วิวัฒนาการผ้าอนามัยที่กลายเป็นเครื่องสำอาง และการเรียกร้องให้ยกเลิก #ภาษีเลือด
ในบางประเทศ 'ผ้าอนามัย' เป็นของฟรี หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ต้องเสีย 'ภาษีเลือด' ให้ใคร
#ผ้าอนามัยไม่มีภาษี นี่คือแฮชแท็กที่กำลังเดือดดาลอยู่ในทวิตเตอร์ช่วงนี้ หลังจากที่สื่อโซเชียลมีเดียประเทศไทยหลายหัวต่างพร้อมใจกันเผยแพร่เอกสารราชกิจจานุเบกษา ที่ประกาศให้ผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นเครื่องสำอาง เกิดเป็นกระแสความกังวลให้ใครหลายคนลุกฮือขึ้นมาเคลื่อนไหว และตั้งคำถามต่อรัฐไทยว่ามันเป็นเรื่องสมควรแล้วหรือไม่ ก่อนที่ในเวลาต่อมาหลายๆ อย่างจะเริ่มคลี่คลายว่า แท้จริงแล้วผ้าอนามัยแบบสอดนั้นอยู่ในหมวดสินค้าเครื่องสำอางมาตั้งแต่ปี 2528 เนื่องจากเข้าข่ายตามนิยามของกฎหมายที่ว่า “...วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใดต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือส่งเสริมให้เกิดความสวยงาม และรวมตลอดทั้งเครื่องประทินผิวต่างๆ ด้วย” ก่อนที่ต่อมาในปี 2558 จะมีการเปลี่ยนนิยามของเครื่องสำอางในทางกฎหมายอีกครั้ง ทำให้ผ้าอนามัยแบบสอดนั้นหลุดจากสินค้าเครื่องสำอางไป จึงจำเป็นต้องมีการประกาศใหม่เพื่อให้ผ้าอนามัยแบบสอดกลับเข้ามาอยู่ในหมวดเดิมนี้ ทว่าการกลับเข้ามาอยู่ในหมวดเครื่องสำอางนี้ ผ้าอนามัยแบบสอดก็จัดเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือยแต่อย่างใด เพราะการทำให้กลายเป็นเครื่องสำอางก็เพื่อควบคุมตามประกาศในพระราชกฤษฎีกา ทั้งการควบคุมภาษี ราคา การผลิต การบ่งฉลาก และอีกหลากหลายการควบคุม นั่นจึงส่งผลให้ผ้าอนามัยแบบสอดจะไม่ถูกเรียกเก็บภาษีแบบสินค้าฟุ่มเฟือยคือ 30% แต่จะยังคงเก็บภาษีที่ 7% เช่นเคย เนื่องจากเป็นเครื่องสำอางที่เป็นสินค้าควบคุมตามกฎหมาย นี่เองคือข้อเท็จจริง แต่ก็ใช่ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่น่าพอใจเสียเมื่อไหร่...
ย้อนกลับไปบนหน้าประวัติศาสตร์ของสิ่งที่เรียกว่า “ผ้าอนามัย” เราจะพบว่าของใช้จำเป็นสำหรับผู้หญิงชิ้นนี้มีการวิวัฒนาการอย่างมาก เริ่มจากภูมิปัญญาด้วยการใช้กากมะพร้าวห่อหุ้มด้วยผ้า พัฒนาเป็นการใช้ผืนผ้าซ้อนทับกันหลายชั้นที่สามารถนำไปซักเพื่อใช้ต่อได้ ก่อนที่ต่อมาทั่วโลกจะเริ่มได้รู้จักกับ Kotex ผ้าอนามัยยี่ห้อแรกๆ ที่เกิดขึ้นราวศตวรรษที่ 19 ด้วยรูปร่างที่ได้รับการพัฒนาให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ที่สะดวกสบายมากขึ้น นั่นคือเป็นผ้าอนามัยที่มีห่วงคล้องเอว พร้อมกับมีตะขอเกี่ยวทั้งสองด้านของตัวผ้าอนามัย ทำให้สวมใส่ได้ง่ายมากขึ้นกว่าเดิม กระนั้นไม่นานความหนาจากการใช้ผ้าสำลี หรือผ้าฝ้ายแบบโกเต๊กซ์ก็ตกยุค และผ้าอนามัยแบบกาวก็เข้ามาแทนที่ในราวปี 1980 ก่อนที่จะกลายเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็ผ่านการเปลี่ยนแปลงรูปแบบมานับไม่ถ้วนเช่นเดียวกัน แต่กระนั้นผ้าอนามัยก็ยังไม่หยุดอยู่กับที่ ส่งให้เกิดผ้าอนามัยแบบสอดที่เหมาะสำหรับสุภาพสตรีที่ต้องทำกิจกรรมต่างๆ ได้คล่องตัวมายิ่งขึ้น หรือล่าสุดกับผ้าอนามัยแบบถ้วย ที่ทำขึ้นมาจากซิลิโคน หรือยางชนิดนิ่ม ที่อาจจะดูเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย ทว่าก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้หญิงที่คิดว่าเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง
จากที่อธิบายถึงวิวัฒนาการโดยคร่าวมาเสียยืดยาวขนาดนี้ ก็เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า วิวัฒนาการของผ้าอนามัยแต่ละยุคสมัยนั้นเป็นไปตามบริบททางสังคมของผู้หญิงที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ในยุคหลังๆ ที่ผู้หญิงต้องออกมาเดินเหินเคลื่อนไหว ทำงาน และทำอะไรต่อมิอะไรให้เท่าเทียมกับผู้ชายนั้น รูปแบบของผ้าอนามัยก็เปลี่ยนตามไปด้วยเช่นกัน แต่แน่นอนว่าสิ่งเดียวที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้คือ “ผู้หญิงขาดผ้าอนามัยไม่ได้” มันคือของใช้จำเป็นของร่างกาย มันเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่ผู้หญิงจะมีเลือดไหลในทุกๆ เดือน และในทางกลับกันจะให้เลือกไม่มีประจำเดือนก็ไม่ได้เช่นกัน มันคือความแตกต่างหลากหลายทางมิติของชีววิทยาด้านร่างกายของมนุษย์ ทำได้มากที่สุดก็แค่หาวิธีรองรับ และปรับเปลี่ยนรูปแบบของผ้าอนามัยให้คล่องตัวยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อช่วยเกื้อกูลให้ผู้หญิงใช้ชีวิตได้อย่างเป็นคนเต็มคนเหมือนคนอื่นๆ ในสังคม และเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วสินค้าชนิดนี้ ก็ไม่ควรที่จะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยหรือถูกขูดรีดภาษีด้วยซ้ำ สิ่งนี้เองที่กลายเป็นประเด็นขัดแย้งภายใต้เงาปิตาธิปไตยที่หลายคนยังไม่เคยทำความเข้าใจ และยังไม่ให้การยอมรับเท่าที่ควร
การรณรงค์หยุดเก็บภาษีผ้าอนามัย หรือฟรีค่าผ้าอนามัยนั้น ยังเป็นไปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงผ้าอนามัยของชนชั้นแรงงาน และสุภาพสตรีหาเช้ากินค่ำหลายคน ให้มีสิทธิเข้าถึงของใช้จำเป็นต่อชีวิตอย่างเท่าเทียมกันอีกด้วย เนื่องจากผ้าอนามัยนั้นมีราคาสูงเกินรายได้ ซึ่งนั่นยังส่งผลต่อเป็นโดมิโน่ถึงสุขอนามัยของผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัยได้อีกต่อหนึ่ง และถ้าลองมองไปรอบโลกในเวลานี้ หรือก่อนหน้านี้ หลายประเทศได้สร้างแคมเปญเรียกร้องให้รัฐเลิกเก็บภาษีจากสินค้าผ้าอนามัย เพราะมันแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่ถูกตั้งคำถามว่า “ทำไมผู้หญิงถึงต้องเสียภาษี หรือค่าใช้จ่ายมากกว่าคนอื่นๆ ให้กับสินค้าจำเป็นต่อชีวิตด้วย”...ดังเช่นในประเทศเคนยา ที่เลิกเก็บภาษีผ้าอนามัยเป็นประเทศแรกของโลก ตั้งแต่ปี 2004 หรือในอินเดีย เมื่อช่วงประมาณปี 2017 เหล่าสุภาพสตรีต่างรวมพลังให้กำเนิดแคมเปญติดแฮชแท็ก #lahukalaghaan หรือแปลเป็นไทยว่า #เก็บภาษีจากเลือด เพื่อสะท้อนให้เห็นว่ารัฐกำลังรีดเอาภาษีจากความจำเป็นของประชาชนเกินควร แฮชแท็กดังกล่าวโด่งดังไปทั่วทวิตเตอร์ของอินเดีย ก่อนที่ในปีต่อมาอินเดียจะได้ออกนโยบายยกเลิกการเก็บภาษี 12% ในที่สุด เช่นเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาที่ยกเลิกเก็บภาษีผ้าอนามัยใน 18 รัฐทั่วประเทศ แต่นั่นยังไม่ถึงที่สุดเพราะอีกฟากฝั่งแผ่นโลกอย่างในสก็อตแลนด์ ก็ได้รุดหน้าไปถึงขั้นที่ปล่อยให้ผ้าอนามัยเป็นของฟรีแล้วเรียบร้อย
แม้ว่าประเด็นของผ้าอนามัยเป็นเครื่องสำอาง จะไม่ถูกเก็บภาษีเพิ่มเป็น 30% ดังที่องค์การอาหารและยาออกมายืนยันแล้ว แต่ 7% ก็ยังเป็นราคาที่ไม่ควรจ่ายเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสนใจ และผู้เขียนอยากจะทิ้งท้ายเอาไว้ตรงนี้ก็คือ การเรียกร้องเพื่อการยกเลิกเก็บภาษีผ้าอนามัยนั้น คือหนึ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเนื้อตัวร่างกายของเพศหญิงแต่ละบุคคลโดยตรง การฉกฉวย กำหนด ยุ่มย่าม หรือการเข้ามาแทรกแซงของรัฐต่อการตัดสินใจนั้น จึงทำให้เกิดคำถามที่ผู้เขียนอยากจะให้ถามตัวเองทุกคนว่า “แท้จริงแล้วอวัยวะเพศนี้เป็นของเราหรือเป็นของใคร และรัฐกำลังฉกฉวยผลประโยชน์อะไรจากเนื้อตัวร่างกายของเราอยู่หรือไม่”...
WATCH
ข้อมูล : Prachathai, Ratchakitcha.soc.go.th, BBC และ The Guardian
WATCH