LIFESTYLE

การเรียกร้องสิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมผ่าน 5 บทเพลงอมตะตลอดกาลของ 'Bob Dylan'

ความสวยงามของบทเพลงที่เป็นกระบอกเสียงเพื่อมนุษยชนอยู่เสมอ

      ผ่านกาลเวลามานับครึ่งศตวรรษแล้ว แต่ชื่อของ 'Bob Dylan' ก็ยังคงเป็นที่กล่าวถึงและได้ยินผ่านใครหลายคนจากรุ่นสู่รุ่น เพราะสิ่งที่ทำให้เขาโดดเด่นและแตกต่างจากนักดนตรีคนอื่นๆ คือการเขียนเนื้อร้องที่คมคาย แฝงไว้ด้วยปรัชญาที่ลึกซึ้ง ราวกับเขากำลังร่ายบทกวีผ่านท่วงทำนอง อีกทั้งเขายังทำในสิ่งที่ไม่เคยมีนักดนตรีคนไหนทำได้มาก่อนคือการคว้ารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2016 นับว่าเป็นรางวัลที่บ่งบอกถึงความสวยงามของงานเพลงและแสดงให้เห็นว่าบทเพลงของเขายังยึดโยงอยู่กับบริบทด้านสังคมการเมือง อาจเรียกได้ว่าเป็นบทเพลงแห่งการขับเคลื่อนโดยแท้จริง บทความนี้จึงได้หยิบยก 5 บทเพลงอมตะตลอดกาลของบ็อบที่บอกเล่าเรื่องราวการเรียกร้อง สิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียม มากล่าวถึงอีกครั้งเพื่อเป็นการตอกย้ำว่าทำไมชายผู้นี้ถึงเป็นราชาเพลงโฟล์คตลอดกาล

The Times They Are a-Changin’

       ย้อนกลับไปในทศวรรษ 60 เป็นช่วงที่การเรียกร้องความเท่าเทียมและสิทธิพลเมืองภายในประเทศสหรัฐอเมริกายังคงคุกรุ่น ถึงแม้บ็อบจะเป็นชายหนุ่มผิวขาว ซึ่งถือเป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับอภิสิทธิ์จากความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในสังคม แต่เขากลับไม่ได้เมินเฉย ตรงกันข้ามเขากลับใช้การเรียกร้องตามวิถีแห่งโฟล์คผ่านบทเพลง หนึ่งในนั้นคือเพลง The Times They Are a-Changin' จากอัลบั้มที่ใช้ชื่อเดียวกัน ที่ถือว่าสื่อสารออกมาได้อย่างเรียบง่ายแต่ทรงพลัง โดยเฉพาะในท่อน "There’s a battle outside and it is ragin’ / It’ll soon shake your windows and rattle your walls / For the times they are a-changin'," ที่กลายเป็นตำนานบทสำคัญแห่งการเรียกร้องผ่านเสียงเพลง

Maggie's Farm

       ถึงแม้บ็อบจะมีภาพจำว่าเป็นหัวหอกคนสำคัญของกลุ่มนักดนตรีโฟล์คผู้ใช้บทเพลงเพื่อเรียกร้องและขับเคลื่อนสังคม อย่างไรก็ตามเขาก็ไม่ชอบการเป็นจุดศูนย์กลาง หรือการที่มีใครมากำหนดว่ารูปแบบของการเคลื่อนไหวเป็นอย่างไร ดังนั้นในปี 1965 บ็อบจึงใช้บทเพลง Maggie's Farm จากอัลบั้ม 'Bringing It All Back Home' สื่อสารความในใจของเขา และตอกย้ำว่าเขาจะเป็นอย่างที่เขาเป็นเท่านั้น โดยเฉพาะในท่อน "Well, I try my best / To be just like I am / But everybody wants you / To be just like them / They say sing while you slave," ที่แสดงออกถึงความไม่พอใจอย่างชัดเจน



WATCH




Chimes of Freedom

       การต่อสู้เพื่อเรียกร้องผ่านเสียงเพลงของบ็อบ บางครั้งเขาก็ใช้การเขียนเนื้อเพลงที่ตรงไปตรงมา แต่ก็มีหลายครั้งเช่นกันที่เขาใช้การอุปมาเปรียบเทียบให้ผู้ฟังได้ใช้จินตนาการไปเติมแต่งด้วยตัวเอง อย่างเช่นในเพลง Chimes of Freedom จากอัลบั้ม 'Another Side of Bob Dylan' ที่เขาได้ใช้ภาพจากภัยธรรมชาติ เช่น ลม ฟ้าผ่า และพายุเฮอริเคน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ ดั่งเช่นท่อนหนึ่งของเพลงที่ขับร้องเอาไว้ว่า "Tolling for the rebel / Tolling for the rake / Tolling for the luckless / The abandoned an' forsaked / Tolling for the outcast / Burnin' constantly at stake," ซึ่งสื่อถึงผู้ที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรมหรือถูกกดขี่ในสังคม

Bob Dylan พูดคุยกับ Rubin Hurricane Carter นักมวยผิวดำที่เขาเชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และเป็นที่มาของเพลง Hurricane

Hurricane

       เพลงนี้คือบทเพลงจากอัลบั้ม Desire และถือเป็นหนึ่งในบทเพลงเพื่อการต่อสู้เรียกร้องที่โด่งดังที่สุดของเขาก็ว่าได้ เนื่องจากเนื้อเพลงที่สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการประนีประนอม โดยบอกเล่าเรื่องราวของนักมวยผิวดำ Rubin Hurricane Carter ที่โดนกล่าวหาว่าเป็นคนร้ายในคดีฆาตกรรมก่อนจะโดนนำตัวไปคุมขัง ซึ่งบ็อบเชื่อว่าเขาคือผู้บริสุทธิ์ และสิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นเพราะเหตุผลด้านการเหยียดเชื้อชาติอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งเขาได้บอกเล่ามันออกมาผ่านบทเพลงนี้ โดยเฉพาะเนื้อเพลงท่อนหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า "All of Rubin's cards were marked in advance / The trial was a pig-circus he never had a chance / The judge made Rubin's witnesses drunkards from the slums," ที่เรียกได้ว่าเป็นการขับเคลื่อนกระแส Black Lives Matter ที่มาก่อนกาลและน่าชื่นชม

The Lonesome Death of Hattie Carroll

       อีกหนึ่งบทเพลงจากอัลบั้ม The Times They Are a-Changin ที่บ็อบเขียนออกมาเพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมให้กับกลุ่มคนผิวดำ โดยหยิบยกเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในสังคมมาบอกเล่า และเป็นการส่งเสียงแห่งความโกรธเกรี้ยวให้โลกได้รับรู้ ซึ่งกล่าวถึง Hattie Carroll คือหญิงสาวผิวดำวัย 51 ปี ที่ถูกฆ่าโดยเกษตรกรหนุ่มผู้ปลูกยาสูบในรัฐแมรีแลนด์ ก่อนที่เขาจะถูกศาลตัดสินจำคุกเพียง 6 เดือนเท่านั้นกับความผิดที่เขาได้กระทำ บ็อบได้เขียนเนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลง The Lonesome Death of Hattie Carroll ขึ้นมาว่า "William Zanzinger killed poor Hattie Carroll / With a cane that he twirled around his diamond ring finger" ซึ่งบอกกล่าวความเลวร้ายที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา อีกทั้งยังเป็นกระจกสะท้อนการเหยียดเชื้อชาติที่รุนแรงของยุค 60s ได้เป็นอย่างดี

ภาพ : I.Guim, Miro.medium, Newframe, Midifiles, Preview.redd
เรียบเรียง : Ramita Naungtongnim

WATCH

TAGS : BobDylan