FASHION
วางแผนไว้หมดแล้วก่อนสิ้นลม..เปิดกลยุทธ์เกมส่งไม้ต่อของ Karl Lagerfeld ใครจะขึ้นมาแทนการวางหมากไว้ให้แบรนด์ยักษ์ใหญ่ของคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ |
*บทความนี้เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562*
ขึ้นชื่อเป็นถึงนักวางแผนตัวเอ้ มีหรือ คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ (Karl Lagerfeld) ในวัยไม้ใกล้ฝั่งจะไม่วางหมากไว้ให้แบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่เขาควบคุมดูแลและสร้างสรรค์ผลงานให้
คนแฟชั่นและชาวเนตตื่นตัวอีกครั้งเมื่อแหล่งข่าวต่างประเทศนำโดย WWD หรือสำนักข่าว Women’s Wear Daily รายงานความเคลื่อนไหวของงานคอแลบอเรชั่นล่าสุดระหว่างไกเซอร์คาร์ลกับ การีน รัวต์เฟลด์ (Carine Roitfeld) อดีตบรรณาธิการนิตยสารโว้กอิดิชั่นปารีส ที่แบรนด์ Karl Lagerfeld เมื่อค่ำวานนี้ (31 มกราคม ) โดยไลน์ความร่วมมือภายใต้ชื่อโปรเจกต์ The Edit by Carine Roitfeld ซึ่งจะวางจำหน่ายในเดือนกันยายนนี้ คล้ายว่าเป็นงานคัดสรรและสไตลิ่งอีกต่อหนึ่งจากคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 2019 ที่มีสิทธิ์จะเข้าทางและตอบโจทย์รสนิยมแฟนคลับตัวยงของการีนเอง รวมถึงเหล่าขาประจำของคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ซึ่งอาจทราบบ้างไม่ทราบบ้างว่าทั้งคู่ควงแขนสร้างงานด้วยกันเงียบๆ มานับแต่คอลเล็กชั่นที่ H&M เมื่อปี 2004
การีน รัวต์เฟลด์ และคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์
มองเผินๆ นี่คือหนึ่งในงานคอแลบอเรชั่นจำนวนหลักร้อยของดีไซเนอร์ผู้ยิ่งใหญ่นามคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ซึ่งอุตสาหกรรมแฟชั่นทราบกันดีว่าเป็นราชาและผู้บุกเบิกงานประสานความร่วมมือมาก่อนดีไซเนอร์รายไหนๆ (ชื่อและไลฟ์สไตล์ของเขาเคยปรากฏทั้งบนขวดโค้ก กล่องดินสอสีไม้ เรื่อยไปจนถึงตลับเครื่องสำอาง) หากเมื่อพิจารณาจากการออกสื่อในช่วงหลังๆ ของตัวคาร์ลเอง เราอาจกำลังเฝ้ามองกลยุทธ์เกมส่งไม้ผัดและการเอาตัวรอดชั้นยอดของหลากแบรนด์แฟชั่นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อโดยไม่รู้ตัวอยู่ก็เป็นได้
จุดเริ่มต้นของเรื่องราวส่อเค้าในโชว์คอลเล็กชั่นครูส 2018 ของ Chanel ที่ปารีสเมื่อกลางปีที่แล้ว ซึ่งคาร์ลออกมาโค้งคำนับรับเสียงปรบมือในช่วงท้ายของโชว์จากกราบเรือบนฉากจำลองเรือสำราญขนาดยักษ์เคียงคู่หญิงสาวปริศนา ที่คนแฟชั่นพร้อมใจกันสืบค้นและรายงานด่วนผ่านโลกโซเชียลว่าคือ เวอร์ฌินี วิอารด์ (Virginie Viard) ผู้อำนวยการสตูดิโอฝ่ายสร้างสรรค์แฟชั่นของชาเนล ซึ่งลุยงานหลังบ้านเคียงข้างดีไซเนอร์หลักมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ ในโชว์ครานั้นถือเป็นการเปิดตัวนักออกแบบรายอื่นในรอบ 36 ปีของแบรนด์ซีไขว้ตลอดกาลสมัยที่คาร์ลครอบครองบัลลังก์อยู่อย่างเหนียวแน่นมานับแต่ปี 1983 และหลังจากนั้นวงการก็ได้เห็นใบหน้าของเวอร์ฌินีอย่างต่อเนื่อง
WATCH
เวอร์ฌินี วิอารด์ และคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์
จวบจนโชว์ชาเนลในสัปดาห์โอต์ กูตูร์ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา เวอร์ฌินีคือดีไซเนอร์หนึ่งเดียวที่ออกมาโค้งคำนับหลังจบโชว์เคียงข้างนางแบบสาวชาวอิตาลี วิตโตเรีย เซเรตติ (Vittoria Ceretti) ในลุควิวาห์ชุดว่ายน้ำปักประดับ แบบไร้เงาคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ในขณะที่แบรนด์อธิบายเพียงว่าเขา “รู้สึกเหนื่อย” ก่อนเพิ่มเติมอีกหนึ่งชื่อสำคัญคือ เอริก ฟรันเดอร์ (Eric Pfrunder) ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายภาพ ที่ “ยังคงทำงานต่อไปในส่วนของคอลเล็กชั่นและแคมเปญโฆษณา”
เมื่อย้อนกลับไปสำรวจงานรีเพลย์โชว์ครูสคอลเล็กชั่นเดียวกันที่กรุงเทพมหานครเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เราอาจยังพอจำกันได้ถึงคำถามหลักที่ว่า “คาร์ลจะมาไหม” และแล้วในช่วงฟินาเล่ของทั้ง 2 รอบการแสดงก็ไม่ปรากฏกายคาร์ลให้เห็น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เขาไม่เคยพลาดอีเว้นต์หลักของแบรนด์ แม้แต่แฟชั่นโชว์คอลเล็กชั่นคั่นฤดูกาลในสเกลเดียวกันกับกรุงเทพคือ Métier d’Art 2017 ที่ยกไปรีสเตจกันที่กรุงมอสโควเพียง 1 ซีซั่นก่อนหน้า
ก่อนหน้านี้ที่ฮัมบวร์ก ประเทศเยอรมนี วงการแฟชั่นเคยปะทุข่าวลือหนาหูว่าอาจเป็นทริปกลับบ้านเกิดเพื่อสั่งลาของคาร์ล แต่จนแล้วจนรอดเขาก็ยังคงเพียรสร้างสรรค์งานต่อไปอย่างไม่หยุดหย่อนหลายฤดูกาลและสามารถสยบข่าวลือได้สำเร็จ...จนกระทั่งเหตุเก็บตัวครั้งล่าสุดนี้
บรูโน ปาฟโลฟสกี (Bruno Pavlovski) ประธานใหญ่แผนกแฟชั่นเคยให้ความเห็นถึงสถานที่จัดงานในครั้งนั้นว่าเป็นเพียง “จังหวะอันลงตัวที่แบรนด์จะได้ฉลองประวัติศาสตร์กับวัฒนธรรมของฮัมบวร์ก” เช่นเดียวกับที่สารถูกสื่อออกไปในทำนองกลเกมการตลาดอันชาญฉลาดของคอลเล็กชั่นครูส ซึ่งนิยมเลือกหัวเมืองใหญ่เพื่อผลัดเปลี่ยนเอาใจผู้บริโภคต่างถิ่นไปให้ครบถ้วน โดยฮัมบวร์กมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดกับมาดมัวแซล Gabrielle Coco Chanel (กาเบรียล โคโค ชาเนล) มาก่อน อย่างไรก็ตาม มาดมัวแซลก็ใช่ว่าจะไม่รู้จักเมืองท่า “ประตูสู่โลก” ของเยอรมนีเสียทีเดียว เนื่องจากมีเอกสารหลักฐานระบุชัดเจนว่าในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1931 เธอใช้เวลาอยู่ที่ฮัมบวร์ก ก่อนขึ้นเรือสำราญที่นั่นพร้อมด้วย Misia Sert เพื่อนสาวคนสนิท และ Maurice Sachs เพื่อข้ามไปขึ้นที่ท่านิวยอร์กในเดือนถัดมา และเดินทางต่อด้วยรถไฟขบวนพิเศษอีก 4 วันสู่ฮอลลีวู้ด สารที่ตกหล่นไปในงานประชาสัมพันธ์และเรื่องราวของคอลเล็กชั่นในครั้งนั้นบัดนี้ชวนให้เราตั้งคำถามอีกครั้งว่า...หรือมันจะเป็นบทสนทนาส่วนตัวระหว่างนักออกแบบผู้วางแผนเกษียณกับถิ่นเกิดของเขาจริงๆ ตามข่าวลือ
เมื่อวัดกันจากความจริงที่ว่าเขาอายุ 85 ปี แล้ว และเมื่อเราหันมองปู่ย่าตายายอายุไล่เลี่ยกับเขาอย่างแฟร์ๆ และเปิดใจ เราย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกชีวิตล้วนมีจุดสิ้นสุดด้วยกันทั้งนั้น...แม้แต่กับอัจฉริยะเองก็ตาม ยิ่งเฉพาะกับรายที่ทุ่มเททำงานมาทั้งชีวิตบนสปีดของอุตสาหกรรมแฟชั่น 8 คอลเล็กชั่นต่อปี การวางหมากในวันที่ยังสามารถวางได้ต่างหากอาจเป็นหนทางที่ชาญฉลาดที่สุดกับแบรนด์ที่ยังคงต้องสืบสานความยิ่งใหญ่ต่อไป
คาร์ลกล่าวย้ำบ่อยครั้งว่าชาเนลเปรียบได้กับตัวตนของเขาในภาคฝรั่งเศส ส่วนผลงานที่ Fendi ก็ไม่ต่างจากภาคอิตาลี ในขณะที่แบรนด์คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์คือจิตวิญญาณที่แท้จริงของเขา (แต่ไม่เคยกล่าวว่ามันคือภาคเยอรมัน) ฉะนั้นจึงชัดเจนมากว่าเกมประชาสัมพันธ์สาวเวอร์ฌินี วิอารด์ที่หลายฝ่ายกำลังขุนดันกันอยู่จะกลายเป็นความเชื่อมั่นหลักของห้องเสื้อเพชรยอดมงกุฎจากฝรั่งเศสในไม่ช้านี้ และถึงแม้จะมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างอยู่เป็นระยะเกี่ยวกับรายชื่อดีไซเนอร์เซเลบผู้อาจสืบทอดบัลลังก์ซีไขว้ ทั้งเอเดอร์ แอกเคอร์แมน (Haider Ackermann) และฟีบี ไฟโล (Phoebe Philo) แต่การมีอยู่ของ “ลูกมือ 3 ทศวรรษ” อย่างเวอร์ฌินีก็ย่อมจะสร้างความเชื่อใจในหมู่ลูกค้าได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวในยุคที่หัวเรือใหญ่หายไป
ส่วนที่แบรนด์คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์เองก็พร้อมแล้วกับก้าวใหม่ด้วยการเริ่มเสียบรายชื่ออื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติมให้สมกับเป็นมาสเตอร์แห่งงานคอแลบฯ อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรลืมว่าหลังจากลาออกจากโว้กปารีสในปี 2010 การีน รัวต์เฟลด์ก็ไม่ได้แค่สร้างสรรค์เครือสิ่งพิมพ์ภายใต้ชื่อย่อของเธอคือ CR Fashion Book เท่านั้น แต่ยังควบตำแหน่งใหญ่อย่างผู้อำนวยการฝ่ายแฟชั่นสากลของนิตยสาร Harper’s Bazaar ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับโว้กรอบโลกและสื่อแฟชั่นชั้นนำมากมาย การควบ 2 จ๊อบของเธออาจขัดต่องานโปรโมต 360 องศาของแบรนด์ถ้าชื่อของเธอยังอยู่กับมีเดียใดมีเดียหนึ่ง เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าเธอจะเลือกอยู่ยงคงกระพันกับบ้านหลังไหนเป็นพิเศษระหว่างแบรนด์แฟชั่นกับเครือสิงพิมพ์
Silvia Venturini Fendi
แต่ที่แน่ๆ ประเด็นที่เราต้องไม่ลืมคือที่ทางในแบรนด์เฟนดิ ซึ่งสำคัญไม่แพ้แบรนด์ไหนๆ เพราะมันศักดิ์สิทธิ์ในฐานะแบรนด์เก่าแก่ระดับท็อปของแดนมักกะโรนี และเราไม่ควรฝากความหวังไว้เพียงกับทายาทหนึ่งเดียวอย่าง Silvia Venturini Fendi เนื่องจากหน้าที่อย่างเป็นทางการตามตำแหน่งของเธอคือผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์แผนกแอ็กเซสเซอรี่และเสื้อผ้าบุรุษเท่านั้น แถมหลังคาบ้านเฟนดิยังถูกห่อคลุมด้วยเครือธุรกิจที่มุ่งสร้างความสำเร็จทางเม็ดเงินอย่าง LVMH อีกด้วย...ว่าแต่ใครเล่าจะคู่ควรกับที่สุดแห่งเฟอร์เฮ้าส์ยามนี้
WATCH