FASHION
แบรนด์ไทยที่คว้ารางวัลระดับโลก WISHARAWISH กับอุดมการณ์สานต่อผ้าไทยให้โมเดิร์น
|
เมื่อพูดถึงแบรนด์ไทยตอนนี้กำลังเข้าสู่เส้นทางเปิดกว้างมากขึ้น แน่นอนว่าเมื่อโอกาสเปิดเหล่าดีไซเนอร์มีช่องทางแสดงศักยภาพมากขึ้น กล้าใช้วัสดุที่สร้างความแตกต่างและโดดเด่นอย่างการใช้ผ้าไทยหลายชนิด ถึงแม้ในปัจจุบันนักออกแบบมากหน้าหลายตาเกิดขึ้นอย่างมากมาย การแข่งขันสูงขึ้นต้องยิ่งเพิ่มขีดจำกัดของตัวเองและพาแบรนด์ยืนหยัดอยู่ให้ได้ ตัวอย่างของผู้ที่ยืนหยัดได้คือ คุณอู๋-วิชระวิชญ์ อัครสันติสุขดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH
พิเศษ! โว้กได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณอู๋เป็นการส่วนตัวเกี่ยวกับแบรนด์และแนวทางการใช้ผ้าไทย สอดคล้องไปถึงชุดของนางงาม 5 ประเทศในงาน Thai Night มิสยูนิเวิร์ส 2018 นี้
สีสันผ้าไทยในสไตล์ร่วมสมัยของแบรนด์ / ภาพ: WISHARAWISH
“สำหรับความเป็นมาของแบรนด์วิชระวิชญ์ เริ่มได้รับโอกาสมาทำงานออกแบบจริงจังกับ Greyhound ในช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนจะไปเรียนต่อสายการออกแบบแฟชั่นโดยตรงที่ประเทศฝรั่งเศส พอกลับมามีคนต้องการอยากให้ตัดให้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์วิชระวิชญ์ งานส่วนใหญ่ยังคงยึดรูปแบบงาน Customize หรือทำตามสั่งเป็นหลัก โดยที่ทางแบรนด์เราพยายามที่จะทำให้งานของไทยไปสู่ระดับสากล นั่นคือสิ่งที่วิชระวิชญ์คิดและทำอยู่ตลอดเวลาเราจึงเริ่มสร้างแนวคิดเรื่องการ “Re-value” หรือการสร้างคุณค่าใหม่ๆ ให้วัสดุที่เราหยิบจับขึ้นมาใช้ได้หลากหลายมากขึ้น แปลกใหม่ขึ้น สร้างมูลค่ามากขึ้น ไม่จำเป็นต้องตามกฎเสมอไป การนำความคลาสสิกผสมกับความทันสมัยสะท้อนความเป็นวิชระวิชญ์ได้เป็นอย่างดี”
ลักษณะผ้าไหมบุรีรัมย์ / ภาพ: สมาคมท่องเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์
“เราคนไทยก็เกิดมาพร้อมผ้าไทยเดิมทีอยู่ที่บุรีรัมย์ ย้อนความหลังไปก็จำความได้ว่าเห็นผ้าไหมไทยมาตลอด แต่กว่าจะรู้ว่ามันมีคุณค่ามหาศาลก็ใช้เวลาทำความเข้าใจมันพอสมควร เพราะอย่างนี้มุมมองเกี่ยวกับผ้าไทยคืออยากรักษามันให้ดำรงอยู่ ไม่อยากมองว่ามันเหมาะต่อโอกาสพิเศษเท่านั้น อยากให้สิ่งที่เราผลิตจากผ้าไทยใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันด้วย”
WATCH
คุณอู๋-วิชระวิชญ์ เจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH รับรางวัลยจากงาน Mango Fashion Awards 2012 / ภาพ: Zimbio
จากความตั้งใจเกี่ยวกับผ้าไทยและการออกแบบทำให้แบรนด์วิชระวิชญ์ก้าวไกลสู่ระดับโลกในมุมมองของคุณอู๋เจ้าของแบรนด์เล่าว่า “สิ่งที่ทำให้คนรู้จักแบรนด์อย่างกว้างขวางเลยก็คือการชนะเลิศ Mango Fashion Awards ที่ประเทศสเปน ในปี 2012 หลังจากนั้นผลงานชุดผ้าไทยผสมความทันสมัยยังมีกลุ่มติดตามอย่างเหนียวแน่น นับเป็นโอกาสดีที่ได้แสดงโชว์ที่ฝรั่งเศสอีก 3 ครั้งรวมถึงในอีกหลายประเทศถึงแม้จะมาถึงจุดนี้แต่จะไม่ยอมทิ้งจุดยืนของแบรนด์ เพียงแต่ใช้รางวัลเป็นประตูโอกาสให้เราได้นำเสนอรูปแบบใหม่ๆ และใช้ผ้าไทยเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนของไทยครับ”
การออกแบบชุดจากผ้าบาติค 3 จังหวัดชายแดนใต้ของ WISHARAWISH / ภาพ: WISHARAWISH
“ตอนนี้นอกเหนือจะผ้าไหมที่คนทั่วโลกรู้จัก เรายังพยายามสรรหาผ้าหลาย ๆ รูปแบบจากต้นตอแหล่งกำเนิดโดยตรง ซึ่งผ้าแต่ละชนิดมีคุณค่าและลักษณะพิเศษในตัวเอง เราพยายามผลักดันให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้สิ่งทอเหล่านี้ไม่สูญหายและวิ่งสู่ระดับสากลด้วย ต้องบอกเลยว่านักออกแบบอย่างเราไม่ใช่แค่ช็อปปิ้งผ้า ถ้าไม่มีผู้ผลิตต้นทางเราก็อยู่ไม่ได้ ตอนนี้เหมือนวิชระวิชญ์มีญาติอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศคอยสนับสนุน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน”
บรรยากาศนิทรรศการ MADE BY PARIS? ปี 2016 / ภาพ: WISHARAWISH
นอกจากที่มาและพันธกิจของแบรนด์แล้วโว้กยังได้พูดคุยถึงเรื่องของอนาคตของแบรนด์ วิชระวิชญ์มีเรื่องให้น่าติดตามต่อไปอนาคตอยู่เรื่อย ๆ จากความตั้งใจของคุณอู๋ “เรากำลังจะเปิดดีไซน์สตูดิโอ เป็นออฟฟิศของทางแบรนด์เองเพื่อเป็นพื้นที่ออกแบบทำงาน และศูนย์รวมเรื่องผ้าย่อม ๆ สำหรับการออกแบบร่วมสมัยภายใต้รูปแบบผ้าไทยและยังมีโปรเจกต์ป๊อปอัพสโตร์เปิดที่ปารีส มีทั้งผลิตภัณฑ์ของแบรนด์เราเองหรือจะเป็นของผู้ประกอบการที่เราเห็นว่ามีแววพัฒนาต่อยอดได้ต้องคอยติดตามช่วงหลังฤดูร้อนปี 2019 ครับ”
คุณอู๋-วิชระวิชญ์และเหล่านางงามในชุดราตรีไทยจากแบรนด์ในงาน Thai Night / ภาพ: WISHARAWISH
และจากผลงานการันตีฝีมือของคุณอู๋นับไม่ถ้วน แบรนด์วิชระวิชญ์ได้มีโอกาสออกแบบชุดราตรีผ้าไทย5 ชุดให้กับนางงามตัวแทนจาก 5 ประเทศในค่ำคืนงาน Thai Night คุณอู๋กล่าวว่า “ทางเราโชคดีได้สีที่มีความหวานและเราสนุกกับมัน เราเน้นคอนเซปต์ที่ของการเจอกันครึ่งทางระหว่างนางแบบกับการดีไซน์ เพราะอยากให้มันออกมาลงตัวเหมาะสมที่สุดกับแต่ละคน จึงเกิดนิยามว่าเป็นผู้หญิงเรียบร้อย น้อย สวยงามใช้ผ้าไทยเป็นตัวขับความสวยของนางงาม”
นางงามทั้ง 5 ประเทศในชุดราตรีผ้าไทยจาก WISHARAWISH
“ฟอร์มการทำก็ไม่ต่างกันมากเพียงแต่ปรับเทคนิคและรายละเอียดเรื่องการจับจีบต่างๆ เล็กน้อย ธีมดอกไม้มงคลก็อยู่ในลวดลายปักมือ มีการเล่นหนักเบาให้เหมาะสมกับสอดรับกับนางงามและต้องโดดเด่น ในขณะเดียวกันต้องสร้างความเป็นกลุ่มเดียวเพื่อความยุติธรรม แล้วจะเห็นได้ว่าชุดเหล่านี้แสดงถึงความทันสมัยและกล้าที่จะลองของวิชระวิชญ์ ทั้งการปล่อยผ้าให้พริ้วไม่อัดกาวตามแบบสมัยโบราณเพื่อเพิ่มมิติของผ้ามากขึ้น หรือจะเป็นการใส่ซิปแบบไม่ซ่อน บางครั้งเราก็ไม่ต้องตามขนบทุกอย่าง ปีหน้าก็ 2019 แล้วพยายามพัฒนาวัฒนธรรมและมองข้ามบางอย่างไปบ้าง”
บรรยากาศงาน Thai Textiles: Ready To Wear ปี 2018 / ภาพ: WISHARAWISH
สุดท้ายคุณอู๋-วิชระวิชญ์ ฝากถึงแฟน ๆ โว้กว่า “อยากให้ช่วยกันใช้ผ้าไทยไม่จำเป็นต้องใช้แบบโททัลลุคก็ได้ ลองเอามามิกซ์แอนด์แมชต์กันดู จะได้มีผ้าไทยที่สวยงามใช้ไปตลอดและสุดท้ายอยากให้ช่วยเป็นเจ้าบ้านที่ดีสำหรับการประกวดมิสยูนิเวิร์สครั้งนี้ เพราะความสวยงามของไทยไม่ได้มาจากชุดและผ้าเพียงเท่านั้น”
ดังที่ดีไซเนอร์ในเส้นทางผ้าไทยสายเดียวกันหลายคนได้เคยกล่าวไว้เป็นเสียงเดียวว่าทุกคนช่วยชาติได้ในสาขาที่ตัวเองถนัด เช่นเดียวกับสาขาแฟชั่นดีไซเนอร์ ถือได้ว่าแบรนด์วิชระวิชญ์เป็นตัวอย่างที่ดียิ่งในการยิ่งในการใช้ผ้าไทยตามยุคสมัย เพื่อสร้างเส้นทางการเดินหน้าต่อของวัฒนธรรม และยังช่วยรักษามรดกของประเทศไว้ผ่านความถนัดด้านการออกแบบ การันตีด้วยรางวัลจากเวทีแฟชั่นระดับโลก นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เราควรจับตามองแบรนด์แฟชั่นไทยแบรนด์นี้ไว้ให้ดี
ภาพผลงานการออกแบบเพิ่มเติมของแบรนด์ WISHARAWISH
Contemporary Essence
Contemporary Southern Batik
WISHARAWISH for Mango Fashion Awards 4th Edition (2012)
ชุดราตรีผ้าไทยของนางงามประเทศโคลอมเบียในงาน Thai Night
WATCH