FASHION

เทียบช็อตต่อช็อต...โฆษณาล่าสุดของ Gucci กับภาพยนตร์เพลงต้นแบบ

เห็นทีจะไม่มีแบรนด์ใดเข้าอกเข้าใจประโยคคมคายที่ว่า ‘ไม่มีธุรกิจใดจะเหมือนธุรกิจโชว์’  ได้เท่ากับซูเปอร์แบรนด์อย่าง Gucci ซึ่งเลือกเล่นใหญ่ด้วยการปล่อยแคมเปญโฆษณาคอลเล็กชั่นฤดูร้อน 2019 ที่เต็มอิ่มไปด้วยโปรดักชั่นงานสร้างมาให้เราชมกันอย่างจุใจ เกลน ลันช์ฟอร์ด (Glen Lunchford) ช่างภาพผู้กำกับชื่อดังควบตำแหน่งครีเอทีฟคู่บุญเจ้าเก่าหน้าเดิมของดีไซเนอร์ อะเลสซานโดร มิเกเล (Alessandro Michele) กลับมาอีกครั้งพร้อมภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวยกเซต ซึ่งไม่ต้องสืบก็สัมผัสได้ว่าผลงานสร้างสรรค์ของเขาเที่ยวนี้สอดคล้องกันไปกับคอลเล็กชั่นติดแฮชแทค #GucciShowtime ของอะเลสซานโดร ซึ่งย้ายรันเวย์ไปเดินกันในโรงละครกลางกรุงปารีสและจัดแสง สี เสียงเต็มอัตราเมื่อปลายเดือนกันยายนในสัปดาห์แฟชั่นประเทศฝรั่งเศส แถมยังเชิญรุ่นใหญ่อย่าง เจน เบอร์คิน (Jane Birkin) ในวัย 72 กะรัตมาครวญเพลงหวานให้ฟังกันสดๆ ในโรงละครอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ฉากหน้าของบรรยากาศอลังการในแคมเปญโฆษณาจากกุชชี่หนนี้ยังมีสารแอบแฝงเช่นเดียวกับแคมเปญก่อนหน้านี้ที่เล่นกับประเด็นความอยู่รอดของมนุษยชาติผ่านภาพเรือโนอาห์ หรือแม้แต่ภาพโฆษณากิจกรรมการรวมตัวประท้วงหมู่ซึ่งเข้ายุคเข้าสมัยเป็นที่สุด ด้วยเหตุนี้ในวันที่แบรนด์ต้องทั้งแจมทั้งกุมขมับไปพร้อมๆ กันกับภาวะเซเลบล้นโลก สารสำคัญในฤดูกาลนี้จึงหนีไม่พ้นประเด็น “วัฒนธรรมคนดัง” ที่เกลนและอะเลสซานโดรสื่อผ่าน “งานทำซ้ำ” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากผลงานภาพยนตร์คลาสสิกในยุคทองของอุตสาหกรรมหนังฮอลลีวู้ด เพียงเพื่อจะฮุคเข้าเป้าจังๆ ให้เราตั้งคำถามกันอีกครั้งว่า...นี่คือปัญหาใหม่จริงๆ ใช่ไหม

 

นอกเหนือจากความพยายามในการสะท้อนจุดร่วมที่ชาวมิลเลนเนียมกับเหล่าปู่ย่ายุคหลังสงครามโลกมีต่อกระแสคนดังทำนองเดียวกัน (ความคลั่งไคล้กระแส K-Pop เดินทางไกลไปไม่ต่างกับที่ใบหน้าของ มาริลิน มอนโร (Marilyn Monroe) เคยปิดอยู่บนผนังของชายหนุ่มทั่วโลก) ความหลักแหลมของโปรเจกต์นี้ยังอยู่ที่การเป็นงาน “ของปลอมกรายๆ” ซึ่งสอดคล้องกับโปรเจกต์นิทรรศการ The Artist Is Present ของกุชชี่ในประเทศจีน ที่จงใจวิพากษ์และตั้งคำถามกับคุณค่าของ “งานเลียนแบบ” ซึ่งเราต่างทราบดีว่าเป็นปัญหาเรื้อรังของแบรนด์มานานปี

 

ผลงานต้นแบบที่เกลน “ดัดแปลง” มาชนิดช็อตต่อช็อตเพื่อรวมเป็นคอลเล็กชั่นหลักในซีซั่นนี้หยิบยืม “ภาพจำ” มาจากกลุ่มภาพยนตร์เพียงหมวดเดียวคือ มิวสิคัลจากทศวรรษ 1950 ประกอบด้วย An American In Paris (จากปี 1951), Singin' In The Rain (จากปี 1952), Gentlemen Prefer Blondes (จากปี 1953), The Band Wagon (จากปี 1953), Cover Girl (จากปี 1954) และ There’s No Business Like Show Business (จากปี 1954)

 

สธน ตันตราภรณ์ รองบรรณาธิการบริหาร อาสาเทียบช็อตคลาสิกต่อช็อตดัดแปลงจากภาพยนตร์เหล่าเรื่องโปรดของเขาให้คุณชม...ที่โว้กประเทศไทย ที่เดียวเท่านั้น



WATCH




WATCH