Juvenile Justice, ซีรี่ย์เกาหลี, ซีรี่ย์ Netflix
LIFESTYLE

‘Juvenile Justice’ เมื่อคดีเยาวชนกำลังสะท้อนความดำมืดของสังคมออกมา ซีรี่ส์แนวสืบสวนน้ำดีจาก Netflix

“ฉันเกลียดผู้ต้องหาเยาวชน กล้าดียังไงถึงมาทำความผิดทั้งที่อายุยังน้อย” คำพูดจากผู้พิพากษาชิมอึนซ็อก

Juvenile Justice, ซีรี่ย์เกาหลี, ซีรี่ย์ Netflix

ซีรี่ส์แนวสืบสวนคงเป็นอีกหนึ่งประเภทที่ครองใจใครหลายคน ด้วยเรื่องราวที่ชวนให้น่าติดตาม และสามารถร่วมค้นหาความจริงไปพร้อมๆ กับตัวละครเป็นอีกหนึ่งอรรถรสที่ทำให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมไปด้วย โว้กเลยจะพาไปรู้จักกับซีรี่ส์แนวสืบสวนอีกหนึ่งเรื่องที่เป็นออริจินัลคอนเทนต์จาก Netflix กับเรื่อง ‘Juvenile Justice หญิงเหล็กศาลเยาวชน’

‘Juvenile Justice’ ออริจินัลคอนเทนต์จาก Netflix ซีรี่ส์แนวสืบสวนน้ำดีที่หลายๆ คน กำลังให้ความสนใจ เรื่องราวของผู้พิพากษา อย่าง ‘ชิม อึน ซอก’ ผู้เยือกเย็นและแข็งกร้าว กับ ‘ชา แท จู’ ผู้พิพากษาหนุ่มที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตา พวกเขาต้องมาตัดสินคดีที่เยาวชนอายุไม่เกิน 14 ปี เป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งในแต่ละคดีก็สร้างความรู้สึกที่สะเทือนใจอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นคดีฆ่าหั่นศพเด็กอายุ 8 ขวบ หรือคดีทำร้ายร่างกายที่มีต้นเหตุจากความรุนแรงในครอบครัว รวมไปถึงคดีกระทำชำเรากับผู้เยาว์ แต่ละคดีถึงแม้จะน่าตกใจแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคดีเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคม



WATCH




Juvenile Justice, ซีรี่ย์เกาหลี, ซีรี่ย์ Netflix

ความแตกต่างและน่าสนใจของ ‘Juvenile Justice’ ที่โดดเด่นจากซีรี่ส์ในประเภทเดียวกัน คือ ‘มุมมองในการดำเนินเรื่อง’ เรามักเห็นในหลายๆ ครั้งว่าประเด็นเหล่านี้ มักจะถูกถ่ายทอดผ่านมุมมองของอาชีพนักสืบ, ตำรวจ, อัยการ และทนายความ ที่ต้องคอยสืบเสาะหาหลักฐานเพื่อให้เนื้อเรื่องดำเนินต่อไป แต่กลับกันนั้น Juvenile Justice ได้เล่าเรื่องผ่านมุมมองของการเป็นผู้พิพากษาที่ต้องมองให้ลึกไปถึงความรู้สึกของโจทก์และจำเลย เพื่อนำมาร่วมในการตัดสินคดีให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

แต่ถึงแม้ว่าจะเล่าเรื่องผ่านมุมมองของผู้พิพากษา ยังคงมีบางฉากที่ตัวละครเองได้ทำสิ่งที่เหนือบทบาทออกไป เช่นการที่ผู้พิพากษาลงไปสืบหาความจริงด้วยตัวเอง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการ จนบางครั้งก็เกิดการตั้งคำถามกับตัวละครว่า “สิ่งที่ผู้พิพากษาทำ เป็นสิ่งที่เป็นธรรมต่อโจทก์และจำเลยหรือไม่” ซึ่งเชื่อว่าหลายๆ คนก็คงมีคำถามนี้อยู่ในใจเช่นกัน แต่อย่างไรก็ดีคำถามนี้ ก็ให้เราได้กลับไปคิดกันต่อถึงบทบาทและอำนาจของการเป็น ‘ผู้พิพากษา’ ว่าแท้จริงแล้วคืออะไรกันแน่

Juvenile Justice, ซีรี่ย์เกาหลี, ซีรี่ย์ Netflix

ซีรี่ส์เรื่องนี้นอกจากจะโดดเด่นด้วยวิธีการเล่าเรื่องและมุมมองต่างๆ ยังคอยสะท้อนหลายประเด็นให้แก่คนดู ไม่ว่าจะเป็นช่องโหว่ของกฎหมายเยาวชนที่ใช้เป็นข้ออ้างในการกระทำความผิด ความเน่าเฟะของระบบที่ทำให้หลายคดีนั้นหลุดรอดไปได้ หรือจะเป็นสังคมดำมืดที่คอยสร้างบาดแผลให้แก่เยาวชน จนทำให้พวกเขาต้องกลายเป็นอาชญากรตั้งแต่อายุยังน้อย และไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าประเด็นเหล่านี้ สร้างคำถามให้แก่ผู้ชมเช่นกันว่า “แท้จริงแล้วเหล่าอาชญากรเยาวชนเป็นคนที่แย่อยู่แล้ว หรือสังคมกันแน่ที่เปลี่ยนพวกเขา”

สิ่งที่น่าสนใจยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะในเนื้อเรื่องไม่เพียงแต่มุ่งไปที่การตัดสินของผู้พิพากษา แต่ยังเต็มไปด้วยความรู้ด้านกฎหมาย ที่ค่อนข้างละเอียดในเนื้อเรื่อง ถึงแม้จะดูเป็นเรื่องยากที่จะถ่ายทอดกฎหมายให้แก่คนทั่วไป แต่เน็ตฟลิกซ์ก็ทำออกมาได้ดีทีเดียว เป็นการสอดแทรกที่ไม่ได้ทำให้เนื้อหาของเรื่องหนักมากจนเกินไป เพราะเดิมทีบรรยากาศในซีรี่ส์ก็ชวนให้รู้สึกอึดอัดอยู่ไม่น้อย

นอกจากเรื่องราวของตัวละคร และความน่าสนใจในการเล่าเรื่องของเน็ตฟลิกซ์แล้ว แต่ละคดีที่เกิดขึ้นในซีรี่ส์เรื่องนี้ ยังมีเค้าโครงจากคดีที่เกิดขึ้นจริงในประเทศเกาหลีใต้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นคดีที่ยาวชนอายุ 17 และ 18 ปี ร่วมกันฆ่าหั่นศพเด็กชายวัย 8 ปี หรือจะเป็นคดีสุดสะเทือนใจอย่างคดีรุมข่มขืน เด็กสาววัย 14 ปี จากชาย 44 คน ที่โด่งดังในปี 2004 จนทำให้เกิดภาพยนตร์เรื่อง ‘Han Gong-Ju ฉันไม่ได้ทำอะไรผิด’ ขึ้นมา

ท้ายที่สุดนี้ซีรี่ส์ Juvenile Justice ไม่ได้ทิ้งไว้เพียงแค่เรื่องราวที่จบไปแล้ว แต่ยังเป็นซีรี่ส์ที่ให้เราได้คิดต่อว่าจะเป็นอย่างไร หากสังคมที่ดำมืดนี้ได้ถูกแก้ไข เหล่าอาชญากรเด็กจะยังเกิดขึ้นอยู่หรือไม่ บทลงโทษตามกฎหมายเยาวชนเหมาะสมกับสิ่งที่พวกเขาทำผิดไหม และช่องโหว่ในระบบความยุติธรรมจะถูกอุดเมื่อไหร่ ก็คงเป็นสิ่งที่ผู้ชมและผู้เขียนต้องเฝ้าติดตามกันต่อไป

ภาพ : Netflix Korea

WATCH

คีย์เวิร์ด: #JuvenileJustice #ซีรี่ส์Netflix #Netflix