LIFESTYLE

โว้กอาสาพาไปส่องห้องสมุดโฉมใหม่ในคณะสถาปัตยกรรมฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แรงบันดาลใจโฉมใหม่

The New Era of the Library

โว้กอาสาพาคุณไปสัมผัสพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจแห่งใหม่ภายในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ซึ่งเป็นมากกว่าห้องสมุดธรรมดาทั่วไป

 

นับจากนี้ไป ห้องสมุดจะไม่ใช่เพียงมุมสงบเงียบของหนอนหนังสือเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่จะกลายเป็นพื้นที่บ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจให้กับผู้มาเยือนทุกคน เชื่อว่าหลายคนคงจะมีความรู้สึกเกร็งไม่น้อยเวลาต้องเปิดประตูเข้าไปใช้บริการห้องสมุดในสถาบันการศึกษา หรือห้องสมุดใดก็ตาม เนื่องด้วยห้องสมุดเป็นสถานที่ที่มีกฎระเบียบชัดเจน ครั้งนี้จึงถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ต่อจากนี้เราจะเดินเข้าห้องสมุดได้อย่างผ่อนคลายสบายใจมากขึ้น อันเกิดจากการพลิกโฉมหน้าห้องสมุดเก่าแก่ที่มีอายุเกือบ 30 ปีของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มีนิยามใหม่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนในยุคปัจจุบัน ด้วยแนวคิดและดีไซน์อันล้ำสมัย

ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ สถาปนิกแห่ง Department of Architecture และ รศ.ดร.ปิ่นรัชฎ์ กาญจนัษฐิติ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เล่าเรื่องใหม่ในพื้นที่เก่า

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน ณ จุดเริ่มต้นของการปฏิวัติพื้นที่เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดร่วมกันของเสริมสิน สมะลาภา, รศ.ดร.ปิ่นรัชฎ์ กาญจนัษฐิติ และผศ.สรายุทธ ทรัพย์สุข ในฐานะศิษย์เก่าและอาจารย์ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะชักชวนพี่น้องผองเพื่อนสถาปนิกมาร่วมกันออกแบบ โดยมีหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญอย่างทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ และชัยภัฏ มีระเสน ทีมสถาปนิกจาก Department of Architecture ผู้ฝากฝีไม้ลายมือไว้ในผลงานออกแบบห้องสมุด TCDC จนได้รับเสียงชมไม่ขาดปากมาก่อนหน้านี้ นอกจากแรงบันดาลใจและไฟในการทำงานที่ลุกโชนแล้ว การพัฒนาพื้นที่แห่งอดีตซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นตำนานยังได้รับการสนับสนุนทางด้านงบประมาณ 90 ล้านบาท จากเสริมสิน สมะลาภา ด้วยความมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์สูงสุดกับทั้งนิสิตและบุคคลที่มาใช้บริการห้องสมุดแห่งนี้

 

รศ.ดร.ปิ่นรัชฎ์ กาญจนัษฐิติ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล่าถึงที่มาอันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ไว้ว่า “เนื่องจากห้องสมุดเก่าเริ่มทรุดโทรม เราจึงมีความคิดที่อยากจะปรับปรุงห้องสมุดขึ้นมาใหม่ จากแต่เดิมห้องสมุดของคณะเรามีไว้สำหรับอ่านหนังสือ แต่ปัจจุบันความต้องการของนิสิตเปลี่ยนไป มีความต้องการมากกว่านั้น เมื่อเกิดการปรับปรุงใหม่ห้องสมุดจึงกลายเป็นพื้นที่ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้นิสิตได้ดีมากด้วย แต่หนังสือก็ยังคงต้องมี เพราะเป็นแหล่งอ้างอิงที่ดีเช่นกัน เราได้คุยกับผู้ออกแบบถึงความต้องการในพื้นที่แบบใหม่ ให้มีพื้นที่ใช้สอยที่ยืดหยุ่นได้ นิสิตมีพื้นที่มานั่งทำงานร่วมกัน บางครั้งอาจารย์ก็อาจจะมาใช้พื้นที่เป็นที่สอนหนังสือ และไม่อยากให้ห้องสมุดดูเครียดๆ เป็นสถานที่ที่นั่งอ่านหนังสือเงียบๆ เพียงอย่างเดียว”

(จากซ้าย) ผศ.สรายุทธ ทรัพย์สุข, อมตะ หลูไพบูลย์, ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ, เสริมสิน สมะลาภา, ศ.เลอสม สถาปิตานนท์, รศ. ดร.ปิ่นรัชฎ์ กาญจนัษฐิติ และชัยภัฏ มีระเสน

 

สิ่งที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าจะรักษาไว้ไม่ต่างจากเดิมคือโครงสร้างของห้องสมุดที่ยังถูกแบ่งเป็น 3 ชั้น แต่สิ่งที่พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือคือ พื้นที่ทั้งหมดได้ถูกรื้อออกและให้นิยามใหม่ ภายใต้แนวคิดร่วมกันว่า ต้องการทำห้องสมุดแห่งใหม่ให้เป็นพื้นที่ของผู้คนมากกว่าพื้นที่ของหนังสือ นี่ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายขนบคิดแบบเดิมเกือบสิ้นเชิง แต่ถ้าค่อยๆ พินิจพิเคราะห์ทุกมุมของห้องสมุดที่ปรับโฉมใหม่นี้ เรามองจะเห็นว่า การดีไซน์ฟังก์ชั่นของห้องสมุดให้ต่างออกไปเช่นนี้ เป็นการรองรับพฤติกรรมการค้นหาความรู้ของผู้คนในยุคเทคโนโลยีครองโลก จากเดิมที่ห้องสมุดแห่งนี้มีหนังสือราวสามหมื่นกว่าเล่ม รวมถึงเป็นที่เก็บเอกสารอ้างอิง ตำรา แผนที่เก่า และวิทยานิพนธ์เพื่อใช้สำหรับงานวิจัย เมื่อการเปลี่ยนแปลงมาถึงหลายตำราได้ถูกแปรเป็นดิจิทัลให้เข้าถึงด้วยระบบคอมพิวเตอร์แทน วิทยานิพนธ์เก่า และลดจำนวนหนังสือที่ไม่เคยถูกยืมลง แต่ยังเก็บรักษาเอาไว้ในอีกพื้นที่หนึ่งแทน เพื่อให้เหลือจำนวนหนังสือในห้องสมุดราว 26,000 เล่ม ด้วยเหตุผลที่ว่าการเอาหนังสือออกไปบางส่วน ก็เพื่ออุทิศพื้นที่ให้คนเข้ามาใช้สอยมากยิ่งขึ้น เพราะในทุกวันนี้เราสามารถแสวงหาความรู้ได้จากการใช้บริการอินเตอร์เน็ต การจับกลุ่มเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือแม้แต่การชมภาพยนตร์ดีๆ สักเรื่องหนึ่ง ซึ่งทุกตารางนิ้วของห้องสมุดก็ได้รับออกแบบให้สอดรับกับการใช้งานของคนรุ่นใหม่ได้อย่างลงตัว เปรียบเสมือนการเล่าเรื่องใหม่ในพื้นที่เก่าให้น่าสนใจ และสามารถดึงดูดให้มีกลุ่มคนหน้าใหม่เข้ามาร่วมฟังได้มากกว่าเดิม



WATCH




ดีไซน์ที่สอดคล้องกับชีวิต

ห้องสมุดใหม่เอี่ยมที่สุดในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา โดยมีรศ.ดร.ปิ่นรัชฎ์ กาญจนัษฐิติ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเสริมสิน สมะลาภา ร่วมกันทำพิธีเปิด พร้อมกับคณาจารย์ สถาปนิก วิศวกร ศิษย์เก่า ซึ่งมีผู้ร่วมชื่นชมยินดีกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง พร้อมการแสดงมินิคอนเสิร์ตจากวงโมเดิร์นดอร์กและวงเคลียร์ ในขณะที่มีรูปแบบกิจกรรมหลากหลายมากมายกว่าการนั่งคร่ำเคร่งอ่านหนังสือ สิ่งหนึ่งที่ทุกคนรู้สึกร่วมกันคือความมีเอกลักษณ์ ทั้งด้านการออกแบบและฟังก์ชั่นการใช้งานอันแตกต่างจากห้องสมุดทั่วไปที่เคยสัมผัสมาอย่างสิ้นเชิง ตัวอาคารสร้างสรรค์ขึ้นในสไตล์โมเดิร์น เน้นโทนสีขาว สีเทา สีดำ โครงเหล็ก และปูนเปลือย ทำให้พื้นที่นี้ดูโดดเด่น ดึงดูดความสนใจจากผู้คนได้เป็นอย่างดี

 

ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ สถาปนิกแห่ง Department of Architecture และศิษย์เก่าของคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ได้ขยายความถึงไอเดียในการออกแบบให้ฟังว่า “จากที่ได้พูดคุยกับอาจารย์และนิสิต ทำให้เกิดความคิดว่า การใช้สอยห้องสมุดในปัจจุบันและอนาคต คงไม่เหมือนในอดีตแล้ว มันเหมือนเราต้องมาให้คำนิยามใหม่ว่าห้องสมุดคืออะไรกันแน่ เพื่อที่จะร่วมกันสร้างโจทย์ในการเปลี่ยนแปลงห้องสมุดครั้งนี้ จึงพบว่า ที่นี่เป็นห้องสมุดของคณะสถาปัตย์ ซึ่งถือเป็นโรงเรียนออกแบบ ความรู้ของการเรียนออกแบบคือความคิดสร้างสรรค์ เลยให้ความหมายใหม่ของสถานที่แห่งนี้ว่าน่าจะเป็น Creative Incubator คือเป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งสามารถใช้งานได้หลากหลายมากกว่าเดิม เช่น เห็นได้จากสิ่งหนึ่งคือการสร้างโครงเหล็กขึ้นมาในพื้นที่ ซึ่งไม่ได้สร้างขึ้นมาเพียงให้สวยๆ อย่างเดียว แต่สามารถเอาผลงานมาเกี่ยว มาผูก โชว์เป็นนิทรรศการขึ้นมาก็ได้ หรือจะแขวนโมเดลก็ได้ เป็นพื้นที่ที่ให้ความอิสระในการใช้งาน นอกจากนั้น ยังเป็นห้องสมุดที่มีเสียงเพลงตลอดเวลา เหมือนจะบอกอ้อมๆ ว่าใช้เสียงได้คือเป็นการออกแบบพื้นที่ใหม่ให้คนมีปฏิสัมพันธ์กัน สร้างแรงบันดาลใจให้กันและกัน ซึ่งเป็นหัวใจของโรงเรียนออกแบบ”

ห้องสมุดนี้ตั้งอยู่ที่อาคารสถาปัตยกรรม 1 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภายในพื้นที่ขนาดใหญ่ทั้ง 3 ชั้นถูกออกแบบมาอย่างดีใส่ใจในทุกรายละเอียดจึงตอบสนองการใช้งานอย่างสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ได้แบบเต็มที่ เช่น พื้นที่ในการอ่านหนังสือ พื้นที่นั่งทำงานกลุ่ม พื้นที่ฟังการบรรยาย พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ พื้นที่ฉายภาพยนตร์ ซึ่งจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้คนได้มากกว่าการนั่งก้มหน้าอยู่กับตำราเล่มใหญ่ เนื่องจากปัจจุบันมีข้อมูลมากมายที่สามารถเข้าถึงได้ทางอินเตอร์เน็ต แต่ความรู้ความคิดใหม่ๆ นั้นไม่ได้มาจากในโลกออนไลน์เพียงแห่งเดียวเท่านั้น หากแต่ยังมีแหล่งกำเนิดความรู้ แรงบันดาลใจ และความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้จากหลากหลายกิจกรรม โดยเฉพาะการพบปะแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความคิดระหว่างผู้คนด้วยกันเองด้วย

 

พื้นที่ส่วนแรกของห้องสมุดเริ่มที่ชั้น 2 ของอาคาร ลักษณะจะเป็นส่วนเปิดโล่งขนาดใหญ่ซึ่งเต็มไปด้วยโต๊ะพร้อมปลั๊กไฟ ตามแนวคิดการทำพื้นที่ให้เป็น Co-working and Thinking Space สอดประสานกับธรรมชาติของพื้นที่ที่ค่อนข้างเป็นสาธารณะ เข้าถึงง่าย มีผู้คนผ่านไปมา และเป็นโซนที่ใช้เสียงได้อย่างเต็มที่กว่าทุกชั้นโดยไม่ต้องกระซิบกระซาบคุยกันอีกต่อไป พร้อมมีส่วนจัดแสดงนิทรรศการที่เรียงรายอยู่บนผนังโครงเหล็กโดยรอบได้ สร้างมิติและความมีชีวิตชีวาให้เกิดขึ้นอย่างกลมกลืน

ก่อนจะเดินขึ้นไปยังชั้น 3 ทุกคนจะต้องผ่านบันไดที่ออกแบบให้เป็นจุดศูนย์กลางของความโดดเด่นเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ร่วมกัน ขณะเดินผ่านไปทีละขั้นจะเห็นมิติต่างๆ ของโครงสร้าง พื้นที่ชั้นนี้รังสรรค์ไว้สำหรับหนังสือใหม่ๆ ซึ่งมีให้เลือกอ่านอย่างหลากหลายประเภท เป็นการอัพเดทความรู้ให้ทันโลกทันสถานการณ์ ถึงแม้ปัจจุบันจะมีแหล่งความรู้ใหม่ๆ มากแค่ไหน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังสือยังคงเป็นขุมทรัพย์แห่งการเรียนรู้ที่คลาสสิก น่าเชื่อถือ และเป็นแหล่งข้อมูลเชิงลึกที่ไม่มีอะไรมาเทียบชั้นได้ หนังสือจำนวนมากที่ถูกบรรจุไว้ในห้องสมุดแห่งนี้ได้รับการคัดสรรมาอย่างดีด้วยเนื้อหาที่โดดเด่นและแตกต่างไปจากข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ซึ่งบางเล่มเป็นหนังสือที่หายากน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง หนังสือจึงถูกนำมาโอบล้อมพื้นที่แห่งนี้ไว้เพื่อดึงเรากลับมาให้ความสำคัญกับการอ่านกันมากขึ้น ห้องสมุดแห่งนี้จึงไม่ลืมที่จะออกแบบพื้นที่สำหรับคนรักการอ่านในหลายบรรยากาศไว้ด้วย

 

รศ.ดร.ปิ่นรัชฎ์ กาญจนัษฐิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับห้องสมุดใหม่ หนังสือยังเป็นเรื่องสำคัญ ความสมบูรณ์ของห้องสมุดคือมีหนังสือครบทุกศาสตร์ และหนังสือจำนวนมากเราสั่งซื้อมาพิเศษเพื่อนิสิตจะได้ใช้ค้นคว้าหาข้อมูลสำหรับทำงานวิจัยในเชิงลึก ซึ่งทุกๆ ปี ก็จะมีการสั่งซื้อหนังสือใหม่ๆ เข้ามาอยู่เสมอ จริงๆ แล้วคอนเทนต์ที่อยู่ในอินเตอร์เน็ตกับในหนังสือจะต่างกัน ความแม่นยำในหนังสือจะมีมากกว่า และเรื่องบางอย่างก็ไม่ปรากฏในอินเตอร์เน็ต”

ในส่วนชั้นบนสุดของห้องสมุดจะคล้ายกับห้องใต้หลังคา ซึ่งถูกแบ่งเป็น 2 โซนหลัก คือโซน Amphitheater มีจอฉายภาพยนตร์ขนาดใหญ่และที่นั่งชมแบบไล่ระดับ ตามแนวคิดการขยายขอบเขตวิธีเรียนรู้ให้กว้างออกไป เพื่อรองรับการฉายภาพยนตร์ประจำวันศุกร์ที่ห่างหายไปให้หวนกลับคืนมาอีกครั้ง รวมถึงการจัดเสวนา จัดบรรยายได้ด้วย ในขณะที่อีกโซนได้แก่ Quiet Zone ห้องอ่านหนังสือแบบไร้เสียงหรือจะเรียกว่าห้องเงียบก็ว่าได้ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการสมาธิ โดยเฉพาะผู้ที่กำลังให้ความสำคัญกับตำราและการหาข้อมูล จึงมีการเก็บรักษาแผนที่เก่าและเอกสารต่างๆ ให้ค้นคว้าได้โดยง่าย ที่สำคัญหนังสือจำนวนมากที่ถูกบรรจุไว้บนชั้นนี้ได้รับการคัดสรรมาอย่างดีด้วยเนื้อหาที่แตกต่างไปจากข้อมูลฉาบฉวยในอินเตอร์เน็ต อาจจะกล่าวได้ว่าท่ามกลางการปรับตัวไปตามยุคสมัยแต่หนังสือก็ยังได้โอบล้อมพื้นที่แห่งนี้ไว้ เพื่อดึงให้ทุกคนกลับมาสู่รากฐานของปัญญา ซึ่งก็คือการให้ความสำคัญกับการอ่านกันมากขึ้นนั่นเอง และบนชั้น 4 นี้จะมีที่นั่งให้เลือกหลากหลาย รวมถึงมุมให้งีบหลับพักผ่อนระหว่างรอเข้าเรียนอีกด้วย

เติมความหมายในทุกรายละเอียด

ไม่เพียงเป็นสถานที่บรรจุวิชาความรู้ทั้งเก่าและใหม่จากทั่วทุกมุมโลก แต่ในการออกแบบห้องสมุดแห่งนี้ยังคำนึงถึงการเก็บบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของไทยเอาไว้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อช่วงเริ่มต้นโครงการปรับปรุงห้องสมุดประมาณ 2 ปีก่อนนั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกับการจัดงานพระราชพิธีครั้งสำคัญของชาติที่คนไทยไม่มีวันลืมเลือน ทำให้การออกแบบฝ้าเพดานในชั้น 4 มีความพิเศษตรงที่เสริมสิน สมะลาภา ต้องการนำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มาสร้างสรรค์เป็นแผนที่ขนาดใหญ่ สื่อให้เห็นถึงพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวกับด้านสถาปัตยกรรม เช่น การคมนาคม การจราจร การบริหารจัดการน้ำ และเรื่องสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน ฝ้าเพดานของห้องสมุดจึงได้รับการเนรมิตให้เป็นไฮไลท์สำคัญที่งดงามและเต็มเปี่ยมไปด้วยความหมาย

 

รศ.ดร.ปิ่นรัชฎ์ กาญจนัษฐิติ ได้สรุปทิ้งท้ายถึงผลตอบรับของความสำเร็จในการพลิกโฉมห้องสมุดไว้ว่า “เมื่อเปลี่ยนแปลงแล้วคงต้องบอกว่าห้องสมุดนี้เป็นห้องสมุดที่ได้มาตรฐานของนานาชาติ กลายเป็นแลนด์มาร์คของคณะและมหาวิทยาลัยไปแล้วก็ว่าได้ค่ะ และเป็นพื้นที่ที่สร้างแรงบันดาลใจตรงกับจุดประสงค์ในการออกแบบได้จริงๆ วันที่ห้องสมุดเปิดจนถึงวันนี้ มีนิสิตและคณาจารย์มาใช้บริการกันเยอะเลยค่ะ คนมาจากภายนอกก็เยอะ ทำให้เกิดความคิดว่าเราน่าจะมีพื้นที่แบบนี้เพิ่มอีก”

หากใครมีโอกาสได้เข้ามาใช้บริการย่อมสัมผัสได้ว่า หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสถานที่เก่าแก่ในครั้งนี้ ก็คือการเพิ่มเติมคุณค่าให้มากขึ้นจากเดิมด้วยความใส่ใจในทุกรายละเอียด ทุกพื้นที่ล้วนมีความหมาย ทุกการเคลื่อนไหวของผู้คนที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของห้องสมุดจึงได้รับการตอบสนอง ด้วยการออกแบบมาอย่างดีทั้งในเชิงโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม และเชิงจิตวิทยาการใช้พื้นที่ในสังคมร่วมกัน ตลอดจนแทบทุกชั้นจึงเชื่อมโยงกันไว้ด้วยโครงเหล็กสีเงินที่กรุรอบห้อง และบันไดที่สร้างขึ้นใหม่ เหมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่ร้อยรัดพื้นที่ตั้งแต่ชั้นแรกของห้องสมุดทะลุไปจนสุดสู่ชั้นบน เรียกได้ว่าสมกับเป็นห้องสมุดของชาวสถาปัตย์อย่างแท้จริง

 

แต่ถึงอย่างนั้นที่นี่ก็มิได้สร้างขึ้นมาเพื่อชาวสถาปัตย์เท่านั้น ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดให้บริการสำหรับนิสิตคณะสถาปัตย์ในวันจันทร์ถึงวันเสาร์ เวลา 08.30 -18.00 น. สำหรับพื้นที่ชั้น 2 ในวันธรรมดาเปิดให้บริการเวลา 08.30 - 22.00 น. วันเสาร์เปิดให้บริการเวลา 10.00-16.00 น. ทั้งนี้ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคณะอื่นสามารถใช้บริการได้ในวันพุธ ในส่วนของนิสิต นักศึกษา คณาจารย์ต่างสถาบัน และบุคคลทั่วไปสามารถใช้บริการได้ในวันเสาร์

ทุกคนที่มีความสนใจจึงสามารถเข้ามาสัมผัสประสบการณ์ใหม่ในห้องสมุดที่เป็นผู้นำแห่งความล้ำสมัยได้เช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่ได้รับกลับไปจะไม่ใช่เพียงแค่ความรู้จากตัวหนังสือ แต่เป็นแรงบันดาลใจที่จะต่อยอดความคิดต่างๆ ให้กว้างไกลออกไปมากกว่าพื้นที่ในห้องสมุดแห่งนี้

เรื่องโดย: พรฤดี ศรีทองสุข

 

WATCH

TAGS : CU Library