FASHION

ฟรอนต์โรว์...สำคัญแค่ไหนในอุตสาหกรรมแฟชั่น

     You are where you sit… น่าจะเป็นประโยคแผลงที่เหมาะสมที่สุด หากว่าวันนี้โว้กจะชวนทุกคนมาพูดคุยกันในเรื่องของวัฒนธรรม Front Row อันเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่ถูกพูดถึง และมีอิทธิพลเข้มข้น ในหลากหลายมิติของอุตสาหกรรมแฟชั่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเมื่อเราได้เริ่มเอ่ยปากถึงเรื่องของฟรอนต์โรว์แล้ว บุคคลที่เราต่างรู้ดีว่าจะได้ไปนั่ง ณ ที่แห่งนั้น ล้วนแต่ต้องเป็นคนสำคัญกับแบรนด์ หรือโชว์คอลเล็กชั่นนั้นทั้งสิ้น ดังนั้นการรวมตัวกันของคนสำคัญบนที่นั่งฟรอนต์โรว์จึงเป็นเช่นการสถาปนาตัวของมันเอง ให้กลายเป็นทำเลทอง จนทำให้ฟรอนต์โรว์กลายเป็นที่นั่งที่น่าอิจฉาที่สุดในการแสดงแฟชั่นโชว์ ไม่ว่าครั้งไหนๆ ก็ตาม

     โลกเปลี่ยนไปฉันใด วัฒนธรรมฟรอนต์โรว์ก็เปลี่ยนไปฉันนั้น ด้วยความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ได้ก่อเกิดวัฒนธรรมฟรอนต์โรว์ใหม่ขึ้นมาได้อย่างน่าสนใจ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงเมื่อเท้าความไปถึงฟรอนต์โรว์รุ่นดั้งเดิม อันได้แก่ เหล่า Buyer หรือนักลงทุน ผู้ที่ได้รับการเชื้อเชิญให้มาชมการแสดงคอลเล็กชั่นเพื่อการค้าโดยเฉพาะ ดังที่เราต่างเคยได้ทราบมาว่า รูปแบบการโชว์ในสมัยก่อนนั้น นางแบบจะต้องออกมาพร้อมกับหมายเลข อีกทั้งยังมีเสียงพากย์คลอตามมา เพื่อใ้ห้ข้อมูล อำนวยความสะดวกให้กับเหล่า Buyer หรือนักลงทุนที่นั่งชมโชว์คอลเล็กชั่นกันหน้าสลอนได้จดรายละเอียดของชุดได้ครบถ้วนสมบูรณ์ นอกจากนี้ที่นั่งด้านหน้าสุดที่ถูกรียกว่าฟรอนต์โรว์ ยังกอปรไปด้วยเหล่าบรรณาธิการนิตยสารหัวแฟชั่นระดับท็อป ที่พร้อมจะเลือกหยิบเอาลุคสะดุดตานำไปลงโปรโมต ผ่านคอลัมน์การถ่ายแฟชั่นเซ็ตในนิตยสารของตน (ดังที่ในปัจจุบันนี้เราก็ยังคงได้เห็นกลุ่มคนเหล่านี้อยู่) นอกจากนี้ฟรอนต์โรว์ดั้งเดิมยังหมายรวมไปถึงเพื่อนคนสนิท และครอบครัวที่พร้อมมาให้กำลังใจดีไซเนอร์ในแบรนด์นั้นๆ อีกด้วย

     หากว่าสิ่งหนึ่งในปัจจุบันที่แตกต่างออกไป และเพิ่มเติมเข้ามาอย่างเห็นได้ชัดจากกลุ่มบุคคลที่กล่าวไปแล้วข้างต้น นั่นก็คือเหล่าเซเลบริตี้ และอินฟลูเอนเซอร์ระดับเอลิสต์ที่ได้รับเชิญมาเพื่อเป็นเกียรติให้กับฟรอนต์โรว์ ซึ่งแม้ว่าภายนอกอาจถูกครหาว่าฉาบฉวย หากแท้จริงแล้วสถานะของฟรอนต์โรว์ก็นับเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์เพื่อใช้ในการแข่งขันในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่น่าสนใจ และแยบยลไม่น้อย เพราะในโลกที่ดิจิทัลได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนไปแล้ว อีกทั้งธุรกิจการค้ามากมายยังหันมาลงทุนกับสื่อดิจิทัลนับไม่ถ้วน มีหรือที่วงการแฟชั่นที่ว่าทันสมัยนักหนาจะไม่ทำตาม...

     ดังนั้นการเชิญเซเลบริตี้ชื่อดังมานั่งเป็นเกียรติให้กับฟรอนต์โรว์ของแบรนด์ ก็มีเบื้องหลังด้านการค้าแฝงอยู่ ที่นับเป็นการสละต้นทุน "ที่นั่งทำเลทอง" เพียงหยิบมือ หากผลลัพธ์ที่ได้กลับมานั้นกลายเป็นกำไรมหาศาล จากสื่อโซเชียลมีเดียในมือของเซเลบริตี้ระดับเอลิสต์เหล่านั้น ที่ทั้งรวดเร็ว และมีลูกเล่นมากกว่าสื่อดั้งเดิมเป็นไหนๆ ดังนั้นหากแบรนด์ใดก็ตามที่สามารถเชิญกลุ่มคนเหล่านี้มาได้มาก โอกาสที่ผลงานของดีไซเนอร์จะผ่านตาคนนับหมื่นแสน (ที่ติดตามโซเชียลมีเดียของเซเลบริตี้เหล่านั้น) ก็แผ่ขยายมากขึ้นไปด้วย  อีกทั้งกลยุทธ์เดียวกันนี้ยังรวมไปถึงการส่งชุดสวยในคอลเล็กชั่นล่าสุดที่แบรนด์จะจัดแสดงไปให้เหล่าเซเลบริตี้ระดับเอลิสต์เหล่านี้ก่อนหน้า เพื่อให้ใช้สวมใส่มาดูโชว์ เผื่อว่าเซเลบริตี้คนนั้นกำลังตกอยู่ในกระแส ถูกช่างภาพจากสำนักข่าวสาดแฟลชใส่ตอนให้สัมภาษณ์ ชุดของแบรนด์ก็จะได้ถูกเห็น และเป็นการโปรโมตแบรนด์ไปด้วยในตัวนั่นเอง

 

(เรียงจากซ้ายไปขวา) Micheal Ray Stevenson, Kylie Jenner, Kendall Jenner และ Kim Kardashian / ภาพ : Zimbio

 

     ยังไม่จบลงเพียงเท่านั้น เพราะหากใครที่คิดว่าแบรนด์กำลังหากิน และกอบโกยผลประโยชน์ไว้เพียงฝ่ายเดียว เราก็ต้องบอกว่าคิดผิดถนัด เพราะเมื่อใครก็ตามที่ได้นั่งบนแถวฟรอนต์โรว์แล้ว เขาคนนั้นก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของโชว์ไปโดยปริยาย แสงแฟลชจากสื่อมวลชนไม่เพียงจะสาดสู่เหล่านางแบบที่พาเหรดชุดสวยออกมาพร้อมกับผลงานของแบรนด์เท่านั้น หากคุณผู้ที่ได้รับเกียรติให้ได้นั่งอยู่ ณ ฟรอนต์โรว์ ก็จะถูกจับจ้องจากแสงแฟลชเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ราวกับว่าการแสดงแฟชั่นโชว์ครั้งนั้น มีฟรอนต์โรว์เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งก็ไม่ปาน กระนั้นก็ไม่ได้น่าอึดอัดสักเท่าไหร่ เพราะสิ่งที่คุณคนที่นั่งฟรอนต์โรว์จะได้กลับไปก็คุ้มแสนคุ้ม กับสถานะที่เปลี่ยนไปของคุณในสายตาของคนอื่น ที่จะได้จดจำคุณไปแล้วในฐานะของ คนพิเศษ ในวงการแฟชั่นที่ได้นั่งฟรอนต์โรว์ ราวกับว่าฟรอนต์โรว์ทำให้คนธรรมดาคนหนึ่งกลายเป็นคนพิเศษได้ก็ไม่ปาน

     ดังนั้นก็คงจะเข้าใจกันแล้วว่า กลยุทธ์ฟรอนต์โรว์เป็นการแข่งขันที่ได้รับประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ทั้งเจ้าของโชว์เองที่จะได้รวมเอาสื่อในมือของคนดังเหล่านั้น (ที่มียอดผู้ติดตามรวมกันเรือนแสน) ใช้เป็นช่องทางเผยแพร่ พร้อมสร้างกระแสให้กับแบรนด์ และผลงานของตัวเอง อีกทั้งบุคคลที่ได้รับเชิญให้ไปนั่งที่ฟรอนต์โรว์ ก็จะได้รับการแปะป้ายว่าเป็นดั่ง คนพิเศษ ประกาศให้โลกรู้โดยสังคมแฟชั่นว่า หล่อนคนนั้นช่างไม่ธรรมดาเอาเสียจริงๆ ...



WATCH




ส่วนหนึ่งจากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The September Issue / ภาพ : Youtube   

 

     ที่ร่ายมาเสียยาวขนาดนี้ ยังสามารถตอบคำถามที่ว่า ทำไมทุกคนจึงอยากนั่งฟรอนต์โรว์ได้อีกด้วย... ก็เพราะว่าเขาและเธอ อยากอยู่ในฐานะของคนพิเศษกว่าคนทั่วไปยังไงล่ะ... ท้ายที่สุดแล้วแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการโต้แย้งออกมาหลายครั้งว่าฟรอนต์โรว์ที่ใครๆ ฝันถึงนั้น ไม่ได้สวยหรู หรือเป็นดั่งทำเลทองเสียทีเดียว เพราะสำหรับการดูโชว์แล้ว ฟรอนต์โรว์เข้าขั้นเป็นที่นั่งวิกฤตอย่างหนัก นับเป็นทำเลที่ไม่ได้น่าพิศวาสสักเท่าไหร่ ทั้งเสียงดังจากบทสนทนาของคนไม่รู้จักจากด้านหลัง อีกทั้งบทสนทนาแสนน่าเบื่อของเพื่อนร่วมฟรอนต์โรว์ ไปจนถึงความแออัดในบางครั้ง แต่กระนั้นทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ก็ยังไม่สามารถลดทอนความกระหายฟรอนต์โรว์ของสาวๆ สายแฟ (ชั่น) ได้อยู่ดี เพราะกว่าจะได้เป็นดั่งคนพิเศษนั้นไม่ง่าย และตัวของแบรนด์เองก็ชอบใจเสียเหลือเกินที่ผลงานของเขาจะเข้าไปอยู่ในอินสตาแกรมส่วนตัวของคุณ (เมื่อครั้งที่คุณได้ถ่ายภาพอวดโลกว่าคุณได้นั่งฟรอนต์โรว์) ส่งต่อให้อีกนับพันนับหมื่นคนได้เห็น สร้างกระแส จนอาจจะกลายเป็นไวรัล และผลิตเม็ดเงินนับล้านให้กับแบรนด์ได้ในที่สุด

     โลกของอุตสาหกรรมแฟชั่นในปัจจุบันดูเหมือนจะเป็นโลกของธุรกิจอย่างเต็มขั้นแล้วเรียบร้อย ทุกภาคส่วนล้วนต้องการผลประโยชน์ที่เอื้อให้ตนนั้นอยู่รอด หากท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ท้าทายก็คงหนีไม่พ้นที่ว่า เราจะสมดุลศิลปะ และโลกของธุรกิจได้อย่างไร ให้อุตสาหกรรมแฟชั่นนี้ยังรุ่มรวยไปด้วยแรงบันดาลใจเพื่อที่จะใช้ขับเคลื่อนสังคมอันแห้งแล้งนี้ต่อไปในอนาคต...

WATCH

คีย์เวิร์ด: #FashionWeek #FrontRow