LIFESTYLE
พลิกวงการวิทยาศาสตร์! กับภาพโครงกระดูกสัตว์เลื้อยคลานที่อาจคาดการณ์ว่าเป็น 'มังกร' ที่เคยมีอยู่จริงเชื่อว่าหลังจากการค้นพบในครั้งนี้ เราอาจจะได้พบเห็นองค์ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น |
หนึ่งในตำนานและความเชื่อสุดโด่งดังอาจต้องพูดถึงเรื่องราวของ “มังกร” สัตว์ในเทพนิยายที่มีรูปร่างและภาพในจินตนาการที่แตกต่างกันไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นฝั่งตะวันตกที่มังกรมักมีรูปร่างสง่างาม น่าเกรงขาม มาพร้อมกับปีกขนาดใหญ่ หรือจะเป็นมังกรในความเชื่อจีนที่มองว่ามังกรมีลักษณะเป็นงูตัวยาว มีสี่ขา มีหนวดและมีเขา สามารถบินอยู่บนอากาศและประทานพรให้แก่มนุษย์ได้ แต่แล้ววงการวิทยาศาสตร์และความเชื่อเกี่ยวกับมังกรก็ได้สั่นสะเทือนอีกครั้ง เพราะเมื่อไม่นานมานี้ได้มีการค้นพบฟอสซิลของสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่งที่มีกระดูกคอยาวและยืดหยุ่นได้ มาพร้อมกับกระดูกสันหลังที่มักถึง 32 ชิ้น ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการล่าและหาอาหาร
ภาพจาก Nation Museums of Scotland
โดยฟอสซิลของสัตว์ดึกดำบรรพ์ตัวนี้คือ “Dinocephalosaurus Orientalis (ไดโนเซฟาโลซอรัส โอเรียนทัลลิส)” ที่ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 2003 นั่นเอง และการค้นพบในครั้งนี้เป็นค้นพบชิ้นส่วนใหม่ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นฟอสซิลที่สมบูรณ์แบบที่สุดจนทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาลักษณะทางกายภาพได้อย่างเต็มที่มากขึ้น ซึ่งโครงกระดูกของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ ถูกค้นพบ ณ บริเวณแหล่งหินปูนโบราณทางตอนใต้ของประเทศจีน มีขนาดใหญ่มากถึง 5 เมตร และมีอายุมากกว่า 240 ล้านปี มีการสันนิษฐานว่ามีชีวิตอยู่ในช่วงยุคไทรแอสสิก ซึ่งหนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ก็ได้เผยว่าโครงกระดูกของพวกมันมีแขนขาคล้ายตีนกบ และในส่วนของคอ มันมีความยาวกว่าลำตัวและหางรวมกัน ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความแปลกประหลาดอย่างมาก
ภาพจาก sci.news
ด้วยลักษณะและรูปร่างที่ดูใกล้เคียงกับมังกรตามความเชื่อ ทำให้ฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ถูกขนานนามและถูกคาดการณ์ว่ามันอาจเป็น “มังกร” ก็เป็นได้ ซึ่งการค้นพบในครั้งนี้ถือเป็นการเติมความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในยุคไทรแอสสิก และเชื่อว่าหลังจากการค้นพบในครั้งนี้ เราอาจจะได้พบเห็นองค์ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น
WATCH
เรื่อง : Worramate Khamngeon
เรียบเรียง : Ramita Naungtongnim
WATCH