Oscar-best-speech
LIFESTYLE

ย้อนความทรงจำกับ 5 สปีชที่ตราตรึงและน่าจดจำที่สุดในงานประกาศรางวัลออสการ์

ไม่ใช่แค่การกล่าวขอบคุณ แต่พวกเขายังฝากแง่คิดต่างๆ ผ่านคำพูดเหล่านั้นไว้อีกด้วย

       นอกจากการเดินพรมแดงและการประกาศรางวัลในสาขาต่างๆ ที่ขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้นในหลายปีที่ผ่านมา อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจและน่าจดจำไม่แพ้กันของงานประกาศรางวัลออสการ์ในแต่ละครั้งคือสปีชที่ผู้คว้ารางวัลขึ้นไปกล่าวบนเวทีต่อหน้าผู้ชมทั่วโลก เรียกว่าเป็นโมเมนต์ที่น่าจดจำไปตลอด

       ถึงแม้ว่าสปีชส่วนใหญ่มักจะกล่าวขอบคุณผู้เกี่ยวข้องทุกคนที่มีส่วนผลักดันให้เขาหรือเธอคว้ารางวัลอันทรงเกียรตินี้ได้ ทว่ามันก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป รางวัลออสการ์มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังมีเสน่ห์และเรื่องราวชวนหลงใหล ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ตลอดการมอบรางวัล 93 ครั้งที่ผ่านมาจะมีสปีชของเหล่าผู้รับรางวัลที่ทั้งตราตรึงและน่าจดจำ ดั่งเช่นทั้ง 5 สปีชที่หยิบยกมาบอกเล่า และพาย้อนความทรงจำในบทความนี้

Marlon Brando จาก 45th Academy Awards

ภาพ: Standard

 

1. Marlon Brando จาก 45th Academy Awards

       Marlon Brando คือหนึ่งในตำนานนักแสดงผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาลแห่งฮอลลีวู้ด อย่างไรก็ตามการกล่าวสปีชต่อหน้าสาธารณชนดูจะไม่ใช่สิ่งที่เขาชื่นชอบเท่าไรนัก ดังนั้นในงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 45 หลังจากที่เขาคว้ารางวัลสาขานักแสดงนำชายจากบท Vito Corleone ภาพยนตร์เรื่อง The Godfather เขาจึงปฏิเสธขึ้นรับรางวัล และเลือกที่จะส่งตัวแทนขึ้นไปรับ ทว่าตัวแทนที่เขาเลือกคือคนที่ไม่มีใครคาดคิด ไม่ใช่ดาราดังหรือเพื่อนสนิทคนไหน แต่เป็น Sacheen Littlefeather หญิงสาวชนเผ่าพื้นเมืองอินเดียแดง 

       ซาเชียนไม่ได้ขึ้นมากล่าวสปีชขอบคุณแทนมาร์ลอน แบรนโด แต่เธอใช้พื้นที่แห่งนี้ซึ่งผู้คนทั่วโลกกำลังจับจ้องกล่าวถึงชะตากรรมที่ถูกรุกรานของชนเผ่าพื้นเมือง ณ บริเวณ Wounded Knee ว่า

“I beg at this time that I have not intruded upon this evening and that we will in the future, our hearts and our understandings will meet with love and generosity.”

ถือเป็นสปีชสั้นๆ แต่ทรงพลัง และทำให้งานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งนี้น่าจดจำไปอีกนานแสนนาน 

Sally Field-57th Academy Awards

ภาพ: Pinimg

 

2. Sally Field จาก 57th Academy Awards

       ชื่อของ Sally Field กลายเป็นหนึ่งในมีมประจำงานประกาศรางวัลออสการ์มาอย่างยาวนาน เนื่องจากหลายคนจดจำว่าเธอกล่าวสปีช “You really like me” ตอนขึ้นรับรางวัลสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมในงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 57 จากบทบาทในภาพยนตร์เรื่อง Places in the Heart ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์เธอดูเป็นคนหลงตัวเอง อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ต่างจากเกมใบ้คำ ที่จากคนแรกถึงคนสุดท้ายของแถว เนื้อความประโยคเปลี่ยนไปจนแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิม เพราะจริงๆ แล้วสปีชทั้งหมดของแซลลี ฟิลด์มีอยู่ว่า

“I haven’t had an orthodox career, and I’ve wanted more than anything to have your respect. The first time I didn’t feel it, but this time I feel it. And I can’t deny the fact that you like me, right now. You like me.”

       เพียงเท่านี้ก็รู้แล้วว่าแซลลีไม่ได้มีเจตนาหลงตัวเองเลยแม้แต่น้อย กลับตรงกันข้ามที่เธอเองทั้งถ่อมตัว และดีใจมากที่เส้นทางการแสดงที่เธอทุ่มเทมาโดยตลอดก็มีคนให้การยอมรับ เรียกได้ว่าเป็นสปีชที่ทั้งงดงามและจริงใจ ทำให้เป็นอีกหนึ่งสปีชที่ผู้คนนั้นจดจำ

 



WATCH




Joe Pesci-63rd Academy Awards

ภาพ: Independent

 

3. Joe Pesci จาก 63rd Academy Awards

       ในงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 63 ในปี 1991 นักแสดงหนุ่มใหญ่อย่าง Joe Pesci ที่ในขณะนั้นวัย 47 ปีคือหนึ่งคนที่โดดเด่นที่สุด เพราะเขาเพิ่งโชว์ลวดลายการแสดงระดับมาสเตอร์พีซมาในบทบาท Tommy DeVito จากภาพยนตร์เรื่อง Goodfellas และทำให้เขากลายเป็นตัวเต็งที่จะคว้ารางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบชาย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นบทบาทในจอหรือว่าตัวจริง โจ เปสซีคือคนที่ร่าเริง และมักจะเรียกเสียงหัวเราะได้เสมอ ดังนั้นเมื่อสิ้นเสียงประกาศว่า “And the Oscar goes to Joe Pesci” ผู้คนจึงคาดหวังว่าเขาน่าจะก้าวขึ้นไปรับรางวัลบนเวที พร้อมกล่าวสปีชมากอารมณ์ขันตามสไตล์ของเขา 

       อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง เพราะโจขึ้นไปรับรางวัล ก่อนจะกล่าวเพียงประโยคสั้นๆ ว่า “It was my privilege, thank you.” และก้าวลงจากเวที ส่งผลให้นี่เป็นหนึ่งในการรับรางวัลออสการ์ที่ใช้เวลาน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ไปโดยปริยาย และสิ่งที่ทำให้มันน่าจดจำก็เพราะมาจากชายเจ้าคารมแห่งฮอลลีวู้ดอย่างโจ เปสซีนั่นเอง

Roberto Benigni-71st Academy Awards

ภาพ: Pinimg

 

4. Roberto Benigni จาก 71st Academy Awards

       1999 คือปีทองของ Roberto Benigni นักแสดงหนุ่มมาดทะเล้นชาวอิตาลีอย่างแท้จริง เนื่องจาก Life Is Beautiful ภาพยนตร์ที่เขาทั้งนั่งแท่นกำกับ และแสดงนำด้วยตัวเองมีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ทั้งหมดถึง 7 สาขา ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ใช้ภาษาอังกฤษ อีกทั้งยังคว้ารางวัลมาได้ถึง 3 สาขา ได้แก่ ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม, และดนตรีประกอบยอดเยี่ยม

       เพราะเหตุนี้ในงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 71 โรแบร์โตจึงต้องขึ้นเวทีเพื่อกล่าวสปีชรับรางวัลถึง 2 ครั้ง แต่สปีชที่เป็นไฮไลต์ของเขาจริงๆ คือครั้งที่ 2 ในตอนที่เขาขึ้นรับรางวัลสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม เขากล่าวไว้ว่า 

“I would like to be Jupiter and kidnap everybody and lie down in the firmament making love to everybody!"

       ด้วยประโยคบอกรักและขอบคุณที่หวานซึ้งจนอาจจะฟังดูเลี่ยน แต่ก็เข้ากับตัวตนของเขาเป็นอย่างดี ทำให้สปีชนี้ยังคงสร้างความประทับใจให้กับผู้คนไม่น้อย

Frances McDormand-90th Academy Awards

ภาพ: Vox-cdn

 

5. Frances McDormand จาก 90th Academy Awards

       ถือเป็นนักแสดงยอดฝีมืออีกหนึ่งคน เพราะนอกจากบทบาทในภาพยนตร์เรื่อง Nomadland ที่ทำให้เธอคว้ารางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงในปีที่ผ่านมาแล้ว ก่อนหน้านั้น Frances McDormand เคยคว้ารางวัลออสการ์มาแล้วด้วยกันถึง 3 ครั้ง ซึ่งที่เธอกล่าวสปีชได้น่าจดจำที่สุดคืองานประกาศรางวัลครั้งที่ 90 ซึ่งเธอคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงจากภาพยนตร์เรื่อง Three Billboards Outside Ebbing, Missouri

       ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน เป็นช่วงเวลาที่กระแสแห่งความเท่าเทียมของผู้คนทุกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์กำลังเป็นที่ถกเถียงอย่างต่อเนื่องในสังคม เช่นเดียวกับรางวัลออสการ์ที่ก็ถูกโจมตีไม่น้อยเหมือนกันว่ายังให้อภิสิทธิ์คนผิวขาวมากกว่าเชื้อชาติอื่นๆ ดังนั้นฟรานเซสจึงกล่าวสปีชเพื่อแสดงจุดยืนว่าเธอเองก็สนับสนุนความหลากหลายเช่นกัน ด้วยประโยคสั้นๆ กระชับ แต่ตรงประเด็นว่า

“Don’t talk to us about it at the parties tonight. Invite us into your office in a couple days, or you can come to ours, whatever suits you best, and we’ll tell you all about them. I have two words to leave with you tonight, ladies and gentlemen: 'inclusion rider'”

ประโยคดังกล่าวข้างต้นถือเป็นการแสดงจุดยืนของเธอได้อย่างชัดเจน จนกลายเป็นอีกหนึ่งสปีชที่ผู้คนทั่วโลกจดจำและยกย่องว่าเป็นประโยคที่ตราตรึงใจเพราะถือเป็นกระบอกเสียงสำคัญให้สังคมได้ตระหนักถึงความหลากหลายมากขึ้น จนกลายเป็นที่กล่าวถึงมาจนทุกวันนี้

เรียบเรียง : Ramita Naungtongnim

WATCH

คีย์เวิร์ด: #Oscar #Bestmoment #BestSpeech #OscarBestSpeech