FASHION

Angela Ponce สตรีข้ามเพศคนแรก! และความเท่าเทียมของ “คน” บนเวทีมิสยูนิเวิร์ส

นี่คือสตรีข้ามเพศคนแรกที่ได้เข้าประกวดบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส

     Empowering Women วลีภาษาอังกฤษที่ถูกชูโรง ให้กลายเป็นหัวใจหลักสำคัญในวันที่เวทีประกวดมิสยูนิเวิร์สครั้งที่ 67 ประจำปี 2018 ยอมบินลัดฟ้า ข้ามทะเลมาจัดการประกวดครั้งล่าสุดที่ประเทศไทย และนอกเหนือจากจำนวนผู้เข้าประกวดที่ได้สร้างสถิติใหม่ สูงที่สุดในประวัติการณ์ที่เคยมีการประกวดมา นิยามของคำว่า “Women” ในครั้งนี้ ยังถูกท้าทายจากประเทศสเปน ที่ได้ตัดสินใจส่ง Angela Ponce สตรีข้ามเพศคนแรกบนหน้าประวัติศาสตร์การประกวดมิสยูนิเวิร์สเข้าประกวดอย่างเป็นทางการ จนกลายเป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง มิใช่เพียงวิธีการรับมือของกองประกวด หากยังรวมไปถึงกระแสโลกที่มีปฎิกิริยาต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้อีกด้วย

     สำหรับผู้ที่ติดตามเวทีนี้มาเป็นเวลานานก็คงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เวทีอันทรงเกียรติแห่งนี้ถูกท้าทายจุดยืน เพราะเมื่อได้ย้อนกลับไปในปี 2016 ปีเดียวกันกับผู้เข้าประกวดสาวไทยอย่าง น้ำตาล-ชลิตา ส่วนเสน่ห์ เรายังได้เห็นประเทศแคนาดาส่งผู้เข้าประกวดสาวพลัสไซส์นาม Siera Bearchell เพื่อพร่าเลือนพรมแดนของนิยามความงาม แสดงให้เห็นว่าตัวเราเองเท่านั้นที่มีสิทธิ์ตัดสินในความงามของตัวเรา และทุกคนมีความงามในตัวเอง ซึ่งในครั้งนั้นยังเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปใน 2 ทางด้วยกัน ทางหนึ่งก็ว่า ชื่นชมในความกล้าหาญของกองประกวดอันเป็นเวทีนางงามที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ที่ได้พาสาวพลัสไซส์ขึ้นอวดโฉมพร้อมกับสาวงามอีกกว่าค่อนโลก ย้ำเตือนให้โลกนี้ได้ประจักษ์ว่าความงามนั้น แท้จริงมีหลายรูปแบบ มิใช่แค่เพียงสาวผมบลอนด์ ผิวขาว หรือนัยตาสีฟ้า อย่างที่เคยเป็นมา (ส่วนใหญ่) ในยุคที่มิสยูนิเวิร์สอยู่ในครอบครองของโดนัล ทรัมป์ เท่านั้น

Siera Bearchell นางงามพลัสไซส์ ตัวแทนจากประเทศแคนาดาบนเวทีมิสยูนิเวิร์สปี 2016 / ภาพ : Alex Mertz     

 

     หากก็ยังมีอีกฝ่ายที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในทางติเตียนที่ว่า กองประกวดได้พาเธอคนนี้เข้ารอบมาก็เพื่อใช้เป็นเพียงแค่หมากตัวหนึ่งบนกระดานเกม ทืี่มีผลในการเรียกเรตติ้งให้กับเวทีประกวดก็เท่านั้น ก่อนที่จะปัดเธอตกรอบไปโดยที่โลกยังไม่ได้ฟังทัศนคติของเธอคนนี้บนเวทีเลยแม้แต่น้อย ซึ่งจะว่าไปแล้ว การจับไมค์ตอบคำถาม นั้น เป็นอีกหัวใจหลักสำคัญของเวทีอันทรงเกียรตินี้ในยุคของ Paula Shugart เลยก็ว่าได้... นับเป็นกรณีศึกษาที่ทำให้เราหลายคนเดาได้เลยว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับ Angela Ponce หลังจากนี้จะเป็นเช่นไร เพราะทุกทางหลังจากนี้จะมีกระแสตีกลับมาอย่างแน่นอน ไม่ว่ากองประกวดจะปัดเธอตกในรอบแรกทันที , พาเธอเข้ารอบ 10 คนสุดท้าย, พาเธอเข้ารอบ 5 คนสุดท้าย, พาเธอเข้ารอบ 3 คนสุดท้าย (ที่อาจจะทำให้เธอกลายเป็นแค่หมากตัวหนึ่งอย่างที่ใครๆ วิพากษ์ไว้) หรือแม้แต่พาเธอไปจนถึงมงกุฎจนได้ในที่สุด (ที่อาจจะทำให้เวทีนี้ถูกครหาในฐานะของเวทีสำหรับ “ผู้หญิง” มากว่าค่อนศตวรรษ) ไม่ว่าจะเป็นไปในทางใดที่กล่าวมา สิ่งที่กองประกวดเองต้องทำก็คือ ต้องเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะตามมาให้ดี เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องของนางงามเพียง 1 คนอีกต่อไป แต่หมายถึงหมุดหมายในอนาคตหลังจากนี้ของโลกใบนี้ว่่าจะหมุนไปทางใดด้วยเช่นกัน

Angela Ponce นางงามสตรีข้ามเพศ ตัวแทนจากประเทศสเปนในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 / ภาพ : MissUniverse

 

     แต่สุดท้ายสิ่งสำคัญที่สุดของการประกวดที่เราต้องคำนึงถึงด้วยในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ความงาม หรือเพศวิถีเท่านั้น หาก Performance  ของตัวนางงามที่ต้องแสดงออกให้คนทั้งโลกได้เห็นนั้นก็ต้องสอดคล้องกันไปตามกติกา ผู้เขียนเชื่อว่าหากความงาม และความสามารถของ Angela Ponce ถึงพร้อม และเป็นที่ประจักษ์ต่อทุกสายตาทั่วโลกแล้วนั้น ก็ไม่ต้องกลัวอะไรอีกต่อไป... นับเป็นเรื่องท้ายทายไม่ใช่แค่กับกองประกวดเท่านั้น แต่รวมไปถึงประเทศสเปน, ตัวของนางงาม Angela Ponce เอง, เพื่อนนางงามอีกเกือบร้อยชีวิต และพวกเราทุกคนด้วยเช่นกัน

     ไม่ว่าคำตอบสุดท้ายที่เราจะได้ยินกันในวันที่ 17 ธันวาคม 2561 ต่อประเด็นนี้จะเป็นเช่นไร สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะบอกก็คือ อย่างน้อยเวทีประกวดนางงามที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งนี้ก็ได้แสดงให้เราทุกคนเห็นแล้วว่า เรื่องของการประกวดนางงามไม่ใช่เพียงเรื่องไร้สาระอีกต่อไป หากเป็นฉากหนึ่งที่สามารถจำลอง และสะท้อนประเด็นปัญหาที่กำลังได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกได้เป็นอย่างดี อีกทั้งการยอมรับนางงามสตรีข้ามเพศเข้ามาในการประกวดครั้งนี้ ก็แสดงให้โลกใบนี้เห็นอีกเช่นกันว่า การเรียกร้องความเท่าเทียมของความเป็น “คน” ตลอดระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานั้น ไม่ได้สูญเปล่าไปตามลมเสียทีเดียว...



WATCH




WATCH