spider-man-3
LIFESTYLE

วัดเสน่ห์และเอกลักษณ์ของ Spider-man ทั้ง 3 เวอร์ชั่น ความเหมือนและแตกต่างที่ทำให้ภาพยนตร์มีสีสัน

ชมเสน่ห์ของสไปเดอร์แมนทั้ง 3 เวอร์ชั่น ความเหมือนและแตกต่างจากการตีความตัวละครของแต่ละคน

รู้ไหมว่าแท้จริงแล้วซูเปอร์ฮีโร่ Spider-man ที่แต่งโดย Stan Lee นั้นถูกตั้งความหวังไว้เป็นเพียงแค่การ์ตูนคอมมิกคั่นเวลาที่นำเสนอแบบจบในตอนเฉยๆ แต่แล้วกลับผิดคาดเมื่อเสียงตอบรับดีเกินที่หวังเอาไว้ ทำให้ซูเปอร์ฮีโร่วัยทีนที่มาพร้อมกับชะตากรรมสุดรันทดอย่างการสูญเสียลุงและใช้ชีวิตจนๆ อยู่กับป้า กลายเป็นขวัญใจคนยุคนั้นสืบเนื่องเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ไอ้แมงมุมจึงกลายมาเป็นอีกหนึ่งคาแร็กเตอร์ในจักรวาล Marvel ที่เป็นที่ชื่นชอบของใครหลายคน จนกระทั่งเดินทางมาถึงรูปแบบของภาพยนตร์ Live Action ที่ทำมาแล้วหลายเวอร์ชั่นคนเล่น เสน่ห์ของสไปเดอร์แมนแต่ละภาคจึงมีความแตกต่างตามที่นักแสดงตีความคาแร็กเตอร์ นำเสนอซูเปอร์ฮีโร่วัยมัธยมที่เสียงยังไม่ทันแตกหนุ่มดีด้วยซ้ำให้มีสีสันและกลิ่นอายที่หลากหลายและต่างกันออกไป

spider-man-3

ภาพ: GQ British

Tobey Maguire (2002, 2004, 2007, 2021)

     โทบี้ แม็กไกวร์ เปิดจักรวาลสไปดี้เป็นคนที่สอง (คนแรกคือ Nicholas Hammond ในยุค 70 ที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก เพราะคนยุคนั้นยังไม่อินกับการใส่ชุดฮีโร่จึงกลายเป็นเรื่องน่าขันไปแทน) โดยได้ Sam Raimi นั่งเก้าอี้ผู้กำกับ ตัวละคร ปีเตอร์ พาร์กเกอร์ ในเวอร์ชั่นนี้หยิบยืมมาจากยุคคอมมิกที่มีกลิ่นอายดราม่าชีวิตค่อนข้างเข้มข้นทั้งเรื่องทางบ้าน การเรียน ชีวิตรัก เพื่อน และการทำตัวเป็นฮีโร่ แม้ว่าคาแร็กเตอร์ของโทบี้จะไม่ได้ตรงตามคอมมิกเป๊ะๆ เพราะตั้งแต่เขามารับเล่นโทบี้เองก็อายุเกินเด็กมัธยมปลายไปมากโขแล้ว สำหรับไอ้หนุ่มแมงมุมเวอร์ชั่นนี้จะออกแนวทึ่มๆ ที่ชีวิตบังคับให้เขาต้องโตเร็วกว่าเด็กมัธยมปลายทั่วไป สีสันในหนังจึงดูเป็นแนวผู้ใหญ่มากกว่าวัยรุ่นกำลังใสๆ

     นับว่าเวอร์ชั่นนี้ต่อยอดให้เราได้เห็นและเปรียบเทียบในโลกความเป็นจริงได้อย่างชัดเจน แม้จะเป็นชีวิตของซูเปอร์ฮีโร่แต่ปีเตอร์ก็ผ่านช่วงเวลาในการดิ้นรนสู่วัยผู้ใหญ่ ผ่านการสูญเสีย ความโศกเศร้า และค้นหาตัวเองเหมือนกับวัยรุ่นทั่วไปเช่นเดียวกัน ทั้งความสับสนวุ่นวายระหว่างตัวเขากับ MJ หรือจะเป็นช่วงแตกหักระหว่างเขากับเพื่อนรักอย่าง Harry Osborn ก็ตาม เราได้เห็นการเติบโตของปีเตอร์ผ่านทั้ง 3 ภาคในเวอร์ชั่นนี้ เขาเรียนรู้เรื่องการยอมรับตัวเองและความรับผิดชอบ เวอร์ชั่นนี้จึงถือเป็นหัวใจและจิตวิญญาณของสไปดี้ที่แฟนๆ ทุกคนยอมรับในตัวตนมากที่สุด แม้ว่าจะไม่ค่อยตรงตามเนื้อเรื่องจริงเท่าไหร่ก็ตาม

spider-man-3

ภาพ: ScreenRant

Andrew Garfield (2012, 2014, 2021)

     สไปดี้เวอร์ชั่นของแอนดรูว์นับว่าได้เสียงตอบรับค่อนข้างน้อยที่สุด เหตุเพราะสคริปต์ของหนังดันเอนเอียงความสนใจไปในเรื่องรักๆ ใคร่ๆ มากกว่าเส้นเรื่องจริง แม้ผู้กำกับ Marc Webb จะโด่งดังเพราะส่งภาพยนตร์รักเรื่อง (500) Days of Summer เข้าดวงใจคอหนังไปหลายคน แต่พอมาจับทางภาพยนตร์แอ็กชั่นเข้าหน่อยกลายเป็นว่าพากันเกือบลงปากเหวที่ผลิตออกมาได้ 2 ภาคก็ต้องโบกมือลา ปีเตอร์ในเวอร์ชั่นนี้มีความกล้ามากกว่าคาแร็กเตอร์ในฉบับคอมมิก เขาออกแนวเนิร์ดมากกว่าทึ่ม เล่นสเกตบอร์ดอย่างกับพวกเด็กคูลๆ ออกโรงปกป้องเพื่อนยามโดนบูลลี่ และหยอดคำหวานใส่นางเอกเป็นว่าเล่น ซึ่งอย่างหลังมันทำให้ปีเตอร์ในภาคนี้ถูกป้ายห้อยคอให้เขากลายเป็นไอ้ต้าวที่คลั่งรัก Gwen Stacy ตลอดทั้งเรื่อง 

     ความงงงวยของตัวละครจากสคริปต์ที่ไม่แน่นกลายเป็นเนื้อเรื่องที่เหมือนจับต้นชนปลายไม่ค่อยถูก แม้ว่าพื้นหลังของเรื่องจะเริ่มที่ลุงเบนเสียชีวิตและอาศัยอยู่กับป้าเมย์แทนพ่อและแม่ก็ตาม โทนสีของเรื่องจึงเน้นไปในทางภาพยนตร์รักมากกว่าแนวแอ็กชั่นซูเปอร์ฮีโร่กอบกู้เพื่อนบ้านและเพื่อนร่วมโลก อย่างไรก็ตามแอนดรูว์ถือเป็นนักแสดงที่มีคุณภาพ การแสดงออกทางสีหน้าและแววตาเรียกว่ากินขาด ถ้าใครเคยดูเขาเล่นภาพยนตร์เรื่อง The Social Network และ Hacksaw Ridge จะเข้าใจกันดี แต่ด้วยสคริปต์ที่ไม่ค่อยเป็นงานเท่าไหร่ตัวหนังเลยไม่เป็นที่ถูกใจนัก นอกจากแฟนคลับที่จิ้นคู่พระนางที่ดันเกิดขึ้นนอกจอไปพร้อมกันในตอนนั้น



WATCH




ภาพ: ScreenRant

Tom Holland (2016 - 2021)

     เมื่อแฟรนไชส์สไปเดอร์แมนได้กลับมาสู่อ้อมอก Marvel อีกครั้งแม้เพียงชั่วครู่ แต่ก็นับว่าค่ายดึงซูเปอร์ฮีโร่ตัวนี้ให้กลับมาโลดแล่นในแสงสปอต์ไลต์ได้อีกรอบ และนับเป็นครั้งแรกที่ผู้ที่มารับบทปีเตอร์นั้นตรงตามคอมมิกแบบใกล้เคียงที่สุด เพราะทอมในช่วงวัยทีนสร้างเสน่ห์และถ่ายทอดคาแร็กเตอร์ได้อย่างสมจริงสมจัง สไปดี้ในเวอร์ชั่นนี้คือความเป็นวัยรุ่นงกเงิ่นในแบบเด็กที่ยังไม่ประสาโลกมากนัก เพราะประสบการณ์ยังน้อย ความเดียงสาในการใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นธรรมดาไม่ได้โดดเด่น ชอบต่อเลโก้ ไม่ได้เนิร์ดจ๋าที่เรียนแต่หนังสือ แต่หัวดีและมีไหวพริบ ที่สำคัญคือเซนส์ของความว่องไวไม่อยู่กับที่ ความไม่หยุดนิ่งที่พล่ามพูดนั่นพูดนี่ไปเรื่อยราวกับเด็กได้ของเล่นใหม่อย่างไรอย่างนั้น

     สไปเดอร์แมนภาคนี้จึงเห็นได้ชัดว่าเป็นเพียงวัยรุ่นธรรมดาบ้านๆ ที่ขนาดในช่วงต่อสู้กันก็ยังจ้อไม่หยุด หรืออย่างตอนโดนซัดจนหมดแรงก็ถึงกับออกปากว่าไม่ไหวแล้วขอพักก่อน เรียกได้ว่าต่อให้เขาสวมชุดซูเปอร์ฮีโร่แต่เขาก็ยังเป็นเพียงวัยรุ่นคนหนึ่งเท่านั้น หรือจะเป็นตอนที่ได้จุ๊บกับ MJ หลังบอกรักกันไปแล้ว ปีเตอร์เองก็ยังออกอาการเปิ่นๆ งุ่มง่ามแบบวัยรุ่นเพิ่งได้จูบสาวเป็นครั้งแรก ซึ่งทอมเองยังอยู่ในช่วงวัยที่ไม่ห่างมากนักจากคาแร็กเตอร์ทำให้การถ่ายทอดอารมณ์และภาษากายที่ออกมานั้นค่อนข้างตรง ยิ่งได้การเล่าเรื่องจากผู้กำกับมาร์เวลแล้ว ทำให้สคริปต์และคาแร็กเตอร์มีความคล้ายคลึงและออกมาดูเข้าเค้าความเป็นสไปเดอร์แมนมากที่สุด 

spider-man-3

ภาพ: Insider

อย่างไรก็ตามไม่ว่าปีเตอร์ พาร์กเกอร์ จะมีคาแร็กเตอร์เป็นไปในทางทิศไหน เราก็เชื่อว่านักแสดงทุกคนที่ได้รับบทย่อมเรียนรู้และนำเสนอในแบบที่ดีที่สุดตามเวอร์ชั่นและความเหมาะสมของแต่ละภาคแล้ว ถ้าใครไม่เชื่อก็ตามไปพิสูจน์ถึงเสน่ห์ของไอ้แมงมุมทั้ง 3 เวอร์ชั่นในจักรวาลเวลาเดียวกันได้เลยกับภาคสุดท้าย Spiderman No Way Home

ข้อมูล : Den of Geek, Collider, Insider

WATCH