LIFESTYLE

#VogueCulture ตีแผ่ชีวิต 'เจ้าสาววัยเด็ก' เมื่อลูกสาวถูกขายเป็นสินค้าทอดตลาด

ตีแผ่ชีวิตเจ้าสาวอายุน้อยที่กลายเป็นปัญหาสังคมระดับโลกที่คนมองข้าม

ภาพ: GABRIEL BOUYS

     เด็กผู้หญิงเปล่งเสียงร้องโหยหวนหาสิทธิ์ความเป็นมนุษย์...ปัญหาสังคมโดยเฉพาะในไทยมีเรื่องเด็กผู้หญิงข้องเกี่ยวอยู่ตลอดเวลา เรื่อง “แต่งงานอายุน้อย” ก็เช่นกัน ประเด็นนี้กลายเป็นปัญหาในหลายๆ ปัจจัยจนหลายฝ่ายทั่วโลกกังวลอย่างมาก เพราะไม่ใช่แค่เรื่องความรักและความสัมพันธ์ แต่หมายถึงการดำรงชีวิตอยู่ของเด็กน้อยยังไม่โตเต็มวัย ซึ่งจุดนี้จะนำมาซึ่งเรื่องราวอันใหญ่หลวงที่ทุกคนบนโลกนี้ต้องตระหนัก วันนี้เราพร้อมพาแฟนโว้กทุกคนรู้จัก เล็งเห็นและเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่เรื่องปกติ แต่คือความโหดร้ายที่แฝงอยู่ในทุกสังคมทั่วโลก

แววตาแห่งความเศร้าโศกของเด็กสาวแต่งงานอายุน้อย / ภาพ: Washington Post

     เริ่มแรกเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าคำว่า “Child Marriage” หรือ “แต่งงานในวัยเด็ก” นั้นหมายถึงอะไรให้แน่ชัดก่อน ข้อแรกสุดคือเรื่องอายุ มาตรฐานสากลของคนทั้งโลกคือต่ำกว่า 18 ปียังถือเป็นเด็กอยู่ เพราะฉะนั้นการแต่งงานก่อนอายุ 18 ปีถือการแต่งงานอายุน้อยและจะนำมาซึ่งเรื่องต่างๆ ที่เรากำลังเสนอต่อจากนี้ ซึ่งฐานข้อมูลจาก UNICEF ระบุว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีแต่งงานมากถึง 12 ล้านคนต่อปี รวมแล้วมีบันทึกการแต่งงานของเด็กที่แต่งงานก่อนอายุ 18 มากถึง 650 ล้านคน และนั่นยังไม่รวมส่วนที่ไม่มีข้อมูลด้วยซ้ำ

ภาพการแต่งงานแก้เคล็ดจนสร้างภาพจำดูเป็นเรื่องปกติในสังคม / ภาพ: ข่าวเด็ด

     งานนี้เลขจำนวนมหาศาลบ่งบอกอะไรเราบ้าง พวกเขาเต็มใจ ถูกบีบบังคับ หรือเป็นความเป็นจำเป็นของชีวิต เรื่องของเหตุผลเป็นสิ่งที่แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มสังคมไม่ว่าจะตั้งแต่ระดับครอบครัวหรือสังคมระดับประเทศ แต่ทุกที่ต้องประสบพบเจอเหมือนกันคือ เด็กอายุต่ำกว่า 18 ต้องใช้ชีวิตในรูปแบบของความเป็นผู้ใหญ่ที่แท้จริงแล้วยังไม่ใช่วัย ทั้งนี้ยังจะต้องเผชิญปัญหาสุขภาพ เรื่องการตั้งครรภ์ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ผูกโยงต่อกันมา และที่สำคัญพวกเธอต้องทิ้งโอกาสหลายอย่างในชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษา



WATCH




พิธีกรรมคลุมถุงชนสะท้อนความโหดร้ายของการครองคู่โดยไม่ได้เลือก / ภาพ: MNG

     ถ้าถามว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เราขอโฟกัสที่สังคมไทยใกล้ตัวก่อน ด้วยสภาพฐานะทางบ้านและความเชื่อที่มีการเหยียดเพศซ่อนอยู่ ความไม่เท่าเทียมทางสังคมทำให้เพศหญิงกลายเป็นเพศลำดับรองเสียอย่างนั้น เราจะเห็นว่าบางครั้งพ่อแม่ขายลูกให้ไปแต่งงานกับผู้ชาย แล้วก็อีกหลายครั้งที่ลูกถูกจับคลุมถุงชนโดยไม่สามารถขัดขืนอะไรได้ เพราะสิ่งเหล่านี้คือขนบที่ฝังรากลึกในสังคมมาช้านาน พ่อแม่ก็อยากให้เด็กหนุ่มสาวเจอสิ่งที่ตนหวังโดยไม่ถามเด็กๆ และนั่นอาจจะมีผลดี แต่แน่นอนว่ามีหายนะเกิดขึ้นกับวงจรอันคับแคบนี้อย่างแน่นอน

ไม่ใช่ทุกครั้งที่การแต่งงานถูกจัดขึ้นเพราะความเต็มใจ / ภาพ: The Sorento

     พอเข้าใจว่าเด็กสาวกลายเป็นมนุษย์กึ่งวัตถุ มีป้ายราคา มีข้อดีไว้เสนอครอบครัวอื่น นั่นหมายความว่าอีกหนึ่งปัจจัยที่เกิดขึ้นคือว่า “ภาระ” และคำนี้ก็เปลี่ยนลูกสาวเป็น “สินค้า” เมื่อพ่อแม่ไม่ต้องดูแลลูกสาวในบ้าน แปลว่าเขาจะมีค่าความรับผิดชอบน้อยลงมาก ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่ยังรวมถึงความเป็นไปของสังคมที่กล่าวได้อย่างชัดเจนว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์บนโลกนี้แต่ละคนมีไม่เท่ากัน และเราจะไม่ขอพาดพิงถึงเรื่องศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เพราะสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเกินกว่าจะแตะต้องและนำมายกตัวอย่าง

การรณรงค์เกี่ยวกับการท้องในวัยเรียน / ภาพ: SmartTeen

     ปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งคือการแก้ปัญหาท้องก่อนวัย เราจะเห็นข้อความส่งผ่านจากสื่อที่ผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า “เธอทำลูกฉันท้อง ต้องแต่งกับลูกฉัน” การแก้ปัญหาด้วยการสร้างปัญหา(อันมองไม่เห็น) การจับผู้สร้างความผิดพลาดมาอยู่ด้วยกันนั้นไม่ได้ผลดีเสมอไป ถ้าโชคดีคือพวกเขารักกันและพร้อมประคองชีวิตไปด้วยกัน แต่เมื่อแต่งงานอายุน้อยบางครั้งความรักที่ไม่ได้ผ่านการศึกษาดูใจ ความผิดพลาดเป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบ เด็กน้อยหนุ่มสาวจะประคองกันและกันไปได้ตลอดรอดฝั่งได้อย่างไร พวกเขาต้องพักการศึกษาเพื่อเลี้ยงลูกและดูแลกัน สุดท้ายปัญหาก็จะตามมาเรื่อยๆ ความรักอันสวยงามดั่งนิยายรักตามชั้นหนังสือ มีไม่กี่คนจะได้สัมผัสแบบนั้นจริงๆ...

ภาพ: Calendariogratis

     แล้วทำไมปัญหาแต่ดั้งแต่เดิมยังคงเกิดขึ้นเรื่อยๆ แม้จะอยู่ในโลกสมัยใหม่ คำตอบที่ตอบได้อย่างจริงจังคือ “โลกไม่ได้โมเดิร์นทุกตารางนิ้ว” ไม่ว่าจะไทยหรือประเทศไหนก็ตามย่อมมีจุดโหว่ทางการพัฒนาอยู่เสมอ หลักความคิดขนบธรรมเนียมเดิมมักจะแข็งแกร่งและถูกยึดถือมากกว่ากฎหมายในยุคปัจจุบันด้วยซ้ำไป ลองนึกภาพเราเข้าไปหมู่บ้านชนบทสักแห่งหนึ่ง การใช้ชีวิต วิถีการควบคุมประชากรให้อยู่ในสภาพสังคมนั้นๆ มีการใช้กฎของสังคมมากกว่ากฎหมาย ฉะนั้นก็ไม่แปลกที่เด็กวัยเพียง 11 ปี จะแต่งงานมีครอบครัวในเมื่อกฎหมายระบุว่าแต่งได้เมื่ออายุมากกว่า 18 ปี ซึ่งพวกเธอส่วนใหญ่อยู่ใน “ภาวะสมยอม” เด็กสาวกลายเป็นชนชั้นล่างในกลุ่มสังคมและถูกเลือกเป็นส่วนใหญ่ ถึงแม้จะมีโอกาส(เหมือน) ได้เลือกเองแต่สุดท้ายก็อยู่ในกรอบบรรทัดฐานของรากลึกในสังคมนั้นๆ อยู่ดีว่าเพศหญิงไม่ใช่ประชากรชั้นหนึ่ง รู้ไหมว่าการมีเพศสัมพันธ์กับใครเพียงครั้งเดียวอาจจะหมายถึงต้องแต่งงานเลยทันที นั่นก็ไม่ได้ทำให้เราแปลกใจหากละครจะผลิตซ้ำบริบทว่า “มีอะไรกันแล้วต้องแต่งงาน” ความโบราณคร่ำครึที่นำเสนอไม่ใช่เรื่องแต่ง แต่คือการหยิบยกเรื่องจริงมาย่อยเป็นละครนั่นเอง

ภาพสะท้อนการแต่งงานในวัยเรียนของสังคมอเมริกัน / ภาพ: TALLULAH FONTAINE

     หลายคนอาจตั้งคำถามว่าทำไมถึงไม่มีการเรียกร้องโดยเหล่าผู้หญิง...ถ้าถามว่ามีไหมก็มี แต่ถ้าถามว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหน ตอบเลยว่าน้อยมากในปัจจุบัน ผู้หญิงในหลายสังคมเองก็ไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องคุณค่าตัวเองขนาดนั้น ซึ่งพวกเขาจะต้องแบกรับแรงกดดัน ถูกสังคมตีตราอย่างเช่นแก่แล้วไม่มีใครเอา ขึ้นคาน ฉะนั้นผู้หญิงกลับยึดตามบรรทัดฐานนี้และกลายเป็นว่าพวกเธอรีบหาวิธีในการแต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝาให้เร็วที่สุด จากหลายด้านที่กล่าวมาความเพิกเฉยต่อคุณค่าในตัวเองที่ถูกมองข้ามคือปัญหาอันใหญ่หลวงที่สุด

โซ่คล้องใจหรือโซ่กักขังชีวิตกันแน่... / ภาพ: New Indian Express

     เพราะฉะนั้นจากข้อมูลทั้งหมดเราต้องกลับกันกับการแก้ปัญหาอื่นๆ ที่เริ่มจากจุดเล็กๆ ตอนนี้เราต้องมาเริ่มกับปัญหาที่ยากที่สุดก่อนคือการรื้อระบบโครงสร้างทางความคิดของผู้หญิงในสังคมเกี่ยวกับค่านิยม “หาสามีเร็ว” สร้างคุณค่ากับตัวเองให้ได้มากที่สุด สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้อย่างน้อยผู้หญิงก็ก้าวออกจากกรงขังด่านแรกถึงแม้จะมีเรื่องความไม่เท่าเทียมทางสังคมอยู่ก็ตาม แต่เรื่องเหล่านี้ต้องมีนักกิจกรรมและผู้เล็งเห็นความสำคัญเพื่อสร้างพลังและความมั่นคงในจุดยืนนี้ ทั้งนี้เราต้องเชื่อมโยงการแก้ปัญหาเข้ากับบริบทของสังคมรวมถึงศาสนา เพราะสุดท้ายแต่ละกลุ่มสังคม แต่ละศาสนาย่อมมีชุดความคิดไม่เหมือนกัน ต้องทำความเข้าใจถึงรากปัญหาให้ได้ก่อน เราไม่สามารถใช้วิธีการเดียวในการแก้ปัญหาสังคมของคนทั้งโลกได้ แต่ทว่าเด็กน้อยกับสถานะภรรยาคือสถานะแห่งการปิดกั้น ซึ่ง “ความฝันของเด็ก” จะถูกเติมเต็มได้อย่างไรหากพวกเขาไม่ได้ใช้ชีวิตเป็นเด็กตามวัยอันควร ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ตัวคุณเองต้องเริ่มตั้งคำถามและตอบมันเสียเอง...   

 

ข้อมูล: BRIDES, UNICEF, Nattaya L., Teen Vogue และ New Indian Express

WATCH