angry-anger-management
LIFESTYLE

รู้จัก 4 ทักษะ ‘การบริหารจัดการความโกรธ’ ควบคุมอารมณ์ก่อนอารมณ์จะควบคุมคุณ

ถ้าคุณกำลังรู้สึกหัวร้อน นี่คือทางออกที่จะทำให้คุณใจเย็นและจัดการอารมณ์ได้ดีขึ้น

       "จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว" ประโยคเตือนใจให้เห็นความสำคัญของจิตใจ และใช้ขับเคลื่อนชีวิตไปในทิศทางที่เหมาะสม จิตและอารมณ์ที่ดีก็ย่อมทำให้รู้สึกดี แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบจิตใจจนทำให้เกิดความรู้สึกโกรธได้ หากไม่สามารถควบคุมอารมณ์โกรธให้อยู่ในขอบเขต และหาทางจัดการความขุ่นมัวนั้นอาจจะส่งผลกระทบในทางลบตามมาได้ ดังนั้นบทความนี้จึงรวบรวมทั้ง 4 ทักษะการจัดการความโกรธ ที่ทุกคนควรจะฝึกไว้เพื่อระงับสถานการณ์ที่อาจจะมากระทบจิตใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

angry-anger-management

ภาพ: Popsugar

 

รู้เท่าทันอารมณ์

     ปัญหาของการพัฒนาอารมณ์โกรธไปสู่จุดแตกหักโดยส่วนมากแล้วมักเกิดจากตนเองที่ไม่รู้เท่าทันอารมณ์ว่าเรากำลังรู้สึกอะไรอยู่ในขณะนั้น และปล่อยให้อารมณ์พัฒนาไปเรื่อยๆ จนสุดทางแก้ สติจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยวัดการรับรู้อารมณ์ของตนเองว่าตอนนี้อารมณ์เป็นอย่างไร

angry-anger-management

ภาพ: Firstpost

 

ยอมรับอารมณ์โกรธ 

       เมื่อเริ่มรับรู้อารมณ์โกรธของตนเองแล้ว อย่าปฏิเสธตนเองว่ากำลังโกรธ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะจิตใต้สำนึกของมนุษย์มักรู้ดีเสมอว่าความโกรธเป็นสิ่งไม่ดี และถ้าหากยอมรับว่ากำลังเกิดอารมณ์โกรธก็เท่ากับยอมรับพฤติกรรมที่ไม่ดีของตนเองซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ หากแต่การยอมรับจะช่วยให้คุณรู้เท่าทันอารมณ์ และจัดการได้ดีขึ้น



WATCH




angry-anger-management

ภาพ: ABCnews.go

 

เอาอารมณ์ออกห่าง 

       เมื่อความโกรธเกิดขึ้นแล้ว การใส่อารมณ์เข้าไปกับกระแสความโกรธอาจจะเป็นเหมือนการเติมเชื้อไฟเข้าไปให้ความรู้สึกโกรธมีมากขึ้นกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ต้องอาศัยความเป็นมืออาชีพ แนะนำให้ตัดอารมณ์ทิ้งจากสถานการณ์และพิจารณาสิ่งตรงหน้าตามเหตุและผลจะช่วยให้สถานการณ์ดำเนินไปได้ราบรื่นมากกว่า

angry-anger-management

ภาพ: Hollywoodreporter

 

เดินออกจากสถานการณ์ 

       ในความเป็นจริงการจัดการอารมณ์โกรธซึ่งหน้าโดยการควบคุมอารมณ์จากตัวเองฝ่ายเดียวอาจทำได้ยาก เพราะปัจจัยภายนอกก็ยังเข้ามามีผลกระทบและมีอิทธิพลได้เสมอ วิธีที่น่าจะง่ายที่สุดสำหรับผู้เริ่มต้นก็คือเมื่อรับรู้ถึงอารมณ์โกรธแล้ว ควรเลี่ยงออกมาจากสถานการณ์ตรงหน้า แต่หากสถานการณ์นั้นๆ มีบุคคลที่ต้องเกรงใจ อาจจะขอออกจากสถานการณ์นั้นมาด้วยความสุภาพ พักอารมณ์ที่ขุ่นมัวให้ดีขึ้น คิดไตร่ตรองถึงเหตุและผลก่อนจะกลับไปในสถานการณ์เดิมอย่างมีสติมากขึ้น

 

       ความโกรธเป็นเพียงอารมณ์อย่างหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ และไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่การปล่อยทิ้งอารมณ์โกรธให้มากขึ้นต่างหากเป็นสิ่งที่อาจจะก่อให้เกิดผลร้ายตามมาภายหลัง ดังนั้นอย่าลืมสำรวจจิตใจ และมีสติในทุกขณะชีวิตเพื่อที่จะได้ลดอารมณ์ที่ขุ่นมัว และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้นในทุกวัน

ข้อมูล : Reallifecounseling, Manarom
เรียบเรียง : Ramita Naungtongnim

WATCH