FASHION
คุยกับ Bruno Pavlovsky ชายผู้เป็นตัวตั้งตัวตีแห่ง CHANEL เตรียมพาเรือ La Pausa มาเยือนไทยร่วมสังเกตทิศทางลมแฟชั่นและเร่งเครื่องฝ่ากระแสน้ำแห่งโลกลักชัวรี เพื่อพาเรือสำราญลำประวัติศาสตร์มาเทียบท่ายังแดนสยาม ผ่านบทสัมภาษณ์ระหว่างโว้กประเทศไทยกับ Bruno Pavlovsky กัปตันเรือจำเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์ Chanel |
ร่วมสังเกตทิศทางลมแฟชั่นและเร่งเครื่องฝ่ากระแสน้ำแห่งโลกลักชัวรี เพื่อพาเรือสำราญลำประวัติศาสตร์มาเทียบท่ายังแดนสยาม ผ่านบทสัมภาษณ์ระหว่างโว้กประเทศไทยกับ Bruno Pavlovsky กัปตันเรือจำเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์ Chanel
แนวระเบียงบนพื้นต่างระดับ ณ ปีกหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ กร็องด์ ปาเลส์ กลางกรุงปารีสในเช้าวันหนึ่งระหว่างสัปดาห์แฟชั่นโอตกูตูร์ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาคลาคล่ำไปด้วยเหล่านักประชาสัมพันธ์จากทั่วทุกมุมโลกในโททัลลุคหรูจากแบรนด์ชาเนล เยื้องไปไม่ไกลคือด้านหลังของโครงไม้ซึ่งก่อขึ้นเพื่อเป็นฉากหลังของรันเวย์โอตกูตูร์ลำดับล่าสุด Adut Akech นางแบบผิวสีงานชุกรายล่าสุดของวงการกำลังเอกเขนกนั่งคุยอยู่บนขั้นบันไดกับ Vittoria Ceretti นางแบบขาประจำของแบรนด์ C ไขว้ก่อนการซ้อมใหญ่ครั้งสุดท้าย ในขณะที่ Michel Gaubert กำลังเช็คเครื่องเสียงและ Karl Lagerfeld คงง่วนอยู่กับการตรวจตรารายละเอียดสุดท้ายอยู่ที่ไหนสักแห่ง อย่างไรก็ตาม โว้กมีนัดกับชายคนสำคัญผู้บรรจงวางกลยุทธ์หลอมรวมทุกสิ่งข้างต้นจนเกิดเป็นความสำเร็จระดับมโหฬารของชาเนล
“เสียงดังไปหน่อย เราซ้อมใหญ่กันอยู่ข้างนอก” บรูโน ปาฟโลฟสกี ประธานใหญ่ฝ่ายแฟชั่นของชาเนลออกตัวหลังต้อนรับเราเข้าสู่ห้องรับรองพิเศษที่สร้างขึ้นเป็นการเฉพาะกิจ พร้อมๆ กับเสียงเพลงที่กระหึ่มขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว เราเคยพบเขามาแล้วก่อนหน้านี้หลายครั้ง อีกทั้งยังเคยมีโอกาสลงนั่งพูดคุยกันอยู่เป็นนานสองนานที่เมืองฮัมบูร์ก หากครั้งนี้กลับสลักสำคัญกว่าคราไหนๆ เพราะถือเป็นการสัมภาษณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานใหญ่ระดับโลกเนื่องจากชาเนลเพิ่งตัดสินใจเลือกกรุงเทพมหานครเป็นจุดหมายปลายทางของโชว์คอลเล็กชั่นครูส 2018/19 ระลอกที่ 2 และกำลังตระเตรียมระดมทีมงานชั้นแนวหน้ามาจัดโปรดักชั่นตระการตากันในเดือนตุลาคมนี้
“เพราะชาเนลกำลังบูมสุดขีดในประเทศไทย” กัปตันจำเป็นนามบรูโนตอบตรงประเด็นหลังสื่อหลักเพียงเล่มเดียวจากประเทศเจ้าภาพอย่างโว้กประเทศไทยเกริ่นถามไม่รีรอถึงเหตุผลที่แบรนด์ตัดสินใจเลือกกรุงเทพมหานครเป็นจุดหมายล่าสุดสำหรับคอลเล็กชั่นครูส “ประเทศไทยสวยงามและมหัศจรรย์มาก แต่เรากลับแทบไม่เคยทำอะไรกับประเทศนี้เลยทั้งๆ ที่เปิดบูติกมากมายหลายแห่ง แถมแบรนด์ที่ไทยก็โตวันโตคืน ผมว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะเปลี่ยนความคิด” และนั่นจึงเป็นเหตุให้ชาเนลเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายเพื่อทำความเข้าใจว่า “ประเทศไทยเป็นอย่างไรกันแน่” งานประชุมลับซึ่งไม่ต่างกับปฏิบัติการระดับชาตินี้เจาะลึกหลากแง่มุมแดนสยาม “มีหลายประเทศที่แข่งขันกันเพื่อให้ได้จัดโชว์นี้เพราะต้องการถ่ายทอดบ้านเมืองของพวกเขา แต่ผมเลือกประเทศไทย เพราะเราเชื่อว่าที่นี่เต็มไปด้วยพลังบวก...ซึ่งสามารถส่งต่อไปสู่ภูมิภาคโดยรวม หรือแม้แต่สู่โลกทั้งใบได้” บรูโนเล่า
แฟชั่นโชว์ในธีมเรือสำราณที่กำลังล่องทะเลมาจอดรับผู้โดยสายมากรสนิยม ณ กรุงเทพมหานครในช่วงสิ้นเดือนตุลาคมนี้จะนำเสนอเสื้อผ้าพร้อมแอ็กเซสเซอรี่คอลเล็กชั่นครูส 2018/19 ชนิดยกเซตและอิงกับรูปแบบและแนวคิดที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ที่กรุงปารีส ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแฟชั่นโชว์ที่อลังการที่สุดเท่าที่ชาเนล (หรือแม้แต่แบรนด์ไหนๆ) เคยลงทุนสร้างสรรค์มา อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างประการหนึ่งซึ่งบรูโนกล่าวย้ำหนักแน่นหลายครั้งระหว่างการสัมภาษณ์คือ “ถึงแม้เราจะนำเสนอคอลเล็กชั่นเดียวกัน แต่จะไม่เหมือนกันเสียทีเดียวนัก”
กลยุทธ์การจัดโชว์ทำนอง Re-imagine นี้มิใช่ของใหม่สำหรับชาเนล เพราะก่อนหน้านี้แบรนด์เคย ‘ฉายซ้ำความแตกต่าง’ บนบางรันเวย์ให้ผู้ชมจากคนละภูมิภาคได้ตื่นตากันมาบ้างแล้ว โดยยังคงเชื่อมโยงกับบรรยากาศและธีมของโชว์ฉบับดั้งเดิม เช่นเมื่อครั้งยกคอลเล็กชั่นครูส 2017/18 ในธีมกรีกไปจัดยังเมืองเฉิงตู หรือที่ผ่านมาไม่นานนักอย่างคอลเล็กชั่น Métiers d'Art 2018 ซึ่งขนความเป็นฮัมบูร์กไปนำเสนอไกลถึงแดนหมีขาว “เรารู้ดีว่าเราไม่สามารถสร้างเรือสำราญลำยักษ์ขึ้นมาอีกได้” บรูโนสารภาพตามตรงถึงข้อจำกัด (ซึ่งเป็นเหตุมาจากสถิติขนาดมหึมาที่แบรนด์เพิ่งทุบทำลายสำเร็จไปหมาดๆ) ก่อนกล่าวติดตลกชวนคิดต่อท้าย “เอาจริงๆ ผมเองยังนึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าตรงไหนในกรุงเทพฯ ที่เราจะไปสร้างฉากขนาดนั้นได้”
ว่าแต่ว่าทำไมจึงต้องตระเวนไปตามจุดต่างๆ ในโลกกันเล่า “ก็มันช่วยให้เราเข้าถึงและเข้าใจกลุ่มลูกค้าของเรายิ่งขึ้นนะสิ” บรูโนให้ความเห็น “ทุกสิ่งที่เราสร้างสรรค์ล้วนเกี่ยวข้องกับแฟชั่น พลังความคิดสร้างสรรค์ และต้องลักชัวรี เพราะผลิตภัณฑ์ของเราคือผลผลิตจากคุณค่าทางอารมณ์ แล้วคุณค่าเหล่านั้นมาจากไหนนะหรือ ก็มาจากความรัก ความใส่ใจ ซึ่งเราตั้งใจส่งมอบกลับไปผ่านชิ้นงานอย่างไรล่ะ” แม้กระนั้น เมื่อเราหย่อนถามถึงนิยามของคำว่า ‘ลักชัวรี’ จากปราชญ์นักบริหารผู้เดิมพันชีวิตและธุรกิจของเขากับคำหลักคำเดียวนี้อยู่ทุกฤดูกาล เขากลับตีความมันอย่างน่าฟังว่า “ลักชัวรีล้วนแตกต่างกันไปตามแต่ถิ่นที่” สำหรับเขา ลักชัวรีนั้นแยกออกจากเส้นเขตแดน แต่ร้อยเรียงเข้ากับวัฒนธรรม “จีนก็ดี ฝรั่งเศสก็ดี อเมริกาก็ดี...ผมว่ามันดีออกที่เราสามารถปรับเล็กผสมน้อยไปตามแต่ละประเทศที่เราไปเยือนได้” ซึ่งบรูโนยืนยันชนิดแทบไม่จำเป็นต้องคิดให้เสียให้เวลาเลยว่าการเดินทางช่วยให้เรามีโอกาสสัมผัสกับความลักชัวรีได้อย่างลึกซึ้งและ “นี่มันเป็นเรื่องระดับจักรวาลไปแล้วนะ”
ความเด็ดเดี่ยวของเขาสะท้อนเป็นอื่นไกลไปไม่ได้นอกเสียจากรากหยั่งลึกของความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นที่เขามีให้กับแบรนด์ชาเนลมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ถ้าจะให้เดา เราว่าเขาคงสัมผัสกับส่วนผสมของความเป็นเลิศแกมขบถนี้มาตั้งแต่ยุคแม่ “สมัยคุณยายเสียด้วยซ้ำ!” บรูโนสวนตอบกลั้วเสียงหัวเราะ “น้ำหอม No.5 นี่เป็นกลิ่นโปรดของคุณยายผมเลยนะ” ก่อนขยายความย้อนอดีตว่าเขาคุ้นเคยกับชาเนลมาแสนนาน และโชคดีที่ในที่สุดก็ได้มีโอกาสร่วมงานกับซูเปอร์แบรนด์รายนี้
“แล้วชาเนลในอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้าล่ะ คุณมองเห็นเป็นเช่นไร” โว้กทิ้งท้ายด้วยคำถามแห่งอนาคต
“No.1 สิ เพราะเราเป็นที่หนึ่งมาโดยตลอด และจะเป็นตลอดไป” น้ำเสียงติดสำเนียงฝรั่งเศสเอ่ยตอบ ก่อนตบมุกปิดท้าย “ผมคงไม่อยากเป็น No.5 หรอกนะ”
อ่านบทความฉบับเต็มได้ในนิตยสารโว้กประเทศไทย ฉบับเดือนกันยายน 2560
Edited by Saisuree Mesiri
WATCH
WATCH