เปิดลิสต์ 5 พันธุ์ต้นไม้ด่าง ความงามจากธรรมชาติที่ทำสำเนาไม่ได้
ลายด่างที่แตกต่างจึงทำให้มันมีความสวยงามในแบบฉบับของตัวเอง
หากจะกล่าวถึงความโดดเด่นบางอย่างหรือความแปลกก็ทำให้เป็นจุดสนใจและกลายเป็นความยูนีกที่ไม่ซ้ำใคร ซึ่งเปรียบได้กับต้นไม้ด่างอันมีราคาที่ไม่ธรรมดา นั่นเพราะความด่างของมันที่ทำให้ไม่เหมือนกับต้นไม้อื่นๆ ถือเป็นความแปลกที่มีเพียงหนึ่งเดียว เลียนแบบหรือทำสำเนาไม่ได้ มันจึงมีค่ามากกว่าปกติที่เราเคยพบเห็น แต่ก่อนที่จะไปถึงลิสต์พันธุ์ไม่ด่าง เราจะพาไปทำความรู้จักก่อนว่าไม้ด่างนั้นเกิดจากอะไร และทำไมมันถึงได้ด่างเช่นนี้
ไม้ด่างเกิดจากอะไร
ความด่างเกิดจากการกลายพันธุ์ของต้นนั้นๆ หรือมาจากการด่างตามธรรมชาติ แต่ละอย่างก็จะมีปัจจัยแตกต่างกันไป เช่น การขาดสารอาหารบางชนิด ซึ่งบางสายพันธุ์ก็จะมีการส่งผลถึงการสร้างเม็ดสีของใบ ยกตัวอย่างเช่นการขาดแมกนีเซียม บางต้นใบจะกลายเป็นสีเหลือง แต่เส้นใยก็ยังคงมีสีเขียวหลงเหลืออยู่ หรืออีกกรณีหนึ่งที่เป็นการขาดฟอสฟอรัสหรือกำมะถัน ใบจะด่างเป็นสีเหลืองทั้งหมด ซึ่งความด่างจะหายไปก็ต่อเมื่อเติมสารอาหารเพิ่มเติมผ่านดิน หรืออีกปัจจัยหนึ่งคือเนื้อเยื่อใบได้รับอากาศมากเกิน ซึ่งเมื่อแสงแดดตกกระทบมาที่ใบจะเกิดเป็นใบสีเทาเงินพร้อมกับการหักเหของแสง กรณีนี้สามารถพบได้ในป่าตามธรรมชาติ แต่หากขาดแสงสว่างหรือต้นไม้อ่อนแอก็สามารถทำให้เกิดใบด่างเป็นสีขาวซีดได้ เพราะขาดตัวช่วยผลิตคลอโรฟิลล์ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ใบมีสีเขียว และในกรณีสุดท้ายคือต้นไม้นั้นเป็นโรค มีการเติบโตผิดปกติ เกิดใบลายสีด่าง เล็ก ย่น ในบางกรณีเกิดจากการมีไวรัสเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อและสารคลอโรฟิลล์ที่อยู่ในใบ
มอนสเตอร่าด่าง (Variegated Monstera)
“มอนสเตอร่าด่าง” หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “ราชินีไม้ใบ” ด้วยรูปทรงของใบขนาดใหญ่ มันวาว รอยใยมีลักษณะเป็นแฉกฉลุ สวยและสง่างาม โดยสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมนั้นก็จะเป็นมอนสเตอร่า เดลิซิโอซ่า หรือในชื่อไทยเรียกว่าพลูแฉกหรือพลูฉีก เป็นต้นไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในอากาศร้อนชื้นแบบเมืองไทย ใบจะมีลักษณะด่างขาวหรือด่างเหลือง หรืออีกลักษณะหนึ่งจะมีการกระจายจุดเป็นสีขาวคล้ายลายของหินอ่อนตลอดทั้งใบ บางใบก็ด่างแบบสีงาครึ่งใบ ไปจนถึงด่างลงก้าน กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครดึงดูดความสนใจของคอไม้ด่างได้อย่างง่ายดาย
WATCH
บอนกระดาดด่างขาว หรือ หูช้าง (Variegated Alocasia)
บอนกระดาดด่างขาวเป็นไม้ล้มลุก มีหัวอยู่ใต้ดินและมีลักษณะการเติบโตมาเป็นแบบกอ สามารถสูงได้มากถึง 2 เมตร ลำต้นสั้นตั้งตรง เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มีลักษณะใบรูปไข่แกมรูปหัวใจ ซึ่งจะมีความกว้างจะอยู่ที่ 25 – 60 ซม. และความยาวอยู่ที่ 30 – 90 ซม. ใหญ่สมกับชื่อหูช้าง ขอบในมีลักษณะเป็นคลื่น โคนเว้าลึก ปลายใบเป็นติ่งแบบแหลม และด้วยความใหญ่ของกอทำให้ต้นปกติก็มีความสวยงามโดดเด่นอยู่แล้ว หากยิ่งมีความด่างเพิ่มเข้ามาก็ทำให้เป็นต้นไม้ด่างที่มีความสวยงามโดดเด่นและเป็นกระแสได้อย่างรวดเร็ว
ยางอินเดียด่าง (Ficus elastica variegata)
ยางอินเดียด่างเป็นต้นไม้ที่เป็นกระแสแรงตั้งแต่ยังไม่เป็นไม้ด่าง ด้วยฟอร์มต้นที่สง่างามสามารถเลี้ยงในอาคารได้ ทำให้ได้รับความนิยมอย่างมากโดยยางอินเดียนั้นมีถิ่นกำเนิดมาจากมาเลเซียและอินเดีย บริเวณใบมีโค้งมนและมีขนาดใหญ่กำลังพอดี สีของใบจะเข้มสวยเหมือนไทรใบสัก แต่ลายด่างจะมีทั้งด่างสีขาว และด่างชมพู ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมภายนอกที่ทำให้เกิดสี เป็นพันธุ์ไม้ที่มีเสน่ห์ทั้งแบบด่าง และไม่ด่างเลยทีเดียว ใครที่กำลังเริ่มหาต้นไม่สักต้นไว้เพิ่มอากาศบริสุทธิ์ให้กับบ้าน หรือประดับเพื่อความสวยงามแบบมินิมัล สบายตา สามารถเริ่มต้นที่ยางอินเดียได้เพราะทั้งสวยและดูแลง่ายอีกด้วย
เสน่ห์จันทร์ขาวด่าง (Homalomena lindenii)
คนไทยเรียกว่าว่านเสน่ห์จันทร์ขาวmujนอกจากเป็นไม้ใบสวยงามแล้ว ยังเป็นไม้ประดับมงคลตามตำราว่านของไทยอีกด้วย เป็นพันธุ์ไม้ที่มีความโดดเด่น สวยงามของใบเป็นอย่างมาก ลักษณะของต้นแบบด่างคือใบสีเขียวและปลายใบนั้นจะไล่ระดับสีเป็นเขียวหรือเหลืองไปจนสุดปลายใบ หรือบางต้นจะมีพื้นสีของใบเป็นสีเหลืองอ่อน แซมด้วยสีเขียวเป็นริ้วๆ ตามเส้นใบ หรือด่างบางชนิดจะเป็นครึ่งใบกันเลยทีเดียว ใครกำลังมองหาต้นไม้ด่างที่มีความหมายดีๆ เป็นไมhมงคลเข้ากับความเชื่อแบบไทยมาประดับบ้าน ต้นเสน่ห์จันทร์ขาวด่างถือเป็นไม้ที่ตอบโจทย์อย่างมาก
ต้นเฮลิโคเนียด่าง (Variegated Heliconia)
ต้นเฮลิโคเนียหรือต้นธรรมรักษา มีลักษณะที่ใบยาวเรียวคล้ายกับใบกล้วยต้นเล็ก แต่เนื้อใบมีขนาดที่เล็กและแข็งกว่าใบกล้วย โดยปกติใบมีสีเขียวล้วนทั้งใบ แต่สำหรับเฮลิโคใบด่าง จะมีสีเขียวแกมเหลืองอ่อนหรือลายขาวเขียวแตกต่างกันไป ลักษณะดอกเป็นดอกกลีบแข็งสีส้มลักษณะเป็นชั้นๆ เหมาะสำหรับการปลูกเพื่อความร่มรื่นโดยปลูกในที่ร่มหรือกลางแดดก็ได้ ดูแลง่ายและขยายพันธ์ุโดยการแตกหน่อ เรียกว่าปลูกกอเดียวก็สามารถงอกลุกลามเป็นรั้วกั้นบริเวณได้ หากปลูกแบบใบด่างก็จะได้ความสวยงามแปลกตา เมื่อออกดอกสีส้มสดก็จะตัดกับสีด่างขาวของใบอย่างน่าหลงใหล
ภาพ : thechapt, blog.leonandgeorge, rooted.sg, EBAY, thursd, superbotanica
ข้อมูล : thechapt, bobvila
เรียบเรียง : วราภรณ์ หงส์วรางกูร
WATCH