นอร์เวย์ผ่านกฎหมาย...เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ต้องระบุเสมอว่า รูปบนโซเชียลผ่านการรีทัชหรือไม่!
ดูเหมือนว่ากฎหมายฉบับนี้จะสร้างความลำบากใจให้กับเหล่าอินฟลูเอนเซอร์บนโลกโซเชียลมีเดียอย่างมาก
กลายเป็นที่พูดถึง และวิพากษ์วิจารณ์ทันที หลังจากที่สมาชิกสภานิติบัญญัติในรัฐสภาของนอร์เวย์ได้ผ่านกฎหมายใหม่ ด้วยมติการลงคะแนน 72-15 เสียง กำหนดให้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ และเซเลบริตี้ ที่ผลิตคอนเทนต์ผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ต้องเปิดเผยรายละเอียดเมื่อพวกเขาได้ทำการรีทัช หรือเพิ่มฟิลเตอร์เข้าไปบนภาพถ่ายนั้นๆ ซึ่งสื่อหลายสำนักต่างรายงานตรงกันว่า กฎหมายดังกล่าวจะถูกบังคับใช้กับผู้มีอิทธิพลทางด้านสื่อและโฆษณาเป็นหลัก เพื่อจัดการกับประเด็นปัญหา 'แรงกดดันทางร่างกายในสังคม' ที่กลุ่มผู้สนับสนุนเยาวชน และกระทรวงกิจการสำหรับเด็กและครอบครัวในประเทศนอร์เวย์ ได้เรียกร้องให้มีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาเป็นเวลานานหลายปี ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการนำเสนอภาพร่างกาย(เกินจริง)ของเหล่าคนดัง ที่ทำให้สภาวะทางจิต และความนับถือตนเองของเยาวชนตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด
ทั้งนี้ในข้อเสนอทางกฎหมายยังได้ระบุข้อมูลที่น่าสนใจเอาไว้อีกว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนประมาณ 70,000 คน กำลังมีปัญหาด้านสุขภาพจิตที่ต้องได้รับการรักษา ในประเทศที่มีประชากรไม่ถึง 5.4 ล้านคน นั่นคือสถิติจำนวนที่สะท้อนนัยยะสำคัญบางอย่าง ซึ่งนอกจากนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งของเด็กผู้หญิงในระดับการศึกษาเกรด 10 ยังพบปัญหาสุขภาพจิตควบคู่กับอาการเบื่ออาหาร ที่เป็นสาเหตุในการเสียชีวิตอันดับที่ 3 ในหมู่เด็กสาวปัจจุบัน เนื่องจากการเสพติดภาพโฆษณาชวนเชื่อของเหล่าเซเลบริตี้ และคนดังในโลกโซเชียลมีเดีย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้คนหนุ่มสาวฝันถึงอุดมคติของ “ความงามที่เป็นไปไม่ได้” และนอกจากนี้อุตสาหกรรมโฆษณายังถูกอ้างถึงว่า เป็นหนึ่งในเหตุผลหลักในการเพิ่มแรงกดดันต่อร่างกาย หรือที่รู้จักกันในชื่อของ 'kroppspress' อีกด้วย
สำหรับรายละเอียดของกฎหมายดังกล่าว ได้กำหนดให้โฆษณา และโพสต์ที่ได้รับการสนับสนุนโดยมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง ขนาด หรือผิวของร่างกายผ่านการปรับแต่งภาพถ่าย รวมไปถึงการเพิ่มฟิลเตอร์ หรือการตกแต่งเพื่อความสวยงามที่แตกต่างจากต้นฉบับนั้น ต้องขึ้นเครื่องหมายด้วยป้ายกำกับที่สร้างโดยกระทรวงกิจการสำหรับเด็กและครอบครัวของนอร์เวย์โดยเฉพาะ และหากไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกพิจารณาตามปรับเพิ่ม และบางกรณีอาจถึงขั้นจำคุกหากโพสต์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างร้ายแรง และถึงแม้ว่ากฎหมายจะเกี่ยวข้องกับผู้ลงโฆษณาเป็นหลัก แต่ก็มีผลบังคับใช้กับผู้มีอิทธิพลบนโลกโซเชียลมีเดีย ทั้งคนดัง และผู้ใช้รายอื่นๆ ที่ได้รับค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับโพสต์บน Facebook, Instagram, Snapchat, TikTok และ Twitter ด้วย อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายนำร่องครั้งนี้ของประเทศนอร์เวย์ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของข้อกฎหมายในการเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานด้านความงามของสังคมที่น่าจับตามองต่อไปไม่น้อย และอาจจะได้เห็นมันเกิดขึ้นในอีกหลายประเทศต่อจากนี้...
WATCH
ข้อมูล : www.id-vice.com, The Independent และ www.dazeddigital.com
WATCH