mystery Writers of Japan Award ครั้งที่ 52 ในปี 1998 ก่อนที่ผลงานเรื่องนี้จะถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ทั้งในญี่ปุ่นและฝรั่งเศส, The Devotion of Suspect X ได้รับรางวัล Naoki Prize for Yōgisha Ekkusu no Kenshin ครั้งที่ 134 ในปี 2006 รวมถึง Honkaku Mystery Award ครั้งที่ 6 ด้วย
นี่เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เพราะ Keigo เป็นหนึ่งในนักเขียนจอมขยันที่ผลิตผลงานออกมามากมายอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่แทบทุกเรื่องของเขายังคงเข้มข้นด้วยคุณภาพ มีความสดใหม่ ยากที่จะคาดเดา ทำลายขนบดั้งเดิมและสร้างสีสันใหม่ให้โลกนิยายสืบสวนได้อย่างงดงาม ด้วยเหตุนี้ชื่อ Keigo ก็เริ่มเป็นที่ยอมรับในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยเขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมนักเขียนนิยายลึกลับแห่งประเทศญี่ปุ่น ในระหว่างปี 2009-2013 และไม่ใช่แค่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่หลายประเทศในเอเชียเช่น เกาหลีใต้, ไต้หวัน, ฮ่องกง, จีน, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ไทย, หรือแม้กระทั่งโลกตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาก็ให้การจับตามองนักเขียนนาม Keigo เช่นกัน
คำอธิบายรูป: Agatha Christie ผู้สร้างสรรค์ Hercule Poirot
โลกของ Keigo Higashino
“ผมต้องการให้ผู้อ่านรู้สึกประหลาดใจกับไอเดียของผมอย่างต่อเนื่อง” Keigo กล่าวถึงแนวคิดในการสร้างสรรค์งานเขียนของเขาถึงแม้ Keigo จะมีซีรี่ส์นิยายนักสืบเป็นของตัวเองและดำเนินเรื่องตามขนบ Who Dunnit ดั้งเดิมอยู่บ้างเช่นชุดนักสืบกาลิเลโอ หรือนักสืบคากะ แต่ก็มีอีกหลายเรื่องที่ทำลายขนบเหล่านั้นไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Keigo ประสบความสำเร็จและได้รับการจับตามองตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เช่นในเรื่อง Suspect X ที่ถึงแม้ผู้อ่านจะรู้ตั้งแต่แรกว่าใครคือฆาตกร แต่ Keigo ก็ยังทำให้เรื่องราวน่าติดตามไปจนบรรทัดสุดท้ายได้อย่างน่ามหัศจรรย์ เป็นการพลิกแพลงโครงสร้างนิยายสืบสวนที่แปลกใหม่และน่าสนใจ นอกจากนั้นนิยายสืบสวนของ Keigo ยังเข้มข้นเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์ ความรักหนุ่มสาว ความอิจฉาริษยา เขานำประเด็นเหล่านี้มาผสมรวมเข้ากับปมปริศนาหรือคดีฆาตกรรมได้อย่างกลมกล่อมลงตัว เช่นในเรื่อง “คดีฆาตกรรมคืนฝนดาวตก” Keigo ใช้สายสัมพันธ์ครอบครัวมีผสมผสานเข้ากับการตามสืบไขคดีฆาตกรรม ทำให้ผู้อ่านรู้สึกผูกพันกับตัวละคร ในขณะเดียวกันก็อยากรู้ว่าเรื่องราวทั้งหมดเกิดอะไรขึ้น และเมื่อบทสรุปมาถึง ยิ่งผูกพันกับตัวละครมากเท่าไร ระเบิดอารมณ์ที่พลั่งพรูออกมาก็ยิ่งลูกใหญ่ขึ้นเท่านั้น
“ความรู้สึกภักดี และการกดขี่ในความสัมพันธ์ของมนุษย์เป็นตัวเร่งให้คดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นมีมิติที่ลึกซึ้งขึ้น” Andrew Joyce นักเขียนแห่ง The Wall Street Journal กล่าว นอกจากนั้นงานของ Keigo ยังลดช่องว่างระหว่างตัวอักษรในหนังสือกับผู้อ่านให้ใกล้ชิดขึ้น เช่นการที่เขามักจะให้ตัวเอกของเรื่องเป็นบุคคลที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในสังคม เช่นพนักงานร้านอาหารชุด หรือพนักงานรถไฟ เป็นต้น ไม่ใช่ยอดนักสืบสมองเพชรแบบที่นิยายสืบสวนทั่วไปนิยม การทำเช่นนี้ส่งผลให้ผู้อ่านรู้สึกมีอารมณ์ร่วมกับเรื่องราวที่ Keigo ถ่ายทอดออกมามากขึ้น เพราะเหตุการณ์ที่ตัวละครประสบ ทุกคนก็มีสิทธิ์พบเจอได้เช่นกัน “งานของผมเมื่ออ่านแล้วจะเข้าใจกับความรักและความเกลียดชังในจิตใจมนุษย์ชาวญี่ปุ่น” Keigo กล่าว
สำหรับตัวผู้เขียน การได้อ่านผลงานของ Keigo เปรียบเสมือนการเดินเข้าไปในดินแดนปริศนาที่มีหมอกลงหนาทึบ ถึงแม้เรื่องย่อที่ปกหลังจะอธิบายคร่าวๆ ว่าหนังสือเล่มดังกล่าวเกี่ยวกับอะไร แต่เชื่อเถอะว่าเมื่ออ่านไปจนถึงบทสรุป ก็อดที่จะรู้สึกทึ่งไม่ได้ว่า Keigo นำพาเรื่องราวมาไกลขนาดนี้ได้อย่างไร ในตอนที่เปิดอ่านบทแรกไม่มีทางคาดคิดถึงแน่นอน
WATCH