เคล็ดลับการตกแต่งบ้านสไตล์นอร์ดิก ดีไซน์จากประเทศเขตหนาวที่เข้ากับเมืองร้อนบ้านเราได้ลงตัว
เพราะการตกแต่งบ้านสไตล์นอร์ดิกนั้นต้องจัดแบ่งสัดส่วนด้วยเส้นที่สะอาดตาเพื่อความเรียบง่ายที่เก๋ไก๋ และความรู้สึกโปร่งสบายในบรรยากาศโดยรวม
รู้ตัวอีกทีคำว่า ‘สไตล์นอร์ดิก’ ก็เข้ามาวนเวียนในชีวิตประจำวันบ่อยครั้งเสียแล้วโดยเฉพาะในเรื่องราวเกี่ยวกับการออกแบบตกแต่งบ้าน อย่างไรก็ตามเชื่อว่าน่าจะยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่กระจ่างนักว่าแท้จริงแล้วคำว่าสไตล์นอร์ดิก มีความเป็นมาอย่างไร และลักษณะของมันเป็นอย่างไรกันแน่
ภาพ: Medium
นิยามของสไตล์นอร์ดิก?
สไตล์นอร์ดิกเริ่มได้รับความนิยมหลังฝุ่นควันสงครามโลกครั้งที่ 2 จางหายไม่นานทว่าในแถบยุโรปตอนเหนือ จุดเริ่มต้นของมันยาวนานกว่านั้นมาก สาเหตุที่ทำให้สไตล์จากเมืองหนาวนี้ได้รับความนิยมในวงกว้างคือการจัดแบ่งสัดส่วนด้วยเส้นที่สะอาดตา ความเรียบง่ายที่เก๋ไก๋ และความรู้สึกโปร่งสบายในบรรยากาศโดยรวม ห้องที่ออกแบบในสไตล์นอร์ดิกมักจะมีผนังสีขาวเพื่อขับเน้นแสง พื้นจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้หรือหิน ไม่มีการตกแต่งหน้าต่างและพรม เกิดเป็นผลลัพธ์บรรยากาศมินิมัลทว่ายังมีกลิ่นอายความหรูหราหลงเหลือเล็กน้อย แม้คำว่าสไตล์นอร์ดิกจะไม่มีนิยามที่ตายตัว แต่เมื่อนำองค์ประกอบเหล่านี้มารวมกัน ใครเห็นก็ต้องทราบโดยทันทีว่านี่แหละสไตล์นอร์ดิก และสุดท้ายจริงอยู่ที่สไตล์นอร์ดิกมีต้นกำเนิดมาจากประเทศเขตหนาว แต่อย่างไรเสียมันสามารถนำมาปรับใช้ในประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อนได้เช่นกันโดยต้องเลือกดูตามความเหมาะสม ดั่งเช่นเคล็ดลับที่จะนำมาบอกต่อในบทความนี้
ภาพ: Pinterest
เลือกเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งที่เรียบง่าย
ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การออกแบบตกแต่งสไตล์นอร์ดิกนั้นยึดหลังสำคัญคือความเรียบง่าย ดังนั้นให้เลือกเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านที่ดูมีความมินิมัล โทนสีไม่หวือหวาฉูดฉาดอย่างเช่นเซรามิก หรือลองตกแต่งโซฟาด้วยหมอนอิงและหมอนที่มีลายเรขาคณิตก็ช่วยให้ดูสมดุลสบายตามากยิ่งขึ้น
WATCH
ภาพ: Midj
คุมบรรยากาศด้วยไม้
การออกแบบสไตล์นอร์ดิกใช้ไม้เป็นองค์ประกอบหลัก ไม่เพียงแต่ในส่วนของพื้นหรือผนังเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งด้วย ด้วยเหตุนี้บ้านสไตล์นอร์ดิกจึงมักจะมีโต๊ะกาแฟและเก้าอี้ไม้ อย่างไรก็ตามการนำโลหะมาเป็นองค์ประกอบเสริมก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด ตัวอย่างเช่นเชิงเทียนทองแดงและจี้ทองเหลืองในเพดานไม้เพื่อเพิ่มความแวววาวและเปล่งประกายให้กับบรรยากาศโดยรวม
ภาพ: Architect and Design Magazine
เติมความสดชื่นด้วยพืชพรรณและดอกไม้
หากมองว่าสีขาวและพื้นไม้เพียงอย่างเดียวจืดชืดและราบเรียบเกินไป ในการตกแต่งสไตล์นอร์ดิกนิยมใช้ต้นไม้ในร่มและดอกไม้สดเพื่อเติมความสดชื่นและสีสันให้กับบรรยากาศ เรียกได้ว่าเป็นการลงทุนเพียงเล็กน้อยแต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง
ภาพ: Pinterest
ใช้โทนสีที่เป็นกลาง
หนึ่งในความโดดเด่นของการตกแต่งบ้านสไตล์นอร์ดิกคือโทนสี เรียกได้ว่ามีโทนสีสำหรับสไตล์นี้อย่างเฉพาะเจาะจง เน้นหนักไปทางสีขาว สีน้ำตาลอ่อน และสีเทา ความสำคัญของการใช้โทนสีที่เป็นกลางเหล่านี้คือเพื่อสร้างบรรยากาศที่สะอาดและผ่อนคลาย อย่างไรก็ตามสีแดงม่วงและสีเขียวน้ำทะเล ก็เริ่มเป็นที่นิยมแล้วเช่นกันในการแต่งบ้านสไตล์นอร์ดิก
ภาพ: Archdaily
การจัดวางอย่างเป็นระเบียบ
ลักษณะที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของการตกแต่งภายในสไตล์นอร์ดิกคือบรรยากาศโดยรวมที่ออกมาต้องดูโล่ง โปร่ง และสำคัญที่สุดคือห้ามรกโดยเด็ดขาด ดังนั้นหลักใหญ่ที่ต้องเน้นคือการจัดระเบียบพื้นที่ใช้สอยอย่างชาญฉลาด ตามกฎเหล็กสุดคลาสสิกสำหรับนอร์ดิกสไตล์อย่าง "less is more" หรือ "น้อยแต่มาก" นั่นเอง
ภาพ: Reclaimedflooringco
เลือกพื้นสีอ่อน
ในส่วนของพื้นสำหรับสไตล์นอร์ดิกโดยทั่วไปแล้วพื้นจะทำจากวัสดุไม้เนื้อแข็งสีอ่อน ไม่ว่าจะใช้สีอ่อนตามธรรมชาติหรือทาสีขาว พื้นลามิเนตสีอ่อนก็เป็นอีกแนวคิดที่ดีสำหรับการสร้างสรรค์บรรยากาศ เรียกได้ว่าเป็นองค์ประกอบที่ห้ามมองข้าม เนื่องจากพื้นที่เหมาะสมจะทำให้พื้นที่ดูสว่างและกว้างขวางมากเช่นเดียวกับบรรยากาศที่น่าดึงดูดใจและเป็นกันเองมากขึ้นเช่นกัน
ภาพ: Decoist
ให้ความสำคัญกับแสงที่เหมาะสม
แม้ในบ้านเราจะไม่ต้องเผชิญช่วงกลางคืนที่ยาวนานเท่ากับแถบยุโรปตอนเหนือ เรื่องการจัดแสงจึงไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลขนาดนั้น แต่ถ้าหากอยากให้บรรยากาศห้องออกมาเปี่ยมด้วยกลิ่นอายนอร์ดิกอย่างแท้จริงก็ควรที่จะให้ความสำคัญกับมันเช่นกัน จึงควรเลือกแสงไฟในห้องให้สีนวลตา แลดูอบอุ่น ส่วนต้นกำเนิดแสงก็ควรเลือกเป็นโคมติดผนังและโคมระย้าจะช่วยให้บรรยากาศนั้นดูดีมากยิ่งขึ้น
เหล่านี้เป็นเพียงเคล็ดลับฉบับสั้นกระชับเท่านั้น แน่นอนว่าหากอยากให้ห้องออกมาเป็นสไตล์นอร์ดิกและเหมาะสมกับประเทศไทย ควรปรึกษานักออกแบบผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้แบบบ้านสไตล์นอร์ดิกออกมาสวยและสมบูรณ์แบบมากที่สุด
ข้อมูล : Decoraid
เรียบเรียง : Ramita Naungtongnim
WATCH