FASHION
'Luxury Slowdown' เมื่อคนใช้จ่ายประหยัด ตลาดแฟชั่นลักชัวรีจึงโตช้าลง#VogueScoop จากปรากฏการณ์ 'Revenge Shopping' หลังโควิด-19 ที่สร้างความคึกคักให้กับโลกแฟชั่น สู่ปรากฏการณ์ 'Luxury Slowdown' ในวันที่ยอดขายถึงจุดพีกและเติบโตช้าลง จากภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอน เรื่อยไปจนถึงการขึ้นราคาสินค้าต่อเนื่อง ที่ทำให้กลุ่มลูกค้าน้อยลงเรื่อยๆ กลายเป็นวิกฤตของโลกแฟชั่นที่กระทบทุกแบรนด์ดัง! |
แม้ว่าช่วงหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 เมื่อราว 2-3 ปีที่ผ่านมา จะมีกระแส “Revenge Shopping” ที่กลายเป็นพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้ายุคใหม่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมแฟชั่นระดับโลก สร้างความคึกคักให้กับเม็ดเงินที่ไหลเวียนอยู่ในอุตสาหกรรมแฟชั่นระดับลักชัวรีเป็นเวลาสักพักใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภูมิภาคเอเชีย ที่ปรากฏการณ์การช็อปปิ้งแก้แค้นนี้จะเห็นผลรวดเร็วและเข้มข้นมากกว่าฝั่งตะวันตก ส่งผลให้กราฟรายได้ของแบรนด์แฟชั่นลักชัวรีชื่อดังพุ่งทะยานขึ้นเป็นแถบๆ ทว่าเมื่อผ่านเวลามาสักพัก ในห้วงเวลาที่สภาวการณ์ของโลกใบนี้กลับมา(เกือบจะ)เสถียรภาพอีกครั้ง กอปรกับกระแสเงินเฟ้อที่เริ่มเข้ามามีบทบาทอย่างเข้มข้นในปัจจุบัน ก็ส่งผลให้ตลาดแฟชั่นลักชัวรีผันผวนและเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย
เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2023 ที่ผ่านมานั้น สื่อธุรกิจแฟชั่นหัวใหญ่หลายหัวต่างรายงานถึงปรากฏการณ์ “Luxury Slowdown” หรือการเติบโตทางธุรกิจของสินค้าแฟชั่นลักชัวรีที่ชะลอตัวลงอย่างมีนัยยะสำคัญ อ้างอิงจากบทความของ Forbes ที่เผยแพร่เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม 2023 หลังจากการเติบโตเป็นประวัติการณ์มานานหลายปีของอุตสาหกรรมสินค้าลักชัวรี ในปี 2024 ที่กำลังจะมาถึงนี้กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวก็อาจจะต้องเผชิญกับการชะลอตัวในไม่ช้า ตามรายงานของ RBC Capital Markets สัญญาณดังกล่าวเริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว โดยราคาหุ้นของ LVMH ลดลง 7 เปอร์เซ็นต์ตามผลประกอบการรายไตรมาส ซึ่งถือเป็นการลดลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี 2020 เป็นต้นมา อีกทั้งนักวิเคราะห์ก็ยังมีการประมาณการณ์ที่ลดลงตามสถานการณ์แวดล้อมที่เกิดขึ้น ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้
ไม่เพียงเท่านั้น เพราะนอกจาก LVMH ยังมีอีกหนึ่งบริษัทใหญ่ของโลกแฟชั่นลักชัวรีอย่าง Kering ที่ประสบปัญหาดังกล่าวเช่นกัน โดยไม่นานมานี้ เคอริ่งบริษัทผู้ถือลิขสิทธิ์กลุ่มสินค้าหรูหรารายใหญ่อีกหนึ่งราย รายงานว่ายอดขายในไตรมาสที่สามลดลงเกินคาด ทำให้แบรนด์แฟชั่นชั้นนำในสังกัดอย่าง Gucci และแบรนด์แฟชั่นอื่นๆ ล้วนได้รับผลกระทบจากความต้องการเสื้อผ้าและเครื่องประดับระดับไฮเอนด์ที่ลดลงนี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Yves Saint Laurent, Balenciaga หรือ Bottega Veneta ที่สามารถทำยอดขายในช่วงไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 4.46 พันล้านยูโร ก็มีเปอร์เซ็นต์การเติบโตที่ลดลงถึง 9 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้แบรนด์ยอดมงกุฎอย่างกุชชี่ซึ่งปกติจะมียอดขายคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดขายต่อปีของเคอริ่ง ที่ตอนนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ยุคของ Sabato de Sarno ก็ได้รับผลกระทบมียอดขายลดลงประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน สะท้อนให้เห็นเทรนด์ “Luxury Slowdown” ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในอุตสาหกรรมสินค้าฟุ่มเฟือย
กระนั้น ก็ยังมีฝั่งที่สวนกระแสและสร้างความประหลาดใจให้กับเหล่าสาวกแฟชั่นหลายคน เพราะในฝั่งของแบรนด์ Hermes นั้นกลับสร้างยอดขายในไตรมาสที่สามได้ที่ 3.37 พันล้านยูโร ซึ่งคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้น 15.6% เกินความคาดหมายของนักวิเคราะห์หลายคน ที่มองว่าลูกค้าของสินค้าแฟชั่นไฮเอนด์กำลังควบคุมรายจ่ายของตัวเองอย่างเข้มงวด เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ซึ่งตามอ้างอิงของ Euro News แบรนด์แอร์เมสกำลังท้าทายกระแสเศรษฐกิจ เนื่องจากการขึ้นราคาสินค้าซึ่งดูเหมือนจะไม่กระทบต่อความต้องการของลูกค้าอีกด้วย
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยนี้ คือจำนวนผู้ซื้อและกลุ่มผู้บริโภคที่จะทำธุรกรรมไม่กี่ครั้งต่อปี โดยซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาไม่แพง เช่น เครื่องประดับ ได้ลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยในปีนี้ลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อกลุ่มฟุ่มเฟือยส่วนใหญ่ โดยแนวโน้มนี้มองเห็นได้ตั้งแต่ต้นปีในตลาดของสหรัฐอเมริกา นั่นคือผู้บริโภคกลุ่มนี้ดูเหมือนจะถูกละเลยจากแบรนด์หรูที่ขึ้นราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลายเป็นการกันกลุ่มผู้บริโภคนี้ออกไปจากกลุ่มลูกค้า และเหลือไว้เฉพาะผู้ที่สามารถจ่ายเงินเฟ้อได้เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการยืนยันว่าตลาดสินค้าลักชัวรีจะเติบโตโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าระดับมาตรฐานในปี 2019 นั่นหมายความว่าตลาดกำลังเริ่มที่จะแก้ไขตัวเอง แต่แนวทางของตลาดก็ยังคงปูทางไปสู่แนวโน้มการเติบโตที่ลดลงอยู่ดี เมื่อเทียบกับสิ่งที่เหล่าสาวกได้เห็นในช่วงสามปีที่ผ่านมา
WATCH
ข้อมูล : Forbes, Vogue Business และ Euro News
WATCH