FASHION
ดีไซเนอร์หนุ่มชื่อดังชาวอังกฤษพาสาว ๆ ย้อนเวลาพร้อมท่องอนาคตสุดล้ำในเวลาเดียวกันเผยโฉมคอลเล็กชั่นล่าสุด Fall/Winter 2019 จากดีไซเนอร์หนุ่ม Craig Green ด้วยคอนเซปต์เสื้อผ้าผู้ชายที่ยังคงมีกลิ่นอายจากความล้ำนำสมัยตั้งแต่โบราณ |
การเลือกใช้วัสดุสำคัญต่อแนวทางคอลเล็กชั่นอย่างมาก คอนเซปต์ที่มาที่ไปถูกตีความผ่านเรื่องเหล่านี้เป็นหลัก ลวดลาย การเล่นสีค่อย ๆ ประกอบกันขึ้นเป็นปัจจัยที่ทำให้โชว์แต่ละคอลเล็กชั่นสะท้อนรากฐานความคิดของดีไซเนอร์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ในขณะเดียวกันภาพจำของเสื้อผ้าถูกจำกัดไว้อยู่แล้วว่าสื่อถึงอะไร ยิ่งถ้าไม่ได้เข้าใจเรื่องราวแรงบันดาลใจของนักสร้างสรรค์ ดั่งคำที่คนเคยบอกว่า “ความไม่เข้าใจนำไปสู่การตีความด้วยชุดความคิดของตัวเอง” ข้อความนี้ยังใช้ได้ทุกเสมอเมื่อเสื้อลายตารางยังถูกนิยามว่า “ตัดอ้อย”
เรียงจากซ้ายไปขวา: Z Zegna Fall/WInter 2019, MOSCHINO (Women's Pre-Fall 2019) และ Iceberg Fall/Winter 2019 / ภาพ: Vogue Runway
มาในปี 2019 เมื่อเสื้อผ้าฝั่งผู้ชายคอลเล็กชั่น Fall/Winter 2019 เริ่มเดินอวดโฉมบนรันเวย์ มีหลากหลายแบรนด์ที่สร้างความโดดเด่นอย่างมาก ทั้งแรงบันดาลย้อนยุคโบราณอย่าง Moschino ลวดลายสีสันแบบจัดเต็มแบบ Iceberg หรือจะเป็นงานตัดเย็บสุดประณีตผสานกับความโมเดิร์นอย่าง Z Zegna แต่ในบทความนี้ เรากำลังพูดถึงวัสดุที่นำมารังสรรค์บนเวทีแฟชั่น ซึ่งแต่ละแบรนด์เลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศฤดูหนาว และความสอดคล้องกับเอกลักษณ์ของแบรนด์ แต่มีอยู่แบรนด์หนึ่งที่รังสรรค์ผลงานด้วยวัสดุเรียบง่ายแต่แฝงไปด้วยเรื่องราว ความแปลกใหม่ถูกสร้างสรรค์ในกลิ่นอายความย้อนยุคได้อย่างไม่น่าเชื่อ
Craig Green ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ / ภาพ: lesinrocks.com
Craig Green ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์สัญชาติอังกฤษในชื่อเดียวกันคือพระเอกที่เราจะพูดถึงวันนี้ ชายหนุ่มผู้จบการศึกษาด้านแฟชั่นจาก Central Saint Martins และเปิดแบรนด์ของตัวเองตั้งแต่ปี 2012 สร้างความฮือฮาน่าสนใจมาทุกคอลเล็กชั่น เขาเปิดปี 2019 ด้วยคอลเล็กชั่น Fall/Winter 2019 ที่มาในคอนเซปต์ “แปลกใหม่แต่ใส่ได้” ผสมผสานความเป็นเวิร์คแวร์เน้นฟังก์ชั่นการใช้งาน สร้างการจัดเรียงเลเยอร์และการตัดเย็บรูปแบบใหม่ ๆ เกิดเป็นคอลเล็กชั่นที่ทำให้เครกเป็นที่สนใจในช่วงแฟชั่นวีคอีกครั้ง
WATCH
ซ้าย - ชุดพลาสติกสุดล้ำผลงานจาก Craig Green คอลเล็กชั่น Fall/Winter 2019 / ภาพ: Vogue Runway ขวา - ผ้าคลุมพลาสติกผลงานของ Elsa Schiaparelli / ภาพ: André Durst
ไฮไลต์สำคัญไม่ใช่อารมณ์ความโศกเศร้าและโดดเดี่ยวที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นเสื้อผ้าสุดแปลกใหม่เท่านั้น แต่เครกได้คิดสร้างสรรค์ขึ้นไปอีกระดับโดยการนำ ‘พลาสติก’ มาใช้เป็นหนึ่งในวัสดุหลักในโชว์ครั้งนี้ ให้อารมณ์เหมือนกับหน้าต่างโปร่งแสงจนถูกนิยามชื่อว่า “Glass Men” แต่หารู้ไม่ว่าภาพจำของแผ่นพลาสติกคือตัวแทนแห่งฟิวเจอริสติกมาตั้งแต่สมัยยุค ‘30s และครั้งนี้เครกพาสาว ๆ ย้อนความหลังและท่องอนาคตไปในเวลาเดียวกัน
เรียงจากซ้ายไปขวา - ชุดพลาสติกสีชมพูสุดแสบของ Craig Green ภาพ: / Vogue Runway, Bride in Glass ของ Egmon Arens / ภาพ: Bloomsbury Design Library และ ชุดพลาสติกสีฟ้าสุดล้ำจาก Givenchy ภาพ: / fashionunfiltered
ความหลังที่ว่าไม่ใช่สไตล์ย้อนยุควินเทจ ‘70s หรือ ‘80s แต่หมายถึงการนำเอาลูกเล่นของพลาสติกที่เป็นตัวแทนของความล้ำสมัยของยุคก่อนหน้ามาใช้เป็นวัสดุหลัก และออกแบบราวกับ “bride in glass” ของ Egmon Arens สมัยปี 1939 รูปแบบของการออกแบบตอนนั้นจนถึงตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ที่ไม่เคยเปลี่ยนไปคือพลาสติกใสและโปร่งแสงยังคงเป็นตัวแทนของความล้ำสมัยอยู่เสมอ ตั้งแต่ยุคที่ Elsa Schiaparelli เริ่มนำเอาพลาสติกมาประดับตกแต่งมาจนถึงชุดพลาสติกหุ้มตัวของ Alexander McQueen ปี 1995 รวมไปถึงความแฟนซีของเสื้อพลาสติกจาก Givenchy คอลเล็กชั่น Fall/Winter 1998
3 ลุคพลาสติกล้ำสมัยหลากหลายสไตล์จากคอลเล็กชั่นล่าสุดของ Craig Green / ภาพ: Vogue Runway
ในวันนี้เครก กรีนพิสูจน์แล้วว่าวัสดุอย่างพลาสติกคืออีกหนึ่งความอมตะของการตีความวัสดุ แม้จะเป็นเทคนิคเก่าแก่อย่างถักโครเชต์ก็นำมาใช้กับลุคของปี 2019 ได้อย่างไม่แปลกประหลาด และการผลิไอเดียจากเสื้อผ้าผู้หญิงอันล้ำสมัยสู่ไลน์เสื้อผ้าที่ใส่ได้โดยไร้ข้อจำกัดเรื่องเพศ ไม่ใช่แค่เครกที่ได้พิสูจน์แต่มรดกทางแฟชั่นแบบฟิวเจอริสติกของชุดผู้หญิงตั้งแต่ยุค ‘30s ก็พิสูจน์แล้วเช่นกันว่าตัวแทนความล้ำสมัยอย่างพลาสติกตั้งแต่ยุคนั้นยังคงเป็นอมตะจนถึงตอนนี้ และจะเป็นต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน ที่สำคัญวัสดุและลวดลายไม่ได้ถูกตีความผ่านกรอบความคิดส่วนตัวและอคติเสมอไป เพราะนิยามความล้ำสมัยของพลาสติกในวงการแฟชั่นถือเป็นชุดความคิดสากลอย่างที่ดีไซเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญ และสาว ๆ เห็นพ้องต้องกันว่าพลาสติกนี่ล่ะคือสัญลักษณ์ความล้ำนำสมัยในทุก ๆ ยุค
WATCH