LIFESTYLE

ความตายอันยั่งยืน! เปิด 4 นวัตกรรมที่ตอกย้ำว่าแม้ร่างกายจากไป แต่ยังสร้างประโยชน์ให้สิ่งแวดล้อมได้

แม้จะตายไปแล้วแต่ก็สามารถสร้างประโยชน์ให้กับโลกใบนี้ต่อไปได้ เพียงรู้จักนวัตกรรมเหล่านี้

     ความตายเป็นอีกหนึ่งในสิ่งที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และแน่นอนว่าเรื่องราวของความตายและการสูญเสียนั้นเป็นสิ่งที่อยู่เคียงข้างกับทุกสิ่งมีชีวิตมาอย่างช้านาน โดยเฉพาะในสังคมมนุษย์ที่การตายหนึ่งครั้งจำเป็นต้องจัดพิธีต่างๆ เพื่อเป็นการแสดงถึงความเคารพแด่ผู้ล่วงลับ ไม่ว่าจะเป็นการฝัง การเผา หรือแม้กระทั่งการสร้างสิ่งที่รูปธรรมเพื่อให้เราได้นึกผู้ล่วงลับ 

     แต่ก็แน่นอนว่าเมื่อความตายและมนุษย์อยู่เคียงข้างกันมาอย่างยาวนาน ทำให้ในบางพื้นที่นั้นเกิดปัญหาการในการจัดการร่างผู้เสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการจัดการที่ไม่เหมาะสมและสร้างมลภาวะทางอากาศ หรือการขาดแคลนพื้นที่สำหรับการทำพิธีทางศาสนา ด้วยปัญหาเหล่านี้ทำให้ปัจจุบันเกิดเป็นนวัตกรรมที่ถูกคิดค้นขึ้นมาช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างยั่งยืน จะมีนวัตกรรมอะไรน่าสนใจบ้าง ผู้เขียนรวบรวมมาให้แล้วที่นี่

 

ภาพจาก recompose.life

Human Composting

     นวัตกรรมแรกที่ได้รับความสนใจคือการทำ Human Composting หรือหากจะพูดให้เห็นภาพที่ชัดเจนคือการเปลี่ยนร่างของมนุษย์ให้กลายเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยใช้หลักการเดียวกับการทำปุ๋ยหมักที่นำเอาจุลินทรีย์เข้ามาย่อยสลายร่างกายนั่นเอง ซึ่งวิธีนี้มีให้บริการโดยบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกาอย่าง “Recompose” บริษัทที่ได้รับการอนุญาตในการดำเนินการเปลี่ยนร่างกายจากศพให้กลายเป็นดิน วิธีนี้ไม่เพียงจะช่วยลดปัญหาการจัดสรรที่ดินสำหรับฝังศพเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีที่ช่วยสร้างประโยชน์ให้กับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

 

ภาพจาก simpletraditions.com

Green Cremation

     Green Cremation หรือแปลตรงตัวว่า “การเผาสีเขียว” เป็นอีกหนึ่งคำนิยามที่ใช้บ่งบอกถึงวิธีการเผาร่างกายของผู้เสียชีวิตแบบใหม่ โดยการทำวิธีนี้จะไม่มีการเผาด้วยไฟแบบดั้งเดิม แต่เป็นการใช้สารละลายน้ำและด่างแทนเชื้อเพลิงในการเผา เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษสู่อากาศ ซึ่งหลังจากที่ผ่านกระบวนการทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว เราจะเหลือเพียงกระดูกเท่านั้น ซึ่งสามารถนำไปฝังลงดินได้ง่าย และช่วยในการประหยัดพื้นที่ ปัจจุบันนี้วิธีการจัดการศพโดยอิงหลักการนี้มีอยู่หลายวิธีเช่น Bio-cremation, Aqua-cremation, Water-based cremation และ Resomation

 



WATCH




ภาพจาก fellowsblog.ted.com

Mushroom Death Suit

     นวัตกรรมถัดมากับการสิ่งมีชีวิตเล็กจิ๋วอย่าง “เชื้อรา” เข้ามาเป็นตัวช่วยในการจัดการ นั่นคือ “Mushroom Death Suit” หรือชุดสูทเห็ด ซึ่งชุดดังกล่าวจะถูกถักทอขึ้นด้วยสปอร์จากเห็ดหลากหลายชนิด เมื่อนำร่างสวมใส่เข้าไปในชุดและฝังลงดินแล้ว กระบวนการเติบโตของเชื้อราจนกลายเป็นเห็ด จะเร่งการย่อยสลายร่างกายมนุษย์ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยผลงานการออกชิ้นนี้เป็นดีไซเนอร์อย่าง Jae Rhim Lee ศิลปินและผู้ก่อตั้ง Coeio บริษัทที่ให้บริการชุดสูทดังกล่าว

 

ภาพจาก lonite.com

Diamond Funeral

     Diamond Funeral นวัตกรรมที่สร้างขึ้นจากแนวคิดที่ว่าร่างกายของเรานั้นมีองค์ประกอบหลักเป็นคาร์บอน ดังนั้นวิธีการนี้จึงเน้นไปที่การนำเอาส่วนที่เหลือจากการจัดการงานศพของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเส้นผม กระดูก หรือแม้แต่เถ้ากระดูก มาทำให้กลายเป็นเพชรแทน ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์อย่าง LONITÉ เป็นผู้ให้บริการ ในการนำผงหรือเถ้ากระดูกที่จากผู้ตา มาขึ้นรูปเป็นเพชร สามารถทำออกมาได้หลายรูปทรง ไล่ไปตั้งแต่ขนาด 0.5 กะรัต ถึง 3 กะรัต โดยหลังทำสามารถเลือกรับเพียงเพชรพร้อมกล่อง หรือจัดเซ็ตเป็นเครื่องประดับก็ได้

 

     นวัตกรรมเหล่านี้ล้วนถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อช่วยจัดการปัญหาทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม และปัญหาปริมาณร่างผู้เสียชีวิตที่มีปริมาณมากมาย และเรียกได้ว่าแต่ละวิธีล้วนมีความสร้างสรรค์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตามการจัดการร่างของผู้เสียชีวิตผ่านนวัตกรรมเหล่านี้ ยังมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงและสามารถทำได้เพียงไม่กี่ประเทศที่กฎหมายอนุญาตเท่านั้น เราอาจต้องติดตามกันต่อไปว่าในอนาคตวิธีการจัดการเหล่านี้จะมีแนวโน้มไปในทิศทางใด รวมถึงจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ อื่นใดเพิ่มขึ้นมาอีกหรือไม่

 

เรื่อง : Worramate Khamngeon
เรียบเรียง : Ramita Naungtongnim

WATCH