FASHION
ลิซ่าจะไม่ใช่เหยื่อคนสุดท้าย! ในเมื่อสังคมไทยทำให้การคุกคามทางเพศกลายเป็นเรื่องปกติ
|
จากลิซ่าสู่คนธรรมดาปัญหาโลกแตกที่เกิดขึ้นจริงแต่สังคมกลับมองข้ามมาตลอด วันนี้ถึงคราวต้องป่าวประกาศให้ชัดเจนว่า “Sexual Harassment” หรือ “การคุกคามทางเพศ” เป็นเรื่องผิดเชิงมนุษยธรรมอย่างไม่น่าให้อภัย แล้วอะไรคือรากลึกที่ทำให้สิ่งนี้เป็นเรื่องปกติในสังคมไทยอย่างน่าประหลาด กฎเกณฑ์อะไรที่นิยามว่าคือการคุกคาม และสิ่งเหล่านี้จะสร้างผลเสียอะไรกับทั้งผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ และสังคมบ้าง วันนี้การเรียกร้องของกลุ่มคนผู้ตระหนักถึงความโหดร้ายนี้จะไม่สูญเปล่า เราจะนำเสนอพร้อมไขทุกข้อสงสัยให่้กระจ่างว่าการคุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องเล่นและตลกที่ถูกเมินเฉยอีกต่อไป
การ์ตูนแสดงท่าทางการคุกคามทางเพศแบบตรงไปตรงมา / ภาพ: peoplematters.in
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจกับการคุกคามทางเพศก่อน คำว่า “คุกคาม” ไม่ได้หมายถึงแค่การกระทำทางร่างกายอย่างเดียวเท่านั้น หลายคนอาจมีความคิดว่าการคุกคามจะออกมาในรูปแบบของความตรงไปตรงมาเช่น การลวนลาม การแอบสะกดรอย ใช้สายตา ต่างๆ นานา แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่คุกคามทั้งหญิงและชายมากที่สุดคือคำพูดและตัวอักษร ต้องบอกว่ายังดีที่คนเข้าใจว่าการพูดจาส่อเสียดแทะโลมหื่นกามโดยตรงต่างๆ คือการคุกคามทางเพศ แต่ในอีกแง่หนึ่งบางคำพูดสำหรับบางคนนั้นถูกมองว่าปกติ ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วเป็นการคุกคามทางเพศต่อบุคคลอื่นโดยไม่รู้ตัว (Unconscious mind leads to action) ปัจจัยนี้เองทำให้ความผิดเพี้ยนทางสังคมที่ควรถูกเพ่งเล็งกลับกลายเป็นเรื่องปกติของสังคมโดยแทบไม่มีใครตระหนักถึง และเชื่อไหมว่าสิ่งเหล่านี้ยังปรากฏอยู่ในสื่อกระแสหลักอย่างภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ รวมถึงไปถึงช่องทางโซเชียลมีเดียของไทยเสมอมา
ลิซ่าแห่งวง Blackpink ขณะถ่ายภาพ ณ ร้านคาเฟ่ที่เป็นประเด็น / ภาพ: @lalalalisa_m
ช่วงนี้หลายคนคงตามกระแส #มูนคาเฟ่ชั้นต่ำ กันมาอยู่แล้ว เราจึงจะย้อนความให้ฟังแบบคร่าวๆ พอปะติดปะต่อเกี่ยวกับบทความได้ คือ ลิซ่า แห่งวง Blackpink ได้โพสต์ภาพไปที่ร้านคาเฟ่แห่งหนึ่งและเจ้าของร้านโพสต์พร้อมตั้งแคปชั่นเกี่ยวกับโซฟาในร้านว่ามีคนติดต่อขอซื้อแต่ราคายังไม่โดนใจนี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ หลังจากนั้นก็เป็นประเด็นดราม่าเริ่มหนักเมื่อเพื่อนๆ เข้ามาคอมเมนต์อย่างสนุกปากทั้ง “ขอดม” ไปถึงขั้น “ล้างหรือยัง” กลายเป็นเรื่องขำขันแต่ไม่ขำ เรื่องนี้ยาวยืดไปถึงประเด็นห้องน้ำ แก้วน้ำ และสิ่งต่างๆ มากมายที่ลิซ่าใช้ในร้าน งานนี้จะเรียกว่าซวยก็ไม่ได้ที่ร้านเปลี่ยนโอกาสเป็นวิกฤติ เพราะทั้งหมดเกิดจากกระทำโดยไม่ไตร่ตรองอย่างแท้จริง ดราม่าเดือดครั้งนี้จุดประเด็นให้เราอยากพูดถึงเรื่องการคุกคามทางเพศโดยจิตไร้สำนึกอย่างจริงจัง
WATCH
รูปภาพบนโซฟาที่กลายเป็นเรื่องเด่นตั้งแต่ต้นปี 2020 / ภาพ: @lalalalisa_m
“แค่คะนองปาก” คำนิยามที่ผู้ประกาศข่าวรายหนึ่งใช้อธิบายพฤติกรรมคุกคามโดยไม่ผ่านการไตร่ตรองเหล่านี้เป็นเหตุให้เขาเองก็โดนจวกยับหลังจากพูดทันที พฤติกรรมเมินเฉยต่อการคุกคามโดยสร้างเกราะป้องกันให้การกระทำผิดๆ เหล่านี้กลายเป็นเรื่องปกติในสังคมมีมาเนิ่นนาน การคุกคามทางเพศถูกผลิตซ้ำผ่านสื่อช่องทางต่างๆ ในสังคมชายเป็นใหญ่ซึ่งเป็นรากเหง้าส่วนหนึ่งของสังคมไทย เหตุผลนี้เองทำให้บางครั้งการพูดเล่นสนุกปากด้วยถ้อยคำด้านลบจึงไม่ถูกมองว่าเป็นการคุกคามในสายตาใครบางคน แต่สำหรับผู้ถูกกระทำมันกลายเป็นเรื่องหม่นหมองในชีวิตอย่างปฏิเสธไม่ได้ พวกเขาไม่ใช่สิ่งของ จะมาซื้อขาย ทดลองดม ทดลองใช้ไม่ได้ แม้เป็นการพูดเล่นแต่ผลลัพธ์คือรังสีความเลวร้ายที่พร้อมแผ่ออกสู่สังคม บางครั้งผู้กระทำอาจไม่ใช่คนโรคจิตชอบคุกคามทางเพศเสมอไป แต่พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้นผิด มนุษย์เราล้วนมีด้านมืดที่เก็บซ่อนไว้ในภายในจิตใจไม่ว่าด้านใดก็ด้านหนึ่ง แต่ความเป็นมนุษย์อันสมบูรณ์แบบควรจะต้องคิด ควบคุม และไตร่ตรองก่อนจะส่งผ่านโลกภายในจิตใจออกมาสู่โลกความเป็นจริง...
ภาพในอินสตาแกรมของสาวเฟรม WONDERFRAME ที่มีคนมาคอมเมนต์คุกคามทางเพศ / ภาพ: @wonderframe
“เรื่องปกติ” อย่างที่ผู้เขียนย้ำแล้วย้ำอีกว่าการมองว่าเป็นเรื่องปกติคือความหายนะโดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ ผู้คนยิ่งไม่นึกถึงความเหมาะสมและสภาพจิตใจผู้รับสารขึ้นไปอีกระดับ หลายคนสาดด้านมืดออกมาราวกับหยิบมีดหรือกระทำอนาจารในฝันเพราะคิดว่ามันคือโลกเสมือน แต่ผิดแล้วโลกเสมือนเหล่านั้นคือหน้าต่างที่รับรู้สารได้เร็วที่สุดและรู้สึกลึกที่สุดเพราะคนรับสารทำได้เพียงรับและไม่สามารถตอบโต้ได้อย่างทันท่วงที การส่งสารฝ่ายเดียวยิ่งทำให้แทงลึกลงในหัวใจอย่างที่ใครหลายคนน่าจะเคยรู้สึก ตัดมาที่เหตุการณ์ของสาววันเดอร์เฟรม (WONDERFRAME) เป็นตัวอย่าง เธอโพสต์ภาพแนวเซ็กซี่ลงบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ และแล้วก็มีคอหื่นเข้ามาคอมเมนต์ด้วยอารมณ์ รวมถึงแสดงการคุกคามทางเพศอย่างตรงไปตรงมา เช่นอยากจับหน้าอก หรือแซวเกี่ยวกับขนาดหน้าอกของเธอ พอมีการตอบโต้จากศิลปินสาว ผู้กระทำก็มองว่าเป็นเพียงการหยอกล้อไม่ได้จริงจัง เป็นตัวอย่างได้ดีเลยว่ายังมีคนมองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่การคุกคาม เป็นเพียงแค่การหยอกล้อกันเองในหมู่เพื่อนฝูง แต่เปล่าเลยการทำเช่นนี้มันบ่งบอกถึงสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ไม่ดีพอจนคนไม่ตระหนักถึงเรื่องละเอียดอ่อนเสียมากกว่า หนำซ้ำคนตอบกลับอาจเป็นฝ่ายผิดโดนวิจารณ์ในแนวการโทษเหยื่อ (Victim Blaming) ด้วยว่า “ก็แต่งตัวโป๊เอง” ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นรากเหง้าอันน่าประหลาดของสังคมซึ่งไม่น่าแปลกใจเลยว่าแม้คนจะโดนข่มขืนก็ยังโดนโทษว่าเป็นความผิดของเหยื่ออีกระลอก ทั้งๆ ที่ความผิดเป็นของผู้ข่มขืนล้วนๆ
ตัวอย่างของรายการทางช่องยูทูปรายการหนึ่งที่ใช้กลยุทธ์เรื่องเพศมาดึงดูดผู้ชมและมีคอมเมนต์คุกคามอย่างหนาตา
แต่จะโทษบุคคลก็ไม่ใช่เรื่องดีสักเท่าไร เพราะสภาพสังคมแวดล้อมกล่อมเกลาให้ดูเป็นเรื่องปกติในสังคมไปโดยปริยาย ตราบใดที่เรายังเห็นการใช้มนุษย์ไม่ว่าเพศชายหรือเพศหญิงมาเป็นวัตถุทางเพศให้รายการหรือสื่อรูปแบบต่างๆ ดูน่าสนใจมากขึ้น นี่เป็นกลไกการผลิตซ้ำ “ความปกติ” ในการคุกคามทางเพศให้ฝังรากลงในสังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำเหมือนน้ำลายไหล การอยากได้เป็นผัว/เมีย การจ้องมองสื่อถึงความต้องการทางเพศ และอีกหลายแง่มุมปรากฏอยู่ในสังคมบันเทิง สิ่งที่น่าตกใจกว่านั้นผู้ชมกลับแซวและชอบก็ยิ่งเป็นการสนับสนุนกลไกการผลิตซ้ำให้หมุนวนโดยไม่ติดขัด ถ้าเปรียบเป็นเครื่องจักร รายการเหล่านี้คงเป็นฟันเฟืองตัวสำคัญที่ทำให้เครื่องจักรทำงาน ส่วนผู้ชมนักสนับสนุนก็เป็นเหมือนน้ำมันหล่อลื่นหยอดฟันเฟืองให้ทำงานได้ลื่นไหล ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมไทยต้องตั้งคำถามกับเครื่องจักรสุดโสมมเครื่องนี้...
เจเจ-กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม อีกหนึ่งหนุ่มที่ตกเป็นสามีแห่งชาติและโดนคุกคามทางเพศโดยที่อาจไม่ได้ตั้งใจ / ภาพ: @jaylerr
“เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้หญิง” แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเสมอและเห็นได้เด่นชัดเมื่อผู้ชายเป็นผู้กระทำต่อผู้หญิง ในทางกลับกันผู้ชายก็ต้องประสบกับการคุกคามทางเพศจากผู้อื่นเช่นกัน หุ่นแซ่บ น่าเลีย และคำสะท้อนอารมณ์ทางเพศ เรื่องนี้เห็นได้จากเหตุการณ์หนุ่ม เจเจ-กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม ป้อง-ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ แน็ก-ชาลี ไตรรัตน์ และอีกหลายต่อหลายคนที่ตกเป็นผู้ชายใต้อำนาจและเหยื่ออารมณ์ในโลกออนไลน์แบบไม่มีสิทธิ์ปัดป้อง ทำได้แค่รับรู้และตกอยู่ในสภาวะอึดอัด หากมาแถลงไขว่าไม่ชอบยิ่งในสมัยก่อนก็จะถูกมองว่าหยิ่ง เขาเป็นแฟนคลับก็เลยแค่ “สนับสนุน” เป็นแค่ข้ออ้างไปแล้วในสมัยนี้ ถ้าหากแฟนคลับสนับสนุนจริงก็ต้องสนับสนุนผลงาน หากชื่นชอบในรูปร่างหน้าตาก็ควรจะอยู่ในกรอบพอประมาณและไม่คุกคามเขา ทีนี้ขอให้คิดก่อนจะลงมือกระทำสิ่งใดๆ ก็แล้วแต่ บางครั้งเราละเลยเพราะคิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา เชื่อไหมพอยิ่งผู้ชายโดนก็ยิ่งดูเหมือนธรรมดาแต่จริงๆ แล้วมันน่าอัดอั้นตันใจยิ่งนัก เพราะสังคมปล่อยผ่านยิ่งกว่าผู้ชายทำกับผู้หญิงเสียอีก
อีกครั้งกับรูปลิซ่าที่กลายเป็นประเด็นหลักด้านสังคมตั้งแต่ต้นปี 2020 / ภาพ: tongsouthern
สุดท้ายเราอยากจะฝากว่าการคุกคามทางเพศนั้นเกิดจากประกายเล็กๆ ในด้านมืดภายในจิตใจที่ถูกละเลย ไม่คัดกรองจนหลุดออกมาเป็นความหมองหม่นในโลกแห่งความจริง สิ่งใดๆ ที่เคยถูกมองว่าปกติควรต้องถูกตั้งคำถามและปรับแก้ให้เหมาะกับสังคมปัจจุบัน มนุษย์ทุกคนไม่ว่าเพศไหนย่อมเท่าเทียมกัน ไม่มีใครควรถูกมองเป็นวัตถุโดนสาดคำกรอกหู ปิดตาอีกต่อไป ความต้องการทางอารมณ์นั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่เราเป็นมนุษย์ทุกสิ่งล้วนต้องตั้งอยู่บนฐานของคำว่า “ยับยั้งชั่งใจ” อารมณ์มีได้เป็นเรื่องธรรมชาติแต่ถึงเวลาแล้วล่ะที่ต้องคิดให้รอบด้าน ไม่ใช่แค่การกระทำของเราและสังคมที่เป็นอยู่ แต่ต้องมองถึงผู้รับสารและสังคมที่เราต้องการจะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น เมื่อทุกอย่างผ่านกระบวนการเหล่านี้ปัญหาการคุกคามทางเพศจะลดน้อยถอยลง ความสนุกปากจะถูกขีดเส้นกั้นไว้ด้วยความตระหนักรู้ และความตระหนักรู้นี้เองจะทำลายวลีจำเจของสังคมไทยว่า “แค่หยอกเล่น” ให้หมดไปจากการเป็นข้ออ้างของการคุกคามทางเพศและการบูลลี่ทุกรูปแบบ ไม่ใช่เฉพาะแต่กับดารานักแสดงแต่รวมถึงมนุษย์ทุกคนบนโลกนี้ แล้วอย่าลืมใส่ใจกันให้มากขึ้นนะทุกคน...
WATCH