LIFESTYLE
พีท-ธีรพจน์ ธีโรภาส ดีไซเนอร์ที่ออกแบบเฟอร์นิเจอร์เพื่อระบบนิเวศของจังหวัดที่ปลูกต้นกกจันทบูรดีขึ้นคุณอ่านไม่ผิด พีทเป็นนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไม่ใช่นักอนุรักษ์ ขนาดทีมโว้กเห็นแค่เฟอร์นิเจอร์ยังตัดสินใจขอสัมภาษณ์เลยทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่านักออกแบบคนนี้เป็นใคร |
ก่อนจะมาเป็นเจ้าของแบรนด์ Kitt-Ta-Khon และ Issaraphap Content-based Design Studio และอาจารย์พิเศษ พีท-ธีรพจน์ ธีโรภาส เป็นดีไซเนอร์ออกแบบเฟอร์นิเจอร์โดยมีไอเดียตั้งต้นว่าอยากให้สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของจังหวัดที่ปลูกต้นกกจันทบูรดีขึ้น คุณอ่านไม่ผิด พีทเป็นนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไม่ใช่นักอนุรักษ์ แต่การออกแบบร้อยเรียงธรรมชาติกับดีไซน์สะดุดตาเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนและน่าสนใจทำให้ผลงานของเขาโดดเด่น ขนาดทีมโว้กเห็นแค่เฟอร์นิเจอร์ยังตัดสินใจขอสัมภาษณ์เลยทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่านักออกแบบคนนี้เป็นใคร
"ผมเป็นคนชอบงานประดิษฐ์ครับ เลยเป็นเด็กที่เรียนสายวิทย์แต่ไปติวสถาปัตย์ แต่ไม่ได้ชอบออกแบบของใหญ่อย่างอาคาร ชอบทำสิ่งที่เข้าใจได้ เห็นตรงหน้า สเกลไม่ใหญ่กว่าตัวเรา เรื่องตลกคือจริงๆ สอบนิติศาสตร์ ผ่านแล้วด้วย เพราะที่บ้านอยากให้เป็นทนาย จะได้เสริมธุรกิจที่ทางบ้านทำอยู่ แต่ก็ขอเขาลองดู สุดท้ายได้มาเรียนออกแบบผลิตภัณฑ์ ออกแบบพวกข้าวของเครื่องใช้ โทรศัพท์มือถือ ตู้เย็น แต่เราไม่อินกับมัน จนมีวิชาหนึ่งได้ลงชุมชน ไปอยู่กับชาวบ้านที่อ่างทอง 2 สัปดาห์ ช่วงนั้นเขาสานกระเป๋าไม้ไผ่ส่งออกญี่ปุ่นสำหรับเป็นกระเป๋าถือคู่กับชุดกิโมโน ตอนนั้นธุรกิจกำลังเป็นขาลง เราก็ไปช่วยเขาคิดว่าจะต่อยอดไปทางไหนได้ ผมเลยรู้ตัวตอนนั้นว่าชอบงานหัตถกรรม ชอบวิถีชีวิตของเขาที่หลังจากจบงานประจำวันก็มาทำงานฝีมือต่อ การทำตะกร้าสานกระเป๋าเป็นสิ่งที่เข้าใจง่ายมากสำหรับผม มันเกิดและค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจากมือคนทำ ตอนนั้นผมนั่งจับตอกคุยกับเขาทั้งวัน วันนี้เป็นอย่างไร กินอะไร จบวันก็ไปทำกับข้าวกิน ตื่นมาก็ทำงานคุยกันต่อ สิ่งที่ผมได้กลับมานอกจากความชอบงานหัตถกรรมคือความรู้สึกดีที่เห็นงานออกแบบของเราช่วยเหลือคนอื่นได้อย่างเป็นรูปธรรม"
1 / 4
2 / 4
3 / 4
4 / 4
WATCH
พีทคิดว่างานออกแบบเฟอร์นิเจอร์เป็นหัตถกรรมที่ยากที่สุด เพราะไม่ใช่แค่สวย แต่ยังต้องใช้งานได้จริง เขาจึงหอบไอเดียวัสดุจากต้นกกธรรมชาติจากจังหวัดจันทบุรีที่คิดขึ้นใหม่ตอนทำวิทยานิพนธ์ เข้าไปนำเสนอผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่พร้อมกับสมัครงานไปในตัว ไอเดียหลักก็คือแทนที่จะปล่อยให้คนตัดต้นกกจันทบูรที่เป็นตัวช่วยกรองน้ำเสียในระบบนิเวศทิ้งแล้วทำเป็นนากุ้งเพื่อหารายได้ ทำไมไม่ทำเทกซ์เจอร์ที่ใช้ต้นกกมากขึ้นเพื่อสร้างรายได้ให้คนที่มีพื้นที่สำหรับปลูกต้นกกจันทบูรแทน ไอเดียนี้ทำให้เขาได้ร่วมงานกับบริษัทอโยธยาเทรด 93 และยังได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการส่งออก เดินทางไปช่วยชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ พัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นบ้านให้มีมูลค่าและคุณค่าสูงขึ้น แต่เมื่อพบว่างานนี้ไม่ได้ช่วยเหลือชาวบ้านได้อย่างยั่งยืนอย่างที่คิดไว้ เขาจึงตัดสินใจหยุดพัก เดินทางไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์จาก Artist Residency ต่างๆ ทั่วโลก ก่อนจะกลับมากรุงเทพฯ อีกครั้ง
"เหมือนผมพยายามหาคำตอบว่าเราทำงานออกแบบไปทำไม และคำตอบเดียวที่ยังอยู่มาโดยตลอดก็คืออยากรักษางานคราฟต์เอาไว้ แล้วยิ่งเดินทางมากยิ่งทำให้ผมเห็นว่างานฝีมือทั้งโลกจริงๆ แล้วเป็นสิ่งเดียวกัน เราก็เลยไม่จำกัดตัวเองอยู่แค่ว่าต้องรักษางานฝีมือของไทย แต่รู้สึกว่างานคราฟต์เป็นของทุกคน และทุกคนมีอิสระที่จะหยิบมันมาใช้ได้"
ในช่วงแรกหลังจากก่อตั้งแบรนด์แรกของตัวเอง เขายังคงอิงระบบการผลิตอุตสาหกรรมแบบผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป พีทย้อนกลับไปที่แนวคิดตั้งต้นที่ว่่า งานฝีมือนั้นควรจะกลมกลืนและเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตของผู้คนไม่ใช่หรือ
"ผมมาสะดุดว่าพออยู่ในระบบอุตสาหกรรมสักพัก งานฝีมือมันกลายเป็นเครื่องจักร เช่น เราต้องใช้หวาย 13 เส้นเพื่อทำเก้าอี้ตัวนี้ ใช้ไม้ความยาวเท่านั้นเพื่อให้เสียเศษน้อยที่สุด ซึ่งมันไม่ใช่ละ ผมเลยพยายามทำให้มันสนุกขึ้น อยากให้การผลิตงานมีบรรยากาศเหมือนที่เราเคยเจอ แบบนั่งกินส้มตำไปด้วยแล้วสานตะกร้าไปด้วย เลยออกแบบเก้าอี้ Fat Boy ที่ช่างสามารถหิ้วขึ้นมอเตอร์ไซค์เอากลับไปทำที่บ้านได้ เพราะแต่เดิมงานหัตถกรรมก็คืองานเสริมที่ทำหลังเสร็จงานประจำวันใช่ไหมครับ แล้วอย่างเรื่องลายต่างๆ ช่างก็สามารถเพิ่มเติมจินตนาการของเขาลงไปได้ หลายชิ้นออกมาดีด้วยนะครับ เราไม่ได้ยึดติดกับค่านิยมที่ว่างานฝีมือไทยจะต้องลายละเอียดยิบแบบไทย แค่มันผ่านมือคนทำมา มีคุณภาพ ใช้ได้จริง ก็มีคุณค่าของงานฝีมือมากพอแล้วครับ"
งานของเขาวางขายแบบจำนวนจำกัด ระยะเวลาแล้วแต่ช่างและทีมขายพร้อม รักษาคุณภาพทั้งเรื่องวัสดุและการออกแบบที่คิดมาอย่างรอบคอบให้มีประโยชน์ต่อคนทำ คนใช้ รวมไปถึงสิ่งแวดล้อม
ข้อมูล : Vogue Thailand
WATCH