hunger
LIFESTYLE

คิดอย่างไรที่ 'Hunger คนหิวเกมกระหาย' นำเสนออาชีพ 'เชฟ' บิดเบือนจากความจริงจนแทบไม่เหลือเค้า!

ใครหลายคนอาจกำลังตั้งคำถามว่า บทบาทของการเป็นเชฟในเรื่องนี้สมควรแล้วจริงหรือ

     หลังจากที่ปล่อยให้ทุกคนรอคอยมาเนิ่นนานกับภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเข้มข้นจนใครๆ ต่างก็พูดถึงจนไวรัลไปทั่วโลกออนไลน์อย่าง ‘Hunger คนหิวเกมกระหาย’ ที่นำเสนอเรื่องราวเสียดสีสังคมให้เห็นถึงชนชั้นคนรวยและคนจนอย่างเห็นได้ชัด ถือว่าเป็นการเล่าเนื้อหาโดยให้ตัวละครหลักอย่าง ‘เชฟพอล’ ที่รับบทโดย ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม และ ‘ออย’ นำแสดงโดย ออกแบบ-ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง มาดำเนินเรื่องได้อย่างสร้างสรรค์และชวนติดตามอีกด้วย (ตามไปอ่านเรื่องราวเพิ่มเติมได้ที่บทความ Hunger ผลงานเสียดสีสังคมอย่างดุเดือดที่มาในรูปแบบเรื่องราวของเชฟที่ยวบยาบจนคนไม่ปล่อยผ่าน)

     ทว่าแม้จะมีกระแสตอบรับที่ดีอย่างล้นหลามและเสียงส่วนใหญ่ออกไปในทางชื่นชมการวางเส้นเรื่องและเล่าถึงแก่นสารของเรื่องที่จะนำเสนอได้เข้าใจง่ายและเห็นภาพที่สุด ประกอบกับนักแสดงทุกคนที่เข้าถึงบทบาทและถ่ายทอดอารมณ์ของแต่ละตัวละครออกมาได้เป็นอย่างดี แต่ยังมีอีกเสียงส่วนหนึ่งที่ใครหลายคนอาจเห็นด้วยเช่นนี้ว่า บทภาพยนตร์เรื่องนี้อาจไปทำให้ภาพลักษณ์ของอาชีพเชฟดูบิดเบือนไปจากความจริงหรือเปล่า

 

chef hunger

 ภาพ: Netflix

     หากกล่าวถึงเรื่องเนื้อหาก็ยอมรับว่าสนุกและมีเรื่องให้คิดตามเสมอ แต่หากจะเล่าถึงตัวละครที่ส่งผ่านบทบาทอาชีพเชฟนั้นต้องบอกว่าแตกต่างกับอาชีพในความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง เริ่มต้นตั้งแต่การเข้มงวดของเชฟพอล ผู้เป็นหัวหน้าหลักในการควบคุมขั้นตอนการทำอาหาร ซึ่งบอกได้เลยว่าท่าทางรุนแรงเช่นนั้นทั้งคำพูดแดกดัน และการตบหน้าลูกมือหากไม่ได้ดั่งใจ ประหนึ่งว่าเป็นคนที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้เสียอย่างนั้น ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้พบเห็นในคนประกอบอาชีพนี้จริงๆ ดังเช่นเชฟ Gordon Ramsay ที่ถึงแม้เขาจะนำเสนอรายการอาหารของเขาด้วยอารมณ์หุนหัน แต่ก็ไม่ถึงกับลงไม้ลงมือดั่งเชฟพอลจนอาจทำให้ผู้ถูกกระทำเก็บกดไปอย่างไม่รู้ตัว ทั้งเรื่องการสมัครเข้ามาเป็นเชฟที่ไม่ว่าจะไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่มีใครพามาสอบง่ายๆ เช่นนี้ มีแต่การกรอกใบสมัครมาก็เท่านั้น ส่วนจะเรียกสัมภาษณ์หรือไม่หรือผ่านข้อปฏิบัติหรือเปล่าค่อยเป็นเรื่องของลำดับขั้นตอนอีกที

 

chef hinger

    ภาพ: Panthip

     นอกจากนี้ฉากหั่นเนื้อที่ใครหลายคนต่างสะดุ้งกับประโยคที่ว่า “กูบอกว่าอย่าเลื่อย!” ของเชฟพอลที่กำลังสอน (หรือจะเรียกว่ากดดันก็ไม่ปาน) ออยให้หั่นเนื้ออย่างถูกวิธีก็เป็นสิ่งที่น่าขัดใจผู้ชมอยู่ไม่น้อย เพราะหากพูดถึงตามหลักสุขอนามัยและกฎเหล็กของการเป็นเชฟ ความสะอาดจะต้องเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงที่สุด แต่ในเรื่องออยกลับทาเล็บสีดำและสีเล็บดังกล่าวดันลอกเกือบทุกนิ้ว จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรอย่างยิ่งเพราะสีเล็บอาจหลุดไปติดกับชิ้นเนื้อ หรือหากปรุงอาหารเมนูอื่นสีเล็บดังกล่าวก็มีสิทธิ์ที่จะหล่นลงไปในอาหาร เพราะฉะนั้นความสะอาดและความปลอดภัยแก่ผู้รับประทานจะหาไม่ได้เลยจากที่นี่ ทั้งนี้การหั่นเนื้อ ‘หนาไป’ ของออยเป็นสิ่งที่เชฟพอลควรบอกให้ละเอียดว่าควรหั่นชิ้นเนื้อขนาดเท่าไหร่ และการนำเนื้อไปผัดให้สุกแบบไม่บอกว่าควรใช้ไฟแรงแค่ไหน หนำซ้ำไม่ถูกใจก็ไม่ยอมบอกวิธีที่ถูกต้องแต่ยอมแลกเนื้อในราคาหลายพันบาทให้ออยผัดจนเหมือนยอมเสียวัตถุดิบไปดื้อๆ โดยใช่เหตุ

 



WATCH




chef hunger

ภาพ: Netflix

     แน่นอนว่าเมื่อดูมาถึงตรงนี้แล้ววงการเชฟคงรู้ดีว่าตัวละครออยยังมีฝีมือที่ไม่ฉมังพอสำหรับการเป็นซูส์เชฟ แต่เชฟพอลก็ยอมให้เป็นตัวหลักในการทำมื้ออาหารหนึ่งในงานใหญ่อย่างง่ายดายทั้งที่เพิ่งเข้ามาทำงานไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ผัดเนื้อสุกกำลังพอดีแค่ไม่กี่ครั้ง และยังหั่นวัตถุดิบไม่ชำนาญเท่าที่ควร หากกล่าวถึงในวงการจริงออยจะไม่มีสิทธิ์มาเป็นเชฟเต็มตัวเช่นนี้ เพราะการเป็นซูส์เชฟนั้นต้องผ่านกระบวนการมากมายในฐานะผู้ช่วยโดยตรงหรือเป็นมือขวาของเชฟ ต้องสามารถทำหน้าที่แทนได้ในกรณีที่เชฟใหญ่ไม่อยู่ คอยประสานงานและควบคุมงานของพนักงานในครัวหรือสถานที่ที่ได้ไปทำอาหาร ทั้งนี้ยังต้องมีส่วนร่วมในการเตรียมอาหารทั้งพัฒนาเมนูและดูแลให้อาหารอยู่ในสภาพที่สดใหม่และสะอาดอยู่เสมอ ถือเป็นตำแหน่งสำคัญที่ต้องแบกทุกอย่างไว้บนบ่าก็ว่าได้ ซึ่งกว่าจะมาถึงขั้นนี้ต้องหมั่นฝึกฝนหรือใช้เวลาร่วมปีในการพิสูจน์ตัวเองในขั้นจูเนียร์เชฟเสียก่อน จากนั้นจึงพัฒนาไปประจำที่ครัวเย็น (ทำหน้าที่ปรุงอาหารที่ไม่ต้องปรุงร้อน เช่น ผักสลัด น้ำสลัด เป็นต้น) เพื่อที่จะได้รับความไว้วางใจและพร้อมที่จะไปปรุงอาหารหน้าครัวร้อนในฐานะซูส์เชฟให้ผู้คนได้รับประทานอย่างมั่นใจ

 

chef hunger

ภาพ: Sanook

     จากเสียงวิจารณ์ต่างๆ ข้างต้นถือเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นด้วยกับภาพลักษณ์ของอาชีพเชฟที่ถูกบิดเบือนจากความเป็นจริงไปมาก เพราะอาจทำให้ผู้ชมหลายคนเข้าใจผิดได้ว่าการจะก้าวเข้ามาเป็นเชฟตัวจริงมันไม่ง่ายดังเช่นที่ภาพยนตร์เรื่องนี้กำลังนำเสนอ ไม่มีใครประสบความสำเร็จได้รวดเร็วเพียงเพราะมีคนถูกใจฝีมือในการผัดเนื้อแล้วจะยอมลงทุนเปิดร้านอาหารให้ ทุกอย่างล้วนแล้วแต่โดนฝึกฝนเพื่อความเป็นมืออาชีพและเก่งกาจให้ทุกคนยอมรับและเรียก “เชฟ” ได้อย่างเต็มปาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เข้าใจว่าภาพยนตร์ต้องการสื่อเรื่องความหิวของคนคือกิเลส จึงจำเป็นจะต้องวาดเส้นเรื่องให้เข้มข้นและแตกต่างออกไปจากเดิม ทว่าอย่างไรแล้วการนำเสนอเรื่องราวทั้งหมดควร ‘ให้เกียรติ’ แก่อาชีพที่กล่าวถึง เพื่อให้การนำเสนอทุกด้านนั้นสมบูรณ์แบบและไม่เกิดการเข้าใจผิดหรือมองอาชีพนี้เลวร้ายกว่าที่มันเป็น

 

ข้อมูล : Netflix, Grandhotelier

WATCH

คีย์เวิร์ด: #Hunger #Netflix