FASHION

พระองค์หญิง กับบทบาทใหม่ในฐานะองค์อุปถัมภ์ของ ROYAL BANGKOK SYMPHONY ORCHESTRA

คีตราชนารี

คอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โดยวงดุริยางค์ Royal Bangkok Symphony Orchestra (RBSO) เมื่อวันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 มิได้เป็นเพียงคอนเสิร์ตเปิดสมัยกาล (Season) แห่งปีเท่านั้น หากแต่เป็นครั้งแรกที่พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เสด็จเป็นองค์ประธาน ในฐานะองค์อุปถัมภ์ของมูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ อย่างเป็นทางการ ยิ่งไปกว่านั้น บทบาทขององค์อุปถัมภ์นับแต่สมัยกาลนี้ไป จะเป็นมากกว่าพระบารมีเหนือเกล้า และกำลังใจต่อผู้บริหารและนักดนตรีของ RBSO หากแต่เป็นพระภารกิจผูกพันที่จะก่อเกื้อให้วงดุริยางค์ซิมโฟนีชั้นนำของประเทศแข็งแกร่งขึ้น และนำพาวง RBSO เคียงบ่าเคียงไหล่วงดุริยางค์ซิมโฟนีชั้นแนวหน้าของประชาคมดนตรีคลาสสิกของโลกอีกด้วย

 

การซ้อมใหญ่ของคอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติฯ เมื่อวันพฤหัสที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 เผยให้เห็นพระจริยวัตรของ “พระองค์หญิง” ต่อการดนตรี ตลอดจนพระวิริยะ พระอุตสาหะ ความตั้งพระทัยต่อพัฒนาการด้านดนตรีคลาสสิกตะวันตก ในวันนั้น พระองค์หญิงเสด็จพระดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ทอดพระเนตรการซ้อมใหญ่ เมื่อเสด็จถึงหลังเวที ถือเป็น “surprise” ต่อบรรดานักดนตรี ที่มีโอกาสเข้าเฝ้าฝ่าพระบาทอย่างใกล้ชิด ด้วยทรงเป็นกันเองต่อนักดนตรี ประทานโอกาสให้ฉายพระรูปหมู่ทั้งวง ทรงมีรับสั่งถามวาทยกร Michel Tilkin และหัวหน้าวง Bing Han อย่างละเอียดด้วยความสนพระทัยเนื้อหาและทิศทางของบทประพันธ์แต่ละชิ้น จากนั้นเสด็จไปประทับยืนและประทับนั่งในหลายๆ จุดของหอประชุมศูนย์วัฒนธรรมฯ เพื่อทรงฟังเสียงของดุริยางค์ที่ส่งไปยังมุมต่างๆ ของหอประชุม เพื่อให้ทรงมั่นพระทัยว่าทุกคนที่จะมาฟังดนตรีต้องได้ฟังการบรรเลงที่สมบูรณ์ไม่ว่าจะนั่งที่มุมใด ดังนั้น จึงทรงใช้เวลากว่าสองชั่วโมงทอดพระเนตรการซ้อมใหญ่นี้ เฉกเช่นผู้บริหารของ RBSO

 



แม้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้มาตลอดถึงพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพด้านกีฬาและการออกแบบ หรือ งานนฤมิตรศิลป์ แต่น้อยคนที่ตระหนักว่าในช่วงสามปีที่ผ่านมา พระองค์หญิงทรงสนพระทัยด้านดุริยศิลป์และคีตศิลป์อย่างจริงจัง เริ่มจากทรงโปรดให้วง RBSO บรรเลงดนตรีประกอบงานเดินแบบของพระองค์หญิงถึงสี่ครั้งนับแต่ปี 2559 เป็นต้นมา จากพระจริยวัตรที่ทรงเอาพระทัยใส่ต่อสาระทางดนตรีผนวกกับงานออกแบบนี้เอง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร องค์อุปถัมภ์ของมูลนิธิฯ จึงทรงมั่นพระทัยว่าพระองค์หญิงจะทรงรับสืบทอดพระราชภาระนี้ได้อย่างสมบูรณ์ นับเป็นการแบ่งเบาพระราชกิจที่ทรงรับมากว่า 30 ปี

 



วง RBSO เข้ามาอยู่ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ตั้งแต่ปี 2528 ตลอดระยะเวลากว่าสามสิบปีวงดุริยางค์ได้รับพระมหากรุณาจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และพระบรมวงศ์ทุกพระองค์ ทั้งการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดง กองทุนพระราชทานเพื่อพัฒนากิจกรรม และโอกาสบรรเลงในงานสำคัญระดับชาติและนานาชาติ ส่งผลให้เกิดพัฒนาการของเยาวชนนักดนตรีและการศึกษาด้านดุริยางคศิลป์อย่างกว้างขวางในประเทศตลอดมา

 

พระองค์หญิงทรงเล่าประทานว่า วันที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานให้พระองค์หญิงทรงสืบพระราชภาระนี้ ทรงมีรับสั่งว่า “พ่อเชื่อว่า ลูกทำได้ดี” ... พระราชดำรัสนี้จึงเป็นทั้งกำลังพระทัยและโจทย์ใหม่ที่พระองค์หญิงทรงนำมาเป็นแนวทางในงานอุปถัมภก RBSO ซึ่งค่อยๆ เติบโตขึ้นมาในรัชกาลก่อน ให้ เป็นวงดุริยางค์ที่แข็งกล้า เปี่ยมศักดิ์ศรีของนักดนตรี และเป็นเกียรติภูมิของชาติในที่สุด ในรัชกาลของสมเด็จพระบรมชนกนาถของพระองค์หญิง

 



พระองค์หญิงรับสั่งกับ Vogue ว่าความสนพระทัยและพระจริยวัตรของพระองค์ต่องานดนตรีนั้น เหมือน “หยอดเงินลงกระปุกออมสิน” คือเริ่มแบบทีละเล็กทีละน้อย แล้วค่อยๆ เต็ม กล่าวคือ จากหลายสิบปีที่เสด็จแทนพระองค์มาเป็นองค์ประธานของคอนเสิร์ตแต่ละครั้ง ที่ทรง “ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง” จากวันที่รับสั่งว่าทรง “ฟังไม่เป็น” จนมาถึงวันที่ทรงมั่นในพระทัยว่าทรงฟังอย่าง “เป็นธรรมชาติ” พระองค์หญิงทรงศึกษาดนตรีโดยรอเวลา “ให้ตัวเองสนใจ และให้ดนตรีซึมซาบ”

 

เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงเรียนการขับร้องแบบโอเปร่า ทรงเรียนไวโอลิน เปียโน และจะเข้ แรงบันดาลพระทัยที่สำคัญต่อพระองค์หญิง คือพระปรีชาสามารถและงานทรงดนตรีของ “ทูลกระหม่อมปู่” อีกทั้ง “สมเด็จย่า” ทรงเอาพระทัยใส่สอดส่องดูแลความก้าวหน้าการทรงเปียโนของพระองค์หญิงเสมอ บ่อยครั้งที่สมเด็จย่าทรงติ เช่น เรื่องการวางพระหัตถ์ การสัมผัสคีย์เปียโน ที่ควรถูกลักษณะและให้ดูสง่างาม ซึ่งบางครั้งก็ทำให้ทรงท้อ แล้วทรงเปลี่ยนไปทรงเครื่องดนตรีอื่น แต่ด้วยพระกรณียกิจที่พระองค์หญิงตามเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถไปในงานคอนเสิร์ตน้อยใหญ่ในพระราชสำนักก็ดี หรือ ด้วยทรงแอบทอดพระเนตรวง อ.ส. วันศุกร์ บรรเลงเพลงทุกสุดสัปดาห์ก็ดี ดนตรีคลาสสิกจึงซึมซาบทีละเล็กทีละน้อยกลายเป็นพระจริยวัตรได้อย่างลึกซึ้ง

 



เพลงพระราชนิพนธ์และเนื้อหาในเพลงพระราชนิพนธ์เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อยู่ในพระทัยพระองค์หญิงมาตลอด โดยเฉพาะบทที่ “ทูลกระหม่อมปู่” ทรงเขียนให้ “สมเด็จย่า” เมื่อเวลาที่พระองค์ท่านประทับห่างไกลกัน [พระราชนิพนธ์ Blue Day หรือ อาทิตย์อับแสง] ด้วยมีเนื้อหาดนตรีที่แสดง “something little sweet” ทั้งนี้ เพลงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่เก้าที่พระองค์หญิงทรงโปรดนั้นมีอยู่หลายเพลง ถึงกับทรงมีพระดำริว่า หากวันหนึ่งที่จะทรงมีโอกาสทรงม้าในรอบแข่งขันสุดท้ายระดับสากล ในรอบที่ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนจะนำบทเพลงหรือสัญลักษณ์ของประเทศตนมาแสดงด้วยนั้น จักทรงนำเพลงพระราชนิพนธ์หลายๆ บทมาร้อยเรียงกันให้ทั่วโลกประจักษ์ในพระราชอัจฉริยภาพของของรัชกาลที่เก้า ทั้งด้านกีฬาและดนตรี

 

ด้วยแรงบันดาลพระทัยจากเพลงพระราชนิพนธ์นี้เอง พระองค์หญิงจึงทรงพระอุตสาหะเสด็จไปยังกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ณ หอแสดงดนตรีที่ทูลกระหม่อมปู่ทรงรับการถวายพระเกียรติเป็นสมาชิกแห่งสถาบันศิลปะและการดนตรีแห่งกรุงเวียนนา เมื่อปีพ.ศ. 2507 พระองค์หญิงเสด็จไปประทับ ณ จุดที่ประทับ เสด็จไปยังร้านที่ทูลกระหม่อมปู่เคยเสวยพระสุธารสกาแฟ สถานที่ต่างๆ ที่ทั้งทูลกระหม่อมปู่และสมเด็จย่าทรงเยือน ทรงไถ่ถามคนเก่าคนแก่ที่นั่นที่ยังจำเรื่องราวในช่วงเวลานั้น เพื่อจะทรงซึมซาบและเข้าพระทัยถึงบรรยากาศและบริบทที่แวดล้อม อันมีอิทธิพลต่อศิลปะการดนตรี พระองค์หญิงทรงมีพระวินิจฉัยว่า เรื่องดนตรีมิได้อยู่ที่ความสามารถของผู้เล่นอย่างเดียว หากแต่อยู่ที่ผู้ฟังจะนั่งฟังจากตรงไหน วิถีชีวิตของกลุ่มผู้ฟังเป็นอย่างไร อะไรคือการรับรู้ความสุขของผู้คน ณ เวลานั้น

 

ดนตรี—ในฐานะศิลปะแขนงหนึ่ง—จึงมิอาจมองข้ามเรื่องที่แวดล้อมไปได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถาปัตยกรรม สังคม ความคิดอ่าน วิถีชีวิต หรือแม้แต่การกินอยู่ ที่ส่งผลต่อจินตนาการ และการรับรู้ของผู้ฟัง ดังนั้น พระองค์หญิงจึงทรงมุ่งการพัฒนาผู้ฟังไปพร้อมๆ กับการพัฒนานักดนตรีในวงดุริยางค์ ทรงเห็นว่าในหลายปีที่ผ่านมา วงการดุริยางค์ของบ้านเราสามารถสร้างนักดนตรีและครูอาจารย์ดนตรีที่มีฝีมือทัดเทียมนานาชาติได้จำนวนไม่น้อย แต่ทว่าอัตราส่วนของผู้ฟังมิได้เติบโตตามกันไป พระภารกิจต่อ RBSO จึงมิได้อยู่เพียงการพัฒนานักดนตรีเท่านั้น หากแต่ทำให้งานดนตรีของ RBSO เข้าถึงกลุ่มผู้ฟังให้กว้างเท่าที่จะเป็นได้

 

ทรงเห็นว่าวงดนตรีเปรียบเสมือนครอบครัว ทุกคนต้องมีความสุขที่ได้เล่นดนตรี ได้ทำงานเป็นหมู่คณะพร้อมรักษาวินัย และได้เชื่อมต่อกับประชาคมดนตรีทั่วโลกให้ได้ จึงเป็นที่มาของพระวิสัยทัศน์และคำสำคัญสี่คำที่เป็นธงนำพระกรณียกิจในการดูแล RBSO คือ Family – Passion – Teamwork – Community

 

พระองค์หญิงทรงใช้มุมมองจากแวดวงแฟชั่นเสื้อผ้ามาใช้ในการพัฒนาผู้ฟัง โดยทรงเห็นว่า “ศิลปะเป็นของผู้ชมและผู้ฟัง” ดังนั้นการแสดงดนตรีต้องเข้าถึงผู้ฟังได้ทุกกลุ่ม การปรากฏตัวหรือ “ลุค” ของนักดนตรี ทำให้ผู้ฟังรู้จักและจดจำ RBSO ได้กว้างขึ้น

 

หากจะเปรียบพระจริยวัตรต่องานดนตรีดั่งกระปุกออมสินที่ทรงหยอดและทรงสะสมประสบการณ์ทีละเหรียญสองเหรียญ บัดนี้ กระปุกออมสินที่เต็มเปี่ยมนี้ คือ กองทุนต้นไม่สูญ ที่มิเพียงจะหล่อเลี้ยงวง RBSO ให้ก้าวหน้าเท่านั้น หากแต่เป็นต้นทุนที่หยั่งรากลึกข้ามรัชสมัย จรรโลงความงดงามของศิลปะการดนตรีแก่ประชาชาติไทย และบังเกิดเป็นเกียรติภูมิของชาติ ดังพระปณิธานของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ องค์อุปถัมภ์ของมูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ

 

เรื่อง: อภิชาติ อินทรวิศิษฎ์

ภาพ: สุดเขต จิ้วพานิช

WATCH