LIFESTYLE

Netflix ปล่อยหมัดฮุกส่งซีรี่ส์สะท้อนกึ๋นถึงบทบาทความเป็นแม่ใน He’s Expecting ผู้ชายก็ท้องได้

เน็ตฟลิกซ์ชวนตั้งประเด็นอ่อนไหวผ่านซีรี่ส์เรื่องใหม่ที่ห้ามพลาดชม

     ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์และหน้าเว็บไซต์ต่างๆ บ่งบอกว่าประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการเกิดของเด็กลดน้อยลงและต่ำมากอย่างเป็นประวัติการณ์ โดยมีตัวเลขการเกิดใหม่ที่ประมาณ 800,000 คนเท่านั้น ในขณะที่การแต่งงานเองก็มีจำนวนลดลงเหลือเพียงแค่ประมาณ 500,000 คู่เท่านั้น ต่ำสุดตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ตัวเลขมีนัยยะสำคัญและบ่งบอกถึงเหตุผลเสมอ หลักใหญ่ใจความเองก็คงมาจากการที่โลกเผชิญหน้ากับโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วที่นับเป็นเหตุผลแรก

     เหตุผลที่สองคงมาจากการที่หนุ่มสาวยุคใหม่ส่วนมากเริ่มสนใจในชีวิตโสดมากกว่าการแต่งงาน ยิ่งผู้หญิงด้วยแล้วการตัดสินใจแต่งงานนั้นหมายความว่าชีวิตส่วนตัวของพวกเธอแทบจะไม่มีอีกต่อไป ด้วยสังคมญี่ปุ่นผู้หญิงส่วนมากแล้วมีหน้าที่ในการเลี้ยงดูลูกและดูแลบ้านเท่านั้น ในขณะที่คนเป็นสามีจะต้องออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อหาเงิน การที่สังคมจำกัดให้ผู้หญิงมีหน้าที่แต่ในบ้านเท่านั้น อาจเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ทำให้พวกเธอไม่รู้สึกอยากแต่งงานหรือมีลูกก็เป็นได้ 

ภาพ: Netflix

     แน่นอนว่าปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มมีการรณรงค์ในจุดนี้ เพื่อสร้างตระหนักรู้ให้กับพ่อทุกคนในญี่ปุ่นถึงการแบ่งเบาหน้าที่ภายในบ้าน ทั้งการให้พ่อไปอบรมเรื่องการอุ้มท้อง การคลอด การเลี้ยงดูบุตร ลองใส่ชุดคนท้องหนักทำกิจกรรมต่างๆ กระทั่งไปจนถึงการให้พ่อสามารถลาคลอดกับบริษัทได้ หรือแม้แต่เบิกค่าทำคลอดแทนแม่ได้ด้วย เพื่อเป็นการกระตุ้นการแต่งงานและมีลูกของประชากรในประเทศ นี่เป็นอีกหนึ่งสัญญาณว่ารัฐบาลเองเข้าใจถึงสภาพสังคมที่เป็นแบบปิตาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับเพศชายเป็นใหญ่มาช้านาน ดังนั้นแล้วการมีนโยบายมากมายก็เพื่อเริ่มสนับสนุนสังคมที่เปิดกว้างใหม่ พร้อมตั้งคำถามถึงบทบาทการเลี้ยงดูบุตรว่าไม่ใช่เป็นหน้าที่แค่ของผู้หญิงเท่านั้น แต่พ่อเองก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างครอบครัวให้อบอุ่นด้วย

ภาพ: Netflix

     “He’s Expecting ผู้ชายก็ท้องได้” เป็นส่วนหนึ่งของกระบอกเสียงในเรื่องนี้ไม่ต่างกัน ซีรี่ส์ 8 ตอนสั้นๆ ของญี่ปุ่นที่ค่าย Netflix หยิบมาจากการ์ตูนมังงะในชื่อเดียวกัน ชวนทุกคนมาตั้งคำถามถึงหน้าที่ของเพศที่สังคมตั้งบรรทัดฐานว่ามันต้องเป็นไปตามที่วางไว้หรือไม่ ในสังคมแบบปิตาธิปไตยที่ผู้ชายเป็นผู้นำครอบครัวและมีเสียงเหนือกว่าภรรยาและลูก พ่อต้องไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ในขณะที่งานเลี้ยงลูกดูแลบ้านเป็นของแม่ หากในซีรี่ส์นี้กลับตาลปัตรกัน เมื่อ “เคนทาโร่” ชายหนุ่มชาวญี่ปุ่นผู้สนุกสนานกับการใช้ชีวิตโสดดันตั้งครรภ์กับหญิงสาวนามว่า “อากิ” ขึ้นมา ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมญี่ปุ่นจึงถูกตีแผ่ขึ้นในทันควัน แน่นอนว่าในตอนแรกๆ ซีรี่ส์ดึงปัญหาของผู้หญิงที่พบเจอยามตั้งครรภ์แบบเก็บครบทุกเม็ด ทั้งอาการแพ้ท้อง อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย หรือแม้แต่ปวดท้องตุ่ยๆ ตัวเคนทาโร่เองก็ต้องปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต จากหนุ่มโสดรักสนุกมาเป็นพ่อลูกอ่อนที่อุ้มท้องโตๆ แถมเขายังโดนลดบทบาทหน้าที่ในบริษัทของตัวเองด้วยซ้ำ



WATCH




ภาพ: Netflix

     เนื้อเรื่องอาจฟังดูเหมือนไม่มีอะไรมาก แต่ก็แฝงคมเสียดสีจนจุกอยู่เหมือนกัน อย่างตอนที่ตัวชายหนุ่มเริ่มรู้สึกไม่ไหวกับการตั้งครรภ์จึงอยากจะขอทำแท้ง แต่การจะทำแท้งได้ก็ต้องได้รับความยินยอมจากคู่ของตนนั่นก็คือสาวอากิเสียก่อน ตรงนี้ล่ะที่กระแทกหน้าปัญหาผู้ชายในสังคมเรื่องการผลักภาระหน้าที่เรื่องเด็กให้ออกจากตนไปง่ายๆ อย่างหน้าตาเฉย การตั้งครรภ์สำหรับผู้ชายในเรื่องแล้วถือเป็นสิ่งที่เสื่อมเสีย ต้องโดนสังคมรังเกียจ ถูกมองว่ามีหน้าที่ลดน้อยลงในสังคม ในขณะที่ฝั่งสาวอากิเองเธอก็อดคิดไม่ได้ว่าการที่เธอไม่ได้ท้องด้วยตัวเอง และไม่ได้ทำหน้าที่แม่นั้นจะทำให้สังคมมองเธอในแง่ไม่ดีด้วยหรือเปล่าเช่นกัน

     การเดินเรื่องและพล็อตเรื่องตบประเด็นตรงเป้ารวดเร็ว ไม่ต้องคิดซ้ำให้มากความ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ดำดิ่งขนาดว่าดูแล้วต้องรู้สึกเห็นใจจะเป็นจะตายขนาดนั้น บางจุดยังแอบเบาสมองได้ความขบขัน ยิ้มมุมปาก ตลกโปกฮา และมีน้ำตาซึมบ้างในบางตอน แต่ก็ถือว่าดูง่ายไม่ซับซ้อน และยังกระตุ้นให้เราได้ช่วยกันขบคิดแบบที่ไม่ได้ตั้งใจ ซีรี่ส์เรื่องนี้จึงเป็นเหมือนมุมมองสะท้อนอย่างหนึ่งของสังคมว่าจริงๆ แล้วการเป็นแม่คนนั้นยากลำบากไม่ต่างจากการออกไปทำงานนอกบ้านของผู้เป็นพ่อ ดังนั้นพวกเธอก็ไม่ควรถูกผลักให้ทำหน้าที่นี้เพียงคนเดียว 

ภาพ: Netflix

     ซีรี่ส์เรื่องนี้ถือเป็นการแสดงความเห็นถึงการไม่ยึดติดภาพลักษณ์สังคมแบบเดิม ไม่จำกัดหน้าที่ของเพศ และยังเปิดกว้างในเรื่องความหลากหลายไปพร้อมๆ กัน ท้ายที่สุดแล้วคือไม่ว่าจะเลือกเลี้ยงลูกอยู่บ้านหรือออกไปทำงานหาเงินก็ล้วนเป็นหน้าที่ที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของครอบครัวทั้งสิ้น ดังนั้นก็ไม่ควรด้อยค่าเพศใดเพศหนึ่ง หรือจำกัดหน้าที่ไว้ที่แค่เพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น เพราะบริบทในโลกความจริงมันไม่แน่นอนเสมอไป

ข้อมูล : Netflix, Brandinside

WATCH