LIFESTYLE

จากถังน้ำ DIY สู่เหรียญทองโอลิมปิก เปิดเส้นทางนักสู้ของ Hidilyn Diaz ฮีโร่ของชาวฟิลิปปินส์

ไม่ใช่แค่พรสวรรค์ที่สร้างคน แต่ความอดทนของ Hidilyn Diaz พิสูจน์แล้วว่าการจะประสบความสำเร็จนั้นต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากเพียงใด

     เส้นทางกว่าจะมาเป็นนักกีฬาระดับโอลิมปิกนั้นไม่ใช่เส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบต้อนรับนักกีฬาอย่างแน่นอน และยิ่งเป็นนักกีฬาระดับเหรียญรางวัลนั้นยิ่งกว่าพรสวรรค์คือพรแสวงที่สะท้อนถึงความพยายาม Hidilyn Diaz นักยกน้ำหนักรุ่นน้ำหนักไม่เกิน 55 กิโลกรัมคือตัวอย่างสำคัญที่ฝ่าฟันอุปสรรคมามากมาย รวมถึงอุปสรรคด้านการฝึกซ้อมที่เธอไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมสมบูรณ์แบบเหมือนนักกีฬาจากชาติมหาอำนาจอื่นๆ อย่างจีนหรือ ROC ดังนั้นการจะก้าวแซงขึ้นมาคว้าชัยชนะในเวทีระดับโอลิมปิกจึงเป็นเรื่องราวสุดมหัศจรรย์

ความมุ่งมั่นของ Hidilyn Diaz ที่พร้อมมาคว้าชัยในโอลิมปิก 2020 / ภาพ: Yahoo News

     ปัจจุบันฮิดิลินอายุ 30 ปี ผ่านประสบการณ์โอลิมปิกมาแล้วถึง 3 ครั้งตั้งแต่ปี 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ครั้งนี้ที่โตเกียวเป็นครั้งที่ 4 และอาจจะเป็นครั้งท้ายๆ ในชีวิตนักกีฬาของเธอแล้ว ดังนั้นเป้าหมายสูงสุดคือการขึ้นไปยืนบนโพเดียมรับเหรียญรางวัลแสดงพลังของคนฟิลิปปินส์ให้คนทั่วโลกได้เห็น รอบสแนชเธอทำสถิติส่วนตัวได้ 97 กิโลกรัมเทียบเท่ากับนักกีฬาจากจีน คู่แข่งคนสำคัญ และเมื่อเข้าสู่ท่าคลีนแอนด์เจิร์กเธอเรียกน้ำหนักทำลายสถิติโอลิมปิกที่ 127 กิโลกรัม ก่อนจะเดินขึ้นมาสร้างประวัติศาสตร์ให้กับตัวเองและประเทศสำเร็จ พร้อมกับทำลายสถิติโอลิมปิกในท่านี้และน้ำหนักรวมที่ 224 กิโลกรัม มากไปกว่านั้นเธอยังแซงเอาชนะคู่ปรับคนสำคัญแบบเฉียดฉิวแค่ 1 กิโลกรัมเท่านั้น ทำให้ฮิดิลินกลายเป็นนักกีฬาหญิงในประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ที่คว้าเหรียญทองในเวทีโอลิมปิกเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่การเข้าร่วม ณ กรุงปารีสเมื่อปี 1924 จนถึงวันนี้ก็ 97 ปีแล้ว

Hidilyn Diaz ขณะทำการแข่งขันยกน้ำหนักในเวทีโอลิมปิก 2016 ณ กรุงริโอ เด จาเนโร / ภาพ: Generation T

     แท้จริงแล้วเธอคือนักกีฬายกน้ำหนักในรุ่นนี้ที่เจนสนามมากเลยทีเดียว เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านสาวชาวฟิลิปปินส์คนนี้ตระเวนแข่งไปทั่วโลก สามารถคว้าเหรียญรางวัลประดับเกียรตินักกีฬาทีมชาติได้อย่างสม่ำเสมอ แต่โอลิมปิกเป็นเวทีที่ต่างออกไป เธอไม่เคยสัมผัสอารมณ์ของผู้ชนะเลยแม้แต่ครั้งเดียว เคยไปถึงจุดสูงสุดเพียงเหรียญเงิน โดยมีนักกีฬาจากไทเปปาดหน้าคว้าเหรียญทองไปอย่างน่าเสียดาย นับเป็นช่วงเวลารุ่งโรจน์ที่สุดของฮิดิลินในเวทีโอลิมปิก ทว่าก็ยังไม่ถึงฝันและครั้งนี้เธอก็ทำสำเร็จตามความตั้งใจเป็นครั้งแรก



WATCH




ภาพการฝึกซ้อมของ Hidilyn Diaz ที่ใช้ไม้ไผ่และถังน้ำแทนการใช้อุปกรณ์กีฬาอาชีพ / ภาพ: @hidilyndiaz

     ย้อนกลับไปเมื่อปี 2020 โควิด-19 กำลังเริ่มแพร่ระบาดอย่างหนักไปทั่วโลก แต่ละประเทศล้วนต้องล็อคดาวน์ นักกีฬาต่างต้องหาวิธีฝึกซ้อมเพื่อรักษาสภาพร่างกายให้สมบูรณ์ที่สุด ฮิดิลินก็ทำเช่นนั้นเหมือนกัน แม้บางประเทศจะมีแคมป์นักกีฬาที่จัดระเบียบความปลอดภัยไว้อย่างเข้มงวด สำหรับฟิลิปปินส์ความพร้อมตรงนี้ยังเทียบกับชาติชั้นนำไม่ได้ ฮิดิลินจึงต้องเปลี่ยนที่พักของตนเองให้กลายเป็นยิมส่วนตัว ออกกำลังกายเรียกความฟิตสม่ำเสมอ อีกทั้งการซ้อมยกน้ำหนักยังต้องใช้ไม้ไผ่เป็นบาร์ และเปลี่ยนข้าวของเครื่องใช้รอบตัวเป็นลูกเหล็กเพิ่มน้ำหนักแทน เธอใช้ตั้งแต่ถังน้ำ กระเป๋า และสิ่งของรอบตัวมากมาย นับเป็นความพยายามและแรงผลักดันของนักกีฬาที่อยากจะก้าวให้ถึงฝันในเวทีโอลิมปิกปีนี้

การฝึกซ้อมของ Hidilyn Diaz บริเวณยิมเล็กๆ ในประเทศมาเลเซียเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม / ภาพ: AFP

      และช่วงสถานการณ์โควิดที่เธอต้องฝึกซ้อมแบบนั้นก็เพราะเธอไม่ได้อยู่ในประเทศบ้านเกิดที่สมาคมจะจัดการอะไรให้ได้อย่างสมบูรณ์ ระหว่างช่วงทัวร์คัดเลือกโอลิมปิกเธอติดอยู่ในประเทศมาเลเซียขณะกำลังพักก่อนจะไปแข่งขันรอบคัดเลือกที่ประเทศเปรู สิ่งที่เธอทำได้คือรังสรรค์ยิมส่วนตัวและจัดหาอุปกรณ์เท่าที่จะทำได้เพื่อไม่ให้ร่างกายเสื่อมประสิทธิภาพขณะโรคระบาดกำลังเล่นงานคนทั้งโลก ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้เธอนึกย้อนถึงประสบการณ์วัยเด็กที่ช่วงแรกต้องใช้แท่งพลาสติกสอดเข้ากับก้อนคอนกรีตเพื่อฝึกซ้อม วันที่เธอมาไกลถึงขนาดเป็นนักกีฬาระดับโลกเธอจึงย้อนกลับไปใช้วิธีการแบบเดิมอีกครั้ง และนี่คือรากฐานของตัวเธอที่สร้างฮิดิลินให้กลายเป็นนักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิก

ภาพการฝึกซ้อมของ Hidilyn Diaz ที่ใช้กระเป๋าแทนลูกเหล็ก / ภาพ: @hidilyndiaz

     หลังจากคว้าชัยได้สำเร็จเธอร้องดีใจอย่างสุดเสียง ร่ำไห้ด้วยความตื้นตัน พร้อมสร้างความสุขให้กับชาวฟิลิปปินส์ทั้งประเทศ ฮิดิลินให้สัมภาษณ์กับสื่อของประเทศตนเองว่า “ฉันเสียสละหลายอย่างมาก ฉันไม่สามารถอยู่กับพ่อแม่ได้เป็นระยะเวลาหลายเดือนหรือเป็นปีๆ การฝึกซ้อมเป็นไปอย่างเข้มข้นและเจ็บปวด” พร้อมทั้งกล่าวปิดท้ายว่า “แต่นี่น่าจะเป็นแผนการของพระเจ้า” แน่นอนว่าเธอคือวีรสตรีด้านกีฬาอันดับ 1 ของฟิลิปปินส์ตอนนี้ และจะเป็นตำนานของวงการกีฬาประเทศฟิลิปปินส์ตลอดไป นอกจากเธอที่เป็นวีรสตรีของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วยังมีเรื่องราวของวีรสตรีในเวทีโอลิมปิกให้ติดตามกันอีก สามารถอ่านบทความวีรสตรีแห่งโอลิมปิกเพียงคลิก ที่นี่

WATCH

คีย์เวิร์ด: #Olympic #Tokyo2020