LIFESTYLE

Haruki Murakami นักเขียนระดับตำนานแห่งเอเชีย กับรางวัลโนเบลที่เป็นเหมือนดั่งเส้นขนาน

บางครั้งความสำเร็จและการเป็นตำนานก็ไม่จำเป็นต้องมีถ้วยรางวัลเป็นเครื่องการันตี

     ผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี 2021 ได้แก่ Abdulrazak Gurnah นักเขียนชาวแทนซาเนียผู้สะท้อนให้เห็นความเลวร้ายของการลัทธิล่าอาณานิคมและชะตากรรมของผู้ลี้ภัยอย่างแน่วแน่ผ่านงานเขียนหลายชิ้นมาตลอดหลายทศวรรษ ดังนั้นรางวัลนี้จึงเหมาะสมกับเขาทุกประการ 


     อย่างไรก็ตามในทางกลับกันก็เป็นกระแสให้เกิดการถกเถียงในวงกว้าง เนื่องจากนี่เป็นอีกครั้งที่ Haruki Murakami นักเขียนชื่อดังชาวญี่ปุ่นที่เป็นตัวเต็งที่จะคว้ารางวัลมาตลอดในหลายครั้งหลังต้องพลาดไป จนบางคนเริ่มคิดว่าหรือรางวัลโนเบลจะเป็นเส้นขนานที่ไม่มีวันบรรจบกับ Murakami กันแน่

     Murakami เพียงแค่โชคไม่ดี หรือแท้จริงแล้วมีเหตุผลอะไรอยู่เบื้องหลัง แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงประเด็นนี้ ลองมาทำความรู้จักเขาอย่างคร่าวๆ กันอีกสักครั้ง

 

Abdulrazak Gurnah นักเขียนชาวแทนซาเนีย เข้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมคนล่าสุด / ภาพ: Open Democrary

     Haruki Murakami เกิดในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น หลังจากที่ไฟสงครามโลกครั้งที่ 2 ดับมอดไปได้ไม่นาน พ่อของเขาสืบสายเลือดมาจากตระกูลนักบวช ส่วนแม่เป็นทายาทวาณิชจากเมืองโอซาก้า แต่ทั้งคู่กลับประกอบอาชีพเป็นอาจารย์วิชาวรรณกรรม ส่งผลให้ Murakami ซึมซับศาสตร์แห่งวรรณกรรมญี่ปุ่นมาตั้งแต่เด็กๆ

     Murakami จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการแสดงจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ ในกรุงโตเกียว และหลังจากนั้นไม่นานเขาก็เริ่มหาเลี้ยงตัวเองด้วยการเปิดบาร์แจ๊สเล็กๆ ชื่อ Peter Cat ในย่าน โคะกุบุนจิ เนื่องจากเขารู้ดีว่าการทำงานแบบมนุษย์เงินเดือนไม่ใช่ตัวตนของเขาเลยแม้แต่น้อย เขาไม่ค่อยสันทัดในการใช้ชีวิตท่ามกลางกระแสสังคมที่วุ่นวายเท่าไรนัก

     ถ้ามองจากมุมมองบุคคลภายนอก นี่คืองานในฝัน โดยเฉพาะกับ Murakami ผู้หลงใหลในดนตรีแจ๊ส การได้อยู่ท่ามกลางเสียงเพลงที่ชื่นชอบทุกค่ำคืน ได้ดื่มด่ำกับเครื่องดื่มแก้วโปรด มีบทสนทนาท่ามกลางกลุ่มควัน น่าจะทำให้เขามีความสุข

Haruki Murakami / ภาพ: The Paris Review

     แต่เมื่อ Murakami ทำธุรกิจนี้ติดต่อกันหลายปีเขาก็เริ่มค้นพบความเจ็บปวดของวิถีชีวิตแบบนี้  ถึงแม้ Peter Cat จะเป็นบาร์เล็กๆ แต่ก็มีลูกค้าแวะเวียนมาอย่างไม่ขาดสาย โดยธรรมชาติ Murakami ไม่ใช่คนช่างจ้อ ตรงกันข้ามเขาเป็นปัจเจกนิยมแบบสุดขั้ว การได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองภายใต้ความสงบคือความสุขของเขา แต่การเป็นเจ้าของบาร์นั้นไม่สามารถทำแบบนั้นได้ เขาต้องเป็นมิตรพร้อมที่จะพูดคุยกับลูกค้าทุกคน นอกจากนั้นอาชีพนี้ยังทำลายสุขภาพมากกว่าที่คิด Murakami ดื่มหนักและสูบบุหรี่มากกว่าวันละ 60 มวน

     Murakami เป็นนักอ่านตัวยง แต่ความคิดของการเป็นนักเขียนไม่เคยแล่นเข้ามาในสมองของเขา จนกระทั่งวันหนึ่ง…วันที่สุดแสนจะธรรมดาเฉกเช่นทุกวัน Murakami ได้ออกไปชมการแข่งขันเบสบอล เกมระหว่างทีม Yakult Swallows พบกับ Hiroshima Carp โดย มุราคามิเป็นแฟนตัวยงของ Yakult Swallows มาตั้งแต่เด็กๆ

“ในช่วงหนึ่งของเกม ขณะที่ผมกำลังนั่งเอนกายอย่างสบายอารมณ์บนอัฒจรรย์ เหม่อมองท้องฟ้ายามพลบค่ำที่ระยิบระยับด้วยแสงดาว ในมือถือแก้วเบียร์เย็นๆ สายลมโชยอ่อนพัดผ่านใบหน้า ตอนนั้นอยู่ๆ ความคิดก็แวบเข้ามาในหัวมา ‘เราก็เป็นนักเขียนนิยายได้เหมือนกันนี่’”

“จุดเริ่มต้นทั้งหมดก็ง่ายๆ แค่นั้นเลย ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้”



WATCH




Haruki Murakami / ภาพ: The Vinyl Factory 

     หลังจากนั้นไม่กี่ปี Murakami ก็เริ่มต้นเขียนหนังสือเล่มแรก “Hear the Wind Sing” และมันก็ค่อนข้างประสบความสำเร็จ เข้าชิงรางวัล “อาคุตาวาระ” ถือเป็นรางวัลใหญ่ในวงการหนังสือญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามถึงจะพอเป็นนักเขียนที่มีชื่อบ้างแล้วแต่ Murakami ก็ยังเปิดกิจการบาร์อยู่ ซึ่งการใช้ชีวิตแบบนี้ยิ่งผลเสียต่อสุขภาพของเขาเข้าไปอีก Murakami ใช้เวลาหลายชั่วโมงในแต่ละวัน เพื่อเขียนหนังสือ และอีกหลายชั่วโมงในการดูแลบาร์ ถึงแม้คนรอบตัวจะเสนอเขาว่า

“ทำไมไม่จ้างคนอื่นมาดูแลกิจการให้ละ ส่วนนายก็เขียนหนังสือไป”

“ผมเป็นคนประเภทที่ต้องเต็มที่กับทุกอย่างที่ทำ ถ้าผิดพลาดไปจะได้ไม่เสียใจ” นี่คือคำตอบของ Murakami

สุดท้ายหลังจากตีพิมพ์  Hear the Wind Sing ไม่ถึงปี เขาจะตัดสินใจขายกิจการบาร์แจ๊สทิ้งไปในเวลาใกล้เคียงกัน 

“อาชีพนักเขียนเป็นอาชีพที่ต้องจมอยู่กับความคิดตัวเอง มันน่าจะเป็นอาชีพที่เหมาะกับผมมากที่สุดแล้ว”

“ถ้ามันไม่รุ่งเราค่อยกลับมาเปิดอีกครั้งก็ได้ ผมยังหนุ่มและมีเวลาให้เริ่มต้นใหม่อยู่ แต่ตอนนี้ผมต้องการเวลาว่างสักสองปีให้ผมเต็มที่กับงานเขียนของตัวเองจริง ๆ”

     อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าสุดท้าย Murakami ก็ไม่มีโอกาสกลับไปเปิดบาร์แจ๊สอีกรอบ เพราะเขาได้กลายเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จระดับโลก เป็นสัญลักษณ์ของการบอกเล่าเรื่องราวปัจเจกชนท่ามกลางบรรยากาศเมืองใหญ่ ภายใต้จิตใจโดดเดี่ยวและเปลี่ยวเหงา

Haruki Murakami / ภาพ: Gaijinpot 

     “ผมเบื่อวรรณกรรมญี่ปุ่น มันคร่ำครึและน่าเบื่อ แต่ผมก็ไม่ต้องการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับต่างชาติ ผมอยากเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นผมจึงเขียนเรื่องราวของ ‘เรา’ เราที่หมายถึงมุนษย์ทุกคน ความเป็นปัจเจกที่สะท้อนออกมาผ่านห้วงอารมณ์ต่างๆ เป็นสิ่งที่สากล อยู่คู่กับทุกเชื้อชาติ”

     เมื่อก้าวสู่ถนนแห่งนักเขียนอย่างเต็มตัว Murakami ก็สร้างสรรค์ผลงานระดับคุณภาพขึ้นหิ้งมาอีกหลายต่อหลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็น Sputnik Sweetheart ที่บอกเล่าเรื่องราวของ “สุมิเระ” หญิงสาววัย 21 กับการตกหลุมรักครั้งสำคัญของชีวิต เป็นความรักสุดแสนยิ่งใหญ่ถึงขนาดสามารถสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเชิดชูได้ เพียงแต่ว่าคนที่เธอตกหลุมรักเป็นผู้หญิง และแต่งงานแล้ว

     Norwegian Wood หนังสือที่ มุราคามิ นำเสนอเรื่อง “ศีลธรรม” ที่อาจจะแยกกับ “ความรู้สึก” ราวกับทั้งสองสิ่งถูกตัดขาดอย่างชัดเจน ดังนั้นในเรื่องจึงเต็มไปด้วยบรรยากาศกระอักกระอ่วน ห้วงอารมณ์ของการอยากครอบครองแต่ก็เหมือนมีชนักติดหลังเอาไว้ 

     Firely ผลงานรวมเรื่องสั้นของ Murakami ที่ว่าด้วยชีวิตของปัจเจกชนในเมืองใหญ่ ท่ามกลางสภาวะจิตใจที่ไม่มั่นคง รวมถึงเรื่องราวของการฝันเพ้อเจ้อ ที่ชวนให้ผู้อ่านร่วมหาคำตอบไปพร้อมกัน ว่ามนุษย์นั้นต้องการไขว่คว้าอะไรกันแน่ อาจจะเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ หรือไม่ก็เพียงความสัมพันธ์เดียวที่ทำให้หัวใจอบอุ่น

     เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น และด้วยสไตล์การเล่าเรื่องที่มุ่งเน้นไปที่การฉายภาพปัจเจกชนในเมืองใหญ่ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความเหงาที่ปกคลุม รวมถึงสำนวนภาษาอันมีเอกลักษณ์ราวกับตัวละครในเรื่องมานั่งเล่าให้ฟังตรงหน้า ทำให้เกิดเป็นกลุ่มแฟนคลับที่ติดตามผลงานของ Murakami อย่างเหนียวแน่น และนับวันก็ยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้ยอดจำหน่ายหนังสือรวมทั่วโลกของ Murakami น่าจะมากกว่าหลักสิบล้านเล่มไปไกลแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชื่อของเขาจะปรากฏอยู่เสมอเมื่อช่วงเวลาของการประกาศรางวัลโนเบลประจำปีเดินทางมาถึง


     ตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Haruki Murakami คือชื่อที่เป็นหนึ่งในตัวเต็งที่จะคว้ารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมมาโดยตลอด ทว่าจนแล้วจนรอดเขาก็ยังไม่ได้มันมาเสียที จนตอนนี้ดูเหมือนว่าเขากับรางวัลโนเบลจะกลายเป็นเส้นขนานที่ไม่มีวันมาบรรจบกันเสียแล้ว 

Haruki Murakami / ภาพ: Ichi

คำถามคือทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

     หากวัดจากยอดขายและชื่อเสียง Murakami อยู่เหนือกว่าผู้ได้รับรางวัลโนเบลส่วนใหญ่หลายช่วงตัว ความพลิ้วไหวของสำนวนภาษาก็ไม่น่าจะเป็นรองใคร แต่สิ่งหนึ่งที่งานเขียนของ Murakami ยังขาดอยู่ ซึ่งสิ่งนี้ดูเหมือนจะเป็นกุญแจสำคัญในการพิจารณามอบรางวัลด้วย นั่นก็คือการนำเสนอปัญหาสังคมให้เห็น และขับเคลื่อนมันด้วยตัวหนังสือเพื่อไปสู่การแก้ไข

     จริงอยู่ที่การว่าด้วยห้วงอารมณ์และจิตใจของปัจเจกบุคคลในเมืองใหญ่ก็เป็นการนำเสนอให้เห็นปัญหาเหมือนกัน เพียงแต่ว่าหากเทียบกับนักเขียนคนอื่นๆ ปัญหาที่พวกเขานำเสนอมันจับต้องได้มากกว่า เช่น การเหยียดสีผิว สงครามล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งย่อมทำให้เกิดการเปรียบเทียบกันถึงภาวะความคับขันของปัญหา

     นอกจากนั้นงานเขียนของ Murakami นำเสนอปัญหาให้ออกมาสวยงามเกินไป แฝงด้วยความทำ จนทำให้ผู้อ่านอยากจะอยู่ในปัญหาต่อไป ไม่อยากจะหาทางออก เมืองใหญ่ย่อมทำให้เกิดความเหงา ความเปล่าเปลี่ยว แต่คนก็ยินดีที่จะเหงาเปล่าเปลี่ยว มันมีเสน่ห์และอันตรายในเวลาเดียวกัน ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับกระแสโลกที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยตระหนักได้แล้วว่าการทำให้ปัญหาดูสวยงาม หรือพยายามมองมันให้แง่บวกไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง การตะโกนเรียกร้องอย่างสุดเสียง และมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างต่างหากคือสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ

     เหล่านี้น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Haruki Murakami กับรางวัลโนเบลไม่เวียนมาบรรจบกันเสียที อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าวันนั้นจะไม่มีทางมาถึง เวลาเท่านั้นที่จะให้คำตอบได้… 

WATCH

คีย์เวิร์ด: #Murakami