FASHION

'หลานสาว VS มนุษย์ยาย ขอฟาด ประกาศศักดาฉันคือเอฟซีผ้าไทย' โปรเจกต์ใหม่ล่าสุดจาก LaLaLove

ผ้าไทยพัฒนาไปพร้อมกับวัฒนธรรมอันลื่นไหล รูปแบบของมันย่อมถูกปรับเปลี่ยนและเดินหน้าสู่เส้นทางแห่งอนาคต

     มรดกทางวัฒนธรรมคือสิ่งที่อยู่คู่กับคนแต่ละพื้นที่ทั่วโลกมาเป็นเวลานาน บ้างก็สูญหายไป บ้างก็ยังอนุรักษ์กันตามฉบับดั้งเดิมจนอาจจะทำให้วัฒนธรรมบางอย่างถูกแช่แข็ง หรืออีกทางหนึ่งคือมรดกทางวัฒนธรรมได้รับการต่อยอดเพิ่มเติมจนสามารถลื่นไหลไปตามยุคสมัยได้อย่างอิสระมากขึ้น “Every year is golden years” โปรเจกต์ใหม่จาก LaLaLove คือการเปิดตัวความน่าสนใจครั้งใหม่ในคอนเซปต์ “หลานสาว VS มนุษย์ยาย ขอฟาด ประกาศศักดา ฉันคือเอฟซีผ้าไทย!!!”

     แต๋ว-อัจฉรา นรินทรกุล ณ อยุธยา และ คารีสา สปริงเก็ตต์ คือส่วนผสมที่ลงตัวในครั้งนี้ เมื่อมนุษย์ยายผู้เก็บสะสมผ้าไทยมานานกว่า 70 ปีประสบปัญหา “อัลไซเมอร์” ที่อาจทำให้หลงลืมตู้เสื้อผ้าอันทรงคุณค่าและบดบังตู้เสื้อผ้าที่ภายในอุดมไปด้วยผืนผ้าไหมทรงคุณค่า ในเวลาต่อมาลูกชายคนเล็กที่ถูกศรรักปักพร้อมออกเรือน ยายแต๋วจึงมีคำถามว่า “ควรแต่งตัวแบบไหนไปงานเพื่อให้สมกับเป็น อัจฉรา นรินทรกุล ณ อยุธยา”

     ในอีกด้านหนึ่งคารีสา นางแบบสาวอายุคราวหลานที่ดูเปรี้ยวซ่าแต่ตกหลุมรักผ้าไทยสุดหัวใจ เธอเล่าถึงต้นสายปลายเหตุว่าคุณแม่ของเธอชอบซื้อผ้าไทยจึงเกิดการซึมซับและหลงใหลตาม สิ่งที่ถูกใจคือลายผ้า “รู้สึกว่าการใส่ผ้าไทยมันเริ่มหายไป หรือถ้าฮิตก็เป็นแค่ช่วงเวลาหนึ่ง การนำมาใส่ในชีวิตประจำไม่ค่อยมี อยากให้ผ้าไทยกลับมาเป็นที่นิยมแบบผ้ามัดย้อมที่คนใส่กันตอนนี้”  แม้ต่างวัย ใช้ชีวิตอยู่บนถนนคนละสาย แต่ทั้งคารีสาและยายแต๋วก็โคจรมาพบกันได้โดยมีลินดา เจริญลาภ ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ลาลาเลิฟเป็นสื่อกลาง



WATCH




     ลินดาใช้วิชา “Upcycling, Recycle” และ “Sustainable Fashion” ที่ถนัดเนรมิตผืนผ้าในตู้ของยายแต๋วให้เป็นชุดไปงานวิวาห์ เธอนำผ้าไทยในตู้ออกมาตัดเย็บ เมื่อคนในงานได้เห็นชุดถึงกับ อึ้ง ทึ่ง ชุดนั้นเปรี้ยวจนสะดุดตาเพื่อนร่วมรุ่น เสื้อผ้าที่ผ่านการตัดเย็บช่วยคืนความทรงจำให้คุณยายเมื่อได้สวมใส่สิ่งที่เธอรัก ขณะที่ผืนผ้าของหลานสาวช่วยสืบทอดศิลปะของท้องถิ่นและสร้างรายได้หลังการทำเกษตรกรรมให้ชาวบ้านจาก 3 ชุมชน ได้แก่ กลุ่มผู้ทอผ้าตีนจกบ้านหนองปลาสะวาย จังหวัดลำพูน กลุ่มผ้าทอผ้าฝ้ายบ้านตาล และกลุ่มผู้ทอผ้าฝ้ายบ้านวังหม้อ จังหวัดเชียงใหม่ ผ้าทุกผืนล้วนเป็นผ้าทอมือ ไม่ใช้เครื่องจักรแม้แต่ชิ้นเดียว อุปกรณ์ที่ใช้ผลิตผืนผ้าใช้มาตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษ ทำให้ผ้าที่ได้มามีความประณีตสวยงาม และเป็นชิ้นเดียวในโลก

     ในวันที่เด็กรุ่นใหม่ตั้งคำถามและโต้แย้งการสอนด้วยประสบการณ์อันอาจไม่สอดคล้องกับคนยุคปัจจุบัน คนรุ่นดึกก็สามารถตอบโจทย์นี้ล้อกันไปได้อย่างมีมิติน่าสนใจ วันหนึ่งข้างหน้าพวกลูก หลาน เหลน โหลน อาจจะย้ายประเทศ เพราะรู้สึกว่า “ประเทศไทย มันไม่ใช่อ่ะ” แต่ก็อย่าได้หลงลืมรากเหง้าและภูมิปัญญาดีๆ ที่บรรพบุรุษของเราเคยมีมา หนึ่งในนั้นคือผ้าไทย นี่คือคำสอนด้านวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ข้อขัดแย้งแต่เป็นคำแนะนำที่จะช่วยรักษาและพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมของไทยสืบต่อไปในอนาคต “นักการเมือง 4 ปีถึงเลือกใหม่ แต่ผ้าไทยเลือกมาใส่ได้ทุกวัน และใส่ได้ไม่อายใครในโลกแน่นอน” คำปิดท้ายอันทรงพลังที่จะช่วยผลักดันผลผลิตความเป็นไทยอันน่าภูมิใจต่อไป

     โปรเจกต์นี้เสื้อผ้าเต็มไปด้วยกลิ่นอายความสนุกสนาน สีสันที่จัดจ้าน รวมถึงรูปแบบซิลูเอตอันสะดุดตา ทั้งหมดล้วนรังสรรค์จากผ้าไทยและแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการพัฒนาทางวัฒนธรรมไม่ได้ผูกติดกับรูปลักษณ์แบบดั้งเดิม เมื่อบางสิ่งสามารถลื่นไหลไปตามยุคสมัยย่อมสามารถขับแสงประกายดึงดูดคนรุ่นใหม่ได้อย่างน่าสนใจ บางอย่างตั้งต้นจากความเรียบง่าย ในขณะที่บางอย่างตั้งต้นจากความซับซ้อน แต่เมื่อสร้างสมดุลให้ทั้ง 2 ด้านผสมผสานกันอย่างพอดี รับรองว่าผ้าไทยรูปแบบใหม่จะช่วยขัดเกลาความคิดร่วมสมัยให้ผู้พบเห็นได้ไม่มากก็น้อย แฟชั่นกับผ้าไทยจึงไม่ได้ผูกติดอยู่แค่ชุดดั้งเดิมตามขนบธรรมเนียม แต่หมายถึงการใช้ผ้าหรือวัสดุอะไรก็ตามเพื่อเปิดช่องทางด้านจินตนาการให้ความเป็นไทยเดินไปได้ในระดับสากล

1 / 2



2 / 2



WATCH