FASHION
กะเทาะโชว์โอตกูตูร์ล่าสุดของ Chanel ที่จะพาเราย้อนอดีตถึงชีวิต 'เด็กกำพร้า' ของ Coco
|
ภาพ: @chanelofficial และ Gerson Lirio x Fashiontomax
แม้ Virginie Viard แห่งแบรนด์ ชาเนล จะยังไม่เปิดโอกาสให้สื่อใดสัมภาษณ์ถึงคอนเซปต์การสร้างงานของเธออย่างจริงจัง แต่ในช่วงจังหวะเร่งสร้างการรับรู้เรื่องการมีอยู่ของเธอในอุตสาหกรรมแฟชั่นโลก ผ่านสไตล์ประจำแบรนด์ยุคหลัง Karl Lagerfeld ที่เธอวางหมากไว้ ก็ค่อนข้างชัดเจนพอตัวแล้วหลังผ่านมา 5 คอลเล็กชั่นหลัก กล่าวคือ เรียบ รายละเอียดต้องมองใกล้ๆ และฉีกแนวจากวิธีการออกแบบของคาร์ล แต่ใกล้กับแนวคิดของ Gabrielle Coco Chanel มากกว่า
Virginie Viard ออกมาหลังจบโชว์คอลเล็กชั่นโอตกูตูร์ของ Chanel ประจำฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2020 / ภาพ: Vogue Runway
ข้อดีของการมาถึงของเธอ (ทั้งๆ ที่อยู่ในแบรนด์มา 3 ทศวรรษ) คือ แบรนด์มีโอกาสหยิบประเด็นเดิมๆ กลับมาขยี้เล่นได้ใหม่ เนื่องเพราะเมื่อดีไซเนอร์ต่างไป แนวคิดและมุมมองการนำเสนอก็เปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุนี้ แฟชั่นโชว์คอลเล็กชั่นโอตกูตูร์ประจำฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2020 (ซึ่งเพิ่งจัดแสดงไปเมื่อช่วงเช้าของวันอังคารที่ 21 มกราคม ตามเวลาปารีส) จึงมีโอกาสพาผู้ชมกลับไปเยี่ยมจุดกำเนิดของห้องเสื้ออีกครั้ง คล้ายดั่งตอกย้ำการกำเนิดใหม่รอบที่ 4 ของแบรนด์ในยุคมิลเลนเนียม (ครั้งแรกคือยุคก่อตั้งแบรนด์ของมาดมัวแซล ครั้งที่ 2 คือการกลับมายุคหลังสงครามโลก ครั้งที่ 3 คือยุคของคาร์ลจากปี 1983 และยุคปัจจุบันคือยุคของวีร์ฌีนี)
ก้อนหินมนกลมเรียงตัวกันเป็นสัญลักษณ์แบรนด์ Chanel / ภาพ: @chanelofficial
แอคเคาต์อินสตาแกรม @chaneloffical บอกใบ้ไว้ก่อนหน้านี้ 3 วันเต็มๆ ผ่านภาพถ่ายโลโก้อักษร C ไขว้ของแบรนด์บนผิวสัมผัสคล้ายดังถนน ซึ่งก่อเรียงขึ้นจากก้อนหินกลมมน แนวหินนี้พาเราย้อนกลับไปยังสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า โอบาชีน (Aubazine) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโบสถ์นางชีในฝรั่งเศสตอนกลาง ที่ผู้เป็นพ่อนำกาเบรียล ชาเนลไปฝากเลี้ยงไว้ ก่อนการฝากจะกลายเป็นการทิ้ง เพราะเขาไม่เคยกลับมารับ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเกมแห่งจินตนาการของเด็กหญิง
WATCH
ภาพบนอินสตาแกรมของ Chanel ที่เผยแรงบันดาลใจของโชว์นี้ว่ามาจากสวนในโอบาชีน / ภาพ: @chanelofficial
ว่ากันว่าเด็กหญิงกาเบรียลผู้เข้ากับใครไม่ได้และนิยมแต่งเรื่องพาฝัน เพื่อหลบลี้จากความทุกข์ยากในโลกแห่งความเป็นจริงมักปลีกวิเวกมาเล่นนับหินและกระโดดเล่นบนแนวหินนี้คนเดียว จวบจนเมื่อเธอพาตัวเองออกจากสำนักนางชีผู้เคร่งครัด ผ่านชีวิตโลดโผนหลังก้าวเข้าสู่แวดวงการแสดงกลางคืน และเริ่มต้นบุกเบิกลุคแฟชั่น ที่มอบอิสรภาพให้กับสตรีทั่วโลกในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แนวหินเช่นในภาพนี้ก็มีส่วนในการสร้างโลโก้สัญลักษณ์ประจำแบรนด์ในเวลาต่อมา (บ้างว่าเป็นลายกระจกโบสน์ ในขณะที่บ้างว่าโลโก้ของเธอคือลักษณะของห่วงร้อยด้ายในงานตัดเย็บ)
ภาพมุมสูงของเซตติ้งในโชว์ครั้งนี้ / ภาพ: @chanelofficial
จะด้วยอะไรก็ตามแต่ ภาพรวมของโชว์นี้คือเงาสะท้อนของสิ่งที่ก่อร่างสร้าง “กาเบรียล” ขึ้นเป็น “โกโก้”...เหล่านางแบบก้าวออกมาในสวนรกร้าง ที่เมื่อมองจากมุมสูงปรากฏเป็นภาพไม้กางเขน พร้อมสระน้ำพุ ณ จุดกึ่งกลาง แบรนด์ระบุชัดว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากสวนของโบสถ์ข้างต้น จริงอยู่ที่ลุคของมันช่างห่างไกลจากความยิ่งใหญ่อลังการของกระสวยอวกาศ หอไอเฟล หรือแม้แต่ซุ้มสวนฝรั่งเศสอันรุ่มรวยก่อนหน้านี้ แต่ในแง่ของคอนเทนต์นั้น เรามิอาจปฏิเสธได้ว่ามันเต็มอิ่มและเชื่อมโยงกับแบรนด์ได้มากกว่าเซตติ้งซูเปอร์มาเก็ตเป็นไหนๆ
Vittoria Ceretti นางแบบที่ปรากฏโฉมเป็นคนแรกในโชว์ครั้งนี้ / ภาพ: Vogue Runway
ผลงานการออกแบบทั้งสิ้น 62 ลุคเปิดประเดิมผ่านลุคแรกโดยนางแบบสาว Vittoria Ceretti ที่ชุดของเธอกรีดร้องอย่างเงียบงันราวเสียงเอ็กโค่ตามระเบียงโบสถ์มืดมิดว่า “เด็กกำพร้า!” จริงอยู่ที่คุณมีสิทธิ์ตั้งคำถามว่าเหตุใดมันจึงเศร้าเพียงนั้นในทศวรรษที่โลกแฟชั่นกำลังต้องการแสง สี เสียง ความสดใสและความตระการตา แต่เมื่อมองในแง่ความลึกล้ำของการสร้างงานแล้ว เราควรให้คะแนนความตั้งใจทำการบ้านของวีร์ฌีนี เพราะบทอ้างอิงนั้นชัดมาตั้งแต่แนวถุงเท้าและความยาวของช่วงแนวกระโปรง ซึ่งกระเถิบสั้นราวกระโปรงเด็กนักเรียนถึง 16 ลุค หรือเกือบ 1 ใน 4 ของคอลเล็กชั่น
ลุคคอปกนางชีที่กลายเป็นจุดเด่นในคอลเล็กชั่นโอตกูตูร์ครั้งนี้ / ภาพ: Vogue Runway
ช่วงคอปกเสื้อคือหัวใจหลักของงานออกแบบในคอลเล็กชั่นนี้ ไม่ต้องเดาเราต่างก็คุ้นชินว่ามันคือแนวคอปกของนางชีแทบทุกสำนัก ดีไซเนอร์หยิบยกส่วนสำคัญดังกล่าวมาดัดแปลง โดยอิงกับผลงานในยุคตั้งไข่ของผู้ก่อตั้ง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนแรกที่เลือกฉวยคว้าความไม่น่าอภิรมย์นี้มาสร้างสรรค์จนโด่งดังเป็นสไตล์ประจำตัว รายละเอียดต่างๆ ในสำนักชีนั้นคือสไตล์แรกที่เธอเรียนรู้ และในยุคสมัยสาว Gibson Girl ครองเมือง ที่การแต่งกายเปิดเปลือยเห็นไปถึงไหนๆ จนไม่ต้องใช้จินตนาการใดๆ สัมผัส งานออกแบบของชาเนลซึ่งปิดมิดและติดกลิ่นคอสเพลย์สาววัยกระเตาะเบาๆ กลับสามารถสร้างเสน่ห์ลึกลับให้กับสตรีได้
โทนสีขาว ดำ และเทาที่เป็นแกนหลักของคอลเล็กชั่นนี้ / ภาพ: Vogue Runway
(การไม่มี) สีมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดในคอลเล็กชั่นนี้ ที่เล่นตรงๆ กับขาว ดำ และกรมท่าเป็นหลัก มันพาเราย้อนรอยกลับไปยังเหตุการณ์สำคัญเมื่อ Paul Poiret อดีตดีไซเนอร์จากศตวรรษก่อนหน้าถากถางมาดมัวแซลในการปะทะกันครั้งหนึ่งว่า “เธอสวมสีดำไว้ทุกข์ให้ใครกันหรือจ๊ะ” เพียงเพื่อจะเปิดโอกาสให้นางพญาได้ลับคมฝีปากกล้าของเธอผ่านคำตอบในตำนาน “ฉันไว้ทุกข์ให้กับเธอ” ก่อนจะคงสีดำเป็นของโปรดของเธอเรื่อยมา จนมันได้รับการสถาปนาใหม่เป็นความคลาสสิกในท้ายที่สุด
ลุคฟินาเล่ที่ปิดท้ายโชว์อย่างสวยงาม / ภาพ: Vogue Runway
ทีเด็ดที่แยบยลที่สุดเดินทางมาถึงในลุคฟินาเล่ ซึ่งออกแบบให้เป็นชุดแต่งงานสีขาวนวล จับพลีตด้านหน้า ช่วงคอปกโค้งโอบแนวบ่าเป็นคอบัว ไม่นับรวมผ้าคลุมหน้าที่ระแนวผมเรียบเนี้ยบทิ้งไปทางด้านหลัง หากมองในอีกแง่หนึ่ง มันคือชุดรับศีลดีๆ นี่เอง งานนี้ผลงานชวนคิด (และชวนถก) จึงนอนมาพร้อมคำถามสำคัญที่ว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะไหว้พร้อมถอนสายบัวสวยๆ ให้กับดีไซเนอร์ชั้นครู ผู้กล้าเสี่ยงนำชุดนักเรียนศาสนา ชุดวิวาห์ หญิงบริสุทธิ์ เจ้าสาว และนางชีพรหมจรรย์ มารวมกันไว้ในลุคเดียวเช่นนี้
หากใครต้องการชมภาพลุคทั้งหมดในโชว์ครั้งนี้คลิก ที่นี่
WATCH