LIFESTYLE
5 เหตุผลที่ Instagram กลายเป็นสนามการค้าใหม่แห่งอุตสาหกรรมแฟชั่นหากธุรกิจแฟชั่นไม่ปรับตัวตามตลาด ก็อาจถูกทิ้งให้ตกขบวนได้... |
E-Commerce หรือพาณิชย์เชิงอิเล็กทรอนิกส์ไม่น่าจะเป็นเรื่องใหม่ของวงการธุรกิจไทยอีกต่อไป เพราะไม่ว่าจะธุรกิจใดก็หันมาจับทางวงจรการค้าออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบทั้งการสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์ การทำการตลาด การปิดการขาย ไปจนถึงการบริการหลังการขายที่ยึดพื้นที่ และให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจออนไลน์พอกันกับโลกจริง อุตสาหกรรมแฟชั่นก็เป็นอีกภาคส่วนที่เข้ามาใช้ประโยชน์บนพื้นที่ออนไลน์ หนึ่งในช่องทางออนไลน์ที่ทั้งแบรนด์ใหม่ และแบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกเลือกนำเสนอตัวตนของผลิตภัณฑ์ และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับแบรนด์ก็คือ ‘อินสตาแกรม’ และนี่คือ 5 เหตุผลที่ทำให้ช่องทางดังกล่าวกลายเป็นสนามการค้าที่ดุเดือดของโลกแฟชั่น
ภาพสินค้าที่ถูกแสดงบนตัวผู้แสดงแบบ ช่วยส่งเสริมให้สินค้าดูน่าสนใจยิ่งขึ้น / ภาพจาก IG : @chanelofficial
1. ภาพคือใจความหลัก
การสื่อสารบนอินสตาแกรมไม่ใช่การสื่อสารโดยใช้ข้อความเป็นสำคัญ แต่สารที่ใช้สื่อจะเน้นภาพเป็นหลัก และจุดเด่นของอินสตาแกรมข้อนี้จึงเหมาะสมกับธุรกิจแฟชั่นเป็นอย่างยิ่งเพราะผลิตภัณฑ์แฟชั่นทั้งหลายเน้นการขายภาพลักษณ์ที่ดูดึงดูด โดยเฉพาะเมื่อสินค้านั้นๆ อยู่บนตัวผู้แสดงแบบก็ยิ่งทำให้ผู้ที่ได้เห็นภาพเข้าใจสินค้ามากขึ้น และในปัจจุบันอินสตาแกรมยังเพิ่มฟังก์ชั่นทั้งการลงวิดีโอขนาดสั้น หรือขนาดยาว อินสตาแกรมสตอรี่ รวมไปถึงรีลส์ ที่ช่วยให้ผู้ติดตามได้เห็นสินค้าในหลายมุมมองมากขึ้น จะยิ่งช่วยผลักดันให้สินค้ามีความน่าสนใจมากขึ้น
ไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพเจาะที่ตัวสินค้า แต่การแสดงภาพโดยรวมพร้อมด้วยอารมณ์ของภาพก็ทรงพลังเช่นกัน / ภาพจาก IG : @ysl
2. นำเสนอแบรนด์ได้หลากหลายมุม
ไม่เพียงแต่การนำเสนอสินค้าเท่านั้น แต่อินสตาแกรมยังเป็นพื้นที่สร้างตัวตนของแบรนด์ให้ผู้ติดตามได้ทราบถึงแนวคิด สไตล์ และสิ่งที่แบรนด์นั้นๆ ต้องการสื่อสาร หรือบางครั้งยังใช้ช่องทางนี้ในการทำคอนเทนต์เกี่ยวกับงานสร้างสรรค์ของแบรนด์ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าในเชิงความคิดสร้างสรรค์ และความประณีตได้อีกด้วย
WATCH
การใช้แฮชแท็กของดอลเช่แอนด์แกบบาน่าเพื่อรวบรวมการสวมใส่เสื้อผ้าของแบรนด์โดยเซเลบ / ภาพจาก IG : @dolcegabbana
3. เพิ่มการรับรู้ผ่าน hashtag
บ่อยครั้งที่แบรนด์ต่างๆ มักจะโพสต์ข้อความพร้อมกับรูปในอินสตาแกรม พร้อมกับติดสัญลักษณ์ ‘#’ หรือ hashtag สาเหตุจำเป็นที่ต้องมีการใส่สัญลักษณ์นี้เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหา และยังนำพาคอนเทนต์นั้นๆ ไปสู่หน้าการค้นหาแนะนำ (explore) เมื่อแบรนด์ต่างๆ เหล่านั้นเข้าข่ายความสนใจของคุณ นั่นจึงอาจทำให้แบรนด์ที่คุณอาจจะไม่เคยรู้จักมาก่อนได้ผ่านตาคุณบนอินสตาแกรม อีกทั้งการใส่แฮชแท็กยังง่ายสำหรับการสร้าง social impact เมื่อต้องการทำแคมเปญการตลาดอีกด้วย
อีฟ แซงต์ โรลอง เลือกโรเซ่จากวงแบล็คพิงค์มาเป็นตัวแทนภาพลักษณ์ของแบรนด์ / ภาพจาก IG : @ysl
4. อินฟลูเอนเซอร์คือผู้ช่วยสำคัญ
หลักทางจิตวิทยาที่ชื่อว่า Social Proof ถูกคิดค้นโดย Robert Cialdini ในปี 1984 กล่าวถึงการใช้สิ่งรอบข้างเพื่ออ้างอิงต่อการตัดสินใจ ซึ่งในปัจจุบันถูกประยุกต์มาสู่กลยุทธ์ทางการค้าโดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ที่มักอาศัยผู้มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์ หรือภาพการใช้งานสินค้าแฟชั่นผ่านผู้มีชื่อเสียงในสังคมเป็นแรงช่วยผลักเสริมให้เกิดความต้องการสินค้าได้มากขึ้น ซึ่งอินสตาแกรมคือช่องทางสื่อที่เหมาะสมสำหรับเผยแพร่รูปที่สวยงามและถูกเลือกสรรมาแล้วเพื่อให้สินค้านั้นๆ โดดเด่นที่สุด
ภาพจาก Digital-discovery
5. เลือกชิ้นที่ใช่ได้จากหน้า feed
ก่อนหน้านี้อินสตาแกรมเป็นช่องทางที่ใช้สำหรับการสร้างการรับรู้ และผลิตภัณฑ์ใหม่ของแบรนด์สินค้าเป็นหลัก แต่ไม่ใช่ช่องทางสร้างยอดขายได้ แต่ในปัจจุบันอินสตาแกรมได้เพิ่มฟังก์ชั่น 'shop with Instagram' เพื่อเพิ่มโอกาสการขายสินค้าให้กับแบรนด์ เมื่อผู้ติดตาม หรือผู้ที่ได้เห็นสินค้าผ่านการโฆษณาบนอินสตาแกรมก็จะสามารถกดที่รูปเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้านั้นๆ และสามารถซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทันที ฟังก์ชั่นดังกล่าวช่วยเอื้อให้กับแบรนด์ในการปิดการขาย และยังช่วยการันตีคุณภาพสินค้าที่เป็นของลิขสิทธิ์โดยตรงจากแบรนด์ให้กับผู้ซื้อได้ด้วย
ข้อมูล : Appnova, Criteo, Wikipedia
เรียบเรียง : Ramita Naungtongnim
WATCH