LIFESTYLE

ภาพยนตร์ Coming of Age 4 เรื่อง บทเรียนที่บอกว่าไม่ว่าจะยุคไหน “การเป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย”

บางครั้งวัยรุ่นที่คนคิดว่าเป็นช่วงวัยที่สนุกที่สุดอาจไม่ใช่ความจริงเสมอไป

     ในตอนที่เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วมองย้อนกลับไปดูตัวเองในช่วงวัยรุ่น หลายคนน่าจะคิดเหมือนกันว่าปัญหาที่เคยคิดว่าใหญ่โต เทียบกับตอนนี้แล้วกลับดูเล็กน้อย และคิดอิจฉาชีวิตตอนนั้น ที่ไม่ต้องแบกรับความเป็นผู้ใหญ่เหมือนในปัจจุบัน ทว่าเราอาจจะหลงลืมไปว่าถึงปัญหาในตอนนั้นจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ตัวเราในตอนนั้นก็อ่อนแอกว่าตอนนี้มากเช่นกัน ขาดทั้งประสบการณ์และความรู้ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นได้หล่อหลอมให้เราแข็งแกร่ง กลายเป็นตัวเราในวันนี้

     ดังนั้นวัยรุ่นก็เป็นช่วงเวลาที่เจ็บปวดเช่นกัน เพียงแต่เราอาจจะหลงลืมมันไป และเลือกบันทึกเฉพาะความทรงจำที่ดี ภาพยนตร์ Coming of Age 4 เรื่องจาก 4 ยุค ที่หยิบยกมากล่าวถึงในบทความนี้คือภาพสะท้อนที่ชัดเจนของเรื่องดังกล่าว ที่ไม่ว่าจะยุคไหนการเป็นวัยรุ่นก็เหนื่อยด้วยกันทั้งนั้นแหละ

The Breakfast Club (1985) / ภาพ: Film Club Thailand

The Breakfast Club (1985)

“และเหล่าเด็กๆ ที่คุณรังเกียจ ทั้งๆ ที่พวกเขาพยายามเปลี่ยนโลกของเขาให้มีภูมิต้านทานต่อความเห็นของคุณ พวกเขาตระหนักว่าพวกเขาจะต้องเจออะไร”


The Breakfast Club ภาพยนตร์จากปี 1985 เลือกเปิดเรื่องด้วยวลีอมตะของร็อกสตาร์ชื่อก้องโลกอย่าง David Bowie ซึ่งถ้าดูไปจนจบผู้ชมจะเข้าใจถึงเหตุผลของผู้กำกับ เนื่องจากประโยคดังกล่าวแทบจะครอบคลุมข้อความทั้งหมดที่หนังเรื่องนี้ต้องการจะสื่อ

The Breakfast Club เล่าเรื่องราวของกลุ่มเด็กมีปัญหา 5 คน ที่จำใจต้องมาทำกิจกรรมในวันหยุดสุดสัปดาห์ด้วยกันที่โรงเรียน และนับตั้งแต่วินาทีแรกของเรื่อง หนังก็ค่อยๆ พาผู้ชมไปเคาะประตูทำความรู้จักเหล่าเด็กๆ ทีละคน รับรู้ถึงปัญหาที่ซ่อนอยู่ในจิตใจ เหมือนกับการค่อยๆ ปอกเปลือกส้มออกทีละนิด

ช่วงแรกของหนังต้องยอมรับว่าตัวละครทุกตัวดูอาจจะดูน่ารำคาญ เนื่องจากพฤติกรรมบ้าหลุดโลกของแต่ละคน ที่เหมือนต้องการแหกกฎสังคม (ในที่นี้หมายถึงโรงเรียน) อยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อเรื่องดำเนินไปเรื่อยๆ เรากลับรู้สึกค่อยๆ คล้อยตามตัวละครเด็กทั้ง 5 ไปทีละนิด 

พวกเขาไม่ใช่พวกไร้เหตุผล แต่มีสาเหตุที่ทำให้พวกเขาต้องแสดงพฤติกรรมดังกล่าวออกมา ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับผู้ใหญ่แทบทั้งสิ้น บ้างก็โดนกดดัน ต้องเชื่อฟังคำสั่งมาทั้งชีวิต บ้างก็โดนเมินราวกับไม่มีตัวตน หรือบ้างก็ร้ายแรงถึงขั้นเผชิญหน้ากับความรุนแรงในครอบครัว และเพื่อโต้ตอบต่อสิ่งที่ตัวเองประสบ พวกเขาจึงเลือกวิธีการที่อาจจะดูไม่น่ารักนักในมุมมองของผู้ใหญ่ นั่นคือ “การเรียกร้องความสนใจ”  

ข้อความสำคัญที่สุดที่เด็กวัยรุ่นกลุ่มนี้ต้องการจะบอกกับผู้ใหญ่ในเรื่อง และรวมถึงทุกคนที่รับชมภาพยนตร์เรื่อง The Breakfast Club ก็คือ

เลิกมองพวกเราและตัดสินแค่ผิวเผินสักที พวกเราไม่ใช่แค่นักกีฬา ควีนงานพรอม อันธพาล เด็กเนิร์ด หรือตัวประหลาด ใช่…มันอาจจะง่ายที่จะจำกัดความพวกเราสั้นๆ แบบนี้ แต่พวกเราคือมนุษย์คนหนึ่ง ที่มีชีวิตในหลายมิติ มีความฝัน มีความรัก เช่นเดียวกับพวกคุณ

มุมมองที่ผู้ใหญ่มองลงมาที่เด็กเหล่านี้มีแค่มิติเดียว แต่มุมมองที่พวกเขามองด้วยกันเองนั้นครอบคลุมในทุกมิติ ดังนั้นเด็กทั้ง 5 ที่แรกเจอหน้าเกลียดกันเข้าไส้ จึงค่อยๆ ทำความเข้าใจกัน ยอมรับข้อเสียซึ่งกันและกัน ก่อนจะตบหน้าเตือนสติผู้ใหญ่ทุกคนที่กำลังชมภาพยนตร์อยู่ด้วยประโยคว่า

“อย่าโตไปเป็นผู้ใหญ่ในแบบที่เราเคยเกลียด”

ในสมัยที่ทุกคนเป็นเด็กน่าจะเคยมีประสบการณ์ร่วมกับเหล่าตัวละครในเรื่อง รู้สึกรำคาญผู้ใหญ่ที่คอยเอาแต่ตัดสินและบงการ ในตอนนี้ที่คุณเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วล่ะ ลองถามตัวเองดูดีๆ ว่าจิตใจของคุณนั้นด้านชาจนกลายไปเป็นผู้ใหญ่ในแบบที่ตัวคุณเองเคยเกลียดสมัยเด็กไปแล้วหรือเปล่ายไม่รู้ตัว

Trainspotting (1996) / ภาพ: Scotsman

Trainspotting (1996)

“เลือกใช้ชีวิต เลือกงาน เลือกครอบครัว เลือกโทรทัศน์เครื่องใหญ่ เลือกเครื่องซักผ้า เลือกรถ เลือกกินอาหารขยะ….แต่ทำไมต้องเลือกสิ่งเหล่านี้ด้วยล่ะ” บางส่วนจากประโยคเปิดของภาพยนตร์เรื่อง Trainspotting

คำว่า Trainspotting นั้นเป็นคำแสลงที่หมายถึงกลุ่มวัยรุ่นที่วันๆ เอาแต่จ้องมองรถไฟวิ่งผ่านไปมา ทำตัวไร้สาระ ไร้แก่นสาร ล่องลอยไปวันๆ ซึ่งสื่อถึงกลุ่มตัวเอกของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน 

Trainspotting ว่าด้วยเรื่องราวของกลุ่มวัยรุ่นคะนองในประเทศสกอตแลนด์ ที่ชีวิตส่วนใหญ่วนเวียนอยู่กับเรื่องเหล้า ยาเสพติด และเซ็กส์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไร้ซึ่งความฝันหรือความหวังในการมีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งนี่คือข้อความสำคัญที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการบอกกับผู้ชม

ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร Renton, Sick Boy, หรือ Spud พวกเขาต่างตระหนักรู้ว่าชีวิตของตัวเองนั้นย่ำแย่ บัดซบ ขนาดไหน และถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ จุดหมายปลายทางจะไปจบลงตรงที่ใด

ถึงแม้แต่ละคนจะเป็นวัยรุ่นที่มีความกร้านโลกกันพอสมควร ก่ออาชญากรรมกันเป็นว่าเล่น ผ่านประสบการณ์มากมายที่หล่อหลอมให้พวกเขาแข็งแกร่งขึ้น แต่เมื่อชะโงกหน้ามองไปยังเส้นทางสู่อนาคต พวกเขาแต่ละคนกลับเหมือนเด็กน้อยหลงทางที่ไม่รู้ว่าจะก้าวขาเดินไปในทิศไหน 

ความแตกต่างระหว่างโลกของผู้ใหญ่กับโลกของเด็กคือสิ่งที่ผู้กำกับต้องการสื่อถึงผู้ชมทุกคน และถ้าไม่มีการนำทางที่ถูกต้อง เด็กที่หลงผิดก็อาจจะต้องจมสู่ก้นบึ้งแห่งความเลวร้าย โดยที่โลกของผู้ใหญ่อาจมาไม่ถึงพวกเขาอีกเลยตลอดกาล



WATCH




Juno (2007) / ภาพ: mubicdn

Juno (2007)

ความเจ็บปวดที่เหล่าวัยรุ่นต้องเผชิญนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับผู้ชาย แต่ผู้หญิงเองก็หนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน และนั่นคือสาเหตุที่เราหยิบยกภาพยนตร์เรื่อง Juno จากปี 2007 เรื่องนี้ขึ้นมา

Juno ว่าด้วยเรื่องราวของเด็กสาวมัธยมปลายชื่อ Juno ที่ต้องเจอจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตแบบไม่ทันได้ตั้งตัว นั่นคือการตั้งครรภ์  อย่าว่าแต่เด็กวัยรุ่นเลย แม้แต่ผู้ใหญ่ที่ทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้แล้ว การตั้งครรภ์ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่แล้ว ดังนั้นเมื่อมันเกิดขึ้นกับเด็กสาวที่อายุยังไม่ครบ 17  ความใหญ่ของมันก็ทวีเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว 

ไม่ต่างจากเด็กสาวทั่วไป ความรู้สึกแรกเมื่อรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์คือความหวาดกลัว  Juno หรือแม้แต่ตัวละคร Paulie Bleeker ซึ่งเป็นพ่อของเด็กเองก็เช่นกัน ที่เมื่อทราบเรื่องก็ถึงกับนิ่งอึ้งไปชั่วขณะ โดยในซีนดังกล่าวผู้กำกับ Jason Wrightman ได้สะท้อนภาพการเป็น “คนตัวเล็กกับปัญหาที่ใหญ่กว่าตัว” ของวัยรุ่นออกมาได้อย่างชัดเจน 

ถึงแม้ Juno ในมุมมองผู้ชมจะดูเป็นตัวละครเด็กสาวแก่นเซี้ยว ไม่แคร์โลก ไม่แคร์คนรอบข้างเท่าไรนัก แต่เมื่อเธอทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์ ต้องเผชิญปัญหาใหญ่ เธอเองก็มีท่าทีหวาดกลัวต่อเรื่องดังกล่าวเช่นกัน และที่สำคัญคือ “ความโดดเดี่ยว” ที่เธอต้องเผชิญ…ใช่ ถึงแม้ว่าเธอจะมีทั้งเพื่อนสนิท รวมถึงครอบครัว แต่ความโดดเดี่ยวที่ว่าคือการเก็บความลับนี้ไว้ในใจ ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรหรือหันหน้าไปปรึกษาใคร

เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย โดยเฉพาะเมื่อเจอปัญหาแบบเดียวกับ Juno ก็ยิ่งเหนื่อยเข้าไปใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน กล่าวคือวัยรุ่นคือวัยที่อยู่ตรงกลางระหว่างความเป็นเด็กกับผู้ใหญ่ บางจังหวะก็มั่นใจในความกร้านโลกของตัวเองเสียเต็มประดา แต่บางจังหวะกลับไร้เดียงสาอย่างน่าประหลาด Juno ก็เช่นเดียวกัน เธอไม่สามารถทำใจที่จะทำแท้งได้ จึงต้องเก็บลูกในครรภ์ไว้กับตัวเอง ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายในเรื่อง 

“สำหรับวัยรุ่นไม่ว่าจะเจอกับปัญหาใหญ่แค่ไหน แต่ถ้ามีคนคอยเคียงข้าง ปัญหานั้นก็จะเล็กลงไปจนแทบมองไม่เห็น”

เป็นโชคดีของ Juno ที่ถึงแม้เธอจะไม่ได้มีเพื่อนมากมายนัก แต่ทุกคนล้วนแล้วแต่เข้าใจสิ่งที่เธอต้องเผชิญ ไม่ทอดทิ้งไปไหน รวมถึงครอบครัวที่คอยช่วยเหลือ ให้กำลังใจโดยตลอด 

สำหรับ Juno การตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจนั้นนำมาสู่เรื่องราวทั้งดีและร้ายที่ต้องเผชิญ ในส่วนเรื่องร้ายนั้นคงไม่ต้องพูดถึงอีกแล้ว แต่สำหรับเรื่องดี การตั้งครรภ์ครั้งนี้ทำให้เธอได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการได้เปิดใจเข้าหาครอบครัว ได้รู้ถึงความรักของเพื่อนสนิท และสำคัญเข้าใจสัจธรรมชีวิตคู่ ของคำถามที่เธอพยายามหาคำตอบมาตลอดทั้งเรื่อง 

“คนเราจะสามารถรักกันไปตลอดได้มั้ย?”

ถือเป็นการ “ข้ามผ่านวัย” ครั้งสำคัญของเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ในโลกใบใหญ่

Where We Belong (2019) / ภาพ: A Day

Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า (2019)

ขอปิดท้ายด้วยบทความนี้ด้วยภาพยนตร์สัญชาตไทยจากปี 2019 ผลงานของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี อีกหนึ่งผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีลายเซ็นเฉพาะตัวเป็นเอกลักษณ์ชัดเจน เหตุผลที่เราเลือกเรื่องนี้ก็เพราะอยากให้บทความนี้ครอบคลุมมากที่สุด เพื่อให้เห็นภาพว่าไม่ว่าจะยุคไหน สมัยใด ชนชาติอะไร การเป็นวัยรุ่นนั้นก็เหนื่อยไม่ต่างกันเลย

ที่ตรงไหนคือที่ของเรากันแน่?

คำถามสำคัญจากภาพยนตร์เรื่อง Where We Belong สำหรับเราภาพยนตร์เรื่องนี้ถ้าใครไม่ชอบ ก็น่าจะเกลียดไปเลย เพราะนอกจากลีลาการเล่าเรื่องอันเนิบช้า เน้นตั้งกล้องนิ่งๆ ไว้ ให้เรื่องราวค่อยๆ ไหลไป ของคุณคงเดชแล้ว ตลอดทั้งเรื่อง ทุกการกระทำ ทุกเหตุการณ์ ล้วนเป็นเส้นทางไปสู่การหาคำตอบของคำถามดังกล่าวแทบทั้งสิ้น 

Where We Belong เล่าเรื่องราวทั้งหมดผ่านมุมมองตัวละครเอก 2 คน หนึ่งคือ ซู เด็กสาวลูกเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยว ที่หลังจากจบชั้นมัธยมปลาย เธอตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไปศึกษาต่อยังประเทศฟินแลนด์ เนื่องจากเธอรู้สึกว่าที่ๆ เธออยู่นั้นไม่ใช่ที่ของเธอเลยแม้แต่น้อย เป็นแค่ที่ ๆ เธอบังเอิญเกิดมาเท่านั้น อีกคนคือ เบล เพื่อนสนิทของซู เป็นคนที่คอยอยู่เคียงข้างซูในทุกเรื่อง…บางครั้งอาจจะมากไปเสียด้วยซ้ำ

ชีวิตของ ซู เหมือนโดนกำหนดมาแล้วตั้งแต่วันที่ลืมตาดูโลก นั่นคือการเติบโตไปเป็นทายาทสืบทอดร้านก๋วยเตี๋ยว แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เธอต้องการ ซูมีความฝันเป็นของตัวเอง ดังนั้นเธอจึงจำเป็นต้องหนีไปจากที่ที่เธออยู่ให้เร็วที่สุดก่อนที่มันจะกลืนกินตัวตนของเธอไป

ตรงกันข้ามกับ เบล ที่ถึงแม้จะเป็นเพื่อนสนิทกัน แต่ทั้งคู่เหมือนเป็นเส้นขนานกันโดยสิ้นเชิง ความฝันของ เบล ช่างเรียบง่าย คือการได้อยู่เคียงคู่กับ ซู ได้ดูแลคุณยายวัยชรา เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว เธอจึงรู้สึกว่าที่ที่เธออยู่มันคือที่ของเธอแล้ว 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทั้งคู่จึงเหมือนวิ่งไล่กันเป็นวงกลม คนหนึ่งพยายามหนีไปให้ไกล ส่วนอีกคนต้องการไขว่คว้าเข้ามาในอ้อมกอด ทำให้สุดท้ายเรื่องราวนี้จึงลงเอยด้วยโศกนาฏกรรมความสัมพันธ์ ที่ไม่ถึงกับร้องไห้สะอื้นฟูมฟาย แต่ก็เป็นรสขมที่ถึงอกถึงใจพอสมควร

ถึงจะมีมุมมองที่ต่างกัน แต่ความเจ็บปวดที่ ซู กับ เบล ต้องพบเจอนั้นไม่ต่างกันเลย นั่นคือการเป็นวัยรุ่นตัวเล็กๆ ธรรมดาที่พยายามไขว่คว้าสิ่งที่อยู่ไกลสุดเอื้อมมือ…ไกลราวกับว่ามันไม่มีอยู่จริง 

WATCH