สิ่งที่ทัพเยอรมันต้องเผชิญเมื่อยืนหยัดเรียกร้องในช่วงเวลาที่ล้มเหลวไม่เป็นท่าในฟุตบอลโลก!
การส่งสารเพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องน่าชื่นชม แต่ทำไมเมื่อพวกเขาล้มเหลวมันจะกลายเป็นเรื่องที่ถูกนำมาเหยียบย่ำซ้ำเติม
เปิดฉากฟุตบอลโลก 2022 ณ ประเทศกาตาร์ มีประเด็นเกิดขึ้นมากมายตั้งแต่ก่อนเตะเกมแรกเสียด้วยซ้ำ ทั้งเรื่องกฎระเบียบ วัฒนธรรม ข้อปฏิบัติต่างๆ ที่ทั้งหมดล้วนถูกพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหู การเรียกร้องและประท้วงนับเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดข้อขัดแย้งขึ้นมากมายเช่นนี้ ประเทศแถบยุโรปเองก็ขึ้นชื่อเรื่องการประท้วงเพื่อรักษาสิทธิ์อะไรบางอย่างอยู่แล้ว แต่สำหรับฟุตบอลโลกครั้งนี้ประเทศที่ดูจะออกตัวแรงไม่แพ้ใครคือเยอรมัน ที่หยิบโยงเรื่องสังคม การเมือง และวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวพันกับกีฬาอย่างโจ่งแจ้งที่สุด และพวกเขาก็ต้องยอมรับผลกระทบที่ตามมาของมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปลอกแขน ONE LOVE ที่ Manuel Neuer นายด่านกัปตันทีมชาติเยอรมันตั้งใจจะสวมลงสนามในฟุตบอลโลก 2022 ณ ประเทศกาตาร์ / ภาพ: DFB
แรกเริ่มเดิมทีมี 7 ประเทศต้องการจะสวมปลอกแขน “ONE LOVE” เพื่อแสดงการสนับสนุนความรักแบบไร้ข้อจำกัด ทว่าฟีฟ่ากลับเตรียมบทลงโทษไว้เพื่อไม่ให้เกิดการส่งสารทางการเมืองระหว่างการแข่งขันกีฬาระดับโลก อีกทั้งยังอาจขัดต่อกฎศาสนาที่เจ้าภาพกาตาร์ยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเรื่องนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเนื่องจากฟีฟ่าเองก็มีส่วนพัวพันกับเรื่องการเมืองและสังคมโลกอยู่ตลอดเวลา ทำไมการสนับสนุนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศจึงกลายเป็นเรื่องต้องห้ามไปเสียได้ เยอรมันเป็นหนึ่งในแกนหลักที่อยากจะยืนหยัดต่อสู้เรื่องนี้ ทว่าเรื่องราวก็ไม่ได้เป็นไปตามคาดหวังเสียทีเดียว
ทีมชาติเยอรมันถ่ายภาพหมู่กับท่าทางปิดปากอันเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงอย่างหนาหูในช่วงเกมเปิดสนามพบกับทีมชาติญี่ปุ่น / ภาพ: Fox News
หากใครเป็นแฟนฟุตบอลคงทราบกันดีว่านี่คือทีมเต็งแชมป์โลกแทบทุกครั้ง ดีกรีแชมป์โลก 4 สมัยการันตีความยิ่งใหญ่ได้อย่างดี พวกเขามาพร้อมภาษีที่ยอดเยี่ยม ตัวผู้เล่นระดับแถวหน้าของโลกล้นทีม และแล้วเหล่าซูเปอร์สตาร์โลกลูกหนังทีมอินทรีเหล็กก็เปิดตัวถ่ายภาพรวมก่อนเขี่ยเริ่มเกมพบกับญี่ปุ่นด้วยท่าทางปิดปากประท้วงกับข้อบังคับของฟีฟ่า โดย Kai Havertz ผู้เล่นชั้นนำของทีมระบุว่า “แน่นอนว่ามันเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะส่งสารออกไปแบบนี้” พร้อมเผยว่าทีมของเขาจะทำทุกอย่างเพื่อสิ่งที่ถูกต้อง แม้ฟีฟ่าจะบังคับจำกัดแต่พวกเขาก็จะพยายามแสดงพลังบางอย่าง นอกจากนี้ Manuel Neuer นายด่านกัปตันทีมยังเสริมว่า “เรายืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชน ฟีฟ่าอาจห้ามไม่ให้เราสวมปลอกแขนนั้นได้ แต่เราจะยืนหยัดเพื่อคุณค่าภายใต้สิ่งนั้น”
WATCH
ช็อตตีเสมอช็อกโลกของทีมชาติญี่ปุ่นโดย Ritsu Doan ก่อนที่ทีมซามูไรจะยิงแซงในอีก 8 นาทีถัดมา สร้างความปราชัยให้แก่ทัพอินทรีเหล็ก / ภาพ: Hinduras Time
ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะเกิดขึ้นจากความตั้งใจเบื้องลึกที่เล็งเห็นความสำคัญและต้องการผลักดันสังคมไปด้านหน้า แต่เกมฟุตบอลไม่ได้เป็นดั่งใจ เปิดเกมแรกญี่ปุ่นยัดเยียดความปราชัยให้เยอรมันไปแบบช็อกโลกด้วยสกอร์ 2-1 โลกออนไลน์กลับลุกเป็นไฟด้วยเรื่องนี้เสียอย่างนั้น คำพูดที่แรงที่สุดคือ “เขาให้มาเล่นฟุตบอลให้ดี ไม่ได้ให้มาแสดงสัญลักษณ์เล่นการเมือง” หรือจะเป็น “นี่มันฟุตบอลโลก ไม่ใช่เวทีประชุมสหประชาชาติ” และคอมเมนต์เชิงลบอื่นๆ อีกมากมาย ให้ความรู้สึกเหมือนว่าเวลาคุณล้มเหลวการเรียกร้องและการส่งสารของคุณจะลดประสิทธิภาพความน่าเชื่อถือลงไปอย่างน่าใจหาย และนี่คือสิ่งที่เยอรมันต้องเผชิญ มิหนำซ้ำยังต้องแบกรับทั้งแรงกดดันจากในและนอกสนามเพื่อแข่งขันต่อตลอดทัวร์นาเมนต์
Antonio Rüdiger (ขวา) วิ่งท่าทางแปลกประหลาดพร้อมสีหน้าแววตาที่ถูกมองว่าเหยียดหยามคู่แข่งจนเกิดเป็นประเด็นร้อนในเกมพบทีมชาติญี่ปุ่น / ภาพ: Thick Accent
“พวกปากว่าตาขยิบ” คอมเมนต์เชิงลบยังถาโถมมาต่อเนื่อง เพราะเหตุการณ์ในเกมวันนั้น Antonio Rüdiger กองหลังตัวแกร่งของทีมวิ่งด้วยท่าทางแปลกประหลาดที่แม้อาจจะทำบ่อย และมีแฟนฟุตบอลบอกว่าเขาทำเป็นประจำไม่ได้เป็นการล้อเลียนอะไร แต่ด้วยบริบทเกมกับญี่ปุ่นดูคล้ายกับเขากำลังเยาะเย้ยชาวญี่ปุ่นอยู่ ทำให้ทีมยิ่งโดนถล่มหลังเกมเกี่ยวกับประเด็นการเรียกร้องสิทธิ์เหล่านี้ซ้ำอีก มากไปกว่านั้นยังมีคนแห่กันมาตั้งแง่ว่าเยอรมันกำลังเรียกร้องความเท่าเทียมทั้งเรื่องเพศและทุกประเด็นความละเอียดอ่อน ในขณะที่เคยมีข่าวเรื่องการขูดรีดผลประโยชน์แรงงานจากชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่ง หรือจะเป็นเรื่องราวการแสดงจุดยืนเชิงการเมืองของอดีตนักเตะอย่าง Mesut Özil ความพ่ายแพ้ในเกมฟุตบอลนัดแรกที่พวกเขาเปิดตัวด้วยสัญญะอันแข็งแกร่ง กลับกลายเป็นหอกแหลมทิ่มแทงพวกเขาทุกด้านแบบไร้ซึ่งโล่ป้องกัน
ช็อตฉลองประตูของ Niclas Füllkrug ในเกมที่ทีมชาติเยอรมันไล่ตีเสมอสเปน / ภาพ: FIFA
เกมนัดที่ 2 พบกับสเปน เกมนี้คือแมตช์หยุดโลกที่ทุกคนคาดหวังความสนุกระดับ 5 ดาว แน่นอนว่าเกมฟุตบอลมันเข้มข้นตามมาตรฐาน ผลสกอร์จบที่ 1-1 เรียกว่าไม่มีใครเถลิงชัยเหนือกว่า แต่เยอรมันก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนอกสนามแบบไม่เว้นวรรค แม้ผลอาจไม่เสียหายมากหากพูดตามเนื้อผ้าทีมใหญ่พบกัน แต่สำหรับเยอรมันนี่คือโอกาสที่เขาจะตกรอบแรกสูงลิ่ว ซึ่งคอมเมนต์เชิงลบว่า “ทำไมไม่มาตั้งใจเล่นฟุตบอล” ยังคงวนเวียนมาหลอกหลอนพวกเขาอยู่เสมอ จากทีมเต็งแชมป์ผู้พร้อมส่งสารอันยอดเยี่ยม กลายเป็นตัวตลกของใครบางคนเพียงเพราะอยากจะเรียกร้องในสิ่งที่พวกเขาคิดว่าถูกต้อง
ความผิดหวังของทีมชาติเยอรมันที่แม้จะชนะคอสตาริกาในนัดสุดท้ายแต่ก็ต้องตกรอบแบ่งกลุ่มไปแบบคุมชะตาตัวเองไม่ได้ / ภาพ: Reuters
เกมนัดสุดท้ายของรอบแรกแม้พวกเขาจะเอาชนะคอสตาริกาไปได้ด้วยสกอร์ 4-2 แต่ก็ตกรอบไปเพราะมีคะแนนน้อยกว่าญี่ปุ่นและสเปนตามลำดับ เรื่องราวตั้งแต่นัดแรกยังคงวนเวียนหลอกหลอนซ้ำไปซ้ำมา สำหรับบางคนอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แท้จริงแล้วมันอาจจะรุนแรงเกินไปสำหรับการกดขี่ด้วยคำพูดนานร่วมสัปดาห์ แต่อย่างน้อยก็มีคอมเมนต์เชิงแบ่งรับแบ่งสู้ให้พูดถึงเยอรมันทีมนี้ว่า “บางทีคุณอาจจะต้องพยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดก่อน หลังจากนั้นคุณจะใช้พลังอำนาจความสำเร็จนั้นส่งเสียงไปได้ไกลและทรงพลังที่สุด” แสดงให้เห็นว่าคนที่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้มองว่าการเรียกร้องโดยปราศจากพลังนั้นไม่เกิดประโยชน์อะไร อาจเกิดผลเสียกับตัวเองด้วยซ้ำ ในอีกมุมหนึ่งหากสามารถสร้างพลังมหาศาลและถ่ายทอดชุดความคิดที่ต้องการ สารนั้นอาจมีพลังยิ่งใหญ่กว่ามากจริงๆ
บรรยากาศความผิดหวังของทัพอินทรีเหล็กหลังจบเกมกับคอสตาริกา / ภาพ: Eurosports
เรื่องนี้กำลังให้บทเรียนอะไรเราบ้าง...มันสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนเลยว่าคนหลายกลุ่มในสังคมยังมองว่าผู้ที่ควรเปล่งเสียงเรียกร้องควรเป็นพวกประสบความสำเร็จหรือมีความก้าวหน้าในชีวิตทางใดทางหนึ่ง หรือแม้แต่ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ยอดเยี่ยมที่สุดก่อน ไม่งั้นการส่งเสียงจะกลายเป็นเรื่องถูกทำให้ขบขันและนำมาเป็นอาวุธทิ่มแทงคนส่งเสียงเองเสียอย่างนั้น อีกทั้งยังรวมถึงการเรียกร้องบางสิ่งบางอย่างอาจไม่ได้ถูกต่อต้านด้วยหลักเหตุและผลเท่าไหร่นัก แต่ก็จะถูกบ่ายเบี่ยงประเด็น เช่นการเล่นฟุตบอลให้ดี การจับผิดความผิดพลาดในอดีต และอื่นๆ อีกมากมาย
ภาพของ Mesut Özil ที่ถูกแฟนบอลบางกลุ่มนำมาล้อเลียนเชิงเสียดสีการประกาศจุดยืนของทีมชาติเยอรมันในฟุตบอลโลกครั้งนี้ / ภาพ: CTV News
มันสมควรเป็นเช่นนี้จริงหรือ ในความเป็นจริงสิทธิ์ในการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนไม่ควรถูกจำกัดเพียงเพราะผู้ประสบความสำเร็จ แน่นอนว่าการส่งสารด้วยสถานการณ์ยืนบนยอดพีระมิดอาจมีพลังและแผ่ขยายอิทธิพลได้กว้างไกลกว่า ทว่าในมุมหนึ่งการเรียกร้องของทุกคนควรมีความหมายและสื่อสารได้โดยไม่ต้องพูดถึงสถานะ การที่ทีมชาติเยอรมันถูกทับถมในฟุตบอลโลกซ้ำแล้วซ้ำอีก ยิ่งแล้วใหญ่เมื่อพวกเขาตกรอบ...นั่นแสดงให้เห็นว่าบางครั้งสังคมอาจกำลังให้ความสำคัญกับผู้พูดมากกว่าสารที่พวกเขาต้องการจะสื่อ มันอาจจะดูเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ แต่ถ้ามองลึกลงไปนี่คือการเพิกเฉยต่อการเรียกร้องของคนกลุ่มรองโดยธรรมชาติแบบไม่รู้ตัว ชุดความคิดนี้อาจหล่อหลอมให้หลายคนเลือกจะฟังแต่คำที่มีพลัง และละเลยเสียงอันน้อยนิดที่อาจคร่ำครวญอยู่ในชีวิตจริง ความสำคัญของเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่คำพูดของคนอื่นมีพลังแค่ไหน แต่ประเด็นภายในนั้นมากกว่าที่ควรนำมาพินิจพิจารณาจริงๆ
WATCH