FASHION
ทำความเข้าใจ Self-Isolation, Self-Quarantine และ Social Distancing แตกต่างกันอย่างไร
|
โรคระบาดแพร่กระจายไปทุกซอกทุกมุมของโลก ความโหดร้ายไม่ใช่เพียงการทำให้ผู้คนล้มป่วยหรือถึงขั้นเสียชีวิตเท่านั้น การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ยังสร้างหายนะทางอ้อมมากกว่านั้นอย่างมหาศาล ไล่ตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจ วิถีชีวิต การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และการเผยธาตุแท้ของมนุษย์ในหลายแง่มุม เพราะฉะนั้นโรคร้ายที่แพร่กระจายไปทั่วทั้งโลกตอนนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมได้อย่างดีที่สุด โดยเฉพาะในสภาวะวิกฤติเช่นนี้ เราอาจเคยได้ยินคำว่า “Self-Isolation” หรือจะเป็น “Self-Quarantine” และอีกหนึ่งคำอย่าง “Social Distancing” วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจกันว่าแต่ละอย่างเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร รวมถึงเปิดมุมมองว่าควรทำอย่างไรกันแน่ในภาวะการแพร่ระบาดรุนแรง (Pandemic) เช่นนี้
ภาพ: Bob Gorrell
เรามาเริ่มกันที่ Self-Quarantine หรือการกักตัวเองขั้นแรกก่อนดีกว่า ขั้นตอนนี้เหมาะสำหรับคนมีแนวโน้มเสี่ยงแต่ไม่มีอาการ ความเรียบง่ายของคำนี้สร้างนัยยะสำคัญให้กับวิธีการปฏิบัติตัวต่อสังคมอย่างยิ่ง เมื่อความเสี่ยงคืบคลานเข้ามาสิ่งนี้จำเป็นอย่างยิ่งในการระงับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส อธิบายอย่างง่ายคือเราสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติที่สุด สามารถออกไปเดินวิ่งหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ เพียงแต่หลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การดำเนินชีวิตแบบนี้มีไว้สำหรับป้องกันความเสี่ยงในการแพร่ระบาดจากสาเหตุที่เรามีประวัติใกล้ชิดกับผู้ป่วยแต่ยังคงสุขภาพดีอยู่ หัวใจสำคัญคืออย่าเอาตนเองไปอยู่ในความเสี่ยง หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่ม แต่ยังคงปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในเบื้องต้นได้ อาจจะเรียกว่ากักตัวได้ไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์นัก แต่นี่คือขั้นแรกของการเฝ้าระวังตัวเองและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการแพร่ระบาดโดยไม่จำเป็น
ภาพ: Nadia Bormotova
Self-Isolation คือขั้นกว่าของการกักกันตัวเองแบบสมบูรณ์ การปลีกตัวออกจากกลุ่มสังคมนั้นไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อตนเองเท่านั้นแต่ยังเป็นสามัญสำนึกของผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมด้วย การกักตัวเองในระดับการปลีกตัวนี้ใช้สำหรับผู้ที่มีอาการเบื้องต้นแบบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ช่วงก่อนและหลังตรวจโรค รวมถึงเมื่อพบว่าตนเองรับเชื้อไวรัสแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะพบอาการไม่รุนแรงนักและจะรักษาหายได้ภายในหลักสัปดาห์แต่ไม่ถึงเดือน แต่ก็อย่าประมาทเพราะการมีอาการเพียงเล็กน้อยไม่ใช่ว่าจะไม่แพร่กระจาย การแยกตัวออกจากสังคมจึงสำคัญอย่างมากในภาวะการแพร่ระบาดแบบนี้ ขั้นกว่าของการกักตัวเองนี้หมายถึงผู้มีอาการป่วยต้องอยู่บ้าน(ดีที่สุดคืออยู่เฉพาะในห้องส่วนตัว)โดยไม่ออกไปไหนเพื่อตรวจสอบอาการตนเองพร้อมปรึกษาแพทย์ผ่านช่องทางต่างๆ โดยไม่ต้องเดินทาง ต้องรักษาระยะห่างกับคนในบ้านอย่างมีวินัย รักษาความสะอาดขั้นสูงสุดและจัดสรรการใช้งานสิ่งของต่างๆ ภายในบ้านโดยไม่ปะปนกับผู้อื่นอย่างเช่น ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ จาน หรือแม้แต่พรมหน้าห้อง เพราะฉะนั้นนี่คือช่วงเวลาที่จะมีเวลาปลีกวิเวกเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ของตนเองโดยไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป และภายในระยะเวลาเสี่ยงเราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
WATCH
ภาพ: iStock
ปิดท้ายด้วย Social Distancing หรือ การเพิ่มระยะห่างทางสังคมถือเป็นวิธีการป้องกันการระบาดที่ได้คำแนะนำจากองค์กรอนามัยโลก (WHO) ซึ่งคนมักตั้งคำถามว่าคำนี้คืออะไรกันแน่...หากอธิบายแบบรวดเร็วที่สุด นี่คงเป็นเหมือนคำนิยามภาพกว้างที่ค่อนข้างครอบคลุบการกักตัวและการปลีกตัวออกจากสังคมไว้เรียบร้อย การเพิ่มระยะห่างนั้นสามารถทำได้ด้วยจิตสำนึกของแต่ละคน อย่างที่กล่าวไปว่าคำนี้มีความหมายครอบคลุมค่อนข้างกว้าง เริ่มจากการเว้นระยะห่างเมื่อเข้าสังคมคือการไม่ประชิดติดตัวผู้อื่นหลีกเลี่ยงการรวมตัวกันในสถานที่แออัดและเว้นระยะห่างจากบุคคลอื่นประมาณ 2 เมตรเพื่อป้องกันการติดเชื้อผ่านละอองฝอยจากการไอหรือจาม หากเป็นบุคคลธรรมดาเราสามารถเพิ่มระยะห่างได้ในชีวิตประจำวันเช่นทิ้งระยะห่างเมื่อนั่งรับประทานอาหารหรือทำกิจกรรมใดๆ และไม่นำตัวเองไปอยู่ในสถานที่เสี่ยงที่ง่ายต่อการแพร่กระจายของโรคหรืองดเว้นการเข้าสังคมโดยไม่จำเป็นนั่นเอง ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิมแต่สามารถปรับเปลี่ยนรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อความปลอดภัยในชีวิต
ภาพ: Tiny Buddha
แต่สำหรับผู้มีอาการป่วยหรือคิดว่าสุ่มเสี่ยง การเพิ่มระยะห่างควรแยกจากผู้อื่นไปอย่างจริงจังตามหลักทั้งการกักตัวเองและการปลีกตัวเองออกจากสังคม แต่คำว่าเพิ่มระยะห่างทางสังคมยังมีการนิยามบริบทที่ละเอียดขึ้นด้วยเช่นคำแนะนำเรื่องการทำงานในสภาวะเสี่ยง เช่นสลับการทำงาน งดเดินทาง งดการประชุม และอื่นๆ อีกมากมาย เพราะฉะนั้นการเพิ่มระยะห่างทางสังคมถึงแม้จะฟังดูละม้ายคล้ายกับอีก 2 วิธีข้างต้นแต่เมื่อพิจารณาแล้วคือการเติมเต็มรูปแบบชีวิตของคนทั่วไปในสังคมโดยไม่จำเป็นต้องป่วยหรือมีความสุ่มเสี่ยง ถือเป็นวิธีที่ช่วยชะลอการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้ดีที่สุด เท่ากับว่าเรายังคงใช้ชีวิตได้ตามปกติเพียงแต่รักษาระยะห่างซึ่งกันและกันไว้ เท่านี้การดำรงชีวิตของเราก็จะไม่ทำให้เรารู้สึกเคว้งคว้างโดดเดี่ยวยังคงร่วมอยู่ในสังคมได้เพียงแต่เข้มงวดต่อข้อจำกัดให้มากขึ้น ไม่แน่นี่อาจจะถึงเวลาที่เราได้ทบทวนมาตรการความปลอดภัยเรื่องสุขภาพของตนเองและรู้จักระมัดระวังทุกย่างก้าวในชีวิตมากขึ้น
ภาพ: Crystal Cox/Business Insider
แต่เดี๋ยวก่อนการเพิ่มระยะห่างทางสังคมมีนัยยะที่สำคัญกว่านั้นมากขอให้ตัดภาพ “Social Distancing” ซึ่งจะสร้างความสับสนเชิงภาษาศาสตร์ออกไปก่อน และเรามาให้ความสำคัญกับคำว่า “Physical Distancing + Social Solidarity” คือเราเพิ่มระยะห่างกันเพียงทางกายภาพแต่รูปแบบสังคมยังต้องยึดเหนี่ยวกันให้เหนียวแน่นเช่นเดิม เราไม่ได้ “เพิ่มระยะห่างทางสังคม” ในแบบที่ต้องตัดขาดการเชื่อมต่อซึ่งกันและกัน ตัวเราห่างแต่จิตใจและความรู้สึกยังเอื้อถึงกันเสมอ เพราะฉะนั้นไวรัสโควิด-19 อาจทำให้กายเราต้องห่างกันอย่างไม่มีข้อแม้ แต่เรายังต้องใส่ใจคนรอบตัว รู้จักการปรับตัวให้สังคมยังคงเหนียวแน่นโดยไม่ต้องพาร่างกายมาใกล้ชิดให้เกิดความเสี่ยง นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด โรคทำร้ายเราได้เพียงกายแต่แยกความเป็นปึกแผ่นของมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคมไปไม่ได้...ขอขอบคุณ CIVICUS กับนิยามการเพิ่มระยะห่างที่คำนึงว่าสังคมยังต้องเป็นสังคม ตอนนี้เราระแวงกันและกันมากพอแล้ว จงอย่ารังเกียจกัน เพียงแต่รักษาระยะห่างให้เหมาะสมและปฏิบัติต่อผู้อื่นโดยมองเขาเป็นเพื่อนมนุษย์อันเท่าเทียมแค่นั้นเอง
WATCH