FASHION

Future Proof! บทพิสูจน์บนเส้นทางใหม่ของ 'Bottega Veneta' ผ่านการหวนคืนประวัติศาสตร์ของแบรนด์อีกครั้ง

อีกหนึ่งเส้นทางของการก้าวไปข้างหน้าที่ "Matthieu Blazy" ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์คนปัจจุบันของแบรนด์ Bottega Veneta เลือกเดิน คือการหวนคืนและนำเอาช่วงเวลาในประวัติศาสตร์และมรดกที่สืบทอดกันมากลับมาสร้างประโยชน์ใหม่อีกครั้ง!

เรื่อง: Nathan Heller

แปลและเรียบเรียง: วิริยา สังขนิยม

 

     ท่ามกลางบรรยากาศแห่งมหานครเวนิสที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายอันทรงเสน่ห์ที่ไม่เคยเปลี่ยนไป ฉากหลังอันงดงามของพระอาทิตย์ที่กำลังลาลับขอบฟ้า บรรยากาศแห่งความครึกครื้นพร้อมกับแสงไฟบนท้องถนนได้กลับมาเฉิดเฉยอีกครั้ง ณ ใจกลางจัตุรัสมาร์โก บรรดาโรงแรมเเละแขกคนสำคัญได้เริ่มก้าวเดินออกมาสู่ท้องถนนในท่าทีซุกซนเเละสนุกสนาน เช่นเดียวกับ "Matthieu Blazy" ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์คนล่าสุดของ "Bottega Veneta" ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาในช่วงปลายปีที่แล้ว เขาปรากฏตัวท่ามกลางผู้คนภายใต้ชุดสูทฤดูร้อนกระดุมสองแถวทรงหลวมสีแทน พร้อมพับปลายแขนเสื้อขึ้นและไม่กลัดกระดุม เผยให้เห็นเสื้อยืดสีดำที่สวมไว้ข้างใน รองเท้าของเขาทำจากหนังถักอ่อนนุ่ม ที่ทำให้ท่าทางคนสวมดูมั่นใจ

     เมื่อปลายปีที่แล้วมัตทิวในวัย 37 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของบอตเตก้า เวเนต้า หลังจากผ่านเส้นทางการทำงานที่ถูกหลายคนมองว่าเหมือนเล่นซ่อนแอบในที่แจ้ง โดยทันทีที่เรียนจบเขาก็ได้งานที่ "Raf Simons" ต่อมาจึงย้ายไปอยู่ "Maison Martin Margiela" และ "Céline" ซึ่งเป็นช่วงที่คนรู้จักเขาในฐานะนักออกแบบที่มีความเข้าใจตลาดในเชิงปฏิบัติ และสนใจศิลปะที่ใฝ่สูง ก่อนขึ้นเป็นหัวเรือใหญ่ของบอตเตก้า เวเนต้า มัตทิวเคยนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบของแบรนด์มาก่อน เป็นเบอร์ 2 รองจาก "Daniel Lee" ซึ่งลาออกไปอย่างปุบปับเมื่อปีที่แล้ว แม้วันนี้จะได้ตำแหน่งใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม แต่เจ้าตัวบอกว่านิสัยการทำงานของเขายังคงเหมือนเดิม โดย "Anne Collier" ศิลปินที่เคยออกแบบน้ำหอมร่วมกับมัตทิวให้ความเห็น “เขาไม่ใช่คนอีโก้จัด หลงตัวเองสุดยอด หรือเป็นดีว่าตัวแม่ ไม่ใช่เลย” และส่วนราฟได้บอกว่า “ในบรรดาคนที่ผมรู้จัก ผมว่ามัตทิวเป็นคนน่ารักที่สุดคนหนึ่ง”



WATCH




      นอกจากน่ารักแล้วยังยากที่ใครจะตามทัน พอผู้คนในโรงแรมเริ่มออกมากันอย่างคึกคัก เขาก็ปลีกตัวออกประตูเล็กด้านข้างเพื่อไปยังเรือแท็กซี่ติดเครื่องรออยู่อย่างคล่องตัว ท่ามกลางอากาศเย็นและฝนเริ่มโปรยปรายจากก้อนเมฆที่ลอยต่ำเหนืออ่าว เรือขับตรงไปเทียบท่าที่ปุนต้า เดลลา โดกาน่า กลุ่มอาคารที่เรียงตัวเป็นรูปสามเหลี่ยมแปลกตา สถานที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของโรงศุลกากรเวนิสในอดีต มัตทิวก้าวขึ้นฝั่ง พร้อมมุ่งไปยังอาคารที่เก็บรักษาคอลเล็กชั่นงานศิลปะในครอบครองของ "François Pinault" เจ้าของบริษัท Kering ที่เข้าซื้อกิจการบอตเตก้า เวเนต้าตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000 ค่ำคืนนั้นเป็นวันก่อนเทศกาลเวนิส เบียนนาเล่ และบอตเตก้าก็รับบทเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำให้กับบรรดาแขกคนสำคัญ ผนังสองด้านของอาคารหอศิลป์แสดงผลงานวิดีโอของศิลปิน "Bruce Nauman" และราตรีนี้ก็อบอวลไปด้วยบรรยากาศของพิธีสถาปนา ที่กลุ่มบริษัทลักชัวรีได้ฤกษ์เปิดตัวเจ้าชายคนล่าสุดที่แอบเก็บตัวไว้นาน

     แนวทางของมัตทิวนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งค่อนข้างจะมุ่งเน้นไปทางความสมบูรณ์แบบและผลงานศิลปะ เพื่อผ่อนบรรเทาการเลิกสนเลิกตามของสังคมออนไลน์ ซึ่งเขาบอกว่า “มีอินฟลูเอนเซอร์สักกี่คนที่มีอิทธิพลจริงจังต่อสิ่งที่เคยได้รับอิทธิพลมาแล้ว 5,000 ครั้ง” ในที่สุดแล้วคำว่า "ลักชัวรี" ก็หมายถึงคุณภาพที่ยั่งยืน โดย Kanye West บอกว่า “ความลึกซึ้งในการตัดสินใจของเขาเหมือนสะสมมาหลายชั่วชีวิต เป็นอะไรที่อยู่นอกเหนือขอบเขตของเวลาและพื้นที่” ทั้งยังกล่าวต่อไปว่า “ผมว่าสิ่งสำคัญสุดๆ ในอินสตาแกรมโมเมนต์ยุคหลังการปั่นกระแส คือต้องให้แสงกับแพลตฟอร์มของคนที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้ง...ถึงเวลาตั้งค่าใหม่เสียที” ระหว่างการรับประทานอาหาร มัตทิวลุกขึ้นกล่าวต้อนรับอย่างถ่อมตัว แต่พอถึงช่วงเสิร์ฟของหวาน เขากลับหายตัวไปอีกครั้ง จนเช้าต่อมาเขาก็ได้บอกกับผู้เขียนในขณะที่กำลังดื่มกาแฟด้วยกันว่า “ความรู้สึกที่ผมชอบที่สุดคือเวลาไปเมืองที่ไม่เคยไปแล้วได้ออกจากโรงแรมไปเดินเรื่อยเปื่อยข้างนอก” เเละพอเราดื่มกาแฟถ้วยที่สองหมดเเล้ว เขาก็พาผู้เขียนเดินข้ามจัตุรัสไปยังโชว์รูมพิมพ์ดีดโอลิเวตติที่สร้างตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 โดยสถาปนิก "Carlo Scarpa" ตัวอาคารสร้างด้วยกระจก คอนกรีต และทองเหลือง ในรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เรียกว่ากล่องเครื่องเพชร เขาบอกว่านี่คือพื้นที่สุดโปรดกว่าที่ใดในโลก เพราะ “ความสมัยใหม่ สอดคล้อง และไร้กาลเวลา”

     “บอตเตก้า เวเนต้าเป็นบริษัทกระเป๋า มันหมายความว่าคุณชีพจรลงเท้า ง่ายๆ แค่นี้เอง” เขาบอกพร้อมรอยยิ้มที่มีนัยของการเชื้อเชิญ ราวกับประโยคนี้อธิบายได้ทุกสิ่ง โดยมัตทิวโตมากับการโยกย้ายเปลี่ยนที่และได้เห็นสิ่งที่ไม่น่าจะไปกันได้มาอยู่เคียงข้างกัน พ่อของเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ ส่วนแม่เป็นนักประวัติศาสตร์ เด็กชายมัตทิวจึงได้ไปเที่ยวเล่นตามบริษัทประมูล และซึมซับสารพันความหลากหลายจากสถานที่เหล่านั้น เขาบอกว่าตัวเองเป็นเด็กที่รวยจินตนาการ ไม่ชอบอยู่กับที่ และไม่มีวินัย “ผมไม่สนใจเรียน ครูที่สอนผมบางคนก็เก่งมาก แต่ผมเกลียดการทำแบบฝึกหัด” ดีไซเนอร์หนุ่มเล่าความหลัง “ผมค่อนข้างเกเร เลยถูกส่งไปโรงเรียนบาทหลวงไกลปืนเที่ยงที่ฝรั่งเศส” พออายุ 15 เขาไปเรียนโรงเรียนทหารในอังกฤษ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่จะว่าไม่น่าอภิรมย์ก็ไม่เชิง “ยิ่งคุณถูกตีกรอบมาก ก็ยิ่งหาเสรีภาพเจอในสิ่งเล็กๆ” มัตทิวบอก

     จนกระทั่งอายุ 16 เขาได้รับอนุญาตให้กลับปารีส และเข้าเรียนที่โรงเรียนนานาชาติ ซึ่งรับเด็กจากหลากหลายภูมิหลัง เขารักโรงเรียนนี้และได้เข้าร่วมกลุ่มเด็กที่สนใจแฟชั่น ซึ่งเพื่อนร่วมก๊วนในสมัยนั้นบางคนยังคบกันมาจนทุกวันนี้ มัตทิวบอกว่า “ผมไม่เคยไม่สนใจแฟชั่นเลยนะ” เพื่อนบ้านของเขาคนหนึ่งเป็นผู้บริหารเอเจนซี่นางแบบ มัตทิวจึงได้มองซูเปอร์โมเดลยุค 1980 รุ่นแรกเดินผ่านสวนที่ใช้ร่วมกัน ต่อมาเขาเริ่มคุ้ยถังนิตยสารรีไซเคิล เอาหนังสือที่คนทิ้งแล้ว เช่น i-D, The Face และ Vogue มาอ่าน ต่อมาเขาเข้าเรียนที่ลา ก็อมเบอร์ สถาบันออกแบบในบรัสเซลส์ ซึ่งเขาบอกว่า “ระบบเกือบจะเหมือนบาวเฮาส์ คือเรียนคอร์สแฟชั่นก็จริง แต่ก็ได้เรียนเกี่ยวกับดนตรี ศิลปะ สัญวิทยา และอรรถศาสตร์ด้วย ได้ซึมซับอะไรเยอะทีเดียว” ช่วงที่เป็นนักศึกษาเขาไปฝึกงานแผนกเสื้อผ้าสตรีที่ Balenciaga ภายใต้การดูแลของ Nicolas Ghesquière และเข้าประกวด International Talent Support ที่ตริเอสเต ซึ่งราฟ ซีมงส์กับ Cathy Horyns นักวิจารณ์แฟชั่นร่วมเป็นกรรมการ ด้วยความโดดเด่นของมัตทิวถึงแม้จะไม่ได้ชนะการประกวดนั้น แต่ความสามารถของเขากลับไปเข้าต่อราฟจนถูกเชื้อเชิญให้เข้าร่วมทำงานในทันที

     แต่ทุกการเติบโตย่อมมีบาดแผลเสมอ เมื่อในช่วงชีวิตของมัตทิวกำลังไปได้ดีกับการทำงาน พร้อมกับชีวิตคู่ของเขาที่กำลังทะยานจนถึงขีดสุด ชีวิตของเขาก็กำลังก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความหมดกำลังใจ เมื่อปี 2018 หลังจากที่ราฟได้เข้าร่วมทำงานกับแบรนด์ชื่อดังอย่าง "Cavin Klein" ได้สักระยะหนึ่ง เขาก็ได้มีปัญหาจนเกิดความตึงเครียดกับผู้นำฝ่ายธุรกิจของแบรนด์ทำให้โครงการที่กำลังดำเนินอยู่ต้องหยุดชะงัก นั่นทำให้มัตทิวและปีเตอร์จำใจต้องลาออกมาแบบไม่ใช่แค่ผิดหวัง แต่ยังหมดกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานไปเลยทีเดียว มัตทิวจึงหยุดพักพร้อมตั้งคำถามให้กับตัวเองว่าทำไมเขาถึงชอบและต้องมาทำงานนี้ จนในที่สุดหลังจากที่เขาได้ไปช่วยเหลือ Sterling Ruby และภรรยาในการจัดทำชุดที่สตูดิโอของสเตอร์ลิงในลอสแอนเจลิส มัตทิวก็ได้ค้นพบคำตอบจากประสบการณ์ทำงานครั้งนั้นว่า “ความสุขจากการได้สร้าง ได้ทำเสื้อผ้า ทำซิลูเอต โดยไม่มีไอเดียเชิงพาณิชย์เข้ามาเกี่ยวเลย” นั่นทำให้เขากลับมาเลือกเดินบนเส้นทางที่ถูกที่ควรอีกครั้ง  

     เมื่อถึงเวลาต้องนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของบอตเตก้า เวเนต้า เขารู้แล้วว่าพันธกิจของตัวเองคืออะไร “ตอนผมมารับงานนี้ ผมนั่งคุยกับทีมดีไซเนอร์และคนที่อยู่บริษัทนี้มา 20 ปี เราถามตัวเองง่ายๆ ว่าบอตเตก้าคืออะไร งานฝีมือคืออะไร และที่ของมันตามจารีตแล้วอยู่ตรงไหน เราจะนำความสมัยใหม่เข้ามาเติมได้อย่างไร เราไม่ได้พูดเรื่องรูปทรง ไม่ได้พูดเรื่องอิมเมจ แต่พูดถึงฟีลลิ่งของแบรนด์” เขานึกในใจว่า รู้ว่าตัวเองเริ่มจากอะไร แล้วจะไปจุดไหนก็ได้ทั้งนั้น เมื่อการเริ่มต้นใหม่ในตำแหน่งที่ใหญ่กว่าเดิม ซึ่งอาจจะฟังเป็นสิ่งที่หลายคนคิดว่าเขาต้องเปลี่ยนตัวเองอย่างแน่นอน แต่ในทางกลับกันมัตทิวช่างใช้ชีวิตได้อย่างเรียบง่ายไม่ต่างไปจากเดิมเท่าไร เขาเริ่มต้นวันด้วยการตื่นแต่เช้าและเดินไปทำงาน ระหว่างทางก็พาจอห์นจอห์นแวะที่สวนสาธารณะสำหรับสุนัขก่อน จากนั้นก็พยายามไปถึงโต๊ะทำงานตั้งแต่ช่วง 8 นาฬิกา เพราะช่วงเช้าเป็นช่วงที่เขาสามารถทำงานได้ลื่นไหลที่สุด และโดยปกติเขาจะไม่ออกจากที่ทำงานก่อนช่วงเวลา 2 ทุ่ม

     ไม่เพียงเเต่การร่วมพูดคุยกันในครั้งนี้จะเป็นไปอย่างเรียบง่าย ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นกันเองของมัตทิว โดยระหว่างที่เดินดูรอบโชว์รูมด้วยกัน เขาดึงกระเป๋าใบหนึ่งออกจากชั้นวาง “คุณจะเห็นฝีมือช่างชั้นครู” เขาบอก “ไม่มีตะเข็บเลยเห็นไหม” ลายสานคล้ายตะกร้าของกระเป๋าลดขนาดเรียวลงมาร้อยกับห่วงทองเหลืองและกลายเป็นหูกระเป๋าหน้าตาคล้ายเชือกเส้นหนาสำหรับสะพายไหล่ เนื่องจากทุกใบสานด้วยมือ จึงไม่เหมือนกันเป๊ะ มัตทิวบอกว่า “นั่นคือลักชัวรี” เขาหยิบกระเป๋ามาพลิกให้ดูแล้วบอกว่าได้แรงบันดาลใจจากกาลิเมโร่ ตัวการ์ตูนอิตาลีที่แบกห่อผ้าใส่สมบัติส่วนตัวไปทุกที่ “กระเป๋าใบนี้คือใบเปิดโชว์” แน่นอนว่าโชว์ที่เขาได้พูดถึงนั้นคงจะต้องเป็นโชว์ปฐมบทของเขาอย่างเป็นแน่

     ซึ่งโชว์แรกของมัตทิวถูกจัดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นับเป็นโชว์ที่ได้รับคำชมว่าเป็น "ชัยชนะของจารีตนิยมและนวัตกรรม" ในลุคเปิดโชว์ หญิงสาวสวมเสื้อกล้ามสีขาว กางเกงยีนส์ทรงหลวม และรองเท้ามีส้นแบบใส่สบาย เดินสะพายกระเป๋า "Kalimero" มาตามรันเวย์ นั่นคือภาพที่เห็น แต่ที่จริงกางเกงปลายสอบนิดๆ ตัวนั้นทำจากหนังนิ่มพิมพ์ลายด้วยหมึกซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเหมือนบลูยีนส์ มันคือความย้อนแย้งขั้นสูง หรือเป็นเพียงสตรีตลุคไร้จริตที่ใส่ได้ทุกสมัย เต็มไปด้วยความเซ็กซี่และประโยชน์ใช้งาน พร้อมความลักชัวรีที่มีเพียงคนใส่เท่านั้นที่รู้ โดยทั้งคอลเล็กชั่นนี้วิบวับไปด้วยทวิภาคคลับคล้ายกัน ภาคหนึ่งเปรียบได้กับการโบยบินอย่างกล้าหาญละลานตา ไม่ว่าจะเป็นกางเกงหนังสุดเนี้ยบที่นุ่มพลิ้วเหมือนผ้าไหม แจ็กเก็ตทรงคล้ายเสื้อเชิ้ต เสื้อโค้ตผ้าวูลที่ทอไล่สีให้ดูคล้ายพื้นหินเทราซโซ่ของสนามบินมัลเปนซาในมิลาน หรือกระโปรงทรงคลาสสิกประดับชายครุยคล้ายม่านผม ส่วนอีกภาคคือความน่าใส่เกินห้ามใจ ตัวอย่างเช่น เสื้อโค้ตแขนพระจันทร์เสี้ยว และแจ็กเก็ตที่ตัดอย่างเรียบง่าย เสื้อผ้าเหล่านี้ดูมีชีวิตเมื่อมองจากด้านข้าง ในช่วงเตรียมการ มัตทิวศึกษาลัทธิอิตาเลียนฟิวเจอริสม์ โดยเฉพาะงานของ "Umberto Boccioni" และผลงาน “Walking Man” ของ Alberto Giacometti เขาอธิบายว่า “เราอยากให้ดูจากข้างหน้าเป็นกระฎุมพี ไม่โอเวอร์ดีไซน์ แต่พอมองด้านข้างคือปัง” พร้อมกล่าวเสริมต่อไปว่า “ซิลูเอตคือพื้นที่ของเรา”

     เขาบอกว่าความสุขในความคิดของเขาคือการได้แวะร้านกาแฟหลังเลิกงาน ดื่มเบียร์สักแก้วสองแก้ว และคิดเรื่องภาพท่ามกลางความคึกคักที่อยู่รอบข้าง เขาพาผู้เขียนไปร้านโปรดที่ชื่อ "บาร์ควาดรอนโน" ส่วนเวลาไม่ได้ทำงานจริงจังเขาจะไปเที่ยวแกลอรี ไปดูการประมูล พยายามดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในแวดวงศิลปะ เขาบอกว่า “ผมเคยคิดอยากพาบอตเตก้าไปอยู่จุดที่แบรนด์มีส่วนร่วมในวัฒนธรรมของสังคมมากขึ้น” ช่วงที่กำลังชั่งใจว่าจะออกจากวงการแฟชั่นดีหรือเปล่า เขาคิดว่าจะไปเรียนเป็นภัณฑารักษ์งานศิลป์ แต่บุคคลที่รักช่วยกันพูดจนเขาล้มเลิกความคิดนั้นไป แต่ความรักศิลปะของเขาไม่ได้หายไปไหน เขาบอกว่าตัวเองเป็นจิตรกรวันอาทิตย์ที่ฝีมือไม่เท่าไรแต่มีความสุขกับมัน

     มัตทิวสั่งสปริตซ์อีกแก้ว จุดบุหรี่อีกมวน แล้วบอกว่างานที่เขาทำเป็นงานฝีมือ ไม่ใช่งานศิลป์ แต่ถึงอย่างนั้นเส้นทางการเรียนรู้ของเขาก็ยาวนานกว่าปกติ “ยิ่งเจออะไรมากขึ้น ก็ยิ่งรู้มากขึ้นว่าตัวเองไม่ชอบอะไร และเห็นอะไรมีเสน่ห์” เขาบอก “ถ้าเป็นเมื่อไม่กี่ปีก่อน ผมจะไม่พร้อมมารับงานนี้” วันนี้เขาไม่รู้สึกอย่างนั้นแล้ว ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของบอตเตก้า เวเนต้าไม่ใช่ข้อเสนอแรกที่เข้ามา แต่เป็นงานแรกที่เขากระโจนใส่อย่างมีความสุขและไม่ลังเล เป็นงานแรกที่เข้ามาตอนที่เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นลูกมือคนอื่นมานานพอแล้ว “ผมมั่นใจขึ้น” เขาบอกพลางกวาดตามองความหมุนเวียนของชีวิตในเมืองที่อยู่รอบตัว “พร้อมแล้วที่จะทำงาน”

WATCH

คีย์เวิร์ด: #BottegaVeneta