สำรวจ 5 ฉากจากซิตคอมระดับตำนาน ค้นหาแรงบันดาลใจสำหรับการแต่งห้องสไตล์วินเทจยุค 90’s
แม้จะผ่านมากว่า 3 ทศวรรษ ฉากของซิตคอมทั้ง 5 เรื่องนี้ก็ยังคงเป็นแรงบันดาลใจชั้นดีสำหรับการแต่งห้องสไตล์วินเทจยุค 90’s ได้เสมอ
ขณะที่รับชมซิตคอมสักเรื่องหนึ่งแน่นอนว่าความสนใจแทบทั้งหมดของผู้ชมย่อมพุ่งตรงไปที่เรื่องราวที่เกิดขึ้น บทสนทนา และมุกตลกของเหล่าตัวละครในจอ ทว่าหากลองถอยตัวเองให้ห่างออกมาอีกหน่อย มองสิ่งที่เกิดขึ้นบนหน้าจอเป็นภาพรวมมากขึ้น ก็จะเห็นชัดเจนว่าอีกหนึ่งองค์ประกอบที่แม้หลายคนอาจมองข้ามกลับเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ทำให้ผลลัพธ์ออกมาสมบูรณ์คือ ‘ฉาก’ แม้เอกลักษณ์ของซิตคอมคือการถ่ายทำกันในสตูดิโอ ทุกฉากหลังที่ปรากฏในเรื่องจึงเป็นการเซ็ตขึ้นมาและมีจำนวนจำกัด ในซิตคอมแต่ละเรื่องผู้ชมจะเห็นฉากหลังวนเวียนซ้ำไปมา นับรวมอาจจะมีจำนวนไม่ถึง 20 ฉากเสียด้วย แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง เมื่อฉากหลังมีจำนวนจำกัด ผู้ชมจึงได้เห็นมันครั้งแล้วครั้งเล่าจนจดจำได้ และหากฉากไหนฝ่ายผู้สร้างออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน ใส่ใจในรายละเอียด จัดองค์ประกอบได้ลงตัวสวยงาม จากความซ้ำซากก็อาจเปลี่ยนเป็นการประทับอยู่ในใจผู้ชมได้ไม่ยาก
ยุค 90’s คือยุคที่สื่อบันเทิงประเภทซิตคอมเฟื่องฟูถึงขีดสุด เหล่าผู้สร้างต่างรีดเร้นไอเดียสร้างสรรค์เรื่องราวออกมามากมาย แข่งขันกันยึดครองใจผู้ชม เช่นเดียวกับฝ่ายสร้างฉากที่ก็ตั้งใจอย่างเต็มที่ พิถีพิถันในทุกรายละเอียดการตกแต่งออกแบบ ใส่เอกลักษณ์แห่งยุค 90’s ลงไป ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แม้ซิตคอมเรื่องดังกล่าวจะจบบริบูรณ์ไปนานแล้ว แต่ฉากหลังยังตราตรึงไม่เสื่อมคลาย และแม้จะผ่านมากว่า 3 ทศวรรษ ก็ยังคงเป็นแรงบันดาลใจชั้นดีสำหรับการแต่งห้องสไตล์วินเทจยุค 90’s ได้เสมอ ดั่งเช่นทั้ง 5 ฉากในบทความนี้
ภาพ: Apartment Therapy
อพาร์ตเมนต์ของ Monica Geller จากซิตคอม 'Friends'
หากนึกถึงซิตคอมจากยุค 90’ s ก็ต้องนึกถึง Friends และหากนึกถึง Friends นอกจากตัวละครหลักทั้ง 6 แล้วก็ต้องนึกถึงฉากอันเป็นเอกลักษณ์น่าจดจำ โดยเฉพาะอพาร์ตเมนต์ของตัวละคร Monica Geller (นำแสดงโดย Courteney Cox) แม้ในปัจจุบันจะมีข้อมูลจากสื่อหลายสำนักที่ทำการวิเคราะห์ให้เห็นว่าไม่มีทางที่โมนิกาและรูมเมตของเธอจะสามารถจ่ายค่าเช่าอพาร์ตเมนต์ห้องนี้ได้ เนื่องจากขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ อีกทั้งยังตั้งอยู่ใจกลางย่านแมนฮัตตัน ทว่าหากตัดความไม่สมจริงดังกล่าวออกไป หรืออาจจะคิดเข้าข้างว่าครอบครัวเกลเลอร์เป็นครอบครัวฐานะดี ไม่แน่ว่าพวกเขาอาจแอบช่วยจ่ายค่าเช่าให้ลูกสาวขณะที่เธอกำลังดิ้นรนไขว่คว้าความฝันในการเป็นเชฟอยู่ อพาร์ตเมนต์ของโมนิกาถือว่ามีเอกลักษณ์ และรายละเอียดการตกแต่งที่น่าจดจำอย่างมาก
การใช้ผนังสีม่วงและพรมสีซีดที่ดูอึมครึมเหี่ยวเฉา แต่หากนำมารวมกับของตกแต่งชิ้นเล็กชิ้นน้อยสีสันสดใส เปี่ยมกลิ่นอาย Festive กลับทำให้ผลลัพธ์ห้องนี้ออกมาดูสนุกสนานอย่างไม่น่าเชื่อ พื้นที่ใช้สอยแบบเปิดโล่ง การวางเฟอร์นิเจอร์อย่างเป็นสัดส่วน ตกแต่งด้วยโปสเตอร์โฆษณาวินเทจ โซฟาสีซีด และม้าโยกโบราณ ทำให้บรรยากาศเหมาะสำหรับการเป็นพื้นที่แห่งบทสนทนา เข้ากับคำว่า Friends ในชื่อเรื่องได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นไอเดียการแต่งห้องวินเทจสไตล์ 90’s แท้ๆ ที่ทำตามได้ไม่ยากอีกด้วย
ภาพ: The Hollywood Reporter
อพาร์ตเมนต์ของ Jerry Seinfeld จากซิตคอม 'Seinfeld'
หากอยากรู้ว่าหน้าตาห้องพักของชายโสดชาวอเมริกันในกรุงนิวยอร์กช่วงทศวรรษที่ 90 หน้าตาเป็นอย่างไร อพาร์ทเมนต์ของตัวละคร Jerry Seinfeld จากซิตคอมระดับตำนานเรื่อง Seinfeld น่าจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด อพาร์ตเมนต์ของเจอร์รี่ตั้งอยู่ในกรุงนิวยอร์ก และมักจะเป็นที่รวมตัวของเหล่าตัวละครหลักในเรื่องเช่น George Costanza, Elaine Benes, และ Cosmo Kramer โดยห้องนี้ตกแต่งไม่หวือหวา เน้นการใช้สีเทาและขาวเป็นหลัก แม้จะมีความรกอยู่บ้างตามสไตล์หนุ่มโสด แต่การจัดวางเฟอร์นิเจอร์อย่างเป็นสัดส่วนก็ทำให้ห้องนี้ยังคงน่าอยู่ โดยเฉพาะโซฟาสีน้ำเงินที่ตั้งอยู่บริเวณส่วนรับแขก ถือเป็นเฟอร์นิเจอร์สำคัญที่ทำให้ห้องนี้ดูอบอุ่นและไม่เงียบเหงา
WATCH
ภาพ: Time Out
อพาร์ตเมนต์ของ Carrie จากซิตคอม 'Sex and the City'
ถ้าเปรียบเทียบกับอพาร์ตเมนต์ของเจอร์รี่ ไซน์เฟลด์ และโมนิกา เกลเลอร์ ห้องของตัวละคร Carrie Bradshaw จาก Sex and the City ดูจะมีสไตล์ที่โมเดิร์นมากกว่า เรื่องจาก Sex and the City เป็นซีรี่ส์ที่เข้าฉายในช่วงปี 1998–2004 ต่างจากอีก 2 เรื่องที่เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นยุค 90’s
“ห้องของเธอถูกออกแบบขึ้นในสไตล์ที่มีกลิ่นอายของตลาดมือสอง วินเทจเล็กน้อย และเป็นห้องที่นักเขียนสาวจะอาศัยอยู่ตัวคนเดียว” Jeremy Conway หัวหน้าทีมออกแบบสร้างสรรค์ฉากของ Sex and the City กล่าว ผนังห้องของแคร์รี่ไม่ได้มีการตกแต่งมากมายนอกจากนิตยสารที่เธอนำไปแปะ ส่วนภายในห้องความเรียบง่ายถูกดึงดูดสายตาด้วยเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่แคร์รี่ซื้อมาจากตลาดมือสองในเขตแมนฮัตตัน (แม้ในความเป็นจริงสิ่งของเหล่านั้นจะไม่ใช่ของมือสองจริงๆ ก็ตาม) สำหรับสาวโสดในเมืองใหญ่ที่อาศัยอยู่ในคอนโดหรืออพาร์ตเมนต์ขนาดกะทัดรัด และมีรสนิยมชื่นชอบความวินเทจของเฟอร์นิเจอร์มือสอง ห้องของแคร์รี่ แบรดชอว์น่าจะเป็นอีกหนึ่งไอเดียในการตกแต่งที่ดี
ภาพ: BBC
บ้านของครอบครัว Conner จากซิตคอม 'Roseanne'
อาจกล่าวได้ว่าฉากหลังซึ่งเป็นบ้านของครอบครัว Conner มีความสำคัญต่อซิตคอมเรื่อง Roseanne อย่างมาก ยิ่งเสียกว่าความสำคัญของฉากในซิตคอมเรื่องอื่นๆ เนื่องจาก Roseanne เป็นซิตคอมคอมเมดี้ดราม่าที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตประจำวันของครอบครัว Conner ที่ฐานะของพวกเขาอยู่ในชนชั้นแรงงาน แตกต่างจากซิตคอมเรื่องอื่นๆ ที่มักจะนำเสนอเรื่องราวของชนชั้นกลาง ดังนั้นครอบครัวนี้จึงเป็นภาพสะท้อนของวิถีชีวิตชนชั้นแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ด้วยเหตุนี้ภายในบ้านครอบครัว Conner ซึ่งเป็นบ้านสไตล์ Craftsman สองชั้น 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ ตั้งอยู่ในเมืองแลงฟอร์ด รัฐอิลลินอยส์ จึงเปี่ยมไปด้วยรายละเอียดต่างๆ ที่บ่งบอกถึงชีวิตที่ไม่สุขสบาย ทว่าด้วยการตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ทำให้บ้านหลังนี้อบอุ่นได้ โดยมีห้องนั่งเล่นสีเขียวที่มีเตาผิงหิน ภาพถ่ายครอบครัวที่รกเกะกะอยู่ทุกบริเวณ โซฟาลายสก๊อต และวอลเปเปอร์สีชมพูในห้องครัวพร้อมจานทาสีเป็นของตกแต่ง สิ่งเหล่านี้ฟังดูไม่เข้ากันแม้แต่น้อย ทว่ากลับเมื่อรวมกันกลับมีเสน่ห์อย่างประหลาด อบอวลด้วยกลิ่นอายของครอบครัว
ภาพ: Apartment Therapy
อพาร์ตเมนต์ของ Will จากซิตคอม 'Will & Grace'
ย้อนกลับไปในยุค 90’s ช่วงเวลาที่เพศทางเลือกยังไม่ถูกยอมรับอย่างกว้างขวางเฉกเช่นในปัจจุบัน Will & Grace ถือเป็นซิตคอมที่แหวกขนบพอสมควร เนื่องจากมันบอกเล่าเรื่องราวชีวิตประจำวันในกรุงนิวยอร์กของ Will Truman ทนายเกย์วัย 30 และ Grace Adler นักออกแบบภายในเพื่อนสนิทของเขา หนึ่งในฉากหลักของเรื่องคืออพาร์ตเมนต์ของวิลล์ซึ่งเป็นโจทย์ที่ทางทีมออกแบบฉากต้องขบคิดว่าพวกเขาจะสร้างสรรค์ห้องของเกย์ออกมาเป็นอย่างไร และผลลัพธ์ที่ออกมาถือว่าพวกเขาทำได้ดี ไม่มีการสร้างสเตอรีโอไทป์ให้ห้องของเกย์แตกต่างไปจากห้องของชายหนุ่มทั่วไป
อพาร์ตเมนต์ของวิลล์ตั้งอยู่บนชั้น 9 ของ อาคาร 155 Riverside Drive ใน แมนฮัตตัน นิวยอร์ก มี 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ พร้อมด้วยเตาผิง ถือเป็นเลย์เอาต์ยอดฮิตสำหรับห้องอพาร์ตเมนต์ในซิตคอมยุค 90’s และด้วยความที่วิลล์เป็นทนาย เขาจึงมีความเป็นระเบียบในตัวสูง การตกแต่งจึงเป็นสัดส่วน มองแล้วไม่รกตา เรียกได้ว่าเป็นมาตรฐานสำหรับห้องวัยทำงานในเมืองใหญ่ที่สามารถหยิบจับมาเป็นแรงบันดาลใจในการตกแต่งได้ไม่ยาก
ข้อมูล : Architecturaldigest
เรียบเรียง : Ramita Naungtongnim
WATCH