LIFESTYLE
เล่าเรื่องด้วยกลิ่นหอม! คุยกับ 'น้ำ-กันต์นที' ครูสอนปรุงกลิ่นที่ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านความรู้สึก“นักเรียนจะหลากหลายมาก บางคนจำกลิ่นเป็นสี บางคนจำเป็นสถานที่ บางคนจำเป็นผู้หญิงผมยาว ฯลฯ ข้อมูลของกลิ่นที่แต่ละคนชอบก็จะถูกนำมาทดลองผสมกันตามทฤษฎีที่เรียนไป” |
“โว้กสำหรับน้ำคือความเท่ ความทันกระแส เรารู้สึกว่าเป็นกลิ่นที่เหมือนเมนทอลมั้ง เย็นๆ คูลๆ ดูเท่ ไม่ได้ดู Teenage แต่ก็ยังไม่ถึงกับ Mature เป็นความเย็นที่เข้าถึงง่ายกับทุกคน กลิ่นเมนทอลจะเย็นและปลุกให้สดชื่นเหมือนบรรยากาศความเป็นโว้กในความรู้สึกของเรา พอบวกกับชื่อคนสัมภาษณ์ที่ดูเปรี้ยวจี๊ด ก็เลยทำให้มีกลิ่นของเลมอน ซึ่งคือความสว่างและความตื่นตัวแซมอยู่ในความรู้สึกแรกด้วย” นี่คือคำตอบเมื่อเราถาม 'น้ำ-กันต์นที นีระพล ลิ้มวิรัตน์' นักปรุงกลิ่นและผู้เขียนหนังสือ Nose Note บันทึกเรื่องกลิ่นจากปลายจมูก ฝนตกข้างบ้าน ถึงจักรวาลอันไกลโพ้น ว่าการสัมภาษณ์ครั้งนี้ทำให้เธอรู้สึกถึงกลิ่นอะไรบ้าง ส่วนผู้อ่านจะได้กลิ่นอะไรจากบทสัมภาษณ์ของเธอบ้างนั้น ขอเชิญที่บรรทัดถัดไป
น้ำ-กันต์นที นีระพล ลิ้มวิรัตน์
Vogue: รู้ตอนไหนว่าเรามีจมูกและสมองที่ตอบสนองต่อกลิ่นไม่เหมือน...หรืออาจจะดีกว่า...คนอื่น
Kannatii: กลิ่นเป็นการรับรู้ที่ค่อนข้างเฉพาะตัวและแตกต่างกันไปสำหรับแต่ละคน แล้วเราก็มักจะไม่ค่อยได้คุยเรื่องกลิ่นหรือการได้กลิ่นกับคนอื่นๆ เนอะ น้ำรู้ตัวแค่ว่าเรามักจะจำสถานที่เป็นกลิ่น จดจำบรรยากาศด้วยกลิ่น เวลาใครถามว่าที่นี่เป็นอย่างไร น้ำจะตอบว่ากลิ่นเป็นอย่างไรแทนที่จะอธิบายภาพ เช่น น้ำไปเมืองบาทที่มีบ่อน้ำพุร้อน แล้วเพื่อนส่วนมากยังไม่เคยไปก็เลยมาถามว่าบาทเป็นอย่างไร น้ำตอบว่ากลิ่นมันชื้น เขียวๆ เป็นโลหะหน่อยๆ แล้วก็มีกลิ่นกำมะถัน เพื่อนก็ทำหน้างงว่าอะไรของมันวะ (หัวเราะ) หรือถ้าเป็นเมืองไทย อย่างกาญจนบุรีซึ่งเป็นบ้านเกิดที่น้ำไม่ค่อยได้กลับไป น้ำจะนึกถึงกลิ่นของเหล็ก กลิ่นของโลหะที่โดนแดดร้อนๆ เผา ซึ่งได้กลิ่นเป็นครั้งแรกตอนทำหน้าที่เจ้าบ้านพาเพื่อนไปเดินเที่ยวสะพานข้ามแม่น้ำแคว
V: น้ำมันหอมขวดแรก ความชอบน้ำมันหอม และองค์ความรู้ที่สอนมาจากไหน
Kannatii: น้ำมันหอมขวดแรกมาจากร้าน Boots ในลอนดอน เพราะไปบินแล้วเป็นหวัด เลยพยายามจะไปหาอะไรแบบวิคส์ วาโปรับมาดม เนื่องจากหายใจไม่สะดวก (หัวเราะ) แต่หาไม่ได้ แล้วไปเจอขวดน้ำมันยูคาลิปตัส ก็เลยหยิบมาลองใช้ดู เป็นครั้งแรกที่รู้ว่าน้ำมันหอมระเหยมีสรรพคุณอะไรแบบนี้ด้วย ต่อมาน้ำทำของชำร่วยงานแต่งตัวเองเป็นสบู่ทำมือ ซึ่งต้องมีการใส่กลิ่นลงไป ตอนแรกใช้เป็น Fragrance oil แล้วรู้สึกว่าแสบจมูกเกินไป ก็เลยลองเปลี่ยนมาเป็น Essential oil แทน ซึ่งสบายจมูกกว่ามาก นั่นเป็นจุดถัดมาที่ทำให้รู้ว่ากลิ่นหอมมีทั้งแบบสังเคราะห์และแบบธรรมชาติ จากนั้นมีความบังเอิญที่ยิ่งใหญ่มากเกิดขึ้นตามมา แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ตัว คือน้ำไปบินไฟลต์ลอนดอน แล้วสมัครเข้าเวิร์กช็อปเล็กๆ อันหนึ่งชื่อ Perfume Making with Essential Oil เขาก็สอนเบสิกนะคะ เอากลิ่น 1 มาบวกกลิ่น 2 ให้ได้กลิ่น 3 ขึ้นมา แต่น้ำสนุกมาก และนั่นเป็นการได้เข้าร่วมเวิร์กช็อปเรื่องกลิ่นครั้งแรกและครั้งเดียวของน้ำ เพราะในไทยหาเรียนไม่ได้เลย
WATCH
V: มีการค้นพบแบบ Hallelujah Moment จากเวิร์กช็อปครั้งนั้นไหม
Kannatii: มีค่ะ เกิดขึ้นหลังจากเรียนจบแล้ว คือน้ำหอมที่เราทำออกมามันไม่มีกลิ่นอะไรเลย! แต่ตอนที่ฝรั่งข้างๆ ถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง เราก็ตอบไปว่าฉันโอเค ชอบกลิ่นที่ได้มากเลยเนี่ย (หัวเราะ) ความเขินและสงสัยว่าทำไมมันไม่มีกลิ่นล่ะเป็นสิ่งที่ทำให้เราไปค้นต่อ ไปเดินหาซื้อตำรามานั่งอ่านเอง หาซื้อน้ำมันหอมมานั่งดมเอง จนทำให้รู้ว่าศิลปะของกลิ่นกับวิทยาศาสตร์ของสัดส่วนและปริมาณเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากสำหรับกลิ่นหอม
V: แล้วเส้นทางการสอนปรุงกลิ่นของน้ำเริ่มมาจากตรงไหน
Kannatii: เรื่องมันเริ่มมาจากโควิดนี่แหละค่ะ น้ำเป็นลูกเรือมาหลายปี จู่ๆ ไม่มีไฟลต์ให้บินก็ต้องหาอย่างอื่นทำ น้ำก็เลยกลับไปค้นความชอบของตัวเองแล้วพบว่าเรามีน้ำมันหอมระเหยที่สะสมไว้เกือบ 40 ขวด ตอนนั้นคือปลายปี 2020 คลาสที่เราเห็นเปิดสอนส่วนมากจะเป็นการทำสบู่ ทำเทียนหอม คิดได้ว่าเรื่องกลิ่นในไทยยังไม่ค่อยเห็นมีใครสอนทั้งๆ ที่มันสามารถเอาไปใช้ต่อยอดเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ได้อีกเยอะมาก จึงลองเปิดคลาสที่ 0 เป็นคลาสทดลองดู พอนักเรียนบอกว่าสนุกก็เริ่มสอนเลย
V: เมื่อกลิ่นเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แล้วน้ำถ่ายทอดความรู้เรื่องกลิ่นให้คนจำนวนมากอย่างไร
Kannatii: วิธีการสอนบางส่วนก็มาจากเวิร์กช็อปที่ลอนดอนนั่นแหละค่ะ บวกกับสิ่งที่น้ำเรียนรู้และค้นหามาเพิ่มเติมเอง ข้อดีของกลิ่นคือมันไม่มีถูกหรือผิด และน้ำไม่ได้สอนทำน้ำหอมเพราะน้ำไม่ใช่กูรูน้ำหอม แต่เหมือนเป็นเพื่อนที่จะพานักเรียนไปรู้จักน้ำมันหอมกลิ่นต่างๆ เปิดประตูให้เขามีการรับรู้เรื่องกลิ่นที่กว้างขึ้น ให้รู้ว่ากลิ่นไม่ได้มีแค่หอมหรือเหม็น แต่มีวิธีการจำแนกหลายแบบ อย่างตามตำราของอังกฤษจะแยกกลิ่นตามความรู้สึก เช่น Uplifting หรือ Serene แล้วสอนว่าจะจับคู่กลิ่นแต่ละประเภทอย่างไร จากนั้นให้ทุกคนคิดเองว่ามีความทรงจำหรือมีประสบการณ์ร่วมกับกลิ่นเหล่านั้นอย่างไร แล้วบันทึกไว้เป็นเรื่องราวของตัวเอง นักเรียนจะหลากหลายมาก บางคนจำกลิ่นเป็นสี บางคนจำเป็นสถานที่ บางคนจำเป็นผู้หญิงผมยาว ฯลฯ ข้อมูลของกลิ่นที่แต่ละคนชอบจะถูกนำมาทดลองผสมกันตามทฤษฎีที่เรียนไป แต่จะชอบหรือไม่ชอบก็อย่างที่บอกว่าขึ้นอยู่กับแต่ละคน ส่วนตัวน้ำคิดว่ากลิ่นเป็นเรื่องของประสบการณ์ การสื่อสาร และการเล่าเรื่อง ซึ่งแต่ละคนจะเล่าออกมาอย่างไรก็ได้ตามที่จมูกได้กลิ่นและความทรงจำนำพาไป
ช่างภาพ : ธาเกียรติ ศรีวุฒิชาญ
WATCH