LIFESTYLE

ใช้เวลาช่วง Social Distancing มาจัดการชีวิตให้เป็นระเบียบมากขึ้นด้วย Bullet Journal

ช่วงที่หลายคนต้องกักตัวอยู่บ้านจากสาเหตุของไวรัสโควิด-19 ทำให้มีเวลาว่างเพิ่มมากโข ดังนั้นถ้าหากใครไม่รู้จะทำอะไรดี เพราะรู้สึกเบื่อหน่ายไปหมดกับกิจกรรมทั่วไปอย่างการดูหนัง ฟังเพลง หรืออ่านหนังสือ วันนี้โว้กแนะนำให้ลองใช้เวลานี้ไปกับการเริ่มต้นจัดสรรตารางชีวิตของเราใหม่ให้เป็นระเบียบมากขึ้นด้วยการทำ Bullet Journal หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า Bujo กัน

เครดิต: Pinterest

Bullet Journal คืออะไร

Bujo คล้ายสิ่งที่เราเรียกกันว่า To-do-List หากแต่มันถูกจัดระเบียบให้อยู่ในรูปในรอยและมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามหัวข้อที่เราตั้งไว้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องงานอย่างเดียว สามารถจดเรื่องส่วนตัว งานบ้าน งานอดิเรกก็สามารถทำ Bujo ได้เช่นกัน บันทึกนี้ถูกคิดค้นโดย Ryder Carroll นักออกแบบและนักเขียนชาวอเมริกันที่ต้องการจัดการกระบวนความคิดผ่านกระดาษ ด้วยการอ้างอิงจากสิ่งต่างๆ ในแต่ละวันที่คุณต้องทำ หรือเป้าหมายที่ต้องการทำให้สำเร็จ ซึ่งแน่นอนว่าความเยอะและยุ่งเหยิงนี้จะถูกจัดให้เข้าที่เข้าทางด้วยการครอบหัวข้อและใส่สัญลักษณ์ลงไป โดยเริ่มต้นจากส่วนประกอบหลักอย่าง Rapid Logging และ Module

เครดิต: Pinterest

Rapid Logging 

มีหัวใจหลักๆ ในการจดบันทึกคือ “ต้องกระชับสั้นและเข้าใจได้ง่าย” ซึ่งมันจะถูกแยกเป็นหัวข้อย่อยง่ายๆ 4 ข้อ

  1. Topics ชื่อหัวข้อ ตั้งหัวข้อไว้ให้กับกิจกรรม เพื่อให้ง่ายต่อการบันทึกและใช้ในการจัดหมวดหมู่
  2. Page Number ใส่เลขหน้าให้มีการจัดสารบัญไว้ตั้งแต่หน้าแรกๆ ป้องกันการหาไม่เจอ
  3. Short Sentences จดเพียงประโยคสั้นๆ เช่น งานที่ต้องทำ นัดหมาย หรือบันทึกสิ่งต่างๆ
  4. Bullets สิ่งนี้เป็น “หัวใจหลัก” ของการทำ Bujo มันคือการแสดงสถานะในการบันทึกสิ่งต่างๆ ว่าสำเร็จแล้ว กำลังทำ หรือรอที่จะทำ โดยสัญลักษณ์ต่างๆ สามารถสร้างขึ้นใหม่ในแบบที่เราชอบก็ได้ หรือจะยึดจากแนวทางหลักที่คนนิยมใช้ก็ได้เช่นกัน

+ แทน สิ่งที่ต้องทำ หรือ To do

X แทน งานที่ทำเสร็จแล้วหรือการเขียนทับตัวข้างบน

> แทน งานที่ไม่เสร็จแล้วต้องย้ายไปวันอื่น

- แทน การบันทึกทั่วไป (Note)

° แทน อีเว้นหรือกิจกรรมที่ต้องทำ



WATCH




เครดิต: Pinterest

Module

ขอบเขตในการบันทึก เพื่อช่วยให้เราจัดระเบียบตารางงานและตารางชีวิตได้อย่างรวดเร็วและได้ผลมากขึ้น ซึ่งจะมีหัวข้อเพิ่มเป็นอีก 4 อย่าง

  1. Index หรือ “สารบัญ” ซึ่งใช้ประกอบกับ Page Number เพื่อช่วยค้นหาข้อมูลที่บันทึกไว้ได้ง่ายขึ้น
  2. Future Log การวางแผนล่วงหน้าในระยะยาว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมอย่างการลาพักร้อน หรือการเดินทางต่างประเทศที่ต้องมีการวางแผนในระยะยาว 
  3. Monthly Log บันทึกแบบรายเดือน คล้ายกับ Future Log ที่จะเป็นการบันทึกในแบบล่วงหน้า ซึ่งเราสามารถวาดและเขียนเป็นปฏิทินไว้ได้เช่นกัน
  4. Daily Log / Weekly Log ถ้าชอบความละเอียดสุดๆ ก็ลองเพิ่มหัวข้อนี้ลงไป มันเป็นการบันทึกในระดับรายวันและรายสัปดาห์ว่าเราจะทำอะไรบ้าง

แน่นอนว่านอกจากองค์ประกอบข้างบนทั้งหมดแล้ว เราสามารถที่จะจดสิ่งอื่นๆ ลงไปได้อีกด้วยเช่น Mood Tracker หรือบันทึกอารมณ์ประจำวัน จะทำรวมเพลย์ลิสต์ที่ชอบ หนังที่ต้องดู หรือคำคมประทับใจต่างๆ ก็ได้เช่นเดียวกัน หรือจะเลือกตกแต่งด้วยการทำเป็นธีมในแต่ละเดือน การใช้สติกเกอร์ รูปถ่าย รูปวาด หรือพวกของตกแต่งต่างๆ เพื่อทำให้การจด Bujo ของเราดูสนุกสนานมากขึ้น อีกหนึ่งสิ่งที่โว้กแนะนำเลยคือให้ลองดูไอเดียของคนอื่นในการจด เพราะเราอาจได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ หรือวิธีการแปลกๆ ที่ได้ผลมากยิ่งขึ้นก็ได้ จากนี้ไปลองสำรวจตัวเองกันได้เลยว่าหลังจากที่เริ่มต้นทำ Bujo แล้วชีวิตของคุณจะมีระเบียบมากขึ้นกว่าเดิมเลยแหละ

 

โว้กนำตัวอย่างวีดีโอเริ่มต้นการทำ Bujo มาฝากกัน 




WATCH