LIFESTYLE
เติมสีเขียวให้พื้นที่การพักผ่อนด้วย 5 ต้นไม้ฟอกอากาศในห้องนอน ทั้งสวยงามและช่วยให้สุขภาพดีนอกจากความเขียวขจีของ 'ต้นไม้ฟอกอากาศ' จะช่วยตกแต่งห้องนอนให้น่าอยู่ขึ้นแล้ว ยังมอบประโยชน์ในแง่สุขภาพให้อีกด้วย |
เชื่อว่าคงมีหลายคนที่มีความเชื่อติดตัวมาตั้งแต่เด็กว่าช่วงเวลากลางคืนต้นไม้จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ดังนั้นจึงไม่เหมาะที่จะปลูกต้นไม้ไว้ในบ้าน หรือแย่ยิ่งกว่านั้นหากมันอยู่ในห้องนอน อย่างไรก็ตามดังที่ทุกคนทราบ ถึงแม้จะเป็นความเชื่อที่ไม่ผิดเสียทีเดียว แต่จากการที่ในปัจจุบันเทรนด์การปลูกต้นไม้ในบ้านกำลังได้รับความนิยม สิ่งนี้เป็นข้อพิสูจน์ชัดเจนในตัวว่าต้นไม้บางชนิดสามารถปลูกไว้ในบ้าน หรือแม้กระทั่งห้องนอนได้โดยที่มันมอบประโยชน์ให้มากกว่าโทษ ดั่งเช่น 5 ต้นไม้ฟอกอากาศในห้องนอนที่หยิบยกมากล่าวถึงแกมแนะนำป้ายยาในบทความนี้ ที่นอกจากความเขียวขจีของมันจะช่วยตกแต่งห้องนอนให้น่าอยู่ขึ้นแล้ว ยังมอบประโยชน์ในแง่สุขภาพให้อีกด้วย
ภาพ: Snake Plant Care
ลิ้นมังกร
เริ่มกันที่ต้นแรกอย่าง Snake Plant หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ ‘ลิ้นมังกร’ ไม้ล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน ใบเดี่ยว สีเขียวเข้มแกมเทา พืชท้องถิ่นในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความง่ายในเรื่องการดูแลรักษา ไม่ต้องการน้ำมาก และนำไปให้โดนแสงในบางเวลาก็เพียงพอแล้ว ลิ้นมังกรถือเป็นต้นไม้ฟอกอากาศในห้องนอนยอดนิยม เพราะนอกจากจะติด 10 อันดับต้นไม้ฟอกที่จัดโดยองค์กร NASA แล้ว ยังเป็นหนึ่งในต้นไม้ที่แปลงคาร์บอนไดออกไซด์เป็นออกซิเจนในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นสิ่งที่พืชส่วนใหญ่ทำในเวลากลางวัน
ภาพ: CDNparenting
ว่านหางจระเข้
อีกหนึ่งยอดต้นไม้นักฟอกอากาศที่ติดอันดับของ NASA เป็นชื่อที่คุ้นหูคนไทยทุกคนเป็นอย่างดีอย่าง ‘ว่านหางจระเข้’ พืชที่มีเนื้ออิ่มอวบ จัดอยู่ในตระกูลลิเลียม (Lilium) แหล่งกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในคาบสมุทรอาหรับ ว่านหางจระเข้จะปล่อยออกซิเจนในเวลากลางคืนทำให้เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการไว้ในห้องนอนหรือสถานที่แห่งการนอนหลับพักผ่อน ทั้งยังเป็นหนึ่งในพืชที่ง่ายที่สุดในการดูแล ต่อให้จะลืมรดน้ำมันนานถึงสามสัปดาห์ก็ยังไม่เป็นไร นอกจากการฟอกอากาศแล้ว ว่านหางจระเข้ยังมีสรรพคุณเป็นยาโดยเมือกในใบของมันสามารถรักษาแผลพุพองหรือไหม้ได้
WATCH
ภาพ: Better Home and Garden
ฟิโลใบหัวใจ
ฟิโลใบหัวใจ หรือ Heart Leaf Philodendron แม้ชื่อจะยังไม่คุ้นหูนัก แต่ก็เป็นต้นไม้ฟอกอากาศในห้องนอนอีกชนิดที่ได้รับความนิยมมากเช่นกัน เนื่องจากความทนทานต่อสภาพแวดล้อมของมันที่ไม่ต้องการความเอาใจใส่ในการดูแลรักษาเท่าไรนัก รดน้ำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งก็เพียงพอ ฟิโลใบหัวใจเป็นไม้เลื้อยที่มีเถาทอดเลื้อยไปตามสิ่งยึดเกาะ และนอกจากรูปลักษณ์ที่น่ารักของมันแล้ว นี่ถือเป็นพืชอีกหนึ่งชนิดที่มีประสิทธิภาพอย่างมากในการดูดซับฟอร์มาลดีไฮด์ อย่างไรก็ตามมีหนึ่งสิ่งสำคัญที่ควรพึงระวังหากอยากมีฟิโลใบหัวใจไว้ประดับห้องนอนคือควรเก็บให้พ้นมือสัตว์เลี้ยงและเด็ก เนื่องจากพืชชนิดนี้มีพิษเมื่อรับประทานมันเข้าไป
ภาพ: Dreamstime
ปาล์มหมาก
Areca Palm หรือ ปาล์มหมาก เป็นพืชที่พบได้มากในพื้นที่เมืองร้อน ซึ่งนอกจากรูปลักษณ์ที่สวยงามสะดุดตา เหมาะอย่างยิ่งสำหรับนำมาประดับตกแต่งห้องนอนในสไตล์ทรอปิคัลแล้ว ปาล์มหมากยังมีความสามารถในการฟอกอากาศ กำจัดสารพิษที่เป็นอันตรายเช่น เบนซีน ฟอร์มาลดีไฮด์ และไตรคลอโรเอทิลีน ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าปาล์มหมากเป็นหนึ่งในพืชที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมากที่สุด ส่วนวิธีการดูแลรักษา ปาล์มหมากจะเติบโตได้ดีที่สุดในที่ที่มีแสงพอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยเกินไป และควรหมั่นรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ
ภาพ: Amazon
พุด
ถึงแม้หากเทียบกับต้นอื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้นในลิสต์นี้ พุด หรือ Gardenia จะมีการดูแลรักษายากกว่าชนิดอื่นเล็กน้อย แต่รับประกันได้เลยว่าความดูแลเอาใจใส่ที่ทุ่มลงไปจะตอบแทนอย่างคุ้มค่าแน่นอน พุดเป็นพืชพื้นเมืองเขตร้อน พบได้มากในแอฟริกา เอเชียใต้ ออสเตรเลีย และพื้นที่ในแถบมหาสมุทร เป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ ใบเดี่ยว ดอกสีขาวหรือเหลือง จุดเด่นที่สุดของพุดอาจจะไม่ใช่การฟอกอากาศ แต่เป็นกลิ่นหอมอ่อนๆ ของมัน ที่ในปัจจุบันมีงานวิจัยออกมารองรับแล้วว่าช่วยให้คลายความวิตกกังวลและนอนหลับได้อย่างมีคุณภาพดีขึ้น ส่วนการดูแลรักษา พุดจะเติบโตได้ดีเมื่อได้รับน้ำในปริมาณพอเหมาะสัปดาห์ละครั้ง และอยู่ในพื้นที่ที่โดนแสงสว่างเล็กน้อย
ข้อมูล : Casper
เรียบเรียง : Ramita Naungtongnim
WATCH