LIFESTYLE
ทำความรู้จักกลุ่มธุรกิจสีเขียวที่เชื่อว่าไลฟ์สไตล์แบบยั่งยืนนั้นทำได้จริง!Let's go green |
Green Society
แน่นอนว่าการเริ่มต้นเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้เข้ากับความเป็นสีเขียวในยุคปัจจุบันที่ทั่วโลกตอนนี้กำลังให้ความสนใจอย่างหนักนั้นอาจพูดได้ว่าไม่ใช่แค่เริ่มต้นที่ตัวเราเท่านั้น เพราะสังคมเองก็เป็นหลักใหญ่และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญที่จะต้องให้ความร่วมมือเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อคนส่วนมากให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นด้วย ยิ่งช่วงนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังด้วยสังคมกำลังตื่นตัวเต็มที่กับกระแสรักษ์โลก ดังนั้นวันนี้โว้กจึงพาเหล่าผู้กล้าผู้บุกเบิกในกลุ่มธุรกิจสายสีเขียวมาให้ทุกคนได้รู้จักว่าเราจะสามารถสร้างไลฟ์สไตล์ในแบบ Go Green ได้อย่างไรบ้าง
Refill Station
Refill Station หรือปั๊มน้ำยา ร้านค้าไม่ง้อบรรจุภัณฑ์แฝงตัวอยู่ใกล้ๆ รถไฟฟ้า BTS สถานีอ่อนนุช ให้นิยามตัวเองไว้ว่าเป็น “ร้าน (ไม่) สะดวกซื้อ” เพราะสินค้าต่างๆ ในร้านทั้งหมดจะไม่มีบรรจุภัณฑ์ แต่แบ่งขายน้ำยาต่างๆ ในปริมาณตามที่ลูกค้าต้องการ ดังนั้นลูกค้าร้านนี้จึงต้องพกขวดและถุงมาเอง โดยทางร้านจะชั่งน้ำหนักบรรจุภัณฑ์ให้ก่อน และจะหักลบออกก่อนคำนวณราคาที่ลูกค้าจะต้องจ่ายตามน้ำหนักจริงของสินค้า โดยมีสโลแกนว่าขีดเดียวก็ขาย สินค้าอื่นๆในร้านทุกชิ้นก็ถูกออกแบบมาเพื่อสนับสนุน Zero waste lifestyle ไม่ว่าจะเป็นถุงตาข่ายสำหรับใส่ผักผลไม้ ถุงซิลิโคนสำหรับใส่อาหารที่สามารถใช้ใส่อาหารร้อนๆ กลับบ้าน ล้างแล้วใช้ซ้ำได้ เข้าไมโครเวฟก็ยังไหว แปรงสีฟันด้ามไม้ไผ่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ชุดช้อนส้อมไม้สำหรับพกพา แชมพูบาร์ สบู่ น้ำยาซักล้างที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ ไปจนถึงของใช้ส่วนตัวของสุภาพสตรีอย่างผ้าอนามัยซักได้ ถ้วยอนามัยสำหรับวันมามาก และสินค้าทางเลือกอื่นๆ ที่จะช่วยให้การลดใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันทำได้ง่ายขึ้น ที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากของการเรียนรู้ Zero waste lifestyle เพราะมีคอมมิวนิตี้ชาว Zero waste ที่พร้อมจะแชร์ไอเดียการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยไม่สูญเสียสุนทรียภาพ รวมทั้งมีเครือข่าย Bulk store อื่นๆ ที่ได้แรงบันดาลใจจากปั๊มน้ำยามาเป็นตัวเลือกให้คุณลองหาร้านที่ใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงานได้อีกด้วย
ช้อปออนไลน์ได้ที่ https://www.refillstationbkk.com/shop?category=Lifestyle+Product
1 / 5
2 / 5
3 / 5
4 / 5
5 / 5
WATCH
Package Free
การพูดถึง Zero waste โดยไม่พูดถึง Lauren Singer นั้นคนเขียนคงต้องถูกประหารฐานผิดธรรมเนียม เพราะสาวสวยที่มาพร้อมขวดเมสันจาร์ใบจิ๋วบรรจุขยะที่เธอสร้างตลอดทั้งปีคนนี้ คือผู้จุดประกายให้ชาวมิลเลนเนียลลุกขึ้นมาแชลเลนจ์ตัวเองว่า จะหาวิธีลดขยะให้น้อยที่สุดได้อย่างไร ลอเรนแชร์ไลฟ์สไตล์แบบ Zero waste ของเธอบนบล็อกที่ชื่อว่า Trash is for Tossers ซึ่งต่อมากลายเป็นคอมมิวนิตี้ที่ผู้คนเริ่มเข้ามาศึกษาการใช้ชีวิตแบบรักษ์โลก การทำยาสีฟันและเครื่องสำอางสูตรธรรมชาติใช้เอง สูตรน้ำยาทำความสะอาดต่างๆ จนกระทั่งเธอต่อยอดกลายเป็นสินค้า และร้าน Package Free Shop ในบรุกลิน นิวยอร์ก ที่ขายแต่สินค้าที่ปราศจากบรรจุภัณฑ์และสินค้าที่ส่งเสริมการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน เช่น แผ่นเช็ดหน้าแบบซักได้ใช้แทนสำลีแผ่นที่ใช้แล้วทิ้ง การ์ดอวยพรที่อ่านจบแล้วนำไปปลูกเป็นต้นไม้ต่อได้ และถึงแม้ว่าความรักษ์โลกฝั่งนิวยอร์กนั้นจะไปไกลถึงไวเบรเตอร์ที่ทำจากไบโอพลาสติก หรือคอนดอมที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ซึ่งอาจจะดูล้ำไปสักนิดสำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่หลายอย่างใน Package Free Shop นั้นก็เป็นไอเดียที่ดีสำหรับชาวเรา ที่เพียงเข้าไปดูก็สามารถนำมาปรับใช้ได้ทันที ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเห็นคอนเทนเนอร์ใส่อาหารจากสเตนเลส เราก็มั่นใจมากว่าปิ่นโตเถาพร้อมหูจับแบบไทยๆ นั้นเก๋ไก๋ใช้สะดวกกว่ามาก
ช้อปออนไลน์ได้ที่ https://packagefreeshop.com
1 / 4
2 / 4
3 / 4
4 / 4
Cafe
Better Moon Cafe x Refill Station
จากคาเฟ่กระต่ายน้อยในคอนเซปต์ No plastic ที่เป็นส่วนต่อขยายของ Refill Station ตอนนี้ Better Moon ขยายตัวมาเป็นเกสต์เฮาส์ขนาดเล็กที่ยังคงคอนเซปต์ Zero waste เอาไว้ตั้งแต่การรีโนเวต โดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างและองค์ประกอบจากอาคารเดิมไว้ให้มากที่สุด และใช้เฟอร์นิเจอร์จากบ้านของครอบครัวที่มีอยู่แล้วมาตกแต่ง ทำให้แต่ละห้องของ Better Moon มีบรรยากาศหลากหลาย และอบอุ่นเหมือนมาพักบ้านเพื่อน ส่วนคาเฟ่เน้นอาหารง่ายๆ ที่ดีต่อสุขภาพและแคลอรีไม่สูง มีเมนูมังสวิรัติง่ายๆให้เลือกเยอะ ที่ดีต่อใจมากคือเมนูสมูทตี้ที่เป็น Plant base และไม่ใส่น้ำตาลเพิ่มแต่อย่างใด
รายละเอียดเพิ่มเติม https://bettermoon.space/landing
1 / 2
2 / 2
Restaurant
Bo.Lan
ด้วยความเชื่อว่าทั้งการกินและการทำอาหารเป็นกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติอย่างยิ่ง เชฟโบ-ดวงพร ทรงวิศวะ และเชฟ Dylan Jones แห่งโบ.ลานจึงครีเอตเมนูอาหารไทยโดยใช้วัตถุดิบและเครื่องปรุงรสที่มาจากอาณาเขตประเทศไทยเท่านั้น เมนูอาหารจะเปลี่ยนไปตามฤดูกาลเพื่อความสดใหม่ของวัตถุดิบ ทั้งจากแปลงผักที่ปลูกเองและจากเครือข่ายที่คัดสรรแล้วว่าทำการเกษตรแบบอินทรีย์และยั่งยืน ระบบในร้านโบ.ลานแทบทุกระบบเป็น Zero waste ทั้งระบบหมุนเวียนน้ำ การลดและใช้ซ้ำบรรจุภัณฑ์ต่างๆ รีไซเคิล Food waste ส่วนที่เหลือทั้งหมดเป็นปุ๋ยกลับมาใช้ใหม่ แม้แต่น้ำมันที่ใช้ทอดก็ยังถูกแปรรูปเป็นสบู่ จนเรียกได้ว่าไม่มีอะไรเลยที่จะเสียเปล่าในร้านอาหารติดดาวมิชลินแห่งนี้ รวมทั้งเงินของคุณด้วย เพราะถึงแม้จะมาในคอนเซปต์ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่สำรับอาหารและบริการของโบ.ลานก็คือ Fine dining ชั้นเยี่ยมดีๆ นี่เอง ร้านอาหารโบ.ลาน รอทุกคนเข้าไปชิมอาหารรสมื้อไทยๆ กันที่ซอยสุขุมวิท 53
รายละเอียดเพิ่มเติม http://www.bolan.co.th/2019/tale.php
1 / 3
2 / 3
3 / 3
Azurmendi
นอกจากจะได้รับดาวมิชลินสามดวงแล้ว Azurmendi ณ เมือง Basque ประเทศสเปนยังครองอันดับหนึ่งในฐานะ Sustainable restaurant จากลิสต์ World’s 50 Best Restaurants มาหลายปี เพราะ Azurmendi ไม่ได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแค่อาหาร แต่การออกแบบอาคารไปจนถึงพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ทั้งหมดนั้นตั้งใจให้รบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบตัวอาคารส่วนมากเป็นกระจกเพื่อให้ใช้แสงธรรมชาติได้มากที่สุด ซึ่งนอกจากจะได้ของแถมเป็นวิวพาโนรามาของวีนยาร์ดบนไหล่เขาแล้วยังถ่ายเทอากาศได้ดีจนแทบไม่ต้องพึ่งพาเครื่องปรับอากาศ ระบบหมุนเวียนน้ำเพื่อใช้ให้คุ้มค่าที่สุดก่อนจะบำบัดคืนสู่ธรรมชาติ รวมถึงมีเรือนกระจกและแปลงปลูกผักบนหลังคา เพื่อตั้งใจช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งวัตถุดิบ ส่วนเมนูอาหารนั้นมีให้เลือกสองแบบคือ Adarrak หรือ The branches ดินเนอร์คอร์สที่จะพาคุณไปสัมผัสถึงฤดูกาลทั้งห้า และ Erroak หรือ The roots นำเสนอความเป็น Azurmendi ในปัจจุบัน ส่วนเรื่องรสชาติและคุณภาพนั้นขอยกให้สามดาวมิชลินเป็นตัวการันตี
รายละเอียดเพิ่มเติม https://azurmendi.restaurant/en/menus/
1 / 3
2 / 3
3 / 3
WATCH